"...คำว่า “post-secular” เป็นคำที่ฮาเบอร์มาสเอามาใช้ โดยนำมาจากปีเตอร์ เบอร์เกอร์ (Peter Berger) เพื่อบรรยายถึงการเปลี่ยนแปลงจากสังคม “secular” ไปสู่การมีอยู่อย่างต่อเนื่องของชุมชนทางศาสนาและมีอิทธิพลทั้งระดับประเทศและระดับโลกตั้งแต่ยุคสหัสวรรษเป็นต้นมา อีกนัยหนึ่ง “secular” เป็น “สังคมไม่เอาศาสนา” (unchurched society) แต่ “post-secular” เป็นการรื้อฟื้นศาสนาขึ้นมาใหม่..."
ปรากฏการณ์ “น้องไนซ์” ที่อ้างว่าสามารถสอนให้คนหลายคนสามารถ “เชื่อมจิต” ระหว่างกันได้ ด้านหนึ่งนั้น ทำให้คนหันมาสนใจการวิปัสสนากรรมฐาน แต่อีกด้านหนึ่ง คนสงสัยว่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาหรือไม่?
ที่จริงเป็นประเด็นโดยตรงที่เกี่ยวกับแนวคิด “secular” กับแนวคิด “post-secular”
คำว่า “secular” เป็นภาษาละตินมาจากคำว่า “saeculum” แปลว่า “เวลานี้” (this time) “ทุกวันนี้” “ปัจจุบันนี้” (now, present) และ “โลกนี้” (this world) หรือ “ทางโลก” (worldly)
ภาษาไทยแปลว่า “ทางโลก” บ้าง “โลกวิสัย” บ้าง บางทีถ้าผนวก “รัฐ” เข้าไปด้วย ก็แปลว่า “รัฐฆราวาส” หรือ “รัฐที่เป็นกลางทางศาสนา”
ส่วนคำว่า “post-secular” เป็นคำที่ฮาเบอร์มาสเอามาใช้ โดยนำมาจากปีเตอร์ เบอร์เกอร์ (Peter Berger) เพื่อบรรยายถึงการเปลี่ยนแปลงจากสังคม “secular” ไปสู่การมีอยู่อย่างต่อเนื่องของชุมชนทางศาสนาและมีอิทธิพลทั้งระดับประเทศและระดับโลกตั้งแต่ยุคสหัสวรรษเป็นต้นมา อีกนัยหนึ่ง “secular” เป็น “สังคมไม่เอาศาสนา” (unchurched society) แต่ “post-secular” เป็นการรื้อฟื้นศาสนาขึ้นมาใหม่
1. ยุค secular
ยุค secular เกิดในศตวรรษที่ 17 ศาสนาคริสต์แตกออกเป็นสองนิกาย ได้แก่ คาทอลิกและ โปรเตสแตนท์ลูเทอร์แรน และมีพระมหากษัตริย์เข้ามาสนับสนุนแต่ละนิกาย จนเกิดสงครามกันยืดเยื้อ เรียกว่า “สงครามสามสิบปี” จนกระทั่ง ค.ศ. 1648 จึงตกลงทำสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย ตกลงกันว่าจะไม่เอาความเชื่อทางศาสนามาทำให้สังคมแตกแยก หลายคนตีความว่าเป็นหมุดหมายของการแยกศาสนาออกจากรัฐ
ถัดมา โลกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุครู้แจ้ง (the age of enlightenment) ด้านหนึ่ง สถาบันศาสนาและผู้ปกครองเผด็จการอ่อนแอลง ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นักปรัชญากลุ่มหลักเหตุผลที่ต้องการต่อสู้กับพวก คลั่งไคล้ศาสนา ได้แก่ โธมัส ฮ็อบส์ (Thomas Hobbes) เรเน เดการ์ต (Rene Descartes) เดวิด ฮูม (David Hume) และอิมมานูเอล ค้านท์ (Immanuel Kant) ด้วยการวางพื้นฐานทางปรัชญาสำหรับคุณค่าใหม่ คือ “secular values”
ในศตวรรษที่ 18 ค้านท์ (Kant) เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องอยู่ใต้หลักเหตุผลและสามารถวิพากษ์วิจารณ์ด้วยหลักเหตุผลที่แท้จริง สังคมต้องปลดปล่อยจากการปกครองของศาสนา ยืนหยัดอยู่กับเหตุผลที่เสรีและการตรวจสอบของสาธารณะ
ในศตวรรษที่ 19 คาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) ปฏิเสธศาสนา อ้างว่ามอมเมาประชาชน และเป็นเครื่องมือกดขี่ของผู้ปกครอง ที่จูงใจมวลชนให้ยอมรับชะตากรรม
แม็กซ์ เว็บเบอร์ (Max Weber) เห็นว่าความตกต่ำของศาสนาเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ความทันสมัย (modernization) หลักเหตุผลของโลกสมัยใหม่นำไปสู่การแยกอาณาจักรศาสนาที่ไม่มีเหตุผล ทางด้านเอมิล เดิร์กไคม์ (Emile Durkheim) มองเป็นเรื่องการจำแนกแจกแจงหน้าที่กันในสังคม ต่อมาเขาเสนอแนวคิด secularization เป็นคนแรกเพื่อลดอิทธิพลของศาสนา ส่วนนิทเช่ (Nietzsche) เห็นว่า “พระเจ้าตายแล้ว” (God is dead) หมายถึงคนในโลกสมัยใหม่ต้องรู้จักประเมินคุณค่าเดิมใหม่ (reevaluate old values)
แนวคิดตาม secular values ดังกล่าว โฮเซ กาซาโนวะ (Jose Casanova) อธิบายว่ามีผลทางปฏิบัติสองด้าน ด้านหนึ่ง เป็นการจำแนกแจกแจงพื้นที่ “secular” ออกมา ซึ่งหมายถึงการจำแนกแจกแจงพื้นที่ออกมาจากศาสนา 3 ด้าน ได้แก่ รัฐ เศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ เท่ากับเป็นการปลดปล่อยพื้นที่ดังกล่าวให้หลุดพ้นจากการครอบงำของศาสนา ขณะเดียวกันก็เบียดขับศาสนาและแปรรูปศาสนา (marginalization and privatization of religion) ส่วนอีกด้านหนึ่งที่เป็นผลที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นตามมา ได้แก่ การจำแนกหน้าที่ดังกล่าวจะทำให้ศาสนาเสื่อมลงและทำให้ศาสนากลายเป็นเรื่องส่วนตัวของปัจเจกบุคคล
นักปรัชญาตามหลักเหตุผลนิยม เชื่อว่า “วิทยาศาสตร์” จะเข้าแทนที่ “ศาสนา” มากขึ้นเรื่อย ๆ และในที่สุดศาสนาก็จะหายไปเอง เนื่องจากวิทยาศาสตร์มีเหตุผลหนักแน่นกว่า
นักคิดสมัยศตวรรษที่ 19-20 หลายคนที่มีความผูกพันกับศาสนาวิตกกับปัญหา “วิทยาศาสตร์มา ศาสนาหมด” เช่น รุสโซ (Rousseau) ส่วนฝ่ายศาสนาก็พยายามดิ้นรนต่อสู้ เช่น อ้างว่าตนก็มีเหตุผลที่ดี แต่บางทีสังคมก็เห็นว่าศาสนาทำให้เกิดความงมงาย ความขัดแย้งนี้ดำรงอยู่เป็นร้อย ๆ ปี
ส่วนการจำแนกแจกแจงหน้าที่ของแต่ละสังคมมีระดับการปฏิบัติไม่เท่ากัน ในบริบทยุโรป รัฐและนักวิชาชีพประสบความสำเร็จในการเอาศาสนาออกไปจากงานสาธารณสุข การศึกษาและสวัสดิการสังคม ซึ่งงานเหล่านี้ต่างเคยเป็นขององค์กรทางศาสนา
ผลกระทบทางด้านสังคม ความเชื่อและวัฒนธรรมที่ตามมา ได้แก่ ยุโรปเริ่มปรากฏ “กลุ่มไม่เอาศาสนา” สองกลุ่ม กลุ่มแรก คือ อไญยนิยม (agnosticism) ในศตวรรษที่ 18 และ 19 และกลุ่มที่สอง คือ อเทวนิยม (atheism) ในศตวรรษที่ 20
ความหมายของคำว่า “secular” จึงขยายออกจากเดิม ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการแยกรัฐ เศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ออกไปจากศาสนา แต่กินความครอบคลุมไปถึงการเกิด “กลุ่มไม่เอาศาสนา” ด้วย
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนไม่นับถือศาสนา เช่น คอมมิวนิสต์ เป็นคนไม่ดี ตัวอย่างเมื่อไม่นาน มานี้ สี จิ้นผิง ซึ่งไม่นับถือศาสนาเพราะเขาเป็นคอมมิวนิสต์ คุยกับไบเดนราวสองชั่วโมง สี จิ้นผิง ยกหลักธรรมว่า “อย่ารบกันเลยนะ โลกนี้ยังมีที่ให้เติบโตโดยไม่ต้องเบียดเบียนกัน” สุดท้ายสรุปว่า ให้กลาโหมทั้งสองฝ่ายเพิ่มฮอตไลน์ เผื่อมีเรื่องผิดพลาดจะได้เข้าใจตรงกัน” (ที่มา : อ้างจากการแปลต้นฉบับภาษาจีนของศุภฤกษ์ ตั้งใฝ่คุณธรรม) ฉะนั้น แม้นว่าคนไม่นับถือศาสนา จะไม่มีหลักศีลธรรมทางศาสนา แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่มีหลักธรรมตามหลักการอื่น เช่น เขาอาจมีหลักจริยศาสตร์ของเขาเองตามแนวคิดของนิทเช่ ก็ได้
ด้วยเหตุนี้ คำว่า “secular” จึงขยับมาอยู่ตรงกลางมากขึ้น
“Anything not affiliated with a church or faith can be called secular. Non-religious people can be called atheists or agnostics, but to describe things, activities, or attitudes that have nothing to do with religion, you can use the word secular.”
อะไรก็ตามที่ไม่ผูกพันกับศาสนาหรือความศรัทธา เรียกว่าเป็น “secular” ส่วนคนไม่มีศาสนาอาจเรียกได้ว่า “อเทวนิยม” (atheists) หรือ “อไญยนิยม” (agnostics) แต่การอธิบายสิ่งของ การกระทำหรือทัศนคติที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกับศาสนา อาจใช้คำว่า “secular” ก็ได้”
“secular” จึงเริ่มมีความหมายว่า “ไม่เกี่ยวกับศาสนา” หรือ “ไม่เอาศาสนามาเกี่ยว” มากกว่าที่จะหมายถึง “โลกวิสัย” หรือ “รัฐฆราวาส” อันเป็นสภาพเป้าหมายปลายทางที่อ้างว่าเป็นรัฐหรือสังคมที่มีเหตุผลที่ดีกว่า และต้องเปลี่ยนแปลงโดยการแยกสังคมดังกล่าวออกมา หรือกลับกัน แยกศาสนาออกไป
หลักการเดิมที่ยึดกันมาตลอด ตั้งแต่ยุครู้แจ้ง จนถึงสมัยใหม่ คือ “โลกศาสนา” กับ “โลกไม่นับถือศาสนา” ต่างคนควรต่างอยู่ เช่น คุณไม่นับถือศาสนาก็ไม่มีใครว่า... ส่วนคนที่นับถือศาสนาก็เรื่องของคนนับถือ เพราะเป็นเสรีภาพในการนับถือศาสนา (freedom of religion)—แต่ไม่ใช่ว่า “คุณนับถือศาสนาหนึ่งแล้ว คุณจะเอาศาสนาของคุณมาครอบใส่หัวผม” หรือว่า “หากฝ่ายคุณไม่นับถือศาสนา แล้วคุณก็อย่ารุกล้ำเข้ามาจัดการกับคนนับถือศาสนา”
ดังนั้น “Secularism ensures that the right of individuals to freedom of religion is always balanced by the right to be free from religion. Secularism is about democracy and fairness. In a secular democracy all citizens are equal before the law and parliament”
การมี “แนวคิดการไม่เอาศาสนามาเกี่ยว” ก็เพื่อให้มั่นใจว่าสิทธิของปัจเจกบุคคลฝ่ายที่นับถือศาสนาสมดุลอยู่เสมอกับฝ่ายที่แยกเป็นอิสระจากศาสนา แนวคิดการไม่เอาศาสนามาเกี่ยว เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยกับการกระทำที่ยุติธรรม ในสังคมประชาธิปไตยที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา พลเมืองทุกคนมีความเสมอภาคก่อนมีกฎหมายและก่อนกระบวนการออกกฎหมาย”
ทว่า หลักการยุค “post-secular” ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง ไม่ใช่เพียง “ต่างคนต่างอยู่” หรือฝ่ายหนึ่งจะไม่เข้าไปจัดการกับอีกฝ่ายหนึ่งอย่างที่เป็นหลักการในยุค “secular” แต่ยุค “post-secular” เห็นว่าทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากันและปรับตัวเข้าหากัน เป้าหมายจึงใหญ่กว่ายุค “secular”
2. ยุค post-secular
ยุคสหัสวรรษ
“Scholars now began to question the causal relationship between the subordinate of the spiritual sphere under the worldly sphere – i.e., the secularization as functional differentiation of the secular and religious spheres – and the on-going indispensable decline and eventual disappearance of religious beliefs and practices.”
นักวิชาการปัจจุบันเริ่มตั้งคำถามความสัมพันธ์เชิงสาเหตุและผลระหว่าง “อาณาจักรจิตวิญญาณ” ที่อยู่ต่ำกว่า “อาณาจักรทางโลก” อันได้แก่ การใช้หลัก secularization ไปจำแนกแจกแจงโลกออกเป็น “อาณาจักร secular” กับ “อาณาจักร religious” ตลอดจนผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในที่สุด คือ การหายไปของความเชื่อทางศาสนาและการปฏิบัติทางศาสนา
ยุค “post-secular” ตั้งสมมติฐานเบื้องต้นเอาไว้ 2 ประการ ประการแรก แนวคิด “secular” ต่างหากที่เป็นสาเหตุสำคัญให้ศาสนาหยุดเจริญเติบโต และประการที่สอง เราจะไม่มีมุมมองอะไรใหม่เกี่ยวกับการแบ่งโลกออกเป็นโลก “secular” กับโลกศาสนาบ้างเลยหรือ?
นักคิดยุค “post-secular” ได้แก่ เยอเก้น ฮาเบอร์มาส (Jurgen Habermas) และวิลเลียม คอนนอลลี (William Connolly) เป็นต้น นักคิดเหล่านี้มีความคิดเห็นร่วมกันว่า โลกสมัยใหม่มีวิธีการปรับตัวเข้ากับศาสนามากมายหลายวิธี ไม่ใช่การทิ้งขว้างหรือกีดกันไม่ให้ศาสนาเติบโตอย่างยุค “secular” อีกทั้งวิธีการการแปรรูปศาสนาของยุค “secular” ยังไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อทางศาสนาที่เคยงมงาย ให้หายงมงายได้
ยุค “post-secular” ตั้งคำถามท้าทายต่อยุค “secular” ว่า ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับหลักเหตุผลมากเกินไปหรือไม่? และเราทำตามทฤษฎี “secular” เดิมแล้ว สังคมเราดีขึ้นหรือไม่? เช่น เราแยกศาสนาออกมาจากรัฐแล้ว ปรากฏว่ารัฐมีเหตุผลมากขึ้น เช่น คนไม่แตกแยกกัน? หรือว่ายิ่งแตกแยกกันหนักกว่าเดิม หรือว่าไม่เกี่ยวกับศาสนา? ในทางกลับกัน เราแปรรูปศาสนาแล้ว ศาสนาจะหายงมงาย?
จุดเริ่มต้นของการถกเถียงกันเกี่ยวกับศาสนายุคใหม่มาจากงานของฮาเบอร์มาสหลายชิ้น ที่มีอิทธิพลมากเป็นเรื่อง “พื้นที่สาธารณะ” (public sphere) ของฮาเบอร์มาส ซึ่งเขาหมายถึงสถาบันทางสังคมที่เปิดให้พลเมืองมาถกเถียงกันเพื่อก่อร่างมติมหาชน อาจพบกันตัวต่อตัวหรือวิธีอื่น แต่หลักการ คือ ต้องเปิดกว้างแก่ทุกคน และมีหลักประกันว่าจะทำให้เกิดความคิดเห็นที่ดีกว่า โดยไม่ใช่กำลัง ซึ่งอันที่จริงเป็นงานศึกษาประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นที่สาธารณะแต่ละยุค เช่น ยุคศักดินา ยุคนายทุนและยุคประชาธิปไตย
ปัจจุบันนักวิชาการหลายคนนำความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะของเขาไปประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะยุคดิจิทัล จนระยะเวลาอันใกล้นี้ ฮาเบอร์มาส จะออกหนังสือเล่มใหม่เกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะในยุคดิจิทัล ชื่อ “A New Structural Transformation of the Public Sphere and Deliberative Politics” วางตลาดต้น ปี 2024 นี้ ตอนนี้ Amazon เปิดให้ pre-order ได้แล้ว
จากแนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะของฮาเบอร์มาส เขาเห็นว่า พื้นที่สาธารณะเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญที่สุดระหว่างภาคประชาสังคม (civil society) กับรัฐ (the state) และเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นประชาธิปไตยเพราะหากพื้นที่สาธารณะเป็นอิสระและมีมากทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ความเป็นประชาธิปไตยก็จะยิ่งมีมาก ในทางกลับกัน หากไม่มีพื้นที่สาธารณะ ภาคประชาสังคมก็ไม่มีเวที ประชาธิปไตยก็อ่อนแอ
ประเด็นศาสนาในพื้นที่สาธารณะ (religion in public sphere) จึงเป็นประเด็นหลักที่นักวิชาการศึกษา อภิปรายและถกเถียงกันในปัจจุบัน อาทิ ศาสนาควรมีที่อยู่กับเขาในอาณาบริเวณสาธารณะบ้างหรือไม่ อย่างไร และที่ถูกรัฐกับศาสนาควรมีความสัมพันธ์กันอย่างไรในแต่ละประเทศและแต่ละสังคม แต่ที่แน่ ๆ โมเดล 2 โมเดล ได้แก่ การโจมตีกันอย่างก้าวร้าว (aggressive animosity) กับการรวมทรัพย์สินของศาสนากับของรัฐเข้าด้วยกัน (material unification of church and state) ถูกปฏิเสธไปเรียบร้อยแล้วในยุโรป บางประเทศถือว่าผิดกฎหมาย เช่น เยอรมัน (ดู Brugger & Kayanni, eds, 2007, Religion in the Public Sphere: A Comparative Analysis of German, Israeli, American and International Law, Springer)
3. post-secular กับฮาเบอร์มาส
ฮาเบอร์มาส มีความคิดเกี่ยวกับศาสนาหลายตอน แต่แก่นความคิดหลักของเขา คือ การต่อต้านสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (the sacred) หรือความงมงาย
ตอนแรกเขาคิดเหมือนมาร์กซที่ว่าศาสนามอมเมา ต่อมา ทศวรรษ 1980 เปลี่ยนจากการวิพากษ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ มาเป็นเริ่มต้นความคิดทางศาสนา ในงาน Theory of Communicative Action ปี 1981 เขาหันไปเห็นด้วยกับเดิร์กไคม์ มากกว่ามาร์กซ ในการเสนอทฤษฎีวาทกรรมการสื่อสาร เขายกตัวอย่างการใช้ภาษาศักดิ์สิทธิ์ว่ากำลังเปลี่ยนจากภาษาทางธรรม ไปเป็นภาษาทางโลกที่คนเข้าใจมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้แท้จริง คือ การทำงานของกระบวนการสร้างความทันสมัย (process of modernization) ต่อมาก็ยอมรับว่าภาษาสมัยใหม่หลายอย่างมีรากมาจากจริยธรรมทางศาสนา เช่น ความเท่าเทียมสากล (universalistic egalitarianism) การกระทำที่เป็นอิสระของชีวิต (autonomous conduct of life) การปลดปล่อย (emancipation) หลักศีลธรรมทางมโนธรรมของปัจเจกบุคคล (individual morality of conscience) สิทธิมนุษยชน (human rights) และประชาธิปไตย (democracy) เป็นจริยธรรมว่าด้วยความยุติธรรมของศาสนายูดาห์ และจริยธรรมว่าด้วยความรักของศาสนาคริสต์
ถัดมา เขาข้ามกรอบวิเคราะห์เดิร์กไคม์ ไปหากรอบ “secular” คิดว่าโลกเทววิทยาสามารถเคลื่อนย้ายไปสู่โลก “secular” ได้ แต่เขาเริ่มตระหนักว่ามีบางอย่างหายไปในโลกสมัยใหม่ซึ่งเป็นโลกที่สับสน เขายืนยันว่าปรัชญาต้องพร้อมที่จะเรียนรู้จากเทววิทยา และเหตุผลทางศาสนาไม่ใช่ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง แม้ศาสนาจะไม่ได้เป็นที่มาของเหตุผลในโลกสมัยใหม่ แต่ก็เป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจทางด้านปทัสถานในโลกปัจจุบัน
สุดท้าย เขาข้ามมาใช้กรอบวิเคราะห์ “ความล้มเหลว” ของข้อเสนอตามแนวคิด secularization โดยนำคำพูดของปีเตอร์ เบอร์เกอร์ (Peter Berger) มาใช้ ที่ว่า “ยุคของเรามิใช่ยุค secularization ตรงกันข้าม เป็นยุคความรุ่งเรืองของศาสนา” (Our age is not an age of secularization. On the contrary, it is an age of exuberant religiosity) ศาสนายังคงเด่นขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แนวคิด “secular” ในยุโรปกลายเป็นสิ่งผิดปกติ เมื่อมองประวัติศาสตร์โลก หลักเหตุผลแบบตะวันตกของเว็บเบอร์ ปัจจุบัน ปรากฏเป็นจริงว่ามีความเบี่ยงเบน
ฮาเบอร์มาส เริ่มอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากยุค “secular” มาสู่ยุค “post-secular” สรุปสั้น ๆ ว่า ในยุโรปได้เปลี่ยนจากโลกไม่เอาศาสนา หันมาฟื้นฟูหลักศาสนาและชุมชนศาสนา ปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัด คือ คนอเมริกันพากันเข้าโบสถ์เป็นล่ำเป็นสันมากกว่าเดิมมาก ดังนั้น เดิมยุค “secular” คิดว่าศาสนาจะหายไป แต่ข้อเท็จจริงศาสนาไม่ได้หายไป กลับกลายเป็นพื้นฐานทางปทัสถานที่สำคัญของสังคม คนได้ประโยชน์จากศาสนาในแง่ของการกอบกู้ศรัทธาดั้งเดิมกลับคืนมา
ส่วนหลักเหตุผลของยุค “secular” ที่มีตั้งแต่สมัยค้านท์ ที่ว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมาอยู่ใต้หลักเหตุผล” และ “อะไรที่ไม่มีเหตุผลต้องแยกออกไป” นั้น ยุค “post-secular” โดยฮาเบอร์มาสนำมาปรับใช้ใหม่ โดยปรับการจากงานของจอห์น รอลส์ (John Rawls) อีกทีหนึ่ง
งานชื่อ “Political Liberalism” ของรอลส์ ค.ศ. 1993 วางหลักว่า เมื่อคนนับถือศาสนาเข้ามามี ส่วนร่วมในประชาสังคม เขาต้องแยกศาสนาออกไป และหันมายึดวัฒนธรรมการเมืองแบบ secular ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินคดี การออกกฎหมาย หรือการเป็นเจ้าหน้าที่หรือสมัครเป็นเจ้าหน้าที่ ตอนหลังรอลส์กำหนดเงื่อนไขอ่อนลงนิดหนึ่งว่า อาจนำความคิดทางศาสนามาอภิปรายทางการเมืองได้บ้าง เพื่อให้เหตุผลทางการเมืองมีน้ำหนักมากขึ้น
ฮาเบอร์มาส เห็นด้วยกับหลักของรอลส์ แต่เห็นว่าเงื่อนไขที่รอลส์วางเอาไว้ เป็นการวางน้ำหนักให้เหตุผลทางศาสนาเป็นลำดับที่สองรองจากเหตุผลของ “secular” เขาจึงปรับใหม่ให้สมดุล ด้วยการแยกพื้นที่สาธารณะเป็นทางการ (formal) กับไม่เป็นทางการ (informal) ออกจากกัน เขาเห็นว่าพื้นที่และเวลาที่เป็นทางการ เช่น รัฐสภา ศาล รัฐมนตรีและฝ่ายบริหาร ไม่ควรเอาศาสนามาเกี่ยว ส่วนพื้นที่เดียวกันเวลาไม่เป็นทางการ นักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่นั้นสามารถอ้างเหตุผลทางศาสนาได้เต็มที่
แต่เพื่อให้การถกเถียงกันในพื้นที่สาธารณะไม่มีเหตุผลหรือถูกครอบงำโดยศาสนา เดิม รอลส์ เห็นว่าเป็นเรื่องฝ่ายศาสนาต้องรู้จักแยกแยะเอง ว่าอันไหนเป็นเหตุผลการเมือง อันไหนเป็นเหตุผลทางศาสนา แต่ฮาเบอร์มาส เห็นว่าถ้าทำอย่างที่รอลส์ว่าก็เป็นการเปิดช่องให้สิ่งศักดิ์เข้าครอบงำ ที่ถูกต้องนำหลัก “the religiously unmusical” ของเว็บเบอร์มาใช้ หลักข้อนี้เกิดจากเว็บเบอร์เขียนจดหมายถึง แฟร์ดินองด์ โทนนีส์ (Ferdinand Tonnies) ค.ศ. 1909 หมายความว่า เขาเป็นคนแปลกหน้าต่อศาสนา แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้เป็นศัตรูกับศาสนา หมายถึง เราต้องรู้จักรับฟังเหตุผลของฝ่ายศาสนาและนำเอามาไตร่ตรองด้วยเหตุผลของตนเอง สรุปว่าฝ่าย “secular” รวมทั้งฝ่ายไม่เอาศาสนาต้องช่วยฝ่ายศาสนาในการทำความเข้าใจศาสนา
จากหลักของฮาเบอร์มาสที่กล่าว เขาจึงปรับแนวคิด secularization ในยุค post-secular โดยการแยกออกเป็นสองด้าน คือ ด้านรัฐกับด้านสังคม เรียกว่า “secularization of the state” กับ “secularization of society”
ด้านรัฐ หมายถึงภาคทางการ ต้องเขียนว่าเป็น “secular” คือ ไม่เอาศาสนาไปเกี่ยว ส่วนภาคสังคม ศาสนาต้องเข้าไปมีบทบาทในพื้นที่สาธารณะ ภาครัฐที่เขียนไว้นั้น ต้องเขียนไว้ให้น้อยที่สุด เพื่อเปิดช่องให้มี “ความไม่เป็นทางการ” อยู่ในภาครัฐด้วย เช่น เวลาไม่เป็นทางการของผู้พิพากษา ย่อมมีสิทธินับถือศาสนาและถกเถียงเรื่องศาสนา หรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามความเชื่อของตน แต่เวลาตัดสินคดี ผู้พิพากษาต้องไม่เอาศาสนาไปเกี่ยว
ส่วนภาคสังคม เป็นแนวคิดหลักของฮาเบอร์มาส เขาเห็นว่าสำคัญกว่าภาครัฐมาก ไม่ใช่ศาสนา ไม่เกี่ยว แต่ศาสนาต้องมีบทบาทในพื้นที่สาธารณะด้วย การขับเคลื่อนของภาคสังคมย่อมไปไกลกว่าภาครัฐอยู่แล้ว เพราะภาคสังคมยืดหยุ่นกว่าและเป็นพลังทางสังคม
“Although political authority was originally defined in cosmic-religious term, in modern secular states it is no longer based on religious beliefs or on the sovereignly of absolute rulers. We live to today in secular societies in liberal democracies, rather than in religious aura, and religious certainties are increasingly challenged. In view of the growing diversity of modern society.”
แม้อำนาจการเมืองมีที่มาดั้งเดิมจากแนวคิดเรื่องจักรวาลวิทยาของศาสนา แต่รัฐที่ไม่เอาศาสนามาเกี่ยวจะไม่อาศัยความเชื่อทางศาสนาหรือผู้ปกครองที่มีสมบูรณาญาสิทธิ เราอยู่กันทุกวันนี้ในสังคมเสรีประชาธิปไตยที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา มากกว่าได้รับอิทธิพลจากศาสนา และข้อกำหนดตายตัวของศาสนาถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ จากที่เขามองความหลากหลายของสังคมสมัยใหม่
If so, religious citizens must recognize the principle that the justification of constitutional essentials and the outcome of the democratic process have to be neutral towards competing worldviews, which is why secular reason alone can be used in the formal public sphere.
ถ้าเป็นดังนั้น ฝ่ายศาสนาต้องตระหนักถึงหลักเหตุผลความจำเป็นของรัฐธรรมนูญและผลของกระบวนการประชาธิปไตยว่าจะต้องเป็นกลางต่อโลกทัศน์ทางศาสนาที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเหตุผลทางด้าน “secular” เพียงลำพัง จึงสามารถใช้ได้เฉพาะพื้นที่สาธารณะที่เป็นทางการ
ส่วน the secularization of society ของฮาเบอร์มาส “ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของภาคสังคม” แต่ถ้าหากมีหลายศาสนา สังคมต้องเข้มแข็ง เข้ามาขับเคลื่อนและคุมกันเอง ไม่ให้ศาสนาที่แตกต่างกัน เช่น คนนับถือศาสนาหนึ่งไปแบ่งแยกคนอีกศาสนาหนึ่งออกจากสังคม พูดง่าย ๆ อย่าเอา “การนับถือศาสนา” มาทำให้สังคมแตกแยก เช่น โจมตีว่าศาสนานั้นไม่เคร่ง ศาสนานี้เคร่งกว่า หรือคนไม่นับถือศาสนาเก่งกว่าคนนับถือศาสนา
ฮาเบอร์มาสเห็นว่าคนนับถือศาสนากับคนที่ไม่นับถือศาสนา ต่างก็มีภาระอันเดียวกัน คือ ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และนำเอาสิ่งที่ตนเรียนรู้จากศาสนาอื่นไปใช้ศาสนาของตัวเอง แม้ศาสนาเป็นมรดกตกทอดจากสังคมโบราณก็ตาม
ยิ่งสังคมยุค “post-secular” ต้องปรับญาณวิทยาหรือวิธีวิทยาของการแสวงหาความรู้ของศาสนาตัวเองเข้าหาศาสนาคนอื่น เข้าใจด้วยว่าคนไม่นับถือศาสนาเขาคิดไม่เหมือนเราและต้องมีความเห็น ไม่ตรงกัน ส่วนฝ่ายที่ไม่นับถือศาสนาก็ต้องฟังอีกฝ่ายที่นับถือศาสนา ขณะที่ฝ่ายนับถือศาสนาเอาการหาความรู้เกี่ยวกับอีกฝ่ายไปใช้ ฝ่ายที่ไม่นับถือศาสนาก็ต้องหาทางปรับเอาความรู้ของฝ่ายศาสนาไปใช้ด้วยเช่นกัน
“Religious and secular citizen should meet each other at eye level in their use of public reason and acknowledge the contribution of each side as equality important.”
“พลเมืองที่นับถือศาสนากับพลเมืองที่ถือว่าศาสนาไม่เกี่ยว ควรเจอกันในระดับที่มองเห็นกันได้ เพื่อใช้เหตุผลและรับรู้ประโยชน์ความสำคัญของแต่ละฝ่ายเท่าเทียมกัน”
สรุปว่ายุค post-secular ตามแนวคิดฮาเบอร์มาส เป็นแนวคิดและขบวนการการรื้อฟื้นความสำคัญของศาสนาและบทบาทของชุมชนศาสนาในพื้นที่สาธารณะ ประเด็นหลักอยู่ที่ทำอย่างไรให้คนนำหลักศาสนาไปใช้เป็นปทัสถานสังคม แต่ต้องระวังปัญหาใหญ่ของศาสนาที่มีมานานแล้ว คือ ความงมงายและการเข้าครอบงำของศาสนา รวมทั้งศาสนาต่าง ๆ กับกลุ่มคนไม่เอาศาสนาต้องปรับตัวเข้าหากันและระมัดระวังความแตกแยกในสังคม ส่วนบทบาทของภาครัฐนั้นเป็นรอง
กรณีน้องไนซ์ จึงไม่ใช่ปัญหาความอ่อนแอของสำนักพระพุทธศาสนาฝ่ายเดียว แต่เป็นปัญหาการขับเคลื่อนของกลุ่มและองค์กรศาสนาในพื้นที่สาธารณะเพื่อการสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาความงมงายที่ผิดแผกและเบี่ยงเบนไปจากหลักการทางศาสนา และมิใช่ปัญหาที่แก้ไขโดยตรงได้ด้วยเพียงภาคทางการ คือ การบัญญัติกฎหมาย