"...เชื่อว่าจะเลวร้ายลงอีก จากปัจจัยลบ 1. นักการเมืองเร่งตอบสนองกลุ่มทุนของพรรคการเมืองที่เพิ่งเปลี่ยนขั้ว/ข้ามกระทรวง 2. การเร่งถอนทุนจากที่ลงไปในการเลือกตั้ง 3. ข้าราชการนิ่งเฉยมองสถานการณ์อำนาจที่เพิ่งเปลี่ยน 4. นักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นที่มั่นใจในเครือข่ายของตนว่ามีอำนาจและจะปกป้องกันได้ จึงใช้อำนาจอย่างย่ามใจ 5. ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. ยังไม่เป็นที่เกรงกลัวของคนโกง ขณะที่กลไกตรวจสอบภายในหน่วยงานล้มเหลว..."
คำถามจากสื่อมวลชนเกี่ยวกับ “10 คดีคอร์รัปชันแห่งปี 2566” ซึ่งผมได้แสดงความเห็นไว้ดังนี้
1. 10 คดีคอร์รัปชันแห่งปี 2566 สะท้อนให้เห็นปัญหาอะไร?
ความผิดปรกติที่คล้ายๆ กันคือ ผู้อยู่ในอำนาจรัฐมองคนสำคัญกว่าระบบ ผลประโยชน์เหนือความถูกต้อง ความลับราชการเป็นข้ออ้างที่ใช้พร่ำเพรื่อ คุณธรรมในระบบราชการถูกทำลาย คนของรัฐไม่ตรงไปตรงมา กลุ่มทุนสีเทาและอาชญากรรมข้ามชาติมองประเทศไทยเป็นสวรรค์เพราะอะไรก็เคลียร์ได้
2. อะไรทำให้คอร์รัปชันวิกฤตมากขึ้น?
ปรากฏการณ์สำคัญที่เห็นคือ กลุ่มทุนเข้ามาเล่นการเมืองเอง ผู้มีอิทธิพลเหนือข้าราชการ การคดโกงทำกันอย่างโจ่งแจ้งไม่ละอาย คนในหน่วยงานที่ต้องดูแลเรื่องนั้นๆ กลับโกงเสียเอง การปิดบังบิดเบือนข่าวสารทั้งหมดหรือบางส่วนทำได้ง่าย กระบวนการยุติธรรมอ่อนแอ เมกะโปรเจคและคอร์รัปชันเชิงนโยบายถูกใช้มากขึ้นเพราะจับโกงเอาผิดได้ยาก การปฏิรูปการต่อต้านคอร์รัปชันไม่คืบหน้า
3. ในปี 2567 สถานการณ์คอร์รัปชันจะเป็นอย่างไร?
เชื่อว่าจะเลวร้ายลงอีก จากปัจจัยลบ 1. นักการเมืองเร่งตอบสนองกลุ่มทุนของพรรคการเมืองที่เพิ่งเปลี่ยนขั้ว/ข้ามกระทรวง 2. การเร่งถอนทุนจากที่ลงไปในการเลือกตั้ง 3. ข้าราชการนิ่งเฉยมองสถานการณ์อำนาจที่เพิ่งเปลี่ยน 4. นักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่นที่มั่นใจในเครือข่ายของตนว่ามีอำนาจและจะปกป้องกันได้ จึงใช้อำนาจอย่างย่ามใจ 5. ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. ยังไม่เป็นที่เกรงกลัวของคนโกง ขณะที่กลไกตรวจสอบภายในหน่วยงานล้มเหลว
ปัจจัยบวกที่ต้องการมากคือ รัฐบาลต้องประกาศ “แนวทางป้องกันคอร์รัปชันในระบบราชการและภาคการเมือง” ที่คนทั่วไปเชื่อว่าปฏิบัติได้จริง ควบคู่ไปกับการจับกุมลงโทษคนผิดให้สมกับพฤติกรรมอย่างไม่เลือกหน้า และเมื่อการลงทุนขนาดใหญ่หรือนโยบายสาธารณะเรื่องใดตกเป็นที่กังขาของสังคม จะต้องเปิดให้มีการพูดคุยหรือไต่สวนโดยคณะบุคคลที่สาธารณชนยอมรับ
อย่ารอให้ประชาชนแสดงออกถึงความไม่พอใจอย่างรุนแรง สื่อมวลชนและประชาชนเรียกร้องเสรีภาพในการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น เกิดการกดดันให้ภาครัฐจะยอมปรับตัวทำงานอย่างเปิดเผยมีธรรมาภิบาลมากขึ้น เพราะถึงวันนั้นบ้านเมืองก็เสียหายไปมากแล้ว
4. มีกรณีใดที่สนใจติดตามเป็นพิเศษในช่วงนี้
มีคอร์รัปชันหลายเรื่องที่ทำให้คนไทยต้องเดือดร้อนและเสี่ยงชีวิต เช่น เนื้อวัวที่ขายในท้องตลาดกว่า 90% ใช้สารเร่งเนื้อแดงมากเกินขีดอันตรายและผิดกฎหมายแต่ก็เป็นมานานมากแล้ว การขาดแคลนน้ำนมโคสดเพื่อบริโภคในประเทศ การกำหนดโซนนิ่งผังเมือง กทม. ใหม่ ฯลฯ
เงินทองหรือทรัพยากรของชาติที่เสียไปเพราะคนโกงกิน สักวันก็หามาทดแทนได้ แต่ชีวิต ความสุขและความศรัทธาของประชาชนนั้นมีค่าสูงยิ่ง หากเสียไปจะเรียกคืนได้ยาก จำเป็นต้องช่วยกันปกป้องไว้
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com