"...ท้ายสุดที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของเรื่องคือ “ตะปู” ที่โอมาร์ใช้เป็นกลอุบายบอกเด็กว่าหากคิดหวังอะไรให้เขียนใส่กระดาษแล้วเอาตะปูวิเศษนี้ไปตอกติดไว้บนผนัง พระเจ้าจะรับรู้ได้และจะประทานพรให้ ในขณะที่มีฉากหนึ่งที่โอมาร์แกะตะปูออกจากล้อรถ และเขาเก็บไว้ในกระเป๋ากางเกง ซึ่งเมื่อเขาหยิบออกมาและทิ่มแทงนิ้วมือจนเลือดออก เขาจึงตัดสินใจโยนตะปูตัวนั้นออกไปกลางทะเล ก่อนค้นพบ “ปาฏิหาริย์สีน้ำเงิน” ที่โอมาร์บอกกับเด็ก ๆ ในตอนท้ายเรื่องว่า “ในช่วงชีวิต เราจะเผชิญจุดที่ตกอับ ท้อแท้ และผิดหวัง แต่ฉันเชื่อว่า ด้วยประสบการณ์ที่พวกเธอพบเจอ เธอจะฝ่าฟันไปด้วยความทระนง” (When life lets you down which it often does you will be able to face it with character)..."
สำหรับคอหนังอย่างผม ภาพยนตร์เรื่องแรกที่จะดูในปีนี้จึงต้องสรรหาอย่างพิถีพิถันหน่อย อย่างน้อยต้องเป็นแนว feel good สามารถถอดบทเรียนนำมาเขียน Weekly Mail ได้ พอดูรายชื่อภาพยนตร์บนจอใหญ่แล้ว ไม่เห็นเรื่องใดโดดเด่นเป็นพิเศษ เลยค้นหาหนังสตรีมมิ่ง ที่ไม่ใช่หนังซีรีส์ แบบ 2 ชั่วโมงจบ จนค้นพบหนังเรื่อง Blue Miracle (ปาฏิหาริย์สีน้ำเงิน) ที่สร้างจากเรื่องจริงของสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ชื่อคาซ่า โฮการ์ (Casa Hogar) ตั้งอยู่ในเมืองติฮัวนา (Tijuana) ประเทศเม็กซิโก เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้มีเนื้อหาสลับซับซ้อน เรื่องเดินอย่างเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยบทเรียนของชีวิต
คาซ่า โฮการ์ มีโอมาร์และรีเบ็กก้า สองสามีภรรยาเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กชายที่ถูกทอดทิ้งกว่า 10 คนโดยที่โอมาร์เคยเป็นเด็กกำพร้ามาก่อน ด้วยพ่อเสียชีวิตตั้งแต่เด็ก กลายเป็นเด็กเร่ร่อน ไร้การศึกษา จนกลายเป็นทาสของยาเสพติด แอบขายยาบนท้องถนน โอมาร์จึงตระหนักดีถึงความเงียบเหงาและความสับสนของเด็กกลุ่มนี้ เขาและภรรยาจึงก่อตั้งสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าขึ้นเพื่อมอบความรักและความอบอุ่นให้กับเด็กที่เรียกเขาว่า “Papa Omar” แลกเปลี่ยนกับการจัดระเบียบวินัยให้กับเด็ก ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ เด็กโตสอนให้เด็กเล็กพับเสื้อผ้า ทำงานบ้าน เตรียมตัวไปโรงเรียนและเมื่อกลับจากเลิกเรียน เด็กทุกคนจะพากันมานั่งที่โต๊ะยาวเพื่อทำการบ้านด้วยกัน ก่อนหากิจกรรมทำร่วมกันที่ไม่ใช่การเล่นเกมส์ออนไลน์หรือเฝ้าหน้าจอทีวี ก่อนเตรียมตัวเข้านอน
คาซ่า โฮการ์ อาศัยเงินบริจาค แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อพายุเฮอริเคนโหมถล่มใจกลางเมืองในปี 2014 ทำให้ตัวอาคารคาซ่า โฮการ์ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ต้องมีค่าซ่อมแซม เกิดหนี้สินกับธนาคารที่ขีดเส้นตายให้ชำระคืน แต่แทนที่พวกเขาจะท้อแท้และยอมแพ้ต่อโชคชะตาพวกเขากลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังเมื่อทราบว่า จะมีการแข่งขันตกปลาประเพณีของเมืองที่ชื่อว่า “Bisbee’s Black & Blue Tournament” มีรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศที่ตกปลากระโทงสีน้ำเงิน (Blue Marlin) ได้ตัวใหญ่ที่สุด เป็นเงินก้อนใหญ่ถึง 250,000 ดอลลาร์ สรอ. และเหมือนฟ้าลิขิต โอมาร์ได้พบกับกัปตันเวด มัลลอย ผู้เคยเป็นแชมป์จากการแข่งขันนี้มาแล้วสองสมัยติดเมื่อ 10 กว่าปีก่อน และสนใจลงแข่ง แต่ผู้จัดไม่สามารถให้แข่งได้ เพราะต้องการเปิดโอกาสให้เฉพาะคนที่มีพื้นเพภูมิลำเนาอยู่ในเมืองนี้เท่านั้น แม้จะย้ายมาอยู่นับสิบปีแล้วก็ตาม
โอมาร์และเด็ก ๆ ไม่มีประสบการณ์การตกปลากันมาก่อน ในขณะที่เรือของกัปตันเวด มีอายุอานามพอ ๆ กับเจ้าของ มีสภาพที่ต้องลุ้นระทึกทุกนาทีที่ลอยอยู่กลางท้องทะเล จากปาฏิหาริย์ (Miracle) ไปสู่สีฟ้า (Blue) สีสัญลักษณ์แทนความหวัง สีของบ้านเด็กกำพร้าแห่งนี้ และแน่นอนเป็นสีของทะเล มหาสมุทร ถือเป็นหมุดหมายในการออกล่าความหวังทั้งของโอมาร์ กัปตันเวด รวมทั้งเหล่าบรรดาเด็ก ๆ ซึ่งผมคงไม่เป็นสปอยเลอร์ (Spoiler) เพื่อให้พวกเราสามารถดูภาพยนตร์นี้จนจบอย่างมีความสุข [1]
อย่างไรก็ดี ผมสามารถถอดบทเรียนที่ได้จากการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ 3 แง่มุม แง่มุมแรกคือ ชีวิตของเรามักต้องผ่านสิ่งล่อใจเสมอ (Temptations) กัปตันเวดเสนอแผนกลโกงด้วยการนำปลาที่ซื้อมา แอบไว้ใต้ท้องเรือ พร้อมจัดฉากว่าเป็นปลาที่จับได้ ซึ่งอย่างน้อยต้องได้รางวัลใดรางวัลหนึ่ง แต่โอมาร์ไม่เห็นด้วย ตัดสินใจทิ้งปลาตัวนั้นลงกลางทะเล ท่ามกลางความตกตะลึงของกัปตันเวด ในขณะที่โอมาร์กลับมองว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะจะไม่ได้ทิ้งแผลเป็นให้กับเด็ก ๆ ถูกตราหน้าว่า เป็นคนขี้โกงไปชั่วชีวิต
บทเรียนที่สองคือ เราไม่ได้ถูกตีคุณค่าจากสิ่งที่เราเชื่อ กัปตันเวดทิ้งครอบครัวที่อยู่ที่สหรัฐเพื่อตามล่าความฝันการเป็นนักล่าปลาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยในการแข่งขันหลายรายการเขาชนะมาด้วยกลโกงต่าง ๆ นา ๆ ซึ่งเหมือนกับหลายคนเชื่อว่า ความสำเร็จจะนำมาสู่ความรักจากคนรอบข้าง แต่กัปตันเวดได้เรียนรู้จากการอยู่บนเรือสามวันกับเด็ก ๆ ว่า หมุดหมายที่แท้จริงของชีวิตเขาไม่ใช่การตกปลา แต่เป็นลูกชายที่เขาละทิ้งมาและกำลังรอเขาอยู่ต่างหาก ประโยคที่หนึ่งในเด็กกำพร้าพูดกับกัปตันเวด เมื่อรู้ว่าเขาทิ้งลูกของตัวเองมาเพื่อตกปลาว่า “พ่อของผมอาจจะติดคุก เป็นขี้ยา ฆ่าคนตาย แต่ผมก็ยังรู้สึกว่า ตัวเองโชคดีกว่าลูกของคุณ” ทำเอาเขาถึงกับสะอึก และนั่นทำให้ได้คิดถึงความหมายของชีวิตอย่างแท้จริง
ข้อคิดสุดท้ายคือ เราต้องก้าวข้ามความกลัวในชีวิตให้ได้ โอมาร์หลีกเลี่ยงที่จะเป็นคนตกปลา เพราะเหตุการณ์ที่พ่อของเขาเสียชีวิตจากการไปตกปลาด้วยกัน ทำให้เขารู้สึกผิดต่อเหตุการณ์ในวันนั้นตลอดมา แต่เมื่อเขาต้องอยู่ในสถานะที่ต้องเป็นผู้ถือคันเบ็ด นำปลากระโทงสีน้ำเงินขึ้นบนเรือจนสำเร็จ ท่ามกลางการเฝ้าดูของเด็ก ๆ ทำให้เขาสามารถก้าวข้ามความกลัวและนำพาชีวิตไปข้างหน้าได้
ท้ายสุดที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของเรื่องคือ “ตะปู” ที่โอมาร์ใช้เป็นกลอุบายบอกเด็กว่าหากคิดหวังอะไรให้เขียนใส่กระดาษแล้วเอาตะปูวิเศษนี้ไปตอกติดไว้บนผนัง พระเจ้าจะรับรู้ได้และจะประทานพรให้ ในขณะที่มีฉากหนึ่งที่โอมาร์แกะตะปูออกจากล้อรถ และเขาเก็บไว้ในกระเป๋ากางเกง ซึ่งเมื่อเขาหยิบออกมาและทิ่มแทงนิ้วมือจนเลือดออก เขาจึงตัดสินใจโยนตะปูตัวนั้นออกไปกลางทะเล ก่อนค้นพบ “ปาฏิหาริย์สีน้ำเงิน” ที่โอมาร์บอกกับเด็ก ๆ ในตอนท้ายเรื่องว่า “ในช่วงชีวิต เราจะเผชิญจุดที่ตกอับ ท้อแท้ และผิดหวัง แต่ฉันเชื่อว่า ด้วยประสบการณ์ที่พวกเธอพบเจอ เธอจะฝ่าฟันไปด้วยความทระนง” (When life lets you down which it often does you will be able to face it with character) [2]
แหล่งที่มา
[1]วัชระ แวววุฒินันท์, เครื่องเคียงข้างจอ : Blue Miracle มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 ตุลาคม 2564 https://www.matichonweekly.com/column/article_471434#google_vignette
[2]Javier Ortega-Araiza, Life Lessons From a “Blue Miracle”, Wisdom Behind the Screen, May 15, 2022 https://wisdombehindthescreen.substack.com/p/life-lessons-from-a-blue-miracle
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.netflix.com