"...มัลคัม แกลดเวล อธิบายทฤษฎีจุดพลิกผัน (Tipping Point)ในทิศทางที่ว่า “ความคิด ผลิตภัณฑ์ พฤติกรรมมนุษย์ แพร่กระจายออกไปได้เหมือนการกระจายของเชื้อไวรัส เมื่อเคลื่อนตัวไปถึงมวลวิกฤต (Critical Mass) คือเมื่อถึงจำนวน หรือปริมาณที่แน่นอน”..."
ผลพวงแห่งการเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม 2516 ทำให้สังคมไทยเปิดพื้นที่แห่งเสรีภาพให้แก่การเติบโตของพลังฝ่ายต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งกรรมกร ชาวนา นักศึกษา และประชาชนสามารถจะชุมนุมทางการเมืองได้อย่างเป็นอิสระ
ในการชุมนุมครั้งหนึ่ง เมื่อ 50 ปีล่วงมาแล้ว จำไม่ได้แล้วว่าเป็นกรณีใด ได้พบกับอ.ไพฑูรย์ สายสว่าง อาจารย์เศรษฐศาสตร์ฝ่ายก้าวหน้า หลังจากทักทายกัน อ.ไพฑูรย์ บอกว่า “ผมมาเพิ่มจำนวนคนชุมนุมให้กับพวกเรา”
ผู้เขียนยังงงๆ ว่า การพูดเช่นนั้น สื่อความหมายอะไร ได้มาอ่านงานเรื่องจุดพลิกผัน ในหนังสือชื่อ “The Tipping Point : How Little Thing Can Make a Big Difference” ของ Malcolm Gladwell จึงพอจะเข้าใจความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า “จำนวน”
ราว 45 ปีก่อน ตอนนั้นเป็นช่วงแรกๆ ที่มีการผลิตคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใช้ คอมพิวเตอร์มีขนาดใหญ่เท่าฝาผนังห้อง มีความหนาราวฟุตครึ่ง
ในเวลานั้นมีวารสาร ชื่อ U.S. News & World Report พาดหน้าปกตัวโตและรายงานเนื้อในว่าในอนาคตอีกไม่นาน ผู้คนทั่วไปจะมีคอมพิวเตอร์แบบพกพา (Personal Computer) ติดประจำตัว
มันเป็นการคาดการณ์อนาคตที่สุดจะคาดคิดได้ว่าคอมพิวเตอร์ใหญ่เบ้อเร่อขนาดนั้นจะกลายเป็นอุปกรณ์พกพาติดตัวคนได้อย่างไร ในวันนี้ พบว่าผู้คนทั่วโลกมีอุปกรณ์นี้อยู่ในมือเป็นปัจจัยติดตัวตลอดเวลาในชีวิตประจำวันที่ดูเหมือนจะขาดเสียมิได้ มันมีศักยภาพสารพันที่ผู้คนได้ใช้ประโยชน์ในทุกมิติของภูมิปัญญาที่อาศัยประสาทสัมผัสด้านตา (รูป) หู (เสียง) สัมผัส (ใจ) ยังขาดก็แต่ กลิ่น (จมูก) และ รส (ลิ้น) เท่านั้นที่คอมพิวเตอร์ยังทำไม่ได้
ด้วยโทรศัพท์มือถือนี้เอง เราเห็นจำนวนในมุมต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในหลายๆ เรื่อง
แต่ก่อนนี้ เราส่งข้อความถึงกันด้วย ข้อความสั้น (SMS) ที่จำกัดเฉพาะตัวหนังสือ และไม่สะดวกในการจิ้มทีละตัว เวลานี้ ทั้งข้อความ ทั้งรูปภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวและเสียง เข้ามาแทนที่โดยผ่านไลน์มีจำนวนมาก กระจายใช้กันไปทั่วทั้งโลก
โควิด-19 ทำให้โลกป่วนไปหมดทั้งชีวิต ทรัพย์สิน สาธารณสุข การเมืองและสังคม และแล้วระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom) รวมถึงการทำงานอยู่กับบ้าน (WORK FROM HOME) มีผู้ใช้จำนวนมากมาย ทำให้สองสิ่งนี้กลายเป็นวิถีปฏิบัติใหม่ (New Normal) ของคนทั้งโลกไปแล้ว
นี่คืออานุภาพของจำนวนหรือปริมาณที่แพร่กระจายจนถึงระดับจุดพลิกผัน ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
มัลคัม แกลดเวล อธิบายทฤษฎีจุดพลิกผัน (Tipping Point)ในทิศทางที่ว่า “ความคิด ผลิตภัณฑ์ พฤติกรรมมนุษย์ แพร่กระจายออกไปได้เหมือนการกระจายของเชื้อไวรัส เมื่อเคลื่อนตัวไปถึงมวลวิกฤต (Critical Mass) คือเมื่อถึงจำนวน หรือปริมาณที่แน่นอน”
เราอาจเทียบได้ว่า การเปลี่ยนสู่สภาพใหม่นั้น เหมือนการต้มน้ำ น้ำระเหยกลายเป็นไอก็ต่อเมื่อความร้อนถึงจุดเดือดที่ 100 องศาเซลเซียส ถ้าความร้อนยังแค่ระดับ 60 องศา น้ำก็ยังคงสภาพเป็นน้ำอยู่อย่างนั้น
นี่เป็นเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ แต่พฤติกรรมทางสังคมนั้น ไม่อาจบอกจำนวนที่แน่นอน แต่สามารถเห็นผลเชิงประจักษ์ได้
ตัวอย่างเช่น การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในประเทศไทย ที่ ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปีมาแล้ว แม้ว่ายังมีผู้คนสูบบุหรี่อยู่จำนวนไม่น้อย แต่สภาพก็เปลี่ยนไป
เมื่อก่อนนี้เข้าไปในร้านอาหาร ไปเดินห้างสรรพสินค้า ไปสถานบันเทิง ไปห้องทำงาน ไปห้องประชุมสัมมนา ไปสนามบินบริเวณห้องโถงรอขึ้นเครื่อง แม้แต่ขึ้นไปบนเครื่องบิน ก็จะมีนิโคตินควันบุหรี่เป็นของแถมให้กับทุกคน แต่บัดนี้ควันบุหรี่ในสถานที่เหล่านั้นอันตรธานไปสิ้น ใครอยากสูบบุหรี่ต้องจุดไฟสุมควันกันในห้องแคบๆ ที่เขาจัดไว้เพื่อลดทอนอายุของกันและกัน
เมื่อก่อนนี้ ที่หน้าซองบุหรี่ยี่ห้อ พระจันทร์ รวงทิพย์ เกล็ดทอง รวงทอง รวมทั้งบุหรี่ฝรั่ง ยี่ห้อ Marlboro , Lucky Strike , Mild Seven ล้วนแล้วแต่พิมพ์หน้าซองสวยงาม บัดนี้หน้าซองเหล่านั้นกลายเป็นพื้นที่ปีศาจของมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ และเซ็กส์เสื่อม ชวนให้รู้สึกขยะแขยง
เมื่อก่อนนี้ พ่อพ่นควันบุหรี่ในบ้าน โดยไม่ตระหนักรู้ว่าได้ส่งทอดอันตรายจากควันบุหรี่ให้กับแม่ ลูก หลาน และคนในบ้าน แต่บัดนี้พ่อต้องหลบมุมไปแอบสูบในที่ห่างไกลคนอื่น หรือไม่ก็ต้องเลิกสูบไปเลย เพราะลูกเหม็นควันบุหรี่
เมื่อก่อนนี้ ดูหนัง ดูทีวี ก็เห็นพระเอกสูบบุหรี่ จนเด็กหนุ่มพากันสูบบุหรี่ตามอย่างดาราด้วย ความรู้สึกว่าท่าสูบบุหรี่ของพระเอกเป็นมาดเท่ห์สุดประมาณ เดี๋ยวนี้ไม่มีพระเอกคนไหนสูบบุหรี่ให้เห็นตามหน้าจอ ไม่มีเด็กหนุ่มคนไหนอวดมาดสูบบุหรี่ของตนเองดังเก่าก่อน
คนสูบบุหรี่กลายเป็นคนกลุ่มน้อยที่ไม่พึงปรารถนาของสังคมคนรอบข้าง เราจึงมีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดควันบุหรี่ เราจึงมีความสบายใจที่ไปพ้นจากนิโคตินที่คนอื่นเป็นคนทำ เราจึงหายใจโล่งในทุกๆที่ ที่แต่ก่อนเต็มไปด้วยควันบุหรี่
นี่คือการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงทางกายภาพระดับผิวเผินของเปลือกนอก ตามพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่บนซองบุหรี่เท่านั้น ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบเฉพาะกิจระยะสั้นชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงระดับจิตสำนึกของคนในสังคม ในลักษณะที่เห็นได้ว่าจะไม่กลับไปสู่สภาพเดิมอีก เพราะสังคมได้ชี้ขาดแล้วว่า บุหรี่เป็นปีศาจร้ายที่ทำลายชีวิตมนุษย์ ไม่ทำลายเฉพาะตัวผู้สูบบุหรี่เท่านั้น แต่คนอื่นที่ไม่ได้สูบบุหรี่ กลับได้รับผลอันไม่พึงปรารถนานั้นด้วย
มีกรณีศึกษาอีกตัวอย่างหนึ่งเรื่อง ลิงกินข้าวโพด
ราว 55 ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งไปเกาะโชโดชิมะ ประเทศญี่ปุ่น พวกเขาวิจัยพฤติกรรมของลิง
เขานำเมล็ดข้าวโพดหวานไปหว่านโปรยบนหาดทราย ฝูงลิงมาเก็บเมล็ดข้าวโพดกินอย่างอร่อยปาก เม็ดข้าวโพดเปื้อนทราย เวลากินก็ต้องเอามือปัดทรายออก หรือไม่ก็บ้วนทรายทิ้ง หลังจากเอาข้าวโพดใส่ปากแล้ว หรือกลืนทรายลงไปด้วย
ลิงโอมิ หยิบเม็ดข้าวโพดเปื้อนทราย เอาไปล้างน้ำทะเลตรงนั้นแล้วนำมากิน ไม่ต้องบ้วนทรายทิ้ง ไม่ต้องปัดทรายออก
นักวิทยาศาสตร์สังเกตดูว่ามีลิงตัวไหนเอาอย่างบ้าง มีลิงเพียงวันละตัว หรือสองตัวที่ทำตาม แต่ลิงหนุ่มหรือลิงแก่หลายตัวไม่สนใจเปลี่ยนพฤติกรรม
แล้วเช้าวันหนึ่งก็เกิดปรากฏการณ์พิเศษ ลิงวัยรุ่นตัวหนึ่งเปลี่ยนใจไปล้างเม็ดข้าวโพดอย่างเจ้าโอมิ บ่ายวันนั้นลิงทั้งฝูงก็เปลี่ยนพฤติกรรมล้างเม็ดข้าวโพดกันหมด
นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่าลิงตัวนั้นมันแน่ขนาดไหน ก็พบว่ามันคือลิงธรรมดาตัวหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นจ่าฝูงหรือไม่ได้แข็งแรงดุร้ายกว่าตัวอื่นเลย แล้วทำไมลิงถึงเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งฝูง
เขาอธิบายว่า “ในสังคมเมื่อเกิดภาวะมวลวิกฤต (Critial Mass) และเกิดจำนวนวิกฤต (Critial Number) ซึ่งไม่มีใครตอบได้ว่าเป็นจำนวนเท่าไรของสมาชิกทั้งหมดของสังคม สังคมก็จะเริ่มยอมรับ พฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง และจะเกิดการตัดสินใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในกลุ่มที่เหลือทั้งหมดไปสู่สภาพใหม่”
อย่างไรก็ตามมีข้อควรศึกษาจากกรณีต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม
การชุมนุมของ กปปส. ในปี 2556-2557 ยาวนาน 6 เดือนเศษ ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2556 อันเนื่องมาจากสภาผ่านร่าง พรบ. นิรโทษกรรมเหมาเข่งนั้น จากจำนวนผู้ชุมนุมนับพันคนในวันแรก ขยายเป็นหมื่นเป็นแสน ในการระดมกำลังใหญ่ 3 ครั้ง มีคนเดินขบวนไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ แต่ละครั้งหลายล้านคน รัฐบาลยังดื้ออยู่ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติมิชอบกรณีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี นายกรัฐมนตรีสิ้นสภาพแล้ว รัฐบาลกลายเป็นเป็ดง่อย แต่ก็ยังรักษาเก้าอี้อยู่ จนเกิดการรัฐประหาร 22 พค. 57 โดยคณะ รสช.
จำนวนผู้ชุมนุมมหาศาล จึงไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดที่เป็นจุดพลิกผัน แต่เป็นปัจจัยส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ พูดอีกนัยหนึ่งถ้าไม่มีการชุมนุมคนจำนวนมากขนาดนั้น การรัฐประหารก็ยากจะเกิดได้
แกลดเวลบอกไว้ด้วยว่าบริบทแวดล้อมและผู้นำประเด็น มีอิทธิพลต่อจุดหักเหได้
เห็นได้ว่า จำนวนหรือปริมาณที่มาก จึงไม่ได้แปลว่า จะชี้ขาดให้เกิดจุดพลิกผัน
แกลดเวล จึงให้ความสำคัญกับ
1. ผู้เชื่อมต่อ (Connector) คือคนที่ทำให้ความคิดแพร่กระจายได้อย่างแพร่หลาย
2. นักขาย (Salesman) ที่ขายของเก่ง ในกรณีการเผยแพร่ของสินค้า เช่น เครื่องเล่นคาราโอเกะ เช่น บะหมี่สำเร็จรูป
3. ผู้เชี่ยวชาญ (Mavens) คนที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนหมู่มาก สามารถนำเสนอสิ่งที่ต้องใจผู้คนจำนวนมหาศาลได้
การเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพใหม่ ที่ต้องผ่านจุดพลิกผัน จึงไม่ใช่เรื่องของจำนวนแต่เพียงลำพัง
ยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่เรียกว่า VUCA WORLD (โลกป่วน) คือมีความผันผวนสูง (Volatility) มีความไม่แน่นอนสูง (Uncertainty) มีความสลับซับซ้อน (Complexity) มีความคลุมเครือ (Ambiguity)
สภาวะโลกป่วนเขย่าโลกทั้งใบให้ป่วนไปทั้งหมด ตำราทั้งหลายใช้การไม่ได้ วิสัยทัศน์ การวางแผน ยุทธศาสตร์ล่วงหน้า ทฤษฎีใดๆ รวมทั้งจุดพลิกผัน (TIPPING POINT) ล้วนแต่ต้องยอมรับอนิจจะลักษณะ คือความไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ไม่มีตัวตน ซึ่งเป็นพุทธบัญญัติ เมื่อ 2500 กว่าปีล่วงมาแล้ว
จึงไม่มีปัจจัยใดเพียงอย่างเดียวที่สามารถชี้ชะตาทุกสิ่งอย่างได้ มีแต่ต้องเข้าใจบริบทแวดล้อมที่เป็นจริง ผนวกกับพลังร่วม เติมส่วนที่ขาด ลดส่วนที่ไม่พึงปรารถนาออกไปนั่นเอง