"...ประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าอยู่แล้วควรยืนยันมาตรการนี้ต่อไป ควรห้ามการปรุงแต่งรสขาติในบุหรี่ทุกรูปแบบ เพิ่มอายุที่สามารถให้ซื้อบุหรี่ได้ เป็นอย่างน้อย 21 ปี และรัฐต้องมีมาตรการและเข้มงวดดูแลไม่ให้มีการโปรโมทการสูบบุหรี่ทุกชนิดทางโซเชียลมีเดีย โดยมองว่าต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะให้นักวิชาการเคลื่อนไหวอย่างเดียวไม่เพียงพอ..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ ศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของ WHO-FCTC และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ จัดงานเสวนา 'เจาะลึก……เบื้องหลังบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนักในเด็กไทย' หลังการสำรวจล่าสุดพบอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กไทยสูงถึง 17.6% หรือเพิ่ม 5.3 เท่าระหว่างปี 2558-2565
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเปิดงานเสวนา ว่า กลยุทธ์ของบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าที่เด็กและเยาวชน มีการจัดทำรูปแบบบุหรี่ไฟฟ้าทั้งแบบการ์ตูน กล่องนม เพื่อฝังให้เด็กคิดว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา และเด็กจะซึมซับโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งการตลาดต่อไปในอนาคตจะลงไปในเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ
รูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินที่เป็นอันตรายมากกว่าบุหรี่มวน เพราะบุหรี่มวนมีการจำกัดปริมาณนิโคตินต่อมวน แต่บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเติมนิโคตินได้ตลอดเวลา
"นิโคตินมีผลกระทบทำลายสมองและพัฒนาการของเด็ก และทำให้เกิดปอดอักเสบเฉียบพลัน นับเป็นภัยคุกคามเยาวชน ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ามีการแพร่หลายอย่างกว้างขวาง จึงต้องปรับรูปแบบการแก้ปัญหา ทั้งการให้ความรู้และปรับการรณรงค์ให้ตรงเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเยาวชน" นพ.ธงชัย กล่าว
นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผอ.กองงานคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กไทยอายุ 13-15 ปี ว่า จากการสำรวจเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี จำนวน 6,700 คน พื้นที่โรงเรียนทั่วประเทศ พบข้อสำคัญ 4 ประเด็น คือ
-
การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปี 2558 พบ 3.3% แต่ปี 2565 ล่าสุดพบสูงถึง 17.6% เพิ่มขึ้นเกือบ 5.3 เท่า
-
อุตสาหกรรมยาสูบมีกลยุทธ์มุ่งเป้าที่เด็ก มีการโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว คือ จาก 27% เป็น 48%
-
ความรู้หรือทัศนคติเด็กและเยาวชนเปลี่ยนแปลงไป เดิมเด็กจะเข้าใจพิษภัยบุหรี่ ตอนนี้เด็กมีความรู้หรือคิดเห็นควันบุหรี่มือสองลดลง อย่างการตัดสินใจเลิกยาสูบลดลงจาก 72.2% เหลือ 59% เด็กอาจจะเข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจปลอดภัยกว่าบุหรี่ หรือควันในบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย
-
การสื่อสาร พบว่าเด็กรับทราบสื่อต่างๆ เกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่ลดลงทุกช่องทางสื่อ จาก 74.9% เหลือ 61.3% หรือตามงานอีเวนต์ต่างๆ ที่รณรงค์ก็ลดลงจาก 72.2% เหลือ 62.4% ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ที่เรามีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้เริ่มสูบ หรือสูบแล้วต้องการเลิก พบว่า ลดลงเช่นกันจาก 38.4% เหลือ 28.6% ที่น่าตกใจคือในโรงเรียน พิษภัยที่รับความรู้จากการเรียนการสอนก็ลดลง จาก 76.2% เหลือ 65.8% จึงนำไปสู่เรื่องการแก้ไขปัญหา
นพ.ชยนันท์ กล่าวว่า กรมควบคุมโรค จึงนำเรื่องนี้เข้าไปในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ เพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วน 3 มาตรการ คือ
-
เคยมีการประกาศนโยบายมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 5 มาตรการ จะเน้นย้ำให้ดำเนินการ เราส่งมาตรการลงไปที่คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัดทุกจังหวัด ทั้งรณณงค์สร้างความตระหนัก การบังคับใช้การเฝ่าระวัง ทุกจังหวัดต้องเร่งดำเนินการ
-
ยกระดับเรื่องการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย เพราะตอนนี้กฎหมายบางครั้งไม่มีความชัดเจน เราต้องให้ผู้บังคับใช้กฎหมายมีความชัดเจนในการดำเนินคดีต่างๆ เราเน้นเรื่องจับคนขาย
-
การปรับกระบวนการสื่อไปถึงเด็กและเยาวชน เพื่อเพิ่มช่องทางและเหมาะกับพฤติกรรมเสพสื่อของเด็ก คือ โซเชียลมีเดียต่างๆ
"ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันรณรงค์ในเรื่องนี้ เพราะภาคธุรกิจบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตรายหรือเอามาใช้เลิกบุหรี่มวน ซึ่งเป็นข้อความบิดเบือน เราต้องทำให้เด็กเข้าใจ เพราะไม่มีภูมิต้านทานเรื่องนี้ ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างดี" นพ.ชยนันท์กล่าว
นพ.ชยนันท์ กล่าวถึงการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันว่า มีเยอะมาก ทั้งออนไซต์ตามร้านค้าต่างๆ และทางสื่อโซเชียลต่างๆ พบเห็นการลักลอบการขายอย่างโจ่งแจ้ง ส่วนใหญ่จากการสำรวจพบว่า มีการซื้อทางออนไลน์เกือบ 80% ผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งตำรวจ เจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็เร่งดำเนินการ โดยพยายามบูรณาการร่วมกับฝ่ายปกครองปราบปรามเอาจริงเอาจังมากขึ้น เราเห็นความสำคัญของการปกป้องคุ้มครองเยาวชน
"เราอาจจะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น เพราะว่าการบังคับใช้กฎหมายทางอินเทอร์เน็ตหรือออนไลน์ยากมาก แม้บางครั้งผู้บังคับใช้กฎหมายพบเห็นไปปิดเว็บไซต์ สักพักก็เปิดใหม่ได้ การปราบปรามก็สำคัญ แต่สำคัญกว่าคือรณรงค์ให้เด็กรับทราบโทษพิษภัยจริงๆ ของบุหรี่ไฟฟ้า อย่างการลงพื้นที่ เราพบเด็ก ป. 3 จ.สกลนคร ซื้อบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์ ราคาถูกสุดแบบพอตราคาแค่ 97 บาท มองว่าตรงนี้จะแทรกซึมเข้ามาและแพร่หลายมากขึ้น จะเกิด New Generation Addiction หรือยุคสมัยของการเสพติดบุหรี่เพิ่มขึ้น หลังเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นช่องทางไปสู่สิ่งเสพติดอื่น นโยบายรัฐบาลมุ่งเน้นปราบปรามยาเสพติดอยู่แล้ว ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าเป็นช่องทางหนึ่งทำให้เด็กเข้าถึงยาเสพติดชนิดอื่นๆ ด้วย" นพ.ชยนันท์กล่าว
นพ.ชยนันท์ กล่าวถึงการร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพราะเด็กมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนมากขึ้น ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หารือร่วม ศธ.อยู่แล้ว จะทำอย่างไรเมื่อพบเห้นว่านักเรียนครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ตอนนี้มีมาตรการที่ ศธ.จะดำเนินการเพื่อสื่อสารลงไปในโรงเรียนทุกแห่งว่า ว่าหากเจอในเด็กนักเรียน เราไม่ได้มองว่าเขาเป็นคนผิด เราคิดว่าเป็นเหยื่อ เราจะให้มีตัว Dropbox ให้หย่อนบุหรี่ไฟฟ้าลงไป เหมือนเวลาผ่านด่านศุลกากรต่างๆ ในการยึดของกลาง ก็จะส่งให้ตำรวจไปทำลาย
เมื่อถามถึงสถานการณ์เยาวชนที่เจ็บป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าหรือการเกิดโรค EVALI นพ.ชยนันท์กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ EVALI มีการพบเห็นและรายงาน แต่กรมควบคุมต้องมีการสอบสวนลงไป ตอนนี้ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเราจะต้องเร่งเก็บข้อมูลต่างๆ เพาะบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งมาใหม่ โทษพิษภัยเริ่มชัดเจนมากขึ้น แน่ชัดสุดคือเรื่องสมอง แต่จริงๆ ไม่ต้องรอผลข้อมูลพวกนี้ ไม่ต้องรอให้เกิด เมื่อมีความเสี่ยงเราต้องป้องกันให้ได้
เช่นเดียวกับ นางสุวิมล จันทร์เปรมปรุง เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ เปิดเผยว่า สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กค่อนข้างน่าเป็นห่วง พบเด็กสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ชั้นประถม มีการซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน ครูบางคนยังไม่รู้จัก ขาดความรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ ผู้ปกครองบางคนยังเข้าใจผิดคิดว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยจึงไม่ห้ามให้เด็กสูบ
ตัวอย่างที่พบเช่น เด็กประถมโรงเรียนแห่งหนึ่งใน กทม.นำมาให้เพื่อนสูบโดยคิดค่าบริการครั้งละ 5-10 บาท โรงเรียนใน จ.เพชรบูรณ์ พบเด็กม.2-3 สูบบอกพ่อแม่ซื้อให้ ซึ่งพ่อแม่ก็ยอมรับบอกเพราะคิดว่าไม่อันตราย และไม่อยากให้ลูกสูบบุหรี่มวน หรือเด็ก ป.5 บอกซื้อทางออนไลน์แบ่งสูบกับเพื่อนและนำไปขายรุ่นพี่ จ.อุบลราชธานีพบมีร้านขายใกล้โรงเรียน เป็นต้น
"ขนาดมีกฎหมายควบคุมยังพบสถานการณ์ที่น่าห่วงดังกล่าว หากไม่มีกฎหมายควบคุมจะเพิ่มปัญหามากขึ้น โดยเฉพาะเด็กเยาวชนจะตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้น ดังนั้น กรณีมีคนบางกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเปลี่ยนมาควบคุม โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการเข้าถึงของเด็ก เครือข่ายครูฯ เห็นว่า ข้ออ้างนี้เป็นสิ่งที่บิดเบือนจากความจริง เพราะหากยกเลิกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า จะยิ่งทำให้เด็กเข้าใจผิดว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย เพราะเข้าใจว่าเมื่อถูกกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ ซ้ำจะยิ่งทำให้การเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้ามีเพิ่มขึ้นทั้งร้านค้าใต้ดินและบนดิน เครือข่ายครูฯ จึงมีความเห็นว่า รัฐบาลควรจะคงมาตรการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป แต่เพิ่มความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมาย และเร่งให้ความรู้กับเด็ก ครู และผู้ปกครอง และอยากให้นำปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประเด็น talk of the town ที่ทุกคนต้องช่วยกันป้องกัน เฝ้าระวัง" นางสุวิมลกล่าว
น.ส.บังอร ฤทธิภักดี เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาหนักของทั่วโลกและอาเซียน สาเหตุหลักคือผู้ผลิตรออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีรูปลักษณ์ใหม่ๆ สวยงามในรูปแบบต่างๆ มุ่งเป้าเพื่อดึงดูดเด็ก ทำให้เข้าถึงง่าย และไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มแข็ง อีกทั้งมีคลิปเผยแพร่วิธีการสูบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทาง TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้คนใช้งานมากที่สุดและฮิตมากในอาเซียน ทั้งบรูไน ไทย ลาว สิงคโปร์ ทำให้การระบาดในเด็กขยายไปเร็วมาก เพราะเด็กคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย
สำหรับประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า มีการโปรโมทบุหรี่ไฟฟ้าผ่าน TikTok ว่าสูบแล้วเท่ สูบแล้วดีกว่า 97% มียอดวิวและยอดไลก์ถึง 98% ส่วนประเทศที่เปิดให้บุหรี่ไฟฟ้าขายอย่างถูกกฎหมาย เช่น อินโดนีเซีย ปัจจุบันพบว่ามีการระบาดในเด็กและเยาวชนจนควบคุมไม่ได้แล้ว งานวิจัยในอินโดนีเซียพบว่า เยาวชน 49% ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ขณะที่ฟิลิปปินส์ มีร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์กว่า 16,376 ร้าน
ในทางตรงข้าม สิงคโปร์ ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกับประเทศไทย เพราะบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายต่อพัฒนาการของเด็กจากนิโคติน เป็นประตูสู่ยาเสพติดอื่นๆ และไม่มีหลักฐานว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ แต่สิงคโปร์มีการบังคับใช้กฎหมายที่ดีมาก ควบคุมเข้มงวดและมีค่าปรับสูง ควบคู่การรณรงค์เข้มแข็งเข้าถึงทุกกลุ่ม และมีเอกภาพในการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้า
"จากผลสำรวจก่อนรณรงค์ พบว่า 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่รู้ถึงอันตรายบุหรี่ไฟฟ้า สถาบันส่งเสริมสุขภาพสิงคโปร์จึงจัดทำแคมเปญช่องทางออนไลน์ รวมถึง TikTok นอกจากนี้ยังมีการอบรมครู นักเรียนที่ถูกจับมีบุหรี่ไฟฟ้าในครอบครองจะเข้าคอร์สเลิกบุหรี่ มีการจัดการกับร้านขายออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำองค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่า มาตรการที่จำเป็นที่สุดในการปกป้องเด็กจากบุหรี่ไฟฟ้าคือ การห้ามขาย ดังนั้นประเทศไทยมาถูกทางแล้ว แต่เราต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเข้มแข็ง” น.ส.บังอร กล่าว
ทั้งนี้ ทั่วโลกมี 45 ประเทศที่มีกฎหมายห้ามเด็ดขาดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า แต่จากบทเรียนประเทศอาเซียน พบว่าภาคธุรกิจรุกหนักมากในการที่จะให้มีการเปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าให้ได้ อ้างว่ารัฐบาลจะได้เก็บภาษี
น.ส.บังอร กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอแนะ คือ ประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าอยู่แล้วควรยืนยันมาตรการนี้ต่อไป ควรห้ามการปรุงแต่งรสขาติในบุหรี่ทุกรูปแบบ เพิ่มอายุที่สามารถให้ซื้อบุหรี่ได้ เป็นอย่างน้อย 21 ปี และรัฐต้องมีมาตรการและเข้มงวดดูแลไม่ให้มีการโปรโมทการสูบบุหรี่ทุกชนิดทางโซเชียลมีเดีย โดยมองว่าต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะให้นักวิชาการเคลื่อนไหวอย่างเดียวไม่เพียงพอ โดยเฉพาะหน้าที่หลักอย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ต้องสกัดเรื่องการขายออนไลน์ เพราะการโปรโมททางโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องสำคัญในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม มองว่าไทยเราถือว่าเป็นแถวหน้าในการมีมาตรการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกับสิงคโปร์ แต่การบังคับใช้กฎหมายต้องปรับปรุง
ด้าน รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในหัวข้อเบื้องลึก เบื้องหลัง ความเคลื่อนไหวให้เปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในไทย ว่า บริษัทบุหรี่กำลังวิ่งเต้นอย่างหนัก เพื่อต้องการให้ประเทศไทยเปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าให้ได้ โดยเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยมักจะยกประเทศอังกฤษมาเป็นข้ออ้างให้รัฐบาลไทยเอาอย่าง
แต่ล่าสุดมีการเปิดเผยโดยนักข่าวสายสืบสวนของ Time of London ว่า นโยบายบุหรี่ไฟฟ้าของอังกฤษอาจจะเกิดจากการแทรกแซงโดยบริษัทบุหรี่ โดยพบความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มแพทย์และนักวิชาการอังกฤษที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ากับบริษัทบุหรี่ เช่น ให้ทุนงานวิจัยเพื่อสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าและเบี่ยงเบนผลกระทบต่อเด็ก ล็อบบี้นักการเมืองในรัฐสภาอังกฤษ สนับสนุนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าให้อ้างเรื่องสิทธิการสูบ และโจมตีข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก
“สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ซ้ำรอยกับที่อังกฤษโดยเฉพาะ พบว่ามีการวิ่งเต้นนักการเมือง ส่งคนที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติเข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในสภาผู้แทนราษฎร โดยคนกลุ่มนี้อ้างตัวเป็นกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า เรียกร้องสิทธิการสูบ และมักอ้างข้อมูลที่บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ควรให้คุณค่ากับคนกลุ่มนี้เพราะทำเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยไม่คำนึงผลกระทบที่จะเกิดกับสังคม” รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าพบว่า 10 คน จะมี 7 คน ติดไปจนตาย หรือไปเลิกตอนตาย ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าติดมากกว่าบุหรี่ธรรมดา เมื่อ 70% เลิกไม่ได้ จะเกิดประชากรติดสิ่งเสพติดรุ่นใหม่ จึงสมควรที่ทั้งสังคมจะขึ้นมาร่วมกันจัดการปัญหานี้ ซึ่งการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าเช่นนี้ ในประเทศที่จัดการบุหรี่ไฟฟ้าจะต้องสำรวจทุกปีในวัยรุ่น แต่ของไทยทำไม่ได้ เพราะไม่มีงบประมาณและไม่มีอัตรากำลัง เราทิ้งไป 7-8 ปี
ส่วนกรณีการรับรู้พิษภัยบุหรี่น้อยลง เพราะคนทำงานเรามีน้อยและอยู่ในส่วนกลาง และพบว่า การต่อสู้กับบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้การสู้กับบุหรี่ธรรมดาหย่อนลงไปด้วย อย่าง 4-5 ปีนี้ ตนแทบไม่ได้พูดเรื่องบุหรี่เลย เพราะหันมาทำเรื่องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งองค์การอนามัยโลกบอกว่า ประเทศที่ไม่พร้อมนั้น บุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้แย่ลงทั้งสองทาง ซึ่งอัตราสูบบุหรี่ไม่ลดลง แต่บุหรี่ไฟฟ้ากลับเพิ่มขึ้น ที่น่าห่วงคือ ระบบการให้ความรู้ของเราไม่เพียงพอ
ขณะที่ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวย้ำว่า สสส.ยังคงจุดเดิมคือ ไม่สนับสนุนสิ่งที่ทำลายสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นภัยคุกคามใหม่ในเด็กและเยาวชน สสส. สนับสนุนให้รัฐบาลคงกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าเพราะเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการป้องกันการเข้าถึงของเด็ก และจะสานต่อความร่วมมือกับทุกภาคส่วนต่างๆ ในการสื่อสารรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูล/ข้อเท็จจริงของอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า/ผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ทำให้สังคมรู้เท่าทันกลยุทธ์อุตสาหกรรมยาสูบ และการเพิ่มภูมิคุ้มกันในการป้องกันการสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน