"...การจัดการเวลานั้น เราต้องยอมรับว่าเรามีเวลาไม่เคยเพียงพอที่จะทำทุกอย่าง หากเรายื้อกับมันมากไป เข้มงวดกับเวลา หรือพยายามจะเพิ่มผลิตภาพมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งยุ่งขึ้นเท่านั้น เพราะถึงเราจะทำงานเสร็จเร็ว มันก็จะมีงานใหม่เข้ามาเพิ่มอยู่เรื่อย ๆ ทั้งนี้ อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ ผู้เขียนหนังสือ “ช้างกูอยู่ไหน” ได้กล่าวว่า “คนเราไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะสามารถสร้างงานทุกชิ้น ได้มาตรฐานแบบสายการผลิต มนุษย์ไม่สมบูรณ์แบบ บางวันทำได้ดี บางวันทำได้แย่ เราต้องยอมรับข้อจำกัดที่มีดังนั้น เราจึงควรล้มเลิกความคิดที่สร้างมาตรฐานอันสูงส่งเกินกว่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้”ควรเน้นกับการทำงานที่มีคุณภาพ อย่างสบายใจ..."
หากให้พวกเราคิดถึงทักษะที่จำเป็นกับการใช้ชีวิตประจำวันมากที่สุด “การบริหารจัดการเวลา” น่าจะเป็นทักษะที่สำคัญลำดับต้น ๆ เพื่อให้การทำภารกิจที่ยุ่งเหยิงในแต่ละวันแล้วเสร็จ แต่เมื่อผมได้อ่านหนังสือ Four Thousand Weeks (ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์) ที่เขียนโดย โอลิเวอร์ เบิร์กแมน (Oliver Burkeman) คอลัมนิสต์ชื่อดังของเดอะการ์เดียน ทำให้ได้เห็นมุมมองของการบริหารจัดการเวลาในอีกแง่มุมหนึ่ง
เริ่มต้นจากชื่อหนังสือที่กระตุกความคิดว่า หากอายุขัยโดยเฉลี่ยของมนุษย์คือ 80 ปี นั่นแปลว่าเราจะมีชีวิตอยู่ 4,000 สัปดาห์ ก่อนจากโลกนี้ไป ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำทุกอย่างที่ตั้งใจไว้ ต้องกลับมาตั้งหลักคิดให้ได้ว่า “สิ่งใดที่ทำแล้วมีคุณค่าและมีความหมายกับเรา” ถือเป็นข้อคิดที่แตกต่างจากหนังสือการบริหารจัดการเวลาทั่วไปที่เน้นการบริหารจัดการและหาเครื่องมือมาช่วยให้ทำ
ทุกภารกิจให้แล้วเสร็จ
ย้อนกลับไปในสมัยก่อนที่จะมีนาฬิกา มนุษย์ใช้ชีวิตโดยอาศัยพระอาทิตย์ขึ้นลง ตื่นเช้าขึ้นมารีดนมวัว ออกไปทำไร่ทำนา กลับเข้าบ้านก่อนพระอาทิตย์ตก ไม่มีอะไรที่ต้องเร่งรีบ ปล่อยเวลาเดินไปในแต่ละวัน ไม่รู้สึกว่าต้องทำมากเกินไป หรือในวันที่ไม่มีภารกิจ ก็ไม่รู้สึกเบื่อ แต่เมื่อเข้าสู่โลกปัจจุบันที่นาฬิกาเริ่มเข้ามาสู่ชีวิตประจำวัน เราจะเริ่มวางแผน ไล่เรียงกิจกรรมไปตามไทม์ไลน์ที่อยู่ในหัวภาพของเวลาที่เป็นเสมือนสายพานซึ่งเคลื่อนย้ายผ่านเราไปเรื่อย ๆ เวลาทุกชั่วโมง ทุกสัปดาห์ และทุกปี ซึ่งเราอยากใช้เวลานั้นอย่างคุ้มค่า จนบางครั้งยุ่งจนไม่มีความสุข แต่พอมีกิจกรรมน้อยไปก็รู้สึกเบื่อจนนำมาสู่การปฏิบัติต่อเวลาในฐานะ “ทรัพยากร” ที่ต้องใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดผลิตภาพ (productivity) ให้มากที่สุด [1]
เบิร์กแมนยกตัวอย่างการใช้ชีวิตจริงกับตารางเวลา ที่ทุกวันนี้เราเอาแต่หมกมุ่นกับกิจกรรมที่ต้องทำอย่างยาวเหยียด จึงทำให้รู้สึกกดดันเพราะไม่มีเวลาเพียงพอ ยิ่งเราเชื่อว่า ตัวเองทำทุกอย่างตามตารางได้สำเร็จมากเท่าไหร่ เราจะรับภาระหน้าที่ใส่ตัวเองมากขึ้นเท่านั้น ชีวิตยิ่งเคร่งเครียด ว้าวุ่นมากขึ้น ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเราติดกับดักของการมีประสิทธิภาพ คิดว่าสามารถทำทุก ๆ สิ่งได้ด้วยการบริหารจัดการเวลา [2] เช่น การอ่านหนังสือที่ไม่มีสมาธิจดจ่อ เพราะคิดไปถึงกิจกรรมที่จะทำต่อไปข้างหน้า เรียกว่า อ่านให้ผ่านสายตาไปอย่างรวดเร็ว หรือการไปท่องเที่ยวที่อัดโปรแกรมในแต่ละวันยาวเหยียดจนจำไม่ได้ว่า ไปสถานที่ใดบ้าง สิ้นวันด้วยความเหนื่อยล้า จนเป็นการพักผ่อนท่องเที่ยวที่ไม่มีความสุข
อีกตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคือ การตั้งเป้าอ่านและโต้ตอบอีเมลให้ครบถ้วน ทำให้เรายุ่งเหยิงทั้งในช่วงวันทำงานและช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่เราต้องยอมรับว่า ข้อความที่เราจะมีเวลาได้อ่านอย่างละเอียด ได้ตอบกลับ หรือได้คิดก่อนตัดสินใจที่จะลบ มีข้อจำกัด ดังนั้น การจัดการอีเมลได้ดีขึ้น เหมือนกับการปีนขึ้นบันไดที่ทอดยาวไม่มีวันสิ้นสุดได้เร็วขึ้นเรื่อย ๆ เราจะรู้สึกรีบเร่งกว่าเดิมและมองข้ามกิจกรรมที่มีความหมายกับชีวิต ซึ่งทางเดียวที่จะนำไปสู่อิสรภาพทางจิตใจก็คือ ปล่อยวางภาพเพ้อฝันที่ปฏิเสธว่า คนเรามีข้อจำกัดในการทำทุกอย่างให้เสร็จสิ้น และหันไปมุ่งมั่นกับการทำสิ่งที่มีความหมายจริง ๆ แค่ไม่กี่อย่างแทน [3]
เบิร์กแมนได้ให้ความเห็นในเรื่องการผัดวันประกันพรุ่งว่า เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ แต่ทำอย่างไรจะทำให้บริหารจัดการให้ดีกว่าเดิม ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การกำจัดการผัดวันประกันพรุ่งแต่เป็นการเลือกอย่างฉลาดขึ้น ว่าสิ่งไหนที่ควรจะถูกเลื่อนออกไปเพื่อจะได้มุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังนั้น เราต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถทำทุกสิ่งได้ในช่วงเวลาของชีวิตที่มีจำกัดเราไม่ควรพึ่งน้ำบ่อหน้า แต่ควรทำกิจกรรมที่มีความหมายกับเราตั้งแต่วันนี้ [4]
การจัดการเวลานั้น เราต้องยอมรับว่าเรามีเวลาไม่เคยเพียงพอที่จะทำทุกอย่าง หากเรายื้อกับมันมากไป เข้มงวดกับเวลา หรือพยายามจะเพิ่มผลิตภาพมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งยุ่งขึ้นเท่านั้น เพราะถึงเราจะทำงานเสร็จเร็ว มันก็จะมีงานใหม่เข้ามาเพิ่มอยู่เรื่อย ๆ ทั้งนี้ อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ ผู้เขียนหนังสือ “ช้างกูอยู่ไหน” ได้กล่าวว่า “คนเราไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะสามารถสร้างงานทุกชิ้น ได้มาตรฐานแบบสายการผลิต มนุษย์ไม่สมบูรณ์แบบ บางวันทำได้ดี บางวันทำได้แย่ เราต้องยอมรับข้อจำกัดที่มีดังนั้น เราจึงควรล้มเลิกความคิดที่สร้างมาตรฐานอันสูงส่งเกินกว่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้”ควรเน้นกับการทำงานที่มีคุณภาพ อย่างสบายใจ [5]
เบิร์กแมนได้ทิ้งท้ายกับข้อคิดของมาร์ทิน โฮเด็กเกอร์ นักปรัชญาชาวเยอรมันที่ว่า “เราไม่ ได้รับ หรือ มี เวลาเลยตั้งแต่ต้น ตัวเราเองต่างหากคือ เวลา เราไม่มีวันได้ถือไพ่เหนือกว่าความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเวลาในชีวิตของเรา เพราะเราคือช่วงเวลาเหล่านั้นนั่นเอง” [6]
แหล่งที่มา
[1] โอลิเวอร์ เบิร์กแมน (Oliver Burkeman) Four Thousand Weeks (ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์) วาดฝัน คุณาวงศ์ แปล พิมพ์ครั้งที่ 5 กรุงเทพฯ อัมรินทร์ฮาวทู คอร์ปอเรชันส์ 2566 หน้า 14-19
[2] ข้อคิดจากหนังสือ ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ | Four Thousand Weeks https://news.trueid.net/detail/yOrVNbQ81bZO
[3] โอลิเวอร์ เบิร์กแมน (Oliver Burkeman) Four Thousand Weeks (ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์) วาดฝัน คุณาวงศ์ แปล หน้า 37-39
[4] โอลิเวอร์ เบิร์กแมน (Oliver Burkeman) Four Thousand Weeks (ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์) วาดฝัน คุณาวงศ์ แปล หน้า 64-65
[5] ข้อคิดเรื่องเวลา เท่าไหร่ก็ไม่พอ | ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ | The BookTeller Story บันทึกบันดาลใจ www.youtube.com/watch?v=YqDDQ0wq5AY
[6] โอลิเวอร์ เบิร์กแมน (Oliver Burkeman) แปล Four Thousand Weeks (ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์) วาดฝัน คุณาวงศ์ หน้า 198