"...ล่าสุดภาครัฐมี “โครงการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรโคนม” มูลค่า 3.7 พันล้านบาท ข่าวนี้ทำให้คนในวงการต่างภาวนา ขอครั้งนี้ให้ใช้เงินภาษีอย่างโปร่งใส เกิดประโยชน์คุ้มค่า ไม่อื้อฉาวเหมือนโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” ที่สูญเสียจนน่าอับอายไปชั่วลูกชั่วหลาน..."
จับตานมโรงเรียน “แจกเพิ่ม – ผสมนมผง – อัดฉีด 3.7 พันล้านบาท”
นมโค 1,100 ตันต่อวัน คือปริมาณที่ใช้ทำนมโรงเรียนแจกจ่ายทั่วประเทศมาหลายปีแล้ว แต่เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 มีเอกสารราชการที่ระบุว่า “ความต้องการนมโรงเรียน ปี 66 – 67 จะมีมากถึง 2,064.73 ตัน”
ที่ผ่านมานมโรงเรียนมีสัดส่วน 33% หรือ 1 ใน 3 ของการบริโภคน้ำนมโคของคนไทยทั้งประเทศ ด้วยตัวเลขใหม่ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้สัดส่วนเพิ่มเป็น 69.22% หรือ 2 ใน 3 ของตลาด
ความเป็นไปได้ที่ตัวเลขจะพุ่งขึ้นขนาดนี้คือ รัฐบาลต้องเปลี่ยนนโยบายแจกนมโรงเรียน จากเดิมแจกในช่วงเปิดเรียน เป็นแจกทั้ง 365 วัน ไม่เว้นวันหยุดวันปิดเทอม หรือขยายไปแจกนักเรียนชั้นมัธยมด้วย แนวทางนี้รัฐบาลต้องใช้งบปะมาณเพิ่มขึ้นจากปีละ 1.4 หมื่น เป็น 2.7 หมื่นล้านบาทโดยประมาณ (ผู้เขียน)
ข้อควรตระหนัก
1. หลายปีมานี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงขาดแคลนน้ำนมโค เพราะเกษตรกรเลิกอาชีพไปหลายราย โคนมจำนวนมากถูกส่งเข้าโรงชำแหละ โคสาวถูกขายส่งออกไปเวียดนาม เพื่อทดแทนน้ำนมที่ขาดจึงมีการนำเข้านมผงจาก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ประเทศแถบยุโรป และจีน มาผสมน้ำนมเพื่อจำหน่าย
2. หากปล่อยให้นำเข้านมผงมากเกินไป อาจทำให้ราคาน้ำนมดิบตกต่ำ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยอยู่ไม่ได้จนหมดกำลังใจในอาชีพนี้ต่อไป
3. น้ำนมโคสด มีคุณค่าทางโภชนการสูงกว่านมผงที่มีหลายเกรดหลายราคา อีกทั้งสิบกว่าปีก่อนยังข่าวดังไปทั่วโลกเรื่องเด็กเสียชีวิตในประเทศจีน เพราะบริโภคนมผงที่ผู้ผลิตจงใจผสมสารเมลามีนเพื่อเพิ่มปริมาณและน้ำหนักนมผง... ปัญหาทำนองนี้หมดไปหรือยัง เราตรวจสอบได้ดีแค่ไหน?
4. ในปี 2568 ภาษีนำเข้านมผงจะลดลงหรือเป็นศูนย์ ตามข้อตกลง FTA ที่ไทยร่วมตกลงไว้
นมโรงเรียน เป็นธุรกิจที่มีระบบโควตาจากรัฐ ใครได้มากจะยิ่งมั่นคงและได้เปรียบทางธุรกิจ จึงมีการแย่งชิงจนเกิดคอร์รัปชันหลายในหลายรูปแบบ ทำให้การจัดสรรโควตาไม่เป็นธรรม ไม่ทั่วถึง
คงไม่ขัดข้องอะไรหากสังคมเห็นพ้องกันว่า ถึงเวลาเหมาะสมแล้วที่จะขยายการแจกนมโรงเรียนเพื่อโภชการของเด็กที่จะมีผลต่อพัฒนาการยิ่ง แต่เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยและอุตสาหกรรมโคนมสามารถไปต่อได้อย่างมั่นคง เราจำเป็นต้องรื้อระบบ กติกา กฎหมาย การกำกับดูแล ให้เกิดความเป็นธรรม ปลอดคอร์รัปชัน มีธรรมาภิบาลมากว่าทุกวันนี้ เพื่อป้องกันนักการเมืองแทรกแซง ผู้ประกอบการที่ไม่ซื่อสัตย์ รวมถึงรายใหญ่หรือมาเฟียนมที่มีอำนาจเหนืออุตสาหกรรมนมของชาติ
เชื่อว่าที่กล่าวมา มีรัฐมนตรีท่านหนึ่งในรัฐบาลชุดนี้จะเข้าใจดีกว่าใคร เพราะท่านเป็นเจ้าของกิจการโคนมใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ
ล่าสุดภาครัฐมี “โครงการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรโคนม” มูลค่า 3.7 พันล้านบาท ข่าวนี้ทำให้คนในวงการต่างภาวนา ขอครั้งนี้ให้ใช้เงินภาษีอย่างโปร่งใส เกิดประโยชน์คุ้มค่า ไม่อื้อฉาวเหมือนโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” ที่สูญเสียจนน่าอับอายไปชั่วลูกชั่วหลาน
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก tna.mcot.net