"...กรณีที่ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และคงใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีก 3 เดือน ตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2566 - 19 มกราคม 2567 อาจส่งผลให้มีการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมและส่งผลต่อความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกรงปีนัง จังหวัดยะลา อำเภอท่ายางแดง จังหวัดปัตตานี และอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส..."
สถานการณ์ก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน (เด่น) ปี 2566
1. หลักความเสมอภาค และห้ามการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมทางระหว่างเพศ เพื่อให้วินิจฉัยว่า ข้อบังคับของสภาทนายความและเนติบัณฑิตยสภา ทั้ง 2 ฉบับ เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยเรียกร้องให้แก้ไขข้อบังคับดังกล่าว และวันที่ 24 พ.ย. 2565 คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) มีคำสั่งให้สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และเนติบัณฑิตยสภา แก้ไขกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อรับรองสิทธิทนายความหญิงให้สามารถสวมกางเกง หรือกระโปรงเมื่อสวมเสื้อครุยขณะว่าความในศาลได้ เพื่อระงับและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยกำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ แก้ไขข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ให้ทนายความหญิงแต่งกายตามแบบสากลนิยมโดยสวมกระโปรงหรือกางเกงสีขาว ดำหรือกรมท่า หรือสีเข้มอื่น ๆ ที่ไม่ฉูดฉาด มีผล 28 มิถุนายน 2566 และ เนติบัณฑิตยสภาแก้ไขข้อบังคับเพิ่มเติม (ฉบับที่ 19 ) พ.ศ. 2566 ให้สมาชิกที่มีเพศสภาพไม่ตรงเพศกำเนิด มีสิทธิแต่งกายตามเพศสภาพ หรืออัตลักษณ์ทางเพศของตน มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป
2. สิทธิในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
สิทธิในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนที่มีความสำคัญยิ่ง ในปี 2566 มีกรณีและการดำเนินการที่สำคัญ ที่ถือเป็นความคืบหน้า ดังนี้
(1) กรณีศาลทหารพิพากษาจำคุก นายทหารยศร้อยโทและเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งลงโทษพลทหารวิเชียร เผือกสม จนเสียชีวิตในค่ายทหาร
คดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2554 พลทหารวิเชียร เผือกสม ซึ่งเป็นพลทหารกองประจำการ ผลัดที่ 1/2554 สังกัด ร.151 พัน.3 ถูกกระทำการละเมิดซ้อมทรมานในขณะที่มีอายุเพียง 26 ปี โดยนายทหารยศร้อยโทกับเจ้าหน้าที่ทหารรวม 9 นาย ซึ่งอ้างว่าเป็นการลงโทษเนื่องจากหนีทหาร ณ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอ เจาะไอร้อง จังหวัดทหารบกนราธิวาส เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายจากการบาดเจ็บสาหัส ไตวายเฉียบพลันและ กล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง และต่อมาพนักงานอัยการศาลทหารเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทหารกับเจ้าหน้าที่ทหารดังกล่าวเป็นจำเลย ในคดีหมายเลขดำ 41 ก./2563 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นทหารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ศาลมณฑลทหารบกที่ 46 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี อ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าว โดยได้พิพากษาจำคุกนายทหารยศร้อยโท และพิพากษาจำคุกเจ้าหน้าที่ทหาร ถือว่าเป็นคดีแรกและคดีสุดท้ายของประวัติศาสตร์กระบวนการยุติธรรมไทย เพราะเป็นคดีแรกที่ศาลทหารมีคำพิพากษาลงโทษครูฝึกทหารใหม่ และเป็นคดีสุดท้ายที่ศาลทหารจะมีอำนาจในการพิจารณาและพิพากษาคดีซ้อมทรมานและการเสียชีวิตในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร เนื่องจากการพิจารณาพิพากษาคดีทรมานและการลงโทษทหารฝึกใหม่เป็นเหตุให้เสียชีวิตจะพิจารณาคดีในศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
(2) กองทัพบกยกเลิกคำสั่งการลงทัณฑ์ในศูนย์ดำรงวินัยทหาร
การลงทัณฑ์ในศูนย์ดำรงวินัยกองทัพบกได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ว่า เพื่อเป็นการฟื้นฟูกำลังพลที่กระทำผิดให้มีวินัยดีขึ้น เกิดความสำนึกที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่อันจะเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน และเพื่อเป็นมาตรการในการจัดการระวังรักษาวินัยทหาร ตลอดจนสร้างความเป็นทหารอาชีพให้แก่กำลังพล แต่การกระทำในทางปฏิบัติมักใช้วิธีการที่กระทบต่อสิทธิในชีวิตและร่างกาย และอาจเป็นการกระทำอันเป็นการทรมาน และการกระทำหรือการลงโทษโดยไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ลงนามในคำสั่งกองทัพบก ที่ 203/2566 เรื่อง ยกเลิกคำสั่ง ทบ. เกี่ยวกับการดำเนินการฟื้นฟูวินัยกำลังพลที่กระทำความผิดและประพฤติตนไม่เหมาะสมโดยศูนย์ดำรงวินัย ทบ. โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป
การยกเลิกคำสั่งดังกล่าวจึงเป็นการป้องกันการกระทำอันเป็นการทรมาน และการกระทำหรือการลงโทษโดยไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และเนื่องจากมีพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 เป็นหลักเกณฑ์ในการดำเนินการอยู่แล้ว จึงให้ดำเนินการฟื้นฟูวินัยกำลังพลที่กระทำความผิดและประพฤติตนไม่เหมาะสมตามพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยเคร่งครัดต่อไป
(3) ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า พระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้พระราชบัญญัติอุ้มหายฯ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
ภาคประชาชนและกระทรวงยุติธรรมได้ผลักดันกฎหมายเพื่อให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จนกระทั่งประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ต่อมารัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ได้เห็นชอบให้มีการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 เพื่อขยายระยะเวลาในการบังคับใช้ในหมวด 3 จำนวน 4 มาตรา ออกไปก่อน โดยอ้างเหตุขัดข้อง 3 ประการ คือ 1. ขาดงบประมาณและอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน 2. ขาดความพร้อมของบุคลากร และ 3. ขาดความไม่ชัดเจนและมาตรฐานในการปฏิบัติงาน แต่เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ในระหว่างการพิจารณาของสภาว่าจะให้ความเห็นชอบด้วยกับพระราชกำหนดดังกล่าวหรือไม่ นายนิโรธ สุนทรเลขา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นประธานวิปรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 100 คน เข้าชื่อยื่นคำร้องถึงประธานรัฐสภาเพื่อขอให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการตราพระราชกำหนดดังกล่าว
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า การตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 กรณีไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ไม่เข้าข่ายเป็นกรณีฉุกเฉิน เร่งด่วน ส่งผลให้พระราชกำหนดดังกล่าว ไม่มีผลใช้บังคับมาแต่ต้นคือ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 สามารถเข้าถึงคำวินิจฉัยได้ที่
3. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
สืบเนื่องมาจากเมื่อปี พ.ศ. 2559 แรงงานชาวเมียนมา 14 คน ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนต่างชาติและองค์กรสิทธิแรงงานหลายแห่งว่า บริษัทธรรมเกษตร จำกัดบังคับให้ทำงาน 20 กว่าชั่วโมงต่อวัน ถูกยึดเอกสารประจำตัว และถูกหักเงินเดือน จากนั้น สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลพบุรี ได้ตัดสินว่า ไม่มีการยึดพาสปอร์ต แต่นายจ้างทำผิดเรื่องค่าจ้างและให้ชดเชยแรงงาน 1.7 ล้านบาท
หลังจากนั้น บริษัทธรรมเกษตร จํากัด ได้ยื่นฟ้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 22 คน เป็นคดี คดีอย่างน้อย 37 คดี โดยผู้ถูกฟ้องส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้พิพากษายกฟ้อง 3 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง คือ นางอังคณา นีละไพจิตร นางสาวพุทธณี กางกั้น และนางสาวธนภรณ์ สาลีผล จากการฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทบริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ด้วยการแชร์ข้อความทางโซเชียลมีเดียพาดพิง บริษัทฯ ว่า ละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ โดยศาลพิพากษาว่า “การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่ได้เกิดความเสียหายกับโจทก์” https://workpointtoday.com/slapps/
4. ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าไม่มีความผิดหรือบริสุทธิ์
เดิมบุคคลที่ถูกดำเนินคดีอาญาจะถูกพิมพ์ลายนิ้วมือและบันทึกเป็นข้อมูลไว้ในทะเบียนประวัติอาชญากรรม แม้ต่อมาจะไม่มีการฟ้องคดีหรือศาลยกฟ้องโดยพิพากษาว่าไม่มีความผิดก็ยังคงมีการเก็บข้อมูลไว้ในทะเบียนประวัติอาชญากรรมโดยไม่มีการยกเลิก ส่งผลต่อการสมัครงานและประกอบอาชีพกอบอาชีพของผู้ถูกพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566 ซึ่งได้ลงนามและมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2566 การแก้ไขระเบียบดังกล่าวถือเป็นแก้ไขให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคสอง ซึ่งเป็นไปตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ หรือ Presumption Of Innocence ว่าในคดีอาญาหากไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด โดยมีการปรับปรุงการจัดเก็บประวัติบุคคลออกเป็น 3 ทะเบียน ได้แก่ 1) ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา 2) ทะเบียนประวัติอาชญากร 3) ทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร และปรับปรุงหลักเกณฑ์การถอนประวัติออกจากฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากรเป็น 9 ข้อ คือ มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ยกฟ้อง, มีกฎหมายยกเลิกความผิดนั้นผู้เสพยาเสพติดที่ผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่มีผลเป็นที่น่าพอใจ ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม มีกฎหมายล้างมลทินโทษ ได้รับการอภัยโทษ ไม่มีการกระทำความผิดภายใน 20 ปี ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน มีคำพิพากษาใหม่ว่ามิใช่ผู้กระทำความผิด และคดีขาดอายุความ เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลประวัติ อาชญากรให้เป็นปัจจุบัน
ผลการแบ่งทะเบียนในการจัดเก็บข้อมูลและหลักเกณฑ์การคัดแยกประวัติอาชญากรรมตามระเบียบนี้ ทำให้มีบุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรเพียง 3,729,173 ราย จากทั้งหมด 13,051,234 ราย สามารถคืนสิทธิให้กับประชาชนจากโครงการนี้จำนวนกว่า 9.3 ล้านคน
ประชาชนที่ต้องการตรวจสอบคุณสมบัติว่าเป็นผู้ที่ถูกลบประวัติ ล้างความผิด หรือไม่ สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ โครงการลบประวัติ ล้างความผิด คืนชีวิตให้ประชาชน www.crd-check.com เมื่อท่านมีชื่ออยู่ในโครงการ หมายความว่าประวัติอาชญากรรมของท่านได้ถูกทำการคัดแยกและถอนประวัติเรียบร้อยแล้ว
5. สิทธิในการศึกษา : คุ้มครองเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ขณะที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษา
พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ประกาศใช้มาแล้วเกือบ 7 ปี โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ร่วมมือกันผ่าน “คณะกรรมการการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” ดำเนินการเพื่อ “ป้องกัน” และ “แก้ไข” ปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น แต่ขาดการทำงานประเด็นสำคัญคือ “การคุ้มครองสิทธิในการศึกษา” คือ ท้องแล้วถูกโรงเรียนให้ออกหรือให้ย้ายไปเรียน กศน. ทั้งที่ไม่สมัครใจ หรือท้องแล้วเข้าไม่ถึงบริการปรึกษา ร้องเรียน คุ้มครองสิทธิ จนต้องออกจากระบบการศึกษา หรือไม่ได้รับบริการด้านสาธารณสุข ทั้งที่มีกฎหมายระบุไว้
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 โดยกฎกระทรวงดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ สถานศึกษาที่มีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษา ต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้นออกจากสถานศึกษาดังกล่าว เว้นแต่เป็นการย้ายสถานศึกษา ตามความประสงค์ของนักเรียนหรือนักศึกษานั้น ทั้งนี้เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวง คือ ปัจจุบันพบว่ามีนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์ถูกสถานศึกษาให้ย้ายสถานศึกษาโดยมิได้สมัครใจ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การดำเนินการของสถานศึกษาเพื่อเป็นการคุ้มครองวัยรุ่นซึ่งตั้งครรภ์ขณะที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาให้มีสิทธิได้รับการศึกษาในสถานศึกษาด้วยรูปแบบที่เหมาะสมและต่อเนื่องตามความประสงค์ของนักเรียนหรือนักศึกษานั้น
การแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 นี้ ทำให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติที่ห้ามสถานศึกษาไล่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์ออกจากสถานศึกษา
6. การใช้สิทธิทางศาลเมื่อถูกละเมิดสิทธิที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองและสิทธิได้รับการเยียวยาจากรัฐ
ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 3333/2566 ในวันที่ 3 สิงหาคม 2566 สั่งให้กองทัพบกชดใช้ค่าเสียหายแก่ครอบครัวผู้ตายคดี ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ เป็นเงินจำนวน 2,072,400 บาท ชัยภูมิ ป่าแส คือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ลาหู่ ต่อสู้เพื่อสิทธิชนพื้นเมืองและคนไร้สัญชาติ ถูกฆาตกรรมโดยทหารเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560
คดีนี้มีนาง นาปอย ปาแส แม่ของชัยภูมิเป็นโจทก์ฟ้องแพ่ง เรียกร้องค่าเสียหายต่อกองทัพบกในฐานะจำเลย ตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นการฟ้องร้องตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งที่ผ่านมาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เคยพิพากษายกฟ้องกรณีนี้ เพราะเห็นว่าเจ้าหน้าที่กระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทำให้กองทัพบกไม่ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายแก่แม่ของชัยภูมิ ครอบครัวของชัยภูมิฎีกา ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งให้กองทัพจ่ายค่าเสียหายกว่า 2 ล้านบาท ดังกล่าว
7. สิทธิแรงงาน การรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วม
การเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เป็นประเด็นที่องค์กรสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานและองค์กรของผู้ใช้แรงงานเรียกร้องมาเป็นเวลานาน แต่จนกระทั่งปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว โดยอ้างว่า จะต้องแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เสียก่อน ทำให้แรงงานในประเทศไทยถูกลิดรอนหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพในการจัดตั้งองค์การหรือสหภาพแรงงาน และโดยเฉพาะแรงงานที่ไม่มีสถานะเป็น “ลูกจ้าง” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งแรงงานข้ามชาติก็ถูกกีดกัน ไม่สามารถจัดตั้งองค์การแรงงานหรือสหภาพแรงงาน เป็นกรรมการหรืออนุกรรมการขององค์การดังกล่าวได้ ขาดอำนาจเจรจาต่อรองร่วม (Collective bargaining) เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิด้านแรงงานของตน
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงแรงงานมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. 1948 และการเจรจาต่อรองร่วม ค.ศ. 1949
การที่กระทรวงแรงงานมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้เพื่อให้ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยไม่ต้องรอให้ต้องแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เสียก่อน จึงย่อมเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานในประเทศและเป็นหมุดหมายสำคัญของประเทศให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ใช้แรงงาน
8. สิทธิแรงงาน และการประกันสังคม
การเลือกตั้งคณะกรรมการนายจ้างและคณะกรรมการลูกจ้างตามกฎหมายประกันสังคม
การประกาศให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 นับเป็นความก้าวหน้าของสิทธิได้รับสวัสดิการและบริการสาธารณสุขตามกฎหมายประกันสังคม
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 กำหนดให้กรรมการประกันสังคมซึ่งเป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนมาจากการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายผู้ประกันตน สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการ และผู้ด้อยโอกาส แต่เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 หัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 40/2558 โดยอาศัยอำนาจพิเศษตาม"มาตรา 44" ให้ "งดการบังคับใช้" กฎหมายประกันสังคมบางมาตราที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม โดยฉบับที่ 9/2562 ให้คณะกรรมการประกันสังคมชุดเดิมที่แต่งตั้งไว้เมื่อปี 2558 พร้อมที่ปรึกษา อยู่ในตำแหน่งต่อไประหว่างการร่างระเบียบหลักเกณฑ์การเลือกตั้งซึ่งใช้เวลาอีกอย่างน้อยสองปี ทำให้พ.ร.บ.ประกันสังคม และคณะกรรมการชุดแต่งตั้งมีอยู่ในตำแหน่งได้นานกว่าแปดปี
วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 กระทรวงแรงงานได้ออก ระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม พ.ศ. 2564 (ระเบียบเลือกตั้งประกันสังคมฯ) โดยกำหนดให้ "ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง" ต้องขึ้นทะเบียนในระบบประกันสังคมมาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหกเดือน นับถึงเดือนที่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง หรือต้องอยู่ในระบบประกันสังคมตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 หรือก่อนหน้านั้น หากเข้าสู่ระบบประกันสังคมในเดือนเมษายน 2566 ก็จะไม่มีสิทธิเลือกตั้ง และในระยะเวลาหกเดือนนี้ต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าสามเดือน โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ธันวาคม 2566
9. สิทธิที่จะมีอากาศบริสุทธิ์ และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเกิดการบูรณาการอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ เกิดผลเป็นรูปธรรมและเท่าทันต่อเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามกฎหมายฉบับดังกล่าว อันเป็นการให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกลไกในการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยได้กำหนดให้มีคณะกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเชิงวิชาการ และการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่ครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เกษตรกรรม การคมนาคมและขนส่ง การเผาในที่โล่ง การเผาป่า การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน รวมถึงมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเชิงพื้นที่ ตลอดจนการมีเครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมรับผิดชอบ และมีบทบาทหน้าที่ในการควบคุม ปรับลด และแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศร่วมกัน
10. การยกระดับการให้บริการด้านสาธารณสุขและการรับบริการด้านสุขภาพ
ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สป.สช.) ได้ยกระดับการให้บริการสุขภาพให้เข้าถึงทั่วไทยมากขึ้น เช่น 1) ร้านยาของฉันซึ่งให้บริการสร้างเสริมสุขภาพ ให้ประชาชนคนไทยทุกคน ทุกสิทธิการรักษาสามารถขอรับยาเวชภัณฑ์ในส่วนบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ได้ที่ร้านยาใกล้บ้านที่ร่วมโครงการ 2) ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย ให้บริการสำหรับสิทธิการรักษาตามบัตรทองได้ที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ
สำหรับปี 2566 นี้มีความก้าวหน้าในกรณีของการผ่าตัดแปลงเพศซึ่งสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้หากเป็นกรณีที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงกลุ่ม LGBTQ+ ด้วย ซึ่งข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ คือ ต้องมีการตรวจกับแพทย์หรือจิตแพทย์ว่าบุคคลนั้นมีความจำเป็นจริง ๆ เช่น เป็นผู้มีที่มีลักษณะอวัยวะเพศกำกวม ก็ถือเป็นข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่บัตรทองครอบลุมและใช้สิทธิรับบริการได้
สถานการณ์ถดถอยด้านสิทธิมนุษยชน (ด้อย) ปี 2566
1.สิทธิที่จะได้รับศึกษาขั้นพื้นฐาน
การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถพัฒนาบุคลิกภาพของตนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในรอบปีที่ผ่านมามีกรณีสำคัญเกี่ยวกับสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ถือเป็นการถดถอย 2 กรณี คือ
(1) การปฏิเสธมิให้เด็กนักเรียนอายุ 15 ปี มอบตัวเข้าเป็นนักเรียนในโรงเรียน
เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการได้ปฏิเสธที่จะให้ หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย เยาวชนนักกิจกรรมวัย 15 ปี เข้าเรียนในโรงเรียนโดยอ้างเหตุผลว่า เนื่องจากไม่มีผู้ปกครองมาดำเนินการมอบตัวตามที่ระเบียบของโรงเรียนกำหนด ทำให้ไม่มีสถานะเป็นนักเรียนของโรงเรียน และด้วยสาเหตุที่ “หยก” ถูกเคยควบคุมตัวที่สถานพินิจเด็กและเยาวชนบ้านปรานี
(2) การส่งเด็กไม่มีเอกสารทางทะเบียนจากโรงเรียนในจังหวัดอ่างทอง 126 คน กลับพม่า
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ได้นำเด็กนักเรียนอายุตั้งแต่ 7-16 ปี จากประเทศพม่าที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร์ จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอ่างทอง จำนวน 126 คน เดินทางโดยรถบัส 4 คัน เพื่อนำตัวไปยังสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ 5 แห่ง ก่อนถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง โดยมีตัวแทนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คอยให้การดูแล
ทั้งนี้เด็กทั้ง 126 คน ถูกนำไปเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดอ่างทอง โดยผู้อำนวยการโรงเรียนได้พยายามขอทะเบียนนักเรียนที่ไม่มีสัญชาติ (G code) แต่เมื่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทองตรวจสอบเพราะเห็นจำนวนที่มากผิดปกติ ทำให้พบว่ามีการนำเด็กเข้ามาเรียนจำนวนมาก และได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้อำนวยการโรงเรียนดังกล่าวและเตรียมผลักดันเด็กกลุ่มนี้กลับประเทศต้นทางทำให้ต้องออกจากการศึกษากลางคัน
2.สิทธิทางการเมืองในการเลือกผู้บริหารประเทศ
กรณีการลงมติของรัฐสภาเพื่อเห็นชอบผู้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ครั้งแรก ภายหลังผลจากการเลือกตั้งทั่วไป สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 พรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 1 ได้ร่วมกับพรรคการเมือง 7 พรรคการเมือง รวมกันเป็น 8 พรรคมีมติเห็นพ้องเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ได้มีการเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย โดยวิธีการขานชื่อ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง ส.ส. และ ส.ว.รวม 705 คน โดยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อมีเพียงคนเดียว คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ปรากฎผลการลงคะแนนมีผู้เห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 199 เสียง และขาดประชุม 44 เสียง จึงมีคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือ 375 จาก 749 คน ทำให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี
การที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 เปิดช่องให้อำนาจวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งได้นั้น เป็นการกระทำที่ขัดหลักการประชาธิปไตย และเป็นการทำลายระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะเปิดช่องให้มีการใช้อำนาจขัดเจตนารมณ์ในการใช้สิทธิทางการเมืองของประชาชนและสิทธิทางการเมืองของประชาชนไม่ได้รับการเคารพ
ดังนั้น การให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจเหนือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมืองของประชาชนในการเลือกผู้บริหารประเทศ
3. สิทธิในชีวิตและร่างกาย เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิส่วนบุคคลและครอบครัว
กรณีเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย ในเหตุการณ์นี้มีการเผยแพร่และส่งต่อภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นเยาวชน วัย 14 ปี ด้วยการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (บัตรประชาชน) และเปิดเผยชื่อ สกุลที่อยู่ อาชีพของครอบครัวผู้ก่อเหตุอย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ อันอาจนำไปสู่การผลิตซ้ำซึ่งถือเป็นละเมิดซ้ำ หรือเป็นการตีตราอาจนำไปสู่การสร้างความเกลียดชังจากคนในสังคม
การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (บัตรประชาชน) ดังกล่าวเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำเนินการในขณะจับกุมผู้กระทำ นอกจากนี้ในขณะปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ดำเนินการกระบวนการสอบสวนเด็กและเยาวชน ณ ที่เกิดเหตุไม่มีการสอบสวนต่อหน้าสหวิชาชีพ หรือร่วมดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย และการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลต่อสื่อมวลชน โดยมิได้คำนึงถึงสิทธิในความเป็นส่วนตัวและสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคลตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
ความสำคัญของการปฏิบัติต่อเด็กผู้กระทำผิดทุกกรณี คือ ต้องความเคารพในความเป็นส่วนตัว การแสดงตัวเด็กต่อสาธารณชน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับหน้าตา บัตรประชาชนต่อสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทออนไลน์ประเภทอื่นๆ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ ของเด็กหรือครอบครัวได้
4. สิทธิในกระบวนการยุติธรรม-สิทธิที่จะได้รับสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย
จากกรณีที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า “... ได้มีการเตรียมนำร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเตรียมเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้คือ มีการปรับปรุงว่า ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 คือ การถือครองแอมเฟตามีนปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 0.1 กรัม และเมทแอมเฟตามีนมีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึง 0.1 กรัม หรือคำนวณน้ำหนักเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึง 25 มิลลิกรัม พูดง่ายๆ คือ ถือครองยาบ้ามากกว่า 1 เม็ดขึ้นไปให้เป็น “ผู้ค้า” ......
ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว มีเนื้อหาที่ขาดข้อมูลวิชาการรองรับ และขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายคือ พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ถือว่า ผู้เสพคือผู้ป่วย กล่าวคือ
1. การกำหนดให้การครอบครองครองยาบ้ามากกว่า 1-5 เม็ด มีความผิดฐานเป็น “ผู้ค้า” เป็นการสวนทางกับหลักการ “ผู้เสพ คือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัด ย่อมส่งผลให้ผู้เสพส่วนใหญ่อาจกลายเป็นผู้ค้าตามข้อสันนิษฐานตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้เสพ และสมาชิกในครอบครัวเป็นจำนวนมากแล้ว ยังทำให้มีผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังในเรือนจำเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างภาระต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอีกด้วย ดังนั้นการชี้ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้เสพหรือผู้ค้า ควรดูที่พฤติการณ์ เป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องจำนวนการถือครอง ภาระการพิสูจน์พฤติการณ์ว่าเป็นผู้เสพหรือค้า ควรเป็นการค้นหาความจริงโดยเจ้าพนักงานตำรวจและอัยการ ไม่ควรเป็นภาระผู้ต้องหาในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนฝ่ายเดียว ภายใต้กระบวนการยุติธรรมในระบบการกล่าวหา
2. การให้อำนาจเจ้าพนักงาน “สันนิษฐาน” เป็นการให้ความชอบธรรมแก่เจ้าพนักงานสามารถที่จะอ้างการสันนิษฐานในการเลือกที่จะเอาผิดผู้ต้องหาได้ตั้งแต่ชั้นการจับกุม สืบสวนสอบสวน ย่อมเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ
3. หลายสิบปีที่ผ่านมาพบว่า ในทางปฏิบัตินั้น กระบวนการนำผู้ใช้ยามาเข้าสู่การดูแลและบำบัดรักษาในฐานะ “ผู้ป่วย” ยังทำได้น้อยมาก การแก้ไขกฎกระทรวงตามแนวทางดังที่กล่าว มีแนวโน้มที่จะทำให้เจ้าพนักงานมุ่งใช้เพื่อเอาผิดผู้ใช้ยาเพื่อหวังเป็นผลงาน หรือเพื่อหาผลประโยชน์จากคดีมากขึ้น และหากเมื่อผู้เสพถูกกล่าวหาว่าเป็น “ผู้ค้า” แล้ว โอกาสของผู้เสพที่จะได้รับริการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด รวมถึงการดูแลและบำบัดรักษา (กรณีผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง) เยี่ยงผู้ป่วยที่ไม่ใช่ “อาชญากร” ก็จะเป็นอันถูกตัดไป ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ที่ต้องการมุ่งการบำบัดผู้เสพมากกว่าการลงโทษ และหวังลดปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกเพราะคดียาเสพติด
4. ในปัจจุบัน กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดยังมีเรื่องของการยึดทรัพย์จากผู้กระทำความผิด โดยทรัพย์ส่วนหนึ่งจะถูกนำเข้ากองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด อีกส่วนจะแบ่งให้เจ้าพนักงาน ดังนั้นการแก้กฎหมายให้นิยามของ “ผู้ค้า” มีขอบเขตที่กว้างขึ้นนั้น จะเป็นแรงจูงใจให้เจ้าพนักงานมุ่งหวังที่จะเอาผิดผู้ใช้ยาในฐานะเป็นผู้ค้ามากขึ้น ด้วยหวังในเรื่องผลงานและทรัพย์รางวัลที่จะได้รับโดยมีกฎหมายรองรับ
5. นอกจากนี้การกำหนดให้ผู้เสพที่มียาบ้าไว้ในครอบครองเกินกว่า 1 เม็ดเข้าข่ายเป็นผู้ค้าอาจทำให้ผู้เสพถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถจับและนำตัวไปควบคุมคุมไว้เป็นเวลา 3 วันก่อนที่จะส่งตัวให้พนักงานสอบสวน ซึ่งที่ผ่านมาการจับและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในลักษณะดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ถูกจับถูกเจ้าหน้าที่ทรมาน อุ้มฆ่าและอุ้มหาย หรือกระทำการละเมิดด้วยวิธีต่างๆอย่างร้ายแรง ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี เพื่อเรียกเงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกจับหรือญาติพี่น้อง
6. กระบวนการจัดทำร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่มีการจัดทำการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
5. สิทธิในกระบวนการยุติธรรมและหลักความเสมอภาคทางกฎหมาย
กรณีที่ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และคงใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีก 3 เดือน ตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2566 - 19 มกราคม 2567 อาจส่งผลให้มีการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรมและส่งผลต่อความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกรงปีนัง จังหวัดยะลา อำเภอท่ายางแดง จังหวัดปัตตานี และอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส
การประกาศขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นั้น ขาดการตรวจสอบจากรัฐสภาและเป็นการกระทำโดยอำนาจของฝ่ายความมั่นคงที่แทรกแซงการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 18 ปีเกิดขึ้นจากข้อเสนอของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เสนอเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ ขาดการพิจารณาถึงความจำเป็นและการได้สัดส่วนในการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน
การประกาศใช้พระราชกำหนดดังกล่าวยาวนานติดต่อกันขัดกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่สำคัญของไทยคือในฐานะเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ข้อ 4 ประเทศไทยไม่เคยแจ้งต่อองค์การสหประชาชาติและประเทศสมาชิกของกติการะหว่างประเทศนี้ ในเรื่องการลิดรอนสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงมาเป็นเวลา 18 ปี
6. สิทธิผู้หลบภัยจากการประหัตประหาร การส่งกลับชาวเมียนมาร์ผู้หลบภัยสู้รบและสงครามภายในประเทศ
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ผู้หลบภัยสงครามชาวเมียนมาร์ประมาณ 9,000 คนแสวงหา ที่พักพิงเพื่อความปลอดภัยในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากมีการโจมตีทางอากาศบ่อยครั้งในรัฐกะเรนนี ทางตอนใต้ของเมียนมาร์ติดชายแดนไทย ซึ่งช่วงแรกทางการไทยอนุญาตให้ผู้หลบภัยเหล่านี้อยู่ในศูนย์พักพิง ชั่วคราวอย่างไม่เป็นทางการ ต่อมาในวันที่ 21 ตุลาคม 2566 ทหารไทยออกคำสั่งด้วยวาจาให้ผู้หลบภัยกลับไปยัง เมียนมาร์ ภายในสองสัปดาห์ หลังจากคำสั่งดังกล่าว ผู้หลบภัยจึงต้องเดินกลับข้ามชายแดนเข้าสู่รัฐคาเรนนี ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณสี่ถึงห้าวัน แต่การ สู้รบระหว่าง ทหารรัฐบาลทหารเมียนมาร์และกลุ่มต่อต้าน รัฐบาลยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 27 ตุลาคม กลุ่มพันธมิตรติดอาวุธชาติพันธุ์และกลุ่มต่อต้านเริ่มโจมตี กองทัพเมียนมาร์ทางตอนเหนือของรัฐฉาน กองกำลังฝ่ายค้านในส่วนอื่น ๆ ในเมียนมาร์ก็ทำการโจมตีกองทัพ เช่นกัน ซึ่งกองทัพก็ตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศ รวมถึงในรัฐกะเรนนีด้วย ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ชาวเมียนมาร์มากกว่า 2,387 คน ได้หลบหนีออกจากเมียนมาร์อีกครั้ง โดยข้ามกลับมายังจังหวัดแม่ฮ่องสอน
การผลักดันผู้หลบภัยจากเมียนมาร์กลับไปยังประเทศเมียนมาร์จนก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการถูกประหัตประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่น ๆ เช่น การทรมาน และการหายสาบสูญโดยถูกบังคับนั้น ถือเป็นการละเมิดหลักการไม่ผลักกลับไปสู่ภยันตราย (Non-Refoulement) อันเป็นบรรทัดฐานเด็ดขาด (Peremtory Norm) ทางกฎหมายระหว่างประเทศ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ค.ศ. 1966 (ICCPR) อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติอันทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี ค.ศ. 1984 (CAT) รวมถึงพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
7. กรณีความรุนแรงต่อสตรี เด็กและครอบครัว
ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิต และร่างกายของบุคคล ครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคมที่ต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐและสังคม การกระทำความรุนแรง ต่อบุคคลในครอบครัวจึงเป็นปัญหาสำคัญที่มิใช่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระดับ ปัจเจกบุคคลต่อผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสถาบันครอบครัวและต่อสังคมก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อการพัฒนาสังคมและ ประเทศชาติโดยรวมขัดต่อพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 รัฐธรรมนูญและสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังปรากฏเหตุความรุนแรงใน-นอกครอบครัวยังเกิดขึ้นต่อผู้มีมิติความเปราะบางทับซ้อน เช่น ผู้พิการ ผู้มีความหลากหลายทางเพศยังถือได้ว่าเป็นการกระทบต่อสิทธิในมิติที่เกี่ยวข้องกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอื่น ๆ เช่น อนุสัญญาว่าด้วย สิทธิคนพิการ (CRPD) หลักการยอร์กยากาตาร์ (หลักปฏิบัติกฎหมายสิทธิมนุษยชนต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ) ภายใต้ www.violence.in.th (ข้อมูลในปี 2566 ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566) พบว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ในปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,127 รายละเอียดตามแผนภาพ
8. การฟ้องคดีปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการมีส่วนร่วมสาธารณะ
กรณี คดีกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู
หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 3 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ใช้สิทธิเสรีภาพตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และรัฐธรรมนูญในการชุมนุมตั้ง “หมู่บ้าน ฮวกพัฒนา ชาวประชาสามัคคี” บริเวณถนนเพื่อการเกษตรที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งเป็นเส้นทางเส้นหนึ่งที่สามารถเข้าไปยังภูผาฮวกหรือพื้นที่เคยขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) เพื่อคัดค้านการทำเหมืองพร้อมข้อเรียก 3 ข้อ คือ ปิดเหมืองหินและโรงโม่ ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และพัฒนาดงมะไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดี เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสดงเจตจำนงค์ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและคัดค้านการทำเหมืองหินในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2563 – ปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได 3 คน ถูกบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ฟ้องเป็นคดีแพ่ง ในข้อหารบกวนการครอบครองสิทธิในการทำประโยชน์ในที่ดินของบริษัทตามปกติสุข และขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ปลดเปลื้องการรบกวนครอบครอง โดยให้บริษัทมีอำนาจขนย้าย รื้อสิ่งขัดขวาง รวมทั้งเครื่องขัดขวางออกไปจากที่ดินที่บริษัทมีสิทธิตามกฎหมาย ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องหรือยุ่งเกี่ยวกับที่ดินตามสิทธิของโจทก์
กรณีนี้เป็นการใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องคดีเพื่อปิดปากประชาชนมิให้ใช้สิทธิมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและความหลากหลาย ทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เนื่องจากการชุมนุมสาธารณะตั้ง “หมู่บ้านฮวกพัฒนา ชาวประชาสามัคคี” ไม่ได้รบกวนหรือกีดขวางการสัญจรของชาวบ้านหรือบุคคลอื่นที่ใช้ถนนในการสัญจร เพราะประชาชนในพื้นที่ยังสามารถใช้ถนนในการสัญจรได้ตามปกติ และเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการชุมนุมแบบสันติและปราศจากอาวุธโดยมีการแจ้งชุมนุมตามกฎหมาย ซึ่งคดีดังกล่าวนี้ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 30 มกราคม 2567
9. ใช้มาตรการทางศาลเพื่อคุกคามผู้เรียกร้องต่อสู้กรณีการคุกคามทางเพศ
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนบุคคลข้ามเพศ ได้โพสต์ข้อความร้องเรียนพฤติกรรมการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ โดยกล่าวหาว่า สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตวัฒนา กระทำการล่วงละเมิดทางเพศอดีตลูกจ้างหญิงข้ามเพศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวจนทำให้ ส.ก. ถูกตัดสิทธิจากพรรคให้ดำรงตำแหน่งในพรรคในฐานะสมาชิกและพรรคจะไม่มีการเสนอรายชื่อให้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองในสภากรุงเทพมหานครเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่คณะกรรมการวินัยและจรรณยาบรรณมีคำวินิจฉัย
ส.ก. คนดังกล่าวจึงได้ฟ้องหมิ่นประมาทนาดา ไชยจิตต์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนบุคคลข้ามเพศ เหตุที่ได้ร้องเรียนว่า ส.ก. คนดังกล่าวล่วงละเมิดทางเพศหญิงข้ามเพศอดีตลูกจ้างของ ส.ก. และศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 65 ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
จากกรณีเดียวกัน นาดา ไชยจิตต์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนบุคคลข้ามเพศ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และ กสม. ได้ออกหนังสือข้อเสนอแนะไปยังพรรคต้นสังกัดแล้วว่าเรื่องที่ถูกร้องเรียน เป็นสิ่งที่พรรคและ ส.ก. คนดังกล่าวควรดำเนินการแก้ไขรับผิดชอบ ดังนั้น ส.ก.จึงควรยุติการอุทธรณ์คดีอาญาและคดีแพ่งต่อผู้ร้องเรียนที่กำลังรอฟังการตัดสิน
กรณีนี้จึงเป็นการใช้มาตรการทางศาลเพื่อฟ้องปิดปากการคุกคามทางเพศต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนบุคคลข้ามเพศ
10 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก กรณีนักศึกษานักกิจกรรมปาตานี ถูกดำเนินคดีในข้อหาความมั่นคง หลังการจัดทำประชามติจำลอง
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินท์ วิทยาเขตปัตตานีได้จัดกิจกรรมเวทีวิชาการเพื่อเปิดพื้นที่การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของพื้นที่ชายแดนใต้ จัดให้มีการลงประชามติจำลองกับคำถามว่า “ คุณเห็นด้วยกับ “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย” กิจกรรมดังกล่าวได้มีการเชิญนักการเมืองและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมประชาชนผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมรับฟัง ต่อมาแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมนภาค 4 รับมอบอำนาจจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ (กอ.รมน.) เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ หรือ Pelajar Bangsa ,กลุ่มThe Patani , กลุ่มPatani Baru องค์การบริหารกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และ นักศึกษาสมาชิก Pelajar Bangsa เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฐาน "ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต" โดยให้การปฏิเสธในทุกข้อกล่าวหา
กรณีนี้จึงถือได้ว่าเป็นคดีการใช้สิทธิทางศาลเพื่อฟ้องปิดปากในลักษณะไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมสาธารณะ ซึ่งเวทีดังกล่าวเป็นการจัดกิจกรรมทางวิชาการที่ให้ประชาชน นักวิชาการ นักกิจกรรมทางการเมือง ประชาชนทั่วไปในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อการบริหารบ้านเมือง อย่างสันติ เป็นกิจกรรมนักศึกษาในมหาวิทยาลัย จึงถือได้ว่าการฟ้องคดีเช่นนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางความคิดของประชาชน
แถลง ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2566
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)