"...คนไทยมีพื้นฐานดีอยู่แล้วในเรื่อง ความมีน้ำใจ ความโอบอ้อมอารี ความเห็นอกเห็นใจ ความสงสาร และได้ชื่อว่ามีความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรม แต่ตราบใดที่คนไทยยังไม่ถูกปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัย ความสุภาพและความเกรงใจให้ยังคงอยู่คู่กับเมืองไทย ต่อให้ประเทศไทยมี จีดีพีโตปีละหลายสิบ เปอร์เซ็นต์ มีซอฟต์เพาเวอร์สักล้านโครงการหรือมีทุนมนุษย์ดิจิทัลมากมายเพียงใดก็ตาม เราก็ไม่อาจเติบโตอย่างมีคุณภาพและก้าวข้ามสภาวะสังคมที่โตแต่ตัวไปได้เลย..."
ในยุคก่อนเพลงที่เด็กไทยมักได้ยินติดหูอยู่เสมอ คือเพลง “ความเกรงใจ” กับเพลง “ความซื่อสัตย์” ซึ่งเป็นเพลงที่มักร้องคู่กันและเด็กส่วนใหญ่ร้องได้เพราะเนื้อเพลง ง่าย สั้นและทำนองสนุกแต่มีความหมายเพราะเป็นการเตือนสติเด็กๆให้คำนึงถึง “ความเกรงใจ” เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นและเพื่อเตือนสติให้เด็กๆดำรงตนเป็นคนซื่อสัตย์เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของชาติ เพลงทั้งสองจึงเป็นเหมือนคาถาที่ยึดเหนี่ยวให้ผู้คนอยู่ในกรอบแห่งความเกรงใจและความซื่อสัตย์ได้เป็นอย่างดีและหากเป็นเรื่องวินัยของการใช้รถใช้ถนนก็จะมีประโยคทอง เตือนสติ เช่น “ วินัยจราจร สะท้อนวินัยชาติ” หรือ “คะนองพินาศ ประมาทตาย” ที่คนใช้รถใช้ถนนยุคก่อนจำได้ติดปาก
วิถีญี่ปุ่น
นานมาแล้วผู้เขียนได้มีโอกาสไปอยู่ในองค์กรแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น การเตรียมตัวก่อนเดินทาง นอกจากจะต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นแล้วยังต้องเรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณี ของเขาเพื่อไม่ให้คนญี่ปุ่นมองเราเป็นตัวประหลาดหรืออาจเลยไปถึงการกระทำผิดกฎหมายที่เราคาดไม่ถึงด้วยซึ่งเป็นเรื่องต้องระมัดระวังเมื่อไปอยู่ต่างแดน
สิ่งที่เพื่อนญี่ปุ่นและพนักงานพี่เลี้ยงแนะนำเพิ่มเติมหลังจากไปถึงได้แก่มารยาทและการปฏิบัติตัวในการดำรงชีวิตกับ เพื่อนร่วมงาน เพื่อนในหอพักและสถานที่สาธารณะทั่วไป เป็นต้นว่า การทักทายผู้คน การกล่าวขอบคุณพ่อครัวก่อนกินอาหารและเมื่อกินอาหารเสร็จ การแยกขยะ การมอบนามบัตร การกินอาหาร การแต่งตัว การโดยสารรถไฟ การอาบน้ำร่วมกัน ฯลฯ คำแนะนำที่สำคัญอีกอย่างในครั้งนั้นเป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการข้ามถนนซึ่งเพื่อนได้เน้นย้ำว่าในขณะที่สัญญาณคนข้ามเป็นสีแดง แม้ว่าจะไม่มีรถวิ่งมาแม้แต่คันเดียวก็ตามจะต้องไม่เดินข้ามถนน ยกเว้นจะได้รับสัญญาณรูปคนเป็นสีเขียวเท่านั้นจึงถือว่าปลอดภัยและข้ามถนนได้ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความมีวินัยของคนญี่ปุ่นต่อการใช้ถนน รวมถึงการเคารพกฎหมายอย่างสูงของคนขับรถเมื่อเห็นคนเหยียบลงบนทางม้าลายจะต้องหยุดรถให้ในทันที ทางม้าลายในญี่ปุ่นจึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนเดินถนนจริงๆ
เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีโครงข่ายรถไฟที่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางของผู้คนมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลกและคนญี่ปุ่นอาศัยรถไฟในการเดินทางวันละหลายล้านคน คำแนะนำจากเพื่อนร่วมงานคือ มารยาทและข้อห้าม เมื่ออยู่บนรถไฟ เพราะการอยู่บนรถไฟที่แน่นขนัดโดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ความเกรงใจผู้อื่นถือเป็นเรื่องสำคัญและถือเป็นความไม่สุภาพหากมีการรบกวนผู้อื่นด้วยการใช้เสียงไม่ว่าจะเป็นการคุยเสียงดัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรบกวนจากเสียงโทรศัพท์นั้นคือสิ่งต้องห้าม ผู้คนบนขบวนรถไฟจึงมักอ่านหนังสือเล่มเล็กๆขนาดพอมือ หรือไม่ก็นั่งหลับไปจนกว่าจะถึงที่หมายและโทรศัพท์จะต้องถูกปรับให้อยู่ในสถานะเงียบ(Silent mode) เสมอเมื่ออยู่บนรถไฟ แต่สามารถจะใช้โทรศัพท์เพื่อแชทหรือส่งข้อความแทนการพูดและใช้หูฟังหรือ ในระยะหลังมีบลูทูธก็สามารถใช้แทนการเปิดลำโพงได้ นอกจากเสียงล้อบดรางแล้ว บนรถไฟในญี่ปุ่นจึงค่อนข้างเงียบพอที่จะมีสมาธิอ่านหนังสือหรือใช้เวลางีบในช่วงสั้นๆได้
นอกจากการใช้โทรศัพท์บนรถไฟจะไม่เป็นที่ยอมรับแล้ว การใช้โทรศัพท์ โทรศัพท์เสียงดังหรือเปิดเสียงลำโพงโดยไม่ใช้หูฟัง ในสถานที่ที่อาจจะรบกวนผู้อื่น เช่น รถยนต์โดยสาร ร้านกาแฟ และภัตตาคาร ก็ไม่เป็นที่ยอมรับเช่นกัน มารยาทเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการเคารพสิทธิของผู้อื่นที่คนญี่ปุ่นยึดถือตลอดมา ซึ่งเป็นการสร้างวินัยขั้นพื้นฐานให้กับผู้คนควบคู่กับการสร้างชาติด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ชาติต่างๆในโลกนี้ต่างมองความมีวินัยเหล่านี้ด้วยความชื่นชมและสิ่งเหล่านี้หาได้ยากในเมืองไทยไม่ว่าในยุคไหนก็ตาม
การห้ามพูดโทรศัพท์มือถือ(หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่) บนรถไฟและตามสถานที่บางแห่งของญี่ปุ่นตั้งแต่หลายสิบปีก่อนเกิดผลพลอยได้อย่างหนึ่งในการติดต่อสื่อสาร เพราะการห้ามใช้เสียง(Voice) กลับทำให้ปริมาณการส่งข้อมูล(Data traffic) เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลและเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจการสื่อสารข้อมูลของบริษัท NTT DoCoMo (บริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ของญี่ปุ่น)ที่เรียกว่า i-Modeซึ่งเป็นอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือยุคแรกประสบความสำเร็จและเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วและเกิดนวัตกรรมต่อเนื่องของบริการข้อมูล(Data service) ตามมาอย่างมากมายหลังจากนั้น
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนเพื่อนร่วมทาง บนรถไฟในญี่ปุ่นจึงมักมีคำเตือนต่างๆบนโปสเตอร์และบนจอภาพให้เห็นอยู่เสมอเช่น เช่น “โปรดระมัดระวังอย่าให้สิ่งของของคุณรบกวนผู้โดยสารคนอื่น” (ภาพที่ 1) หรือ “กรุณาปรับโทรศัพท์ของคุณให้อยู่ในสถานะเงียบและระงับการพูดคุย” (ภาพที่ 2) หรือ กรุณาไม่รบกวนผู้อื่นเมื่อกินอาหารหรือเครื่องดื่มบนรถไฟ (ภาพที่ 3) เป็นต้นและผู้คนก็ให้ความร่วมมืออย่างเคร่งครัด
โปสเตอร์เตือน “มารยาทการใช้รถไฟในประเทศญี่ปุ่น” ภาพจาก NanKai : ภาพประกอบ 1
วิถีไทย
เมืองไทยเรามีของดีหลายอย่างไม่แพ้ใครในโลก นอกจากบ้านเมืองจะสวยงาม ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ อาหารการกินรสชาติอร่อย ค่าครองชีพถูก การเดินทางไปไหนมาไหนสะดวกและไม่ค่อยมีอันตราย แล้ว ผู้คนยังมีความยิ้มแย้ม และมีอัธยาศัยไมตรี จนทำให้หลายประเทศต้องอิจฉาและมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการมาใช้ชีวิตบั้นปลายในเมืองไทย บ้านเราจึงกลายเป็น “สถานที่ที่ต้องไป” (go-to location) ของคนหลายต่อหลายชาติ นอกจาก บาหลี บาฮามาส ดูไบ และ ปารีส แล้ว ชื่อของ “ไทยแลนด์” คืออีกหนึ่งในจุดหมายที่อินฟลูเอนเซอร์ต่างแดนบนโลกโซเชียลมักใช้โพสต์อ้างอิงเพื่อเสริมภาพลักษณ์ให้กับบัญชีของตัวเองเสมอ
ความเพียบพร้อมของประเทศไทยทำให้ เราอยู่กันแบบสบายๆไม่ค่อยเคร่งครัดเรื่องระเบียบวินัยในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในที่สาธารณะมากนักซึ่งเป็นบรรยากาศที่ใครต่อใครชอบเพราะไม่ต้องถูกบังคับด้วยกฎเกณฑ์ใดๆ ความไม่เคยลำบากแสนเข็ญและไม่ค่อยถูกบังคับ สังคมไทยจึงเคยชินกับความไร้ระเบียบวินัยจนถึงขั้น มักง่าย เอาแต่สะดวก เห็นแก่ได้เล็กๆน้อยๆ จนกลายเป็นความไม่รู้จักอายและเลยเถิดไปจนถึงการขาดความเคารพกฎหมาย ซึ่งเข้าใจว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมไทยยุคก่อนคงตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี จนถึงขั้นมีการรณรงค์แต่งเพลงหรือมีคำพูดประชดประชันเกี่ยวกับมารยาท ความเกรงใจและระเบียบวินัยของคนไทยให้เห็นอยู่มาก แต่มักไม่ค่อยเป็นผลในทางปฏิบัติ
คำว่า “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” จึงมักเป็นคำพูดที่ได้ยินอยู่เสมอตั้งแต่ผู้เขียนจำความได้และพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์จนถึงทุกวันนี้ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป ผู้คนมีจำนวนมากขึ้นและเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่เรายังคงมีพฤติกรรมการทำอะไรตามใจตัวเองจนละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ควรอยู่คู่กับสังคมไทยอีกต่อไป
หลายคนติดนิสัยการใช้เทคโนโลยีตามสะดวกจนลืมไปว่า “การใช้เทคโนโลยีต้องมาควบคู่กับมารยาทการใช้เทคโนโลยีเสมอ” การละเลยต่อมารยาทจนล้ำเส้นและกลายเป็นการขาดความเกรงใจของคนบางคนจึงดูเหมือนว่าเรากำลังใช้เทคโนโลยีด้วยการขาดความยับยั้งชั่งใจ จนกลายเป็นความเสรีที่เกินขอบเขตและรบกวนคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม การขับขี่รถบนทางเท้า ขับขี่รถย้อนทาง การไม่ใช้หูฟังโทรศัพท์ การพูดโทรศัพท์เสียงดังหรือการเซลฟีบนรถไฟฟ้าที่ยื่นโทรศัพท์ออกมาจนเกือบกระแทกหน้าผู้ที่อยู่ใกล้เคียงอย่างไร้มารยาทก็ตาม
ลองจินตนาการดูว่า หากบนขบวนรถไฟ ร้านกาแฟ หรือ บนรถโดยสาร มีแต่การใช้โทรศัพท์เสียงดังที่ไม่เกรงใจผู้ใด การไม่ยอมปิดเสียงแจ้งเตือน(Notification signal) จากแอปพลิเคชันต่างๆ การเปิดลำโพงเพื่อฟังเพลงจากยูทูปและการได้ยินเสียงหัวเราะหรือโฆษณาบาดแก้วหูจาก TikTok ผ่านโทรศัพท์มือถือ สิ่งเหล่านี้จะสร้างมลพิษทางเสียงต่อผู้ต้องการความสงบมากเพียงใด สัญญาณเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้โทรศัพท์แต่กลับเป็นสัญญาณรบกวน(Noise) ต่อผู้ร่วมทางและคนที่อยู่ใกล้เคียง
ผู้เขียนเคยเห็นสองพ่อลูกในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง แต่ละคนไม่พูดไม่จากัน สั่งเครื่องดื่มและควักโทรศัพท์มือถือออกมาเล่น ในขณะที่ลูกเล่นเกม พ่อก็เพลิดเพลินกับนิทานแอนิเมชันบนยูทูป ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกในสังคมปัจจุบัน แต่การที่ทั้งคู่ไม่รู้จักใช้หูฟังหรือบลูทูธแต่กลับเปิดเสียงลำโพงมือถือดังจนคนรอบข้างรู้สึกว่ากำลังถูกรบกวนนั้น เป็นพฤติกรรมที่ผู้เขียนเองและเชื่อว่าคนส่วนมากคงไม่ชอบใจเช่นกัน แต่ความเคยชินและความไม่เคยถูกอบรมสั่งสอนหรือการใช้ชีวิตแบบสบายๆโดยไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆบังคับของคนบางคนกำลังสร้างมลพิษทางเสียงที่ทำลายทั้งบรรยากาศและรบกวนความสงบของคนข้างเคียงไม่ต่างจากพิษของควันบุหรี่ที่ฟุ้งกระจายไปยังผู้ที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งคนส่วนใหญ่รังเกียจ
ระเบียบ วินัย ความเกรงใจและความสุภาพ เกิดจาก “การสร้าง”
ประเทศอังกฤษได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ผู้คนเข้าคิวกันจนถือเป็นอัตลักษณ์ของคนอังกฤษ การที่ผู้คนยอมเข้าคิว เพื่อรอถวายสักการะพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่เสด็จสู่สวรรคาลัยเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565 ยาวเกือบ 7 กิโลเมตรอย่างไม่ย่อท้อ เป็นบทพิสูจน์ถึงระเบียบวินัยของคนอังกฤษที่ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และสร้างชื่อเสียงให้คนสหราชอาณาจักรในฐานะ “นักต่อคิวแบบอารยชน”
ดร. เคต แบรดลีย์ อาจารย์สาขาประวัติศาสตร์สังคมและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยแห่งเคนท์ กล่าวกับบีบีซี เมื่อปี 2013 ว่า “การเข้าคิวเชื่อมโยงกับความยากลำบากแสนเข็ญ ที่คนจนต้องต่อคิวเพื่อรับสิ่งบรรเทาทุกข์และของบริจาค” ซึ่งโฆษณาชวนเชื่อในเวลานั้น คือ ประชาชนต้องทำหน้าที่ของตน และรอคิวของตนเอง มันเป็นวิธีที่รัฐบาลพยายามควบคุมสถานการณ์ในห้วงเวลาที่ไม่แน่นอนและมาตรการจำเป็นในยุคสงครามทำให้ ทุกวันนี้ ประชาชนในสหราชอาณาจักรภาคภูมิใจกับการเข้าคิวอย่างเป็นระเบียบ สุภาพ และสมัครใจ(อ้างอิง5)
วัฒนธรรมการเข้าคิวของคนอังกฤษซึ่งอยู่ในสายเลือดจึงมิใช่เกิดจากจิตสำนึก เท่านั้น แต่เกิดจากนโยบายของรัฐและความพร้อมใจในการทำหน้าที่ของคนอังกฤษเองในสภาวะยากลำบากซึ่งเป็นระเบียบวินัยที่เกิดจาก ”การสร้าง” ของรัฐบาลและ “ความร่วมมือ” ของคนอังกฤษเองจนตกทอดเป็นวัฒนธรรมที่เข้มข้นมาถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามส่วนตัวของผู้เขียนเข้าใจว่าการสร้างวัฒนธรรมการเข้าคิวของอังกฤษมีกฎหมายเข้ามากำกับด้วย เพราะหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของเมืองไทยซึ่งจำไม่ได้ว่าเป็นสำนักข่าวใดเพราะนานมาแล้ว เคยเสนอข่าวว่า “อังกฤษยกเลิกกฎหมายการเข้าคิว” (ข้อมูลจากความทรงจำ) ซึ่งอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ยืนยันว่าวัฒนธรรมบางอย่างนั้นเกิดจาก “การสร้าง” เพื่อให้สังคมเป็นระเบียบเรียบร้อยและถูกยกเลิกไปเมื่อผู้คนรับรู้และปฏิบัติจนกลายเป็นความเคยชินจนไม่จำเป็นต้องถูกบังคับโดยกฎหมายอีกต่อไป คนญี่ปุ่นเองก็มีวัฒนธรรมการเข้าคิวที่เคร่งครัดไม่ได้ต่างจากคนอังกฤษและเป็นที่รับรู้กันว่าการเข้าคิวเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างเคร่งครัดเมื่ออยู่ในญี่ปุ่น การเข้าคิวหลังเหตุการณ์สึนามิที่โตโฮกุ เมื่อเดือน มีนาคม ปี 2554 เป็นอีกหนึ่งข่าวที่ถูกพูดถึงกันทั่ว เพราะผู้คนยืนเข้าคิวซื้อสินค้ากันอย่างอดทนแม้จะอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก เป็นการยืนยันถึงระเบียบวินัยในเรื่องการเข้าคิวของคนญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี
วิถีญี่ปุ่นหลายต่อหลายอย่างบ่งบอกถึงความมีกฎเกณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้คนในชาติมีวินัย หลายอย่างนำมาใช้ในเมืองไทยได้ แต่หลายอย่างใช้กับเมืองไทยไม่ได้เลย เป็นต้นว่า ทางม้าลายปลอดภัยในญี่ปุ่นและในประเทศยุโรปหลายประเทศ แต่เมืองไทยกลับไม่สามารถทำให้ทางม้าลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้จริง เราจึงเห็นข่าวผู้คนบาดเจ็บและเอาชีวิตมาทิ้งบนทางม้าลายเมืองไทยมามากต่อมากทั้งบนทางม้าลายแบบธรรมดาและทางม้าลายที่มีสัญญาณไฟกำกับ
ผู้เขียนมิได้มีเจตนายกย่องคนชาติอื่นๆจนเกินเหตุและทับถมพฤติกรรมไร้วินัยของคนไทย แต่เห็นว่าสิ่งดีงามของประเทศที่เจริญแล้วควรถูกนำมาปรับใช้เพื่อกำกับพฤติกรรมของผู้คนให้อยู่กับผู้อื่นได้โดยไม่รบกวนหรือละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นมากจนเกินไปและหากเทียบความมีระเบียบวินัย ความเกรงอกเกรงใจและมารยาทของคนญี่ปุ่นเมื่อสี่ห้าสิบปีก่อนจนถึงปีนี้กับระเบียบวินัยของคนไทยในยุคนั้นจนถึงยุคปัจจุบัน พอจะพูดได้ว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ยกระดับของระเบียบวินัยและความเกรงใจต่อคนรอบข้างให้สูงขึ้นเลยหรืออาจพูดได้ว่าความเกรงใจของผู้คนถดถอยลงไปด้วยซ้ำ แม้แต่การเข้าคิวซึ่งถือว่าอยู่ในระดับดีกว่าพฤติกรรมอื่นๆของคนไทยก็ยังเห็นผู้คนแซงคิวอยู่บ่อยๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแซงคิวของรถยนต์บนท้องถนนก่อนขึ้นสะพานและบนไหล่ทางมีให้เห็นแทบตลอดเวลาหรืออีกนัยหนึ่งคงพูดได้ว่า การพัฒนาระเบียบวินัยของคนในชาติเรายังล้าหลังกว่าการพัฒนาด้านอื่นๆราวฟ้ากับดิน
รวยน้ำใจ แต่ไร้วินัย
ผู้เขียนมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าหากเรายังเห็นคนทำผิดกฎหมาย “ทุกนาที” บนท้องถนนโดยไม่มีใครเอาเป็นธุระ แปลว่าเรายังล้มเหลวในเรื่องการสร้างระเบียบวินัยของคนในชาติโดยแทบไม่ต้องไปดูตัวชี้วัดตัวอื่นซึ่งสอดคล้องกับ คำพูดเคยจำกันติดหูสมัยก่อนที่ว่า “วินัยจราจร สะท้อนวินัยชาติ” แต่ปัจจุบันผู้คนลืมเลือนกันไปจนหมด แม้แต่การบีบแตรตักเตือนกันซึ่งเป็นเรื่องปกติของการขับรถและเป็นมาตรฐานของทั้งโลกก็ยังมีเรื่องถึงขั้นยิงหรือทำร้ายกันเมื่ออยู่ในเมืองไทย
พฤติกรรมการขับรถบนท้องถนนเมืองไทยนอกจะสะท้อนถึงความไร้ระเบียบวินัยของคนไทยจำนวนมากแล้วยังสะท้อนถึงพฤติกรรมการเอาเปรียบ เห็นแก่ตัวและการขาดการระมัดระวังของคนบางคนจนนำไปสู่อุบัติเหตุทางถนนและเสียชีวิตซึ่งเมืองไทยมักมีจำนวนติดอันดับต้นของโลกเสมอ จึงเป็นเรื่องน่าเสียใจหาก “การสร้าง” ระเบียบวินัยและความเกรงใจของคนไทยถูกละเลยและมองข้ามไป จนทำให้ระเบียบวินัยของคนไทยอ่อนแอจนถึงจุดล่มสลายโดยไม่มีใครสนใจจะแก้ไขหรือพูดถึงอย่างจริงจัง
คนไทยมีพื้นฐานดีอยู่แล้วในเรื่อง ความมีน้ำใจ ความโอบอ้อมอารี ความเห็นอกเห็นใจ ความสงสาร และได้ชื่อว่ามีความแข็งแกร่งทางวัฒนธรรม แต่ตราบใดที่คนไทยยังไม่ถูกปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัย ความสุภาพและความเกรงใจให้ยังคงอยู่คู่กับเมืองไทย ต่อให้ประเทศไทยมี จีดีพีโตปีละหลายสิบ เปอร์เซ็นต์ มีซอฟต์เพาเวอร์สักล้านโครงการหรือมีทุนมนุษย์ดิจิทัลมากมายเพียงใดก็ตาม เราก็ไม่อาจเติบโตอย่างมีคุณภาพและก้าวข้ามสภาวะสังคมที่โตแต่ตัวไปได้เลย