"...“ถามดี๊ ดี ชีวิตเปลี่ยน” ดังนั้น ในการตั้งคำถามใด ๆ เราควรมีพื้นฐานหรือความรู้ในเรื่องนั้น ๆ เป็นทุนเดิมอยู่สักหน่อย โดยเราต้องรู้ก่อนว่า เราอยากจะรู้อะไรและรู้ไปเพื่ออะไร ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการตั้งคำถาม และต้องถามให้ถูกคนด้วย ซึ่งคำตอบที่ได้รับมีทั้งความจริง (Fact) และความคิดเห็น (Opinion) คำตอบที่เป็นความจริงเกิดจากความรู้และประสบการณ์จริงของผู้ตอบส่วนความคิดเห็นเกิดจากมุมมองของคนตอบ สิ่งนี้จึงทำให้เราต้องคิดให้ดี ๆ ว่า “เราควรถามใคร”..."
ในยุคสมัยกรีซโบราณเมื่อ 560 ปีก่อนคริสตกาล กษัตริย์โครเอซุส (Croesus) เจ้าผู้ครองอาณาจักรลิเดีย (Lydia) กษัตริย์ผู้มั่นคงและทรงอำนาจมากที่สุดในยุคสมัยนั้น เสด็จไปเยือนวิหารหลวงปิเทียเข้าเฝ้านักบวชชั้นสูง ผู้ซึ่งชาวเมืองลิเดียต่างให้ความเคารพและศรัทธา เพื่อขอพรเอาฤกษ์เอาชัยก่อนออกศึกรบกับกองทัพเปอร์เซีย นักบวชท่านนี้ถือเป็นผู้มีสัจจะวาจาสามารถทำนายทายทักอนาคตได้อย่างแม่นยำเสมอ กษัตริย์โครเอซุสจึงได้ตรัสถามว่า “พระองค์จะชนะศึกสงครามครั้งนี้หรือไม่?” นักบวชไตร่ตรองครู่ใหญ่ก่อนตอบกลับว่า “หากท่านออกรบ ท่านจะทำให้ราชบัลลังก์ของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ล่มสลายแน่นอน” เป็นคำตอบที่สร้างความฮึกเหิมให้กับกษัตริย์โครเอซุสเป็นอย่างยิ่งแต่ผลการสู้รบกับกษัตริย์ไซรัสมหาราช แห่งเปอร์เซีย กลับผิดคาด กองทัพเปอร์เซียเป็นผู้กำชัยทำลายกองทัพลิเดียแบบแพ้ย่อยยับ พร้อมกับการสิ้นพระชนม์กลางสนามรบของกษัตริย์โครเอซุส
คำทำนายของนักบวชไม่ผิดอะไร เพราะกษัตริย์โครเอซุสไม่คาดคิดว่า กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่หมายถึงพระองค์เอง แต่ที่ผิดพลาดคือการตั้งคำถามที่ดีต่างหาก [1]
พวกเราทุกคนคงคุ้นชินกับการตั้งคำถาม เพราะตอนเราเป็นเด็ก เราจะถามคำถามแบบไม่มีวันสิ้นสุด มีคำถามเป็นร้อยเป็นพันที่สงสัยใคร่รู้ ถามพ่อแม่ว่า อันนี้คืออะไร อันนั้นคืออะไร แต่เมื่อเราเข้าโรงเรียนและเติบโตเป็นผู้ใหญ่คำถามที่ใสซื่อ กลับลดลงจากกติกาทางสังคมและกรอบที่ถูกวางไว้ ประเภทคำถามจึงถูกเปลี่ยนไปในแต่ละช่วงของชีวิต ในชีวิตวัยทำงานเรามักจะตั้งคำถามเพื่อจะได้ไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเมื่อยามชรา ลักษณะคำถามกลับย้อนไปเหมือนวัยเด็กเพราะต้องการการดูแลเอาใจใส่จากลูกหลาน
ในโลกที่ท่วมไปด้วยข้อมูล คำตอบเป็นสิ่งที่เราสามารถค้นหาได้ง่ายเพียงช่วงเวลาดีดนิ้ว ดังนั้น เราควรให้เวลามาก ๆ กับการตั้งคำถามที่ทรงพลัง เพื่อให้เราได้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ และเพิ่มศักยภาพให้ตนเอง การตั้งคำถามกับเด็กว่า “2 บวก 2 เป็นเท่าไร?” เด็กสามารถตอบได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที แต่กับคำถามที่ว่า “ทำไม 2 บวก 2 จึงเป็น 4?” จะทำให้เด็ก ๆ คิดถึงตรรกะและนำไปสู่การค้นพบความมหัศจรรย์ในโลกใบนี้อีกมากมาย
คำถามมีหลายรูปแบบตั้งแต่ คำถามเบา ถามไปแล้วคนอยากตอบเพราะพูดได้เลย เป็นการสร้างความสัมพันธ์ช่วงละลายพฤติกรรม เริ่มแรกของการแนะนำตนเอง เป็นคำถามเบา ๆ ที่ตอบง่าย ยินดีตอบและพูดจนชินแล้ว เช่น ประสบการณ์ ความสำเร็จ งานอดิเรกที่ชอบ กิจกรรมหรือผลงานที่ภูมิใจ
คำถามแย่ มักไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์กับผู้ถูกถาม เช่น เรื่องส่วนตัว เรื่องหนี้สิน หรือเรื่องที่เป็นปมด้อย แถมไม่ได้กระตุ้นให้ตระหนักรู้อีกด้วย คำถามหนัก ที่ใครก็ไม่อยากตอบ เพราะต้องคิดหนัก หรืออาจอึดอัดใจ จนถึง คำถามที่ดี คนอยากตอบด้วยความกระตือรือร้น สามารถสร้างความตระหนักรู้และเกิดผลทางการกระทำจากคำตอบได้ [2]
การตั้งคำถามที่ดีถือเป็นการกระตุ้นการเรียนรู้ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยสร้างความไว้วางใจ และช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ได้ ดังนั้น การตั้งคำถามจึงต้องไตร่ตรองดี ๆ เพราะคำถามมีทั้งแบบปลายเปิด (Open-ended Question) เช่น เพราะอะไรคุณถึงมาสมัครงานที่นี่ หรือคุณคิดยังไงกับการประกวดครั้งนี้ และแบบปลายปิด (Closed-ended Question) เช่น คุณมีเงินให้ยืมไหม ซึ่งคงรู้ดีว่า คำตอบคืออะไรเพราะคำตอบมีเพียง Yes กับ No
แม้ว่าคำถามที่ดีส่วนใหญ่จะเป็นคำถามแบบปลายเปิด แต่เราต้องระมัดระวังไม่ให้บทสนทนาเกิดความฟุ้งซ่าน ในบางสถานการณ์จึงจำเป็นต้องผสมด้วยคำถามแบบปลายปิดที่มักใช้ประโยคเริ่มด้วย 5W 1H คือ เรื่องอะไร (What) เมื่อไหร่ (When) ที่ไหน (Where) เกี่ยวกับใคร (Who) ทำไม (Why) และอย่างไร (How)
“ถามดี๊ ดี ชีวิตเปลี่ยน” ดังนั้น ในการตั้งคำถามใด ๆ เราควรมีพื้นฐานหรือความรู้ในเรื่องนั้น ๆ เป็นทุนเดิมอยู่สักหน่อย โดยเราต้องรู้ก่อนว่า เราอยากจะรู้อะไรและรู้ไปเพื่ออะไร ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการตั้งคำถาม และต้องถามให้ถูกคนด้วย ซึ่งคำตอบที่ได้รับมีทั้งความจริง (Fact) และความคิดเห็น (Opinion) คำตอบที่เป็นความจริงเกิดจากความรู้และประสบการณ์จริงของผู้ตอบส่วนความคิดเห็นเกิดจากมุมมองของคนตอบ สิ่งนี้จึงทำให้เราต้องคิดให้ดี ๆ ว่า “เราควรถามใคร”
สิ่งที่สำคัญ การถามคำถามที่ดีจำเป็นจะต้องอาศัยทักษะหลาย ๆ อย่าง รวมทั้งการใช้รูปประโยคในการตั้งคำถาม อากัปกิริยา หรือแม้แต่โทนเสียงที่ถาม ซึ่งทักษะเหล่านี้สามารถฝึกฝนได้เพราะการตั้งคำถามที่ดีจะทำให้คนตอบอยากที่จะตอบอย่างจริงใจด้วย
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) มักจะตั้งคำถาม เรียนรู้จากความไม่รู้ และสั่งสมความรู้ที่ตกผลึกจากการตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่านได้กล่าวไว้ว่า “หากผมมีเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อแก้โจทย์
ที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ผมจะใช้เวลา 55 นาที ในการตั้งคำถามที่ดีและเหมาะสมก่อน”
ดังนั้น “คำถาม” จึงสำคัญกว่า “คำตอบ” เคยมีคนพูดว่า ถ้าอยากรู้ว่าใครมีความรู้มากน้อยแค่ไหนให้ดูจาก “คำตอบ” แต่ถ้าอยากรู้ว่า ใครฉลาดแค่ไหนให้ดูจาก “คำถาม” ลองคิดเล่น ๆ ว่า ระหว่างคำถาม “ทำไมหัวหน้าถึงไม่โพรโมตเรา?” กับคำถามว่า “ทำอย่างไรหัวหน้าถึงจะโพรโมตเรา?” คำถามแบบไหนที่ทำให้เราได้ไปต่อ
การตั้งคำถามที่ดีจึงเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่สามารถฝึกฝนและพัฒนาได้ การตั้งคำถามไม่เพียงแต่ใช้ถามคนอื่น แต่บางครั้งการตั้งคำถามกับตัวเองเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพื่อให้ตัวเราเห็นภาพตัวเองและมีเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
แหล่งที่มา:
[1] Chevalier Mosher, LLC, The Delphi Oracle: A Wisdom Story of Asking the Perfect Question, Wisdom 4Humanity, Uncategorized June 10, 2019 https://www.patrickmosher.com/blog/the-delphi-oracle-a-wisdom-story-of-asking-the-perfect-question
[2] ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล ฉลาดตั้งคำถาม ให้ผลดีทั้งชีวิตและการงาน เผยแพร่: 24 สิงหาคม 2561 20:40 ปรับปรุง: 28 สิงหาคม 2561 07:59 โดย: ผู้จัดการออนไลน์ https://mgronline.com/goodhealth/detail/9610000085008