"...การที่ไม่มีเหตุผลให้เราทำอะไรสักอย่าง หมายความว่า ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ทำอะไรสักอย่างด้วยเหมือนกัน ในเมื่อเราทุกคนต้องจากโลกใบนี้ ก็ไม่มีเหตุผลต่อความกลัว หรือความละอาย ดังนั้น เราจึงไม่ควรหลีกหนีความเจ็บปวดและความไม่สบายใจ..."
สวัสดีครับ
Weekly Mail ฉบับแรกของปีมักจะเป็นฉบับที่เข็นออกยากเสมอ และยิ่งเป็นปีสุดท้ายที่จะเขียน ยิ่งทำใจยากเป็นทวีคูณ อย่างไรก็ดีปี 2567 ถือเป็นปีแซยิดอายุครบ 60 ปี ซึ่งยังไม่อยากจะเชื่อว่า ตัวเองจะเป็นผู้สูงวัยแล้ว และเมื่อพิจารณาถึงผู้เกิดปีมะโรงที่ถูกทำนายถึงนิสัยว่า “เป็นคนมีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก เกิดมาเพื่อเป็นผู้นำ พูดจาเยือกเย็นและน่าเชื่อถือ มีความกระตือรือร้นสูง มีความรับผิดชอบ หน้าใหญ่ ใจกว้าง ชอบช่วยเหลือ รักอิสระ ชอบท่องเที่ยว ชอบการผจญภัย เป็นคนเจ้าอารมณ์” ทำให้ทราบดีว่าตนเองยังเป็นคนไม่สมบูรณ์แบบ ต้องปักธงปรับปรุงตัวเองต่อไป แต่คงต้องเลือกทำเรื่องสำคัญ ๆ โดยเฉพาะในการถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับน้อง ๆ ในช่วงเวลาทำงานที่เหลือ
ช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ ผมได้อ่านหนังสือ The Subtle Art of Not Giving a F*ck ชีวิตติดปีก ด้วยศิลปะแห่งการ “ช่างแม่ง” เขียนโดยมาร์ค แมนสัน (Mark Manson) แปลโดย ยอดเถา ยอดยิ่ง ซึ่งผมสะดุดตาตั้งแต่ชื่อหนังสือที่ดูหยาบคาย ไม่สุภาพ แต่ที่ไหนได้ กลับเป็นหนังสือขายดีตั้งแต่ปี 2016 เพราะหักมุมจากหนังสือ How to ทั่วไปที่สอนให้ใช้ชีวิตด้วยการคิดบวกและพยายามรักษาความรู้สึกดี ๆ ให้อยู่กับตัวเองตลอดเวลา
มาร์ค แมนสัน (Mark Manson)
กฎแห่งการย้อนกลับของ มาร์ค แมนสัน: การโหยหาความคิดเชิงบวกนั้น
แท้จริงแล้วเป็นความคิดเชิงลบ ในทางกลับกัน
การยอมรับความคิดเชิงลบของตัวเอง กลับกลายเป็นความคิดเชิงบวก
แมนสันนำประสบการณ์ชีวิตอันเหลวแหลกตั้งแต่อายุ 13 ปี เมื่อครูใหญ่จับได้ว่านำกัญชามาขายให้เพื่อน จนถูกขับไล่ออกจากโรงเรียน พ่อแม่กักตัวให้อยู่ช่วยงานบ้านเป็นเวลา 1 ปี ก่อนส่งไปเรียนโรงเรียนเอกชนที่เพื่อนไม่อยากคบหาสมาคมด้วย ใช้ชีวิตวัยรุ่นอย่างเสเพล แต่จุดพลิกผันของชีวิตเกิดขึ้นเมื่อเพื่อนสนิทจมน้ำเสียชีวิตต่อหน้าต่อตาเมื่ออายุ 20 ปี จนคิดได้เองว่า การที่ไม่มีเหตุผลให้เราทำอะไรสักอย่าง หมายความว่า ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ทำอะไรสักอย่างด้วยเหมือนกัน ในเมื่อเราทุกคนต้องจากโลกใบนี้ ก็ไม่มีเหตุผลต่อความกลัว หรือความละอาย ดังนั้น เราจึงไม่ควรหลีกหนีความเจ็บปวดและความไม่สบายใจ ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้แมนสันเปลี่ยนความคิด และนำมาสู่การเป็นนักเขียนและบล็อกเกอร์ที่มีผู้ติดตามนับล้านคนในเวลานี้
การใช้ชีวิตแบบ “ช่างแม่ง” ที่แมนสันได้เขียนถึง ไม่ใช่การเมินเฉย ประชดชีวิต อยู่ไปวัน ๆ แต่หมายถึงการยอมรับความจริง ไม่ต้องสนใจหรือแคร์กับอุปสรรคในการไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ การสงสารตัวเองตลอดเวลา สนใจและแคร์ทุกอย่างมากเกินไป เป็นการซ่อนตัวตนที่แท้จริงเราไว้ และการตามหาเป้าหมายของชีวิตที่ไม่มีวันสิ้นสุด (ในบางช่วงจังหวะอาจยังไม่ได้เริ่มต้นทำด้วยซ้ำไป)
แมนสันได้เขียนไว้อย่างน่าขบคิดว่า “การโหยหาความคิดเชิงบวกนั้น แท้จริงแล้วเป็นความคิดเชิงลบ ในทางกลับกัน การยอมรับความคิดเชิงลบของตัวเอง กลับกลายเป็นความคิดเชิงบวก” แปลง่าย ๆ คือ ยิ่งเราตามหาความรู้สึกดี ๆ มากขึ้น เรายิ่งจะพอใจน้อยลง เพราะการตามหาสิ่งหนึ่ง เป็นการตอกย้ำถึงความจริงที่ว่า เรายังขาดสิ่งนั้นอยู่ เช่น ยิ่งขวนขวายหาความรักมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งจะรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น ไม่ว่าเราจะมีคนที่รักอยู่รอบตัวมากแค่ไหนก็ตาม
ความเชื่อหรือค่านิยม (Value) ที่แมนสันอยากให้เราให้น้ำหนักน้อยลง (นอกเหนือจากการคิดบวกตลอดเวลา) คือ 1. รักสนุก เพราะความสนุกไม่ใช่เหตุผลของความสุข จึงไม่ควรจะทุ่มเทพลังงานไปกับความสนุกแบบผิวเผินที่มักจะลงเอยด้วยความรู้สึกกังวลมากขึ้น 2. ความสำเร็จทางวัตถุ เพราะมีความสัมพันธ์ที่ตรงข้ามกับความสุข และทำให้คุณค่าในตัวเราลดน้อยลงไปด้วย ทั้งความจริงใจและความเมตตา และ 3. ต้องถูกเสมอ เพราะเราจะไม่ค้นพบความจริง ไม่ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง และไม่เปิดรับมุมมองใหม่ ๆ
ดังนั้น เราต้องให้น้ำหนักต่อค่านิยมที่อยู่บนพื้นฐานความจริง เป็นที่ยอมรับของสังคมส่งผลโดยตรงและควบคุมได้ นั่นก็คือ การรับผิดชอบกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตเราความไม่แน่นอน ความล้มเหลว การปฏิเสธ และสัจธรรมของชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย
สรุปง่าย ๆ คือ เราต้องยอมรับต่อสิ่งเหล่านี้ และ “ช่างแม่งมัน” ถามตัวเองว่า สนใจและแคร์อะไรบ้างที่สำคัญในชีวิต ใช้เวลาและพลังงานของเราให้มีประโยชน์ที่สุด ไม่เช่นนั้น เราก็จะไปให้ความสนใจกับทุกสิ่งที่อาจจะไร้ความหมายและไร้สาระแทน
ถือเป็น Weekly Mail ที่อ่านแล้วอาจจะหนักอึ้ง แต่ได้ให้ข้อคิดดี ๆ สำหรับการเริ่มต้นปีมะโรง 2567 และหวังว่า พวกเราคงจะได้ปักธงชีวิต พบเจอแต่ความสุข มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงตลอดไปครับ
รณดล นุ่มนนท์
2 มกราคม 2567