"...คุณมีชัย วีระไวทยะ ชี้ให้เห็นว่า “ทุกโรงเรียน มีพื้นที่ มีครู มีไฟฟ้า ประปา มีเด็กนักเรียน มีอุปกรณ์ โรงพยาบาลหลายแห่งมีพื้นที่ มีหมอ มีความรู้ มีบุคลากร ทุกวัดมีพระสงฆ์ มีพื้นที่ มีน้ำ ไฟ มีอุปกรณ์ หลายวัดมีเงินทำบุญมากมาย มีกรรมการวัดที่สามารถสร้างผลิตผลทางการเกษตรได้ ด้วยความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุในพื้นที่ ถ้าวัด บ้าน โรงเรียน และชุมชนร่วมพลังกันทั้งแผ่นดิน ทำให้ชนบททั่วประเทศเป็นพื้นที่เกษตรสัมมาชีพ ทำอย่างนี้ได้ก็จะพลิกฟื้นชีวิตชุมชนขึ้นมาโดยไม่ต้องแจกเงินดิจิตัล 10,000 บาท เป็นการสร้างรายได้สร้างอาชีพและสร้างความมั่นคงทางอาหารขึ้นมาได้เต็มแผ่นดิน”..."
เมื่อ 7 ธันวาคม 2566 เวลา 9.30 กรรมาธิการการศึกษาของวุฒิสภา ซึ่งมีนายตวง อันทะไชย เป็นประธาน ร่วมด้วย กมธ. เช่น สว. ออน กาจกระโทก สว.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล และคณะ พร้อมกับ นายจำเริญ แหวนเพ็ชร รอง ผวจ.บุรีรัมย์ นายศุภชัย จันปุ่ม รองศึกษาธิการ ภาค 13 ได้เดินทางไปที่ รร.มีชัยพัฒนา ลำปลายมาศ โดยใช้เวลาตลอดช่วงเช้า เรียนรู้จาก ภัทรานิษฐ์ ขาวสุข (เปรี้ยว) นร. ม. 6 ณิชาวีร์ นวลขาว (น้อยหน่า) นร. ม. 6 ลักษยา จันทร์ประภาส (ใบตอง) ม. 5 ซึ่งนำเสนอให้เห็นภาพว่า โรงเรียนมีชัยพัฒนา มุ่งสร้าง เด็กนักเรียนให้มีทักษะอาชีพ และหัวใจแบ่งปัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้เด็กเชื่อมโยงกับชุมชนรายรอบโรงเรียนโดยเข้าไปประกบคู่กับผู้สูงอายุ เพื่อร่วมกันทำแปลงเกษตร เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการหารายได้ในชุมชนอย่าง เป็นผล
โรงเรียนมีชัยพัฒนา อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เป็นหนึ่งในจำนวนโรงเรียนไม่กี่แห่งที่ได้รับความสนใจจากบุคคล คณะบุคคล ในแวดวงการศึกษา ไปเยี่ยมเยือนเพื่อประจักษ์ด้วยตนเองว่า เป็นโรงเรียนที่แปลกต่างไปจากโรงเรียนอื่นๆ ทั้งในปณิธานของโรงเรียนและวิธีดำเนินงาน
คณะกรรมาธิการจากวุฒิสภา และคณะศึกษาธิการจากจังหวัดราว 50 คน ได้เยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ 6 ฐานของเด็กนักเรียนในโรงเรียน เช่น
- ฐานปลูกถั่วงอก ที่ใช้แรงน้อย น้ำน้อย และใช้พื้นที่น้อย
- ฐานปลูกต้นอ่อนทานตะวัน ที่ให้ผลผลิตเร็วและได้ราคาดี
- ฐานเพาะเห็ดนางฟ้า
- ฐานการเพาะเนื้อเยื่อเป็นศูนย์นวัตกรรมการขยายพันธุ์ที่เด็กนักเรียนเป็นผู้ทำด้วยตนเอง
ในภาคบ่ายคณะดูงานได้ไปเยี่ยมเยือนแปลงเกษตรที่โรงพยาบาลลำปลายมาศ ซึ่งเป็นพื้นที่ความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลกับโรงเรียนมีชัยพัฒนา
นพ. บุญโฮม แก้วชนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำปลายมาศ ชี้แจงว่า
"โรงพยาบาลลำปลายมาศ นับเป็นแห่งแรกในประเทศไทยก็ว่าได้ ที่ได้รับความกรุณาจาก คุณมีชัย วีระไวทยะ ให้แนวทางและเข้ามาทำแปลงเกษตรในโรงพยาบาล นอกจากมอบอุปกรณ์และเมล็ดพันธุ์การเกษตรให้แล้ว ผม พยาบาลและคนไข้บางส่วนยังได้ไปดูงานที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา ครูและนักเรียนยังเข้ามาช่วยกันขุดดิน ทำแปลงผัก นับตั้งแต่กุมภาพันธ์ ปี 2566 เป็นต้นมา ในเนื้อที่ราว 2 งาน ด้านหลังโรงพยาบาล"
แปลงผักนี้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ที่คนไข้ ญาติคนไข้ พากันมาดู และนำไปเป็นแบบอย่าง ทำแปลงเกษตรที่บ้าน และผลิตผลก็ยังขายในโรงพยาบาลได้
ตอนนี้ เราขยายไปทำแปลงเกษตร ที่บ้านคนไข้ ซึ่งป่วยเรื้อรัง หรือบางบ้านก็นอนติดเตียง แทนที่คนไข้หรือญาติจะนั่งนอนอยู่กับที่ก็หันมาปลูกถั่วงอก ปลูกต้นอ่อนทานตะวัน บางครอบครัวสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมา เดือนละ 2,000 บาท
เรายังขยายไปทำแปลงเกษตรกับแม่วัยใส จำนวน 10 กว่าคน คือเด็กหญิงที่มีบุตรในสภาพยังไม่พร้อมทั้งร่างกายและชีวิตความเป็นอยู่ แม่วัยใสเห็นผักสลัดออกใบในแปลงของตนเอง เห็นถั่วงอกโตขึ้นมาเอาไปขายได้ ก็ดีใจในผลงานของตนเอง
ขณะนี้แปลงเกษตรของโรงพยาบาล ขยายผลไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2 แห่งแล้ว คือ รพ.สต.บ้านหนองครก และ รพ.สต.บ้านโนนตะครอง ที่ชวนกันทำแปลงเกษตรให้เป็นศูนย์เรียนรู้ของโรงพยาบาล ได้ผักก็เอาผักมาขาย ใครอยากเรียนรู้ก็ไปดูที่แปลงผัก
คนเฒ่าคนแก่ที่มาร่วมกันทำแปลงผัก เห็นผักเติบโต แล้วยังขายได้ ก็ภาคภูมิใจที่ตนเองมีคุณค่า
นี่เรียกว่า “โรงเรียนพาทำ โรงพยาบาลนำพา” พาไปขยายผลกว้างขวางออกไป
นายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการการศึกษาวุฒิสภา ได้ดูแปลงเกษตรของโรงพยาบาล และรับฟังรายละเอียด ได้สะท้อนความเห็นว่า
“ผมเห็นมาแล้ว มี 3 โรงเรียน ที่ต้องยกย่อง”
1. โรงเรียนธงชัยใจดี ที่ลพบุรี ที่นั่นสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เสริมทักษะความเป็นเลิศด้านการกีฬา คุณธงชัย ใจดี มือโปรกอล์ฟของประเทศไทย ได้รับรางวัลระดับโลกมามากมาย ได้เงินเท่าไรก็เอามาสร้างโรงเรียนให้เป็นแบบอย่างด้านการกีฬา
2. โรงเรียนรุ่งอรุณ ที่ฝั่งธนบุรี ของอาจารย์ประภาภัทร นิยม แห่งสถาบันอาศรมศิลป์ ที่นั่นฝึกเด็กให้มีทักษะ มีการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง มีธรรมะ มีความสามารถที่จะพึ่งตนเองได้ และมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น รวมทั้งมีความเคารพต่อธรรมชาติ
3. โรงเรียนมีชัยพัฒนา เป็นโรงเรียนที่เข้าสู่ชุมชน สร้างนักเรียนให้เป็นนักพัฒนา และมีชีวิตจิตใจที่เอื้ออาทรต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ขยายผลไปสู่วัด สู่โรงพยาบาลได้อย่างน่าภาคภูมิใจ อย่างที่เห็นในโรงพยาบาลลำปลายมาศนี้ ต้องถือว่า โรงพยาบาลไม่ได้รักษาแต่ร่างกาย แต่ได้มีบทบาทเยียวยาจิตวิญญาณของมนุษย์ด้วย ต้องขอบคุณน้ำใจของคุณมีชัย วีระไวทยะ และความร่วมแรงร่วมใจของทุกๆ ภาคส่วน
กรรมาธิการการศึกษาของวุฒิสภา จะทำรายงานแบบอย่างโรงเรียนทั้งสามแห่งนี้ เสนอต่อวุฒิสภา เพื่อให้ผู้คนในแวดวงการศึกษา และคนทั่วไปได้ภาคภูมิใจร่วมกันว่า การปฏิรูปการศึกษาที่เป็นจริงนั้นมีคนทำให้เห็นแล้วทั้ง 3 โรงเรียนนี้ ไม่ต้องรอ พรบ. การศึกษาแห่งชาติ”
ขณะนี้โรงเรียนมีชัยพัฒนา ได้ขยายขอบเขตงาน นอกจากจะเข้าไปช่วยยกระดับชีวิตชุมชนรายรอบโรงเรียนด้วยวิถีเกษตรชุมชนและกองทุนเงินกู้แล้ว ยังขยายไปสู่โรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลลำปลายมาศ โรงพยาบาลจักราช รพ.สต. 2 แห่ง แล้วยังขยายเข้าไปทำแปลงเกษตรที่วัดโนนสุวรรณ อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ โดยนายกเทศมนตรีโนนสุวรรณและเจ้าอาวาส ร่วมกันจัดพื้นที่ในวัดให้ชาวบ้านเข้ามาปลูกพืชผักนานาชนิด สร้างความมั่นคงด้านอาหารและสร้างรายได้อย่างน่าตื่นตา ตื่นใจ
ประเทศไทยมีวัด 43,000 วัด มีโรงพยาบาล 894 แห่ง มีโรงเรียนราว 30,000 โรงเรียน
คุณมีชัย วีระไวทยะ ชี้ให้เห็นว่า “ทุกโรงเรียน มีพื้นที่ มีครู มีไฟฟ้า ประปา มีเด็กนักเรียน มีอุปกรณ์ โรงพยาบาลหลายแห่งมีพื้นที่ มีหมอ มีความรู้ มีบุคลากร ทุกวัดมีพระสงฆ์ มีพื้นที่ มีน้ำ ไฟ มีอุปกรณ์ หลายวัดมีเงินทำบุญมากมาย มีกรรมการวัดที่สามารถสร้างผลิตผลทางการเกษตรได้ ด้วยความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุในพื้นที่ ถ้าวัด บ้าน โรงเรียน และชุมชนร่วมพลังกันทั้งแผ่นดิน ทำให้ชนบททั่วประเทศเป็นพื้นที่เกษตรสัมมาชีพ ทำอย่างนี้ได้ก็จะพลิกฟื้นชีวิตชุมชนขึ้นมาโดยไม่ต้องแจกเงินดิจิตัล 10,000 บาท เป็นการสร้างรายได้สร้างอาชีพและสร้างความมั่นคงทางอาหารขึ้นมาได้เต็มแผ่นดิน”