"...การวิ่งฟูลมาราธอนที่พวกเราพิชิตได้ในครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นการวิ่งที่ฝืนร่างกาย ออกกำลังเกินวัย แต่เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่มีสิ่งใดที่เราจะทำไม่ได้ หากเรามีความตั้งใจ และไม่คิดจะยอมแพ้ และที่สำคัญต้องมีวินัย ตามที่เอลีอูด คิปโชเก (Eliud Kipchoge) นักวิ่งมาราธอนที่วิ่งเร็วที่สุดในโลกได้กล่าวไว้ว่า “คนที่มีวินัยในตัวเองเท่านั้นถึงจะมีอิสระในชีวิต ถ้าคุณไม่มีวินัย…คุณจะต้องเป็นทาสของอารมณ์ การมีวินัยในตัวเองคือการกระทำที่ถูกต้อง มันไม่ใช่การทำแค่สิ่งที่คุณรู้สึกอยากทำ”..."
การวิ่งถือเป็นการออกกำลังกายที่ผมไม่มีทางเลือกมากนัก เมื่อคำนึงถึงอายุและเวลาในแต่ละวันผมเริ่มต้นด้วยการวิ่งแบบป้อแป้ เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งเป็นครั้งคราวตามที่ได้รับเชิญ เริ่มต้นจาก
5 กิโลเมตร และขยับเป็น 10 กิโลเมตร พร้อมลงแข่งวิ่งแบบจริงจังครั้งแรกในปี 2553 ในรายการ “สสส. จอมบึงมาราธอน” ที่จังหวัดราชบุรี สามารถวิ่งเข้าเส้นชัยในเวลาต่ำกว่า 1 ชั่วโมง (เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ทำได้) อย่างไรก็ดี การวิ่งยังไม่ได้เป็นกิจกรรมขวัญใจเบอร์หนึ่งของผมอยู่ดี แต่เหตุการณ์ที่ทำให้การวิ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคือ สถานการณ์โควิด เมื่อต้นปี 2563 เมื่อแบงก์ชาติตัดสินใจให้พนักงานทำงานที่บ้าน ให้เข้ามาที่ทำงานเฉพาะคนที่จำเป็น บรรยากาศในที่ทำงานรู้สึกว่าวังเวงมาก ด้วยสภาพแบบนี้ผมเห็นว่า คงอยู่กันไม่รอด จึงชวนน้อง ๆ ที่ต้องเข้ามาทำงานตั้งแต่เช้า มาวิ่งรอบแบงก์ รวบรวมกันได้ 8 คน[1] เริ่มกันตั้งแต่ 6.15 น. บางคนเดิน บางคนวิ่ง ตามสภาพร่างกายของแต่ละคน ใช้เวลาประมาณ 30 นาที พร้อมตั้งชื่อกลุ่มว่า “นักวิ่งสู้โควิด” เป็นกลุ่มที่วิ่งด้วยกันจนถึงทุกวันนี้
เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายในปลายปี 2563 พวกเราเริ่มแกร่งกล้าขึ้น ชวนกันไปวิ่งตามงานต่าง ๆ ระยะ 5 กิโลเมตร จนถึง 10 กิโลเมตร แต่จุดเปลี่ยนคือการเข้าร่วมรายการ “กรุงเทพมาราธอน 2565” ที่ผมตัดสินใจวิ่งระยะ 21 กิโลเมตร ก่อนวันวิ่งจริงมีการฝึกซ้อม เตรียมตัวพอสมควร แถมมีการซื้อนาฬิกาอัจฉริยะเพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และความถี่ของก้าว (รวมถึงจัดทำเสื้อทีมวิ่งกัน เพราะกลัวคนอื่นไม่ทราบ) สามารถวิ่งเข้าเส้นชัยภายในเวลา 3 ชั่วโมง 13 นาที แต่สารภาพว่าใจแทบขาด เพราะต้องเดินบ้าง วิ่งบ้าง ตั้งแต่ยังไม่ลงสะพานพระราม 8 และจากนั้น ไม่เคยคิดที่จะวิ่งระยะไกลเช่นนี้อีก
จุดพลิกผันที่ทำให้ผมตื่นขึ้นมาพร้อมกับบอกตัวเองว่า “เราต้องวิ่งมาราธอนระยะ 42.195 กิโลเมตร ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต” เกิดหลังจากได้ไปขึ้นเขาหลวงสุโขทัยระยะเพียง 3.7 กิโลเมตร
แต่มีความชันมาก ต้องผจญภัยปีนป่าย ไถลตัวลงมา แต่สามารถเอาชีวิตรอดมาได้ จึงคิดว่าชีวิตมีเป้าไว้พุ่งชน เช้าวันนั้นไม่รีรอรีบมาชักจูงน้องกลุ่ม “นักวิ่งสู้โควิด” ให้ไปวิ่งมาราธอนร่วมกัน โดยบอกว่า “ถือเป็นการวิ่งส่งพี่เกษียณอายุแล้วกัน” ตอนแรกทุกคนหยุดครุ่นคิด แต่ไม่ลังเลตอบตกลง พร้อมชวนน้อง ๆ มาเพิ่มเติมรวมกลุ่มกันได้ถึง 11 คน [2] จากนั้นแผนการพิชิตฟูลมาราธอนแรกของพวกเราจึงเริ่มขึ้น
น้องวลัยพร แพ่งศิริ (น้องอุ้ง) หนึ่งเดียวที่เคยวิ่งฟูลมาราธอน แนะนำให้พวกเราลงวิ่งรายการ “Mid Night Marathon” เพราะเป็นการวิ่งช่วงกลางคืน ไม่ต้องผจญกับแสงแดดมากนัก อีกทั้งเป็นเส้นทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ที่พวกเราคุ้นเคยจากการวิ่ง 21 กิโลเมตร มาก่อนเพียงแต่วันวิ่งคือ วันที่ 10 ธันวาคม 2566 มีเวลาเตรียมตัวกันไม่ถึง 3 เดือน อย่างไรก็ดี ทุกคนต่างเห็นพ้องกันว่า คงจะไม่มีรายการไหนที่ดีกว่านี้แล้วก่อนที่ผมจะเกษียณ
พวกเราวางแผนการซ้อมวิ่งแบบวันเว้นวัน พอวันเสาร์อาทิตย์วิ่งเพิ่มเป็น 10 กิโลเมตร และเพิ่มระยะขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับต้องวิ่งให้ได้ 30 กิโลเมตร อย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนวันวิ่งจริง ช่วงแรกสามารถทำได้ตามตารางซ้อม แต่เมื่องานรัดตัว คราวนี้แหละตารางซ้อมเริ่มบูด ๆ เบี้ยว ๆ ปรับตารางซ้อมมาวิ่งตอนกลางคืนบ้าง หาเวลาเท่าที่จะเหลืออยู่ รวมถึงตื่นกันตี 4 เพื่อวิ่ง 30 กิโลเมตร ให้ได้ตามตารางฝึก แต่พอถึงกิโลเมตรที่ 25 ต้องยกธงขาว ระยะที่เหลือเดินไปแบบแป้ ๆ เรียกว่าซ้อมได้ไม่ถึงร้อยละ 70 ตามที่ตระเตรียมกันไว้ แต่เหมือนกับนกรู้ น้องทัดลาภ เผ่าเหลืองทอง และน้องภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้ได้รับฉายาจากกลุ่มว่า “เจ้าทฤษฎี” ได้ศึกษาวิธีการพิชิตฟูลมาราธอน และมาแนะนำพวกเรา ตั้งแต่เรื่องโภชนาการก่อนวิ่ง การต้องกินเจลเติมพลังในระหว่างวิ่ง รองเท้าที่ใช้วิ่ง เสื้อผ้ากางเกงที่สวมใส่เพื่อไม่ให้เหงื่อมาเป็นอุปสรรค ไปจนถึงทำอย่างไรถึงจะได้นอนตอนหัวค่ำเพื่อตื่นมาวิ่งตอนเที่ยงคืน
และแล้ววันวิ่งได้มาถึงแบบตั้งตัวแทบไม่ทัน คนรอบ ๆ ข้างเตือนสติว่า “พี่ครับ มาราธอนไม่ได้มีแค่ครั้งเดียว ไม่ไหว ก็ไม่ต้องฝืน” เราเริ่มต้นวิ่งจากท้องสนามหลวงเวลา 1.45 น. วิ่งไปตามความเร็วที่ตั้งใจไว้ โดยมีน้องอุ้งวิ่งประกบ คอยบอกตลอดเวลา เช่น ทางขึ้นให้เดินขึ้นแทนเพื่อผ่อนแรง และทุก 2 กิโลเมตร ให้หยุดจิบน้ำ เรียกว่า วิ่งไปได้เรื่อย ๆ จนสุดทางยกระดับฯ ก่อนย้อนกลับมาลงสะพานพระราม 8 แบบสบาย ๆ แต่เมื่อถึงถนนราชดำเนิน และต้องวิ่งไปทางสะพานซังฮี้ พร้อมกับเห็นนักวิ่งเริ่มสวนทางวิ่งไปเส้นชัย เริ่มใจหวั่น ๆ ขารู้สึกล้า ๆ ใจงอแง เริ่มหยุดเดินบ้าง ถือเป็นภาวะที่คนวิ่งรู้จักกันดีว่า “ภาวะชนกำแพง” เพราะจะรู้สึกเหมือนกับมีโซ่ตรวนมาลากขาไว้ เรียกว่าช่วงนั้นต้องใจสู้สุด ๆ แต่กัดฟันวิ่งแบบเหยาะ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนเห็นสนามหลวงอยู่เบื้องหน้าทราบแล้วว่าเราทำได้แม้จะต้องวิ่งรอบสนามหลวง 1 รอบ วิ่งถึงเส้นชัยพร้อมกับเสียงกองเชียร์ที่รออยู่ จบด้วยเวลา 5 ชั่วโมง 58 นาที ต่ำกว่า 6.30 ชั่วโมง ที่เป็นช่วงตัดตัวนักวิ่ง (cut off time)
เรื่องราวของนักวิ่งร่วมแก๊ง มีให้เล่ามากมาย ทุกคนต่างมีรอยยิ้มกับเป้าหมายที่ทำได้สำเร็จ ไม่ต่างจากน้องอติญา อารยพงศ์ (น้องตาว) นักวิ่งอายุน้อย ที่ทำเวลาใกล้เคียงกับผมคือ 5 ชั่วโมง 52 นาที และน้องเมธินี เหมริด (น้องโบ) หนึ่งในแปดของกลุ่มนักวิ่งสู้โควิด และเพิ่งเริ่มวิ่งออกกำลังกาย
ช่วงสถานการณ์โควิดแบบไม่มีพื้นฐานนักกีฬา ในวันแรก ๆ แค่วิ่งหนึ่งรอบแบงก์ชาติระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ก็แทบจะวิ่งไม่ไหว แต่ด้วยทั้งพลังบวกจากกลุ่มวิ่งและความมีวินัยในตัวเอง จึงพัฒนาฝึกฝน ขึ้นมาเป็นลำดับ โดยถือคติว่า “วิ่งโดยไม่แข่งกับใคร นอกจากตัวเอง” เรียกได้ว่า เป็นนักสู้ตัวจริงที่วิ่งช้า ๆ ในเพซ (pace) ของตัวเอง อยู่ท้ายขบวนฟูลมาราธอน แม้จะเห็นหลายคนเจ็บ ถอดใจออกไประหว่างทาง แต่น้องเมธินี ยังประคองร่างกายด้วยใจที่แน่วแน่ มีเป้าหมายย่อย ๆ คือ cut off ไปทีละจุด ไม่ยอมขึ้นรถเจ้าหน้าที่ซึ่งโฉบมาถามอยู่เรื่อย ๆ และกัดฟันวิ่งเข้าเส้นชัยก่อนเวลา cut off time สุดท้ายเพียง 5 นาทีเท่านั้น
การวิ่งฟูลมาราธอนที่พวกเราพิชิตได้ในครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นการวิ่งที่ฝืนร่างกาย ออกกำลังเกินวัย แต่เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่มีสิ่งใดที่เราจะทำไม่ได้ หากเรามีความตั้งใจ และไม่คิดจะยอมแพ้ และที่สำคัญต้องมีวินัย ตามที่เอลีอูด คิปโชเก (Eliud Kipchoge) นักวิ่งมาราธอนที่วิ่งเร็วที่สุดในโลกได้กล่าวไว้ว่า “คนที่มีวินัยในตัวเองเท่านั้นถึงจะมีอิสระในชีวิต ถ้าคุณไม่มีวินัย…คุณจะต้องเป็นทาสของอารมณ์ การมีวินัยในตัวเองคือการกระทำที่ถูกต้อง มันไม่ใช่การทำแค่สิ่งที่คุณรู้สึกอยากทำ” [3]
แหล่งที่มา :
[1] นักวิ่งสู้โควิด ประกอบด้วย วลัยพร แพ่งศิริ, อภิสรา เปาอินทร์, ศรีสุดา อิ่มเอิบ, พัชวรรณ ฉลองวิริยะเลิศ, เยาวนิจ มังคละธนะกุล, เมธินี เหมริด, ณัฏฐ์ ลุมพิกานนท์ และรณดล นุ่มนนท์
[2] นักวิ่งฟูลมาราธอน ประกอบด้วย เตชินท์ บุญขันธ์, ทัดลาภ เผ่าเหลืองทอง, อภิสรา เปาอินทร์, พิทวัส พูนผลกุล, ภิญโญ ตรีเพชราภรณ์, อติญา อารยพงศ์, เจริญชัย วิระมิตรชัย, วลัยพร แพ่งศิริ, รณดล นุ่มนนท์, เมธินี เหมริด และธนาธิป นงค์นวล
[3] Mainstand, วิถีแห่งผู้กล้า ชนะใจตัวเองอย่างนักวิ่ง, Mainstand, 07/11/2022 10:21 https://www.mainstand.co.th/th/features/2/article/3349