"...หลายคนคาดหมายว่า พรรคประชาธิปัตย์จะกลายเป็นพรรคต่ำสิบ เพราะได้กลุ่มผู้บริหาร ชุดใหม่ที่บารมีน่าจะยังไม่มากพอ ประกอบกับยึดวิธีโบราณ คือ เล่นงานกันเอง กับเน้นระบบอุปถัมภ์ในพื้นที่ บางคนเรียกว่า “ระบบใจถึงพึ่งได้” แต่บางคนฟันธงแล้วว่าไปไม่รอด บางคนบอกทางแก้ปัญหา คือ ช่วยกันลาออกจากประชาธิปัตย์ บางท่านเสนอว่า “รักยาวให้บั่น” ท่านคงหมายถึงหาทาง “ยุติข่าวลบ” โดยเร็วที่สุด!!..."
“ประชาธิปัตย์” ได้ฉายาว่า “แมลงสาบ” ปัจจุบันมีความหมายเชิงดูหมิ่นดูแคลน (insulting tone) แต่ที่จริงวันที่ 7 เมษายน 2545 การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำเสนอ คือ ศ.ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน ท่านพูดว่า
“การปฏิรูปการเมืองควรใช้ทฤษฎีแมลงสาบ ที่วิเคราะห์จากพฤติกรรมของแมลงสาบ คือ ปรับตัวเองได้ดี มีเรดาห์คือหนวดในการตรวจสอบสิ่งต่าง ๆ มีสมองและประสาทไว้คอยประสานงานกับส่วนต่าง ๆ มีขาหกขาไว้บินเวลาคับขัน เวลาวิ่งจะวิ่งเร็ว แต่วิ่งสั้น ๆ วิ่งไปแล้วหยุดแล้ววิ่งต่อ นอกจากนี้ยังมีจุดเด่น คือ การแพร่พันธุ์ได้รวดเร็วมาก จึงทำให้แมลงสาบอยู่มาได้เป็นพันล้านปี...”
อาจารย์กนก หมายถึง ความสามารถในการปรับตัวได้ดี จนอยู่มาได้นาน แต่คนเอาไปล้อว่าแมลงสาบเป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจ ตอนนี้ประชาธิปัตย์กำลังอยู่ในเวลาคับขัน ใคร ๆ ก็วิเคราะห์ว่าจะตกต่ำ บางคนบอกได้ ส.ส.เขต 25 คนกับปาร์ตี้ลิสต์ 3 คนนับว่าตกต่ำแล้ว แต่ต่อไปก็จะยิ่งตกต่ำกว่านี้อีก เพราะคนทยอยออก
แต่น่าทึ่งที่ “น้าชวน” ยืนหยัดอยู่กับพรรค และกล่าวว่าจะทำให้ดีที่สุด แล้วก็หวังว่าคนเก่าที่เก่ง ๆ จะกลับมาพรรคประชาธิปัตย์
กรอบการวิเคราะห์พรรคการเมืองที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือ การวิเคราะห์องค์การ ส่วนใหญ่วิเคราะห์อยู่ 7 ประเด็น ได้แก่ (1) คน (2) โครงสร้าง (3) ความรู้ (4) เทคโนโลยี (5) เป้าหมายหรือจุดยืน (6) สภาพแวดล้อม และ (7) กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ แต่ขอพูดรวม ๆ กันไป
หลายคนคาดหมายว่า พรรคประชาธิปัตย์จะกลายเป็นพรรคต่ำสิบ เพราะได้กลุ่มผู้บริหาร ชุดใหม่ที่บารมีน่าจะยังไม่มากพอ ประกอบกับยึดวิธีโบราณ คือ เล่นงานกันเอง กับเน้นระบบอุปถัมภ์ในพื้นที่ บางคนเรียกว่า “ระบบใจถึงพึ่งได้” แต่บางคนฟันธงแล้วว่าไปไม่รอด บางคนบอกทางแก้ปัญหา คือ ช่วยกันลาออกจากประชาธิปัตย์ บางท่านเสนอว่า “รักยาวให้บั่น” ท่านคงหมายถึงหาทาง “ยุติข่าวลบ” โดยเร็วที่สุด!!
ไฮเดกเกอร์ (Heidegger) สอนไว้ทำนองว่า “สัตว์ไม่สงสัยว่าตัวเองเกิดมาได้อย่างไร แต่มนุษย์คิดเกี่ยวกับการมีอยู่ของตัวเองโดยสัมพันธ์กับเวลาที่ตนมี คนเราทุกคนเป็นสิ่งที่มีอยู่ชั่วคราวตามสิ่งแวดล้อมของแต่ละคน เราจึงคิดถึงอนาคตแตกต่างกัน ขอบเขตการคิดของเราไปไกลที่สุดไม่เกิน “ความตาย” ดังนั้น การคิดของมนุษย์ที่ไกลไปจาก “ความตาย” จึงไม่ใช่การคิดถึงการมีอยู่ที่แท้จริงของตัวเอง คนเราใกล้ตายยิ่งไตร่ตรองถึงการกระทำของตัวเอง ตั้งแต่วันที่เราเริ่มคิดได้จนถึงวันเราตาย นั่นแหละ เป็นความจริงที่จริงมากที่สุดสำหรับตัวเรา”
ในการพิจารณาคดีของศาล คำพูดของคนใกล้ตายจึงมีน้ำหนักให้รับฟังมากที่สุด ทำนองเดียวกัน หากพรรคประชาธิปัตย์กำลังจะล่มสลายจริงๆ คนในพรรคประชาธิปัตย์จะไม่คิดไตร่ตรองอะไรเชียวหรือ?
ประเด็นแรก จุดยืนพรรค
ปัจจุบันพรรคการเมืองไทยมีจุดยืนตามรูปนี้
พรรคที่อยู่ข้างซ้าย ได้แก่ พรรคก้าวไกล กับพรรคเพื่อไทย
พรรคที่อยู่ข้างขวา ได้แก่ พรรคพระพุทธเจ้า พรรคหมอวรงค์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย
นอกนั้นยังมีพรรค Niche คือ พรรคที่มุ่งลูกค้าเฉพาะ แต่มีฐานแคบ ได้แก่ พรรคท้องถิ่นไทย พรรคท้องที่ไทย พรรคครูไทย กับพรรคทวงคืนผืนป่า
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ตรงกลางตลอด ยึดเสรีประชาธิปไตย แต่ไม่ยอมระบุว่าเสรีแบบซ้ายหรือแบบขวา หรือเป็นทางเลือกที่สาม (the third way) ทางปฏิบัติจะเอียงขวามากกว่าซ้าย เคยมีคนเสนอให้ไปทางซ้ายบ้าง คือ สนใจสวัสดิการสังคมบ้าง แต่โดนค้าน --คนเสนอบางคน เช่น น้องไอติม ตอนนี้ออกจากพรรคไปได้ดีที่อื่นแล้ว
ที่ผ่านมา พรรคข้างซ้ายได้เสียงมากที่สุด คือ ก้าวไกลกับเพื่อไทย ตามลำดับ พรรคข้างซ้ายนี้มีข้อเด่นทางจุดยืนอยู่ 2 จุด ได้แก่ (1) เสรีภาพ กับ (2) สวัสดิการสังคม พรรคก้าวไกลมีจุดยืนเรื่องเสรีภาพกับสวัสดิการสังคมเป็นระบบกว่าเพื่อไทยที่เน้นการโฆษณาสร้างความหวือหวาตามแนว ประชานิยม
อันที่จริง การเมืองไทยมองไม่ยาก เพราะหากโฟกัสไปที่การเลือกตั้ง มีปัจจัยหลัก ๆ เพียง 2 ปัจจัย คือ “กระแส” กับ “กระสุน” เราจะเห็นภาพการเมืองไทยชัดขึ้น ดังนี้
1. ก้าวไกล = กระแสขึ้นสูงปรี๊ด+กระสุนแทบไม่ได้ใช้สำหรับการยิงตรง อาจมีเฉพาะยิงอ้อม คือ การโฆษณากับรถแห่
2. เพื่อไทย = กระแสมีพอประมาณ+กระสุนระดับหมื่นนัด
3. ภูมิใจไทย+พลังประชารัฐ + รวมไทยสร้างชาติ = กระแสเบาบาง+กระสุนระดับหมื่นนัด
4. ประชาธิปัตย์ = กระแสไม่มีเลย+กระสุนจำกัดระดับพันนัด
5. พรรคหมอวรงค์ = กระแสไม่มีเลย+กระสุนก็ไม่มีด้วย—ใช้ “วาทะ” อย่างไร กระแสก็ยังไม่มา
ในประเด็นแรกนี้ ประชาธิปัตย์ไม่คิดจะปรับมาสนใจ “เสรีภาพ” กับ “สวัสดิการสังคม” บ้างเลยหรือ? พี่นิพิฏฐ์ แห่งเมืองลุง คนที่เคยคัดค้านการเพิ่มสวัสดิการสังคม แกก็ออกไปได้ดีที่ใหม่แล้ว
ประเด็นที่สอง งัดวิชาแมลงสาบมาใช้
ไหน ๆ พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ฉายาว่า “แมลงสาบ” (ปรับตัวเก่ง) แล้ว หากเอาวิชาแมลงสาบของอาจารย์กนกมาใช้ตอนนี้ อาจเกิดผลดีก็ได้
การได้ผู้บริหารพรรคชุดใหม่มีข้อดีข้อใหญ่ คือ การลดอิทธิพลของน้าชวนและคนเก่าแก่ของพรรคลง ผลที่ตามมา ได้แก่
(1) เส้นทางความเจริญก้าวหน้าของคนในพรรคไม่ได้ติดกับระบบอาวุโสแบบเมื่อก่อน ที่ต้องเสียเวลารอคิวกันยาวเหยียดเพราะยึดระบบอาวุโสเข้มข้นเกิน ไม่มีระบบฟาสต์แทร็คให้คนวิ่งขึ้นสู่ตำแหน่งการเมืองเร็วขึ้น
ความจริง พรรคการเมืองก็คือกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน จึงไม่ใช่ ผู้อาวุโส “กินรวบ” สมาชิกพรรควัยละอ่อนมีฝีมือก็อยากเป็นผู้บริหารพรรค ผู้บริหารพรรคก็อยากเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรี ตำแหน่งข้างบนลีบและตีบตันเท่าใด ข้างล่างก็ขยับไม่ได้เท่านั้น
สาเหตุหลักที่พรรคการเมืองไทยแตกกันเป็นกลุ่มเป็นก๊วนมาก เพราะต้องอาศัยกลุ่มก๊วนต่อรองเอาตำแหน่ง อันนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่การแตกกันเป็นกลุ่มก๊วนของประชาธิปัตย์สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมาระบบพรรคผิดพลาดที่เลือกใช้ “ระบบปิด” ไม่เปิดกว้างเพียงพอ –แต่ที่แน่ ๆ ไม่ใช่ “สันดานประชาธิปัตย์” อย่างคนใส่ร้าย เพราะพอเขาไปอยู่ที่ใหม่ ระบบเปิดกว้างกว่า เขาก็อยู่ได้ดี มีความสุข เนื่องจากได้รับโอกาสให้แสดงบทบาทตามเหตุผลของเขาเอง
(2) มีอิสระมากขึ้น ใครอยากพูดอะไรก็ได้พูด ไม่ต้องชะเง้อมองว่าน้าชวนแกจะยกไม้เรียวหรือเปล่า? แน่นอนว่า สิ่งที่ตามมา คือ การเกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
(3) วิธีการของน้าชวนอาจล้าสมัย พรรคไม่จำเป็นต้องอาศัยบารมีของบุคคลเหมือนเมื่อก่อน การปลุกเร้าความรู้สึกของคนทำด้วยวิธีการสมัยใหม่ เช่น ทีมงานโฆษณาผ่านเฟสบุ๊ค หรือสื่อสารออนไลน์
(4) พรรคสามารถระดมทุนได้เป็นเรื่องเป็นราวและสามารถจัดองค์กรพรรคใหม่ได้ คติน้าชวนที่ว่า “ไม่เคยเลี้ยงกาแฟใคร” อาจใช้ไม่ได้ในยุคนี้
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเอาเงินไปซื้อเสียง ทว่ากิจกรรมพรรคสมัยใหม่ก็ต้องใช้เงิน เช่น การมีผู้อำนวยการพรรคที่มีความรู้ทางการเมือง นักวางแผนการเมือง นักวิเคราะห์นโยบายการเมือง แล้วที่สำคัญ คือ การจัดระบบข้อมูลข่าวสารแบบใหม่ที่ใช้ได้ตรงประเด็นและทันสมัย กับนักเทคโนโลยี อาจต้องมีเงินเดือนเป็นกิจจะลักษณะ เปลี่ยนงานบริหารพรรคการเมืองเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่ใช้วิธีทำงานชั่วคราวตามสไตล์ประชาธิปัตย์ ที่คนพูดกันว่า “ตังเม” เรียกพี่!!
(5) เมื่อระบบพรรคเปิดกว้าง การคิดนวัตกรรมก็ตามมา ไม่เป็นแบบทุกวันนี้ที่มีทั้งสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์อื่น แต่ไม่มีคอนเท้นต์ คือ ไม่รู้จะเอาอะไรไปประชาสัมพันธ์
(6) พรรคประชาธิปัตย์ อาจต้องเปลี่ยนแท็คติกการเล่นฟุตบอลแบบอุดประตู เป็นรุกเร็ว-กองหน้าคม มากขึ้น เมื่อก่อนอาศัยวิชา “ตีกิน” หรือ “ตอดกิน” อาศัยการย้อนคำพูดของคนอื่นให้เจ็บ ๆ แสบ ๆ เรียกคะแนน แต่ไม่ค่อยครีเอทอะไรใหม่ ๆ คงต้องเปลี่ยนวิธีเล่น เพราะมีตัวรุกดี ๆ หลายคน เช่น ดร.เอ้ ฝีเท้าไม่เบาเหมือนกัน!!
ประเด็นอยู่ที่กลุ่มผู้บริหารชุดใหม่ (1) ใจใหญ่ใจกว้างหรือเปล่า? (2) มีความรู้พื้นฐานพอที่จะรับฟังความคิดเห็นในเชิงวิชาการ หรือชอบฟังหรือเปล่า? (3) เปิดโอกาสให้ตัวรุกเร็วได้บอลมากขึ้นหรือเปล่า?? แต่ถ้าคิดเหมือน “น้าบรรหาร” ว่า “เป็นพรรคฝ่ายค้านอดอยากปากแห้ง” ก็จบกัน!! นอกจากนั้น อย่าทำตามที่น้าชวนเตือนว่า “ห้ามเอาพรรคประชาธิปัตย์ไปต่อรองเอาตำแหน่งหรือผลประโยชน์” สิ่งที่คนเป็นห่วงมาก ได้แก่ ความซื่อสัตย์และอุดมการณ์
กลุ่มผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่มีอะไรให้น่าห่วง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงจากพรรคอุดมการณ์ซึ่งไม่ค่อยชัดเจนอยู่แล้ว ไปเป็นการประกอบการทางการเมือง (political entrepreneurs) คำนี้เกิดจากนักธุรกิจมาลงทุนให้พรรคการเมือง เสร็จแล้วนักธุรกิจก็ได้ตำแหน่งตอบแทน ตอนแรกได้นิด ๆ หน่อย ๆ นักธุรกิจก็พอใจ ตอนหลังนักธุรกิจเข้ามายึดพรรค กลายเป็นพรรคผู้ประกอบการ (entrepreneurial parties) ซึ่งโฟกัสไปที่ผลประโยชน์ของกลุ่มทุนอย่างเดียว
ประเด็นที่สาม ฐานเสียง
ฐานเสียงสมัยนี้ต่างไปจากสมัยก่อน คนสมัยก่อนเคยเลือกประชาธิปัตย์อย่างไร ก็จะเลือกประชาธิปัตย์ไปเรื่อย ๆ กลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปัตย์
แต่สมัยนี้วัฒนธรรมดังกล่าวหายไป ฐานเสียงสมัยปัจจุบันมีแค่ 2 ประเภท ประเภทหนึ่ง คือ เครือข่ายระบบอุปถัมภ์สมัยใหม่ ซึ่งผูกพันด้วยผลประโยชน์เฉพาะหน้าและเงินทองที่มัดจำ—มัดใจกัน มากกว่าวัฒนธรรมการเมือง
อีกประเภทหนึ่ง คือ ฐานเสียงคุณภาพ เช่น กรณีพรรคก้าวไกล ใช้อาจารย์กับนักศึกษาเป็น ฐานเสียง ซึ่งเป็นฐานเสียงธรรมชาติ หมายถึงเป็นไปโดยความสมัครใจ เพราะมีความคิดก้าวหน้าเหมือนกัน ทุกวันนี้ขยายออกไปสู่เมืองใหญ่ และเมืองรองไปเรื่อย ๆ
ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ของการเมืองไทย เพราะการที่จะพัฒนาฐานเสียงคุณภาพได้นั้น พรรคต้องมีความคิดก้าวหน้าและตามความคิดของคนหนุ่มสาวทัน แต่พรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่ยังขาดพื้นฐานความคิดทางด้านสิทธิเสรีภาพ สวัสดิการสังคม และมีความคิดอนุรักษ์นิยมเกินไป คำถามจึงมีว่า “เมื่อได้ผู้บริหารชุดใหม่แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ได้คนก้าวหน้ามาบ้างหรือยัง?”
ประเด็นที่สี่ การคัดคนเข้าพรรค
กระบวนการคัดคนเข้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าผิดพลาด ปัญหาส่วนหนึ่งที่พรรคต้องแก้ไข มีสาเหตุมาจากการได้คนไม่ได้มาตรฐานในระดับที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกันพรรค ขาดมาตรฐานการคัดคน กระบวนการคัดคนยังใช้ความใกล้ชิดสนิทสนมเป็นหลัก
กลุ่มผู้บริหารชุดใหม่ ยิ่งน่าเป็นห่วง มีภาพพจน์ทำนอง “เขาใช้ระบบพวกพ้อง เราก็ใช้” หรือ “เขาผูกขาดอำนาจ เราก็ใช้”--อันนี้อันตราย “คุณภาพ” ความเป็นประชาธิปัตย์ไม่ดีขึ้น ปัญหาที่กำลังเกิดกับประชาธิปัตย์ นอกจาก “สมองไหล” แล้ว ยังไม่มีคนมีโปรไฟล์ดี ๆ เข้ามา ส่วนคนมาแทนเป็น “ท่านผู้กว้างขวาง” เสียส่วนมาก พรรคประชาธิปัตย์กำลังวางน้ำหนักไปทางบทบาท “ใจใหญ่ใจนักเลง”
ประการที่ห้า ความเข้าผิดเรื่องความเป็นสถาบัน
ความตกต่ำของพรรคประชาธิปัตย์ อาจทำให้คนหูตาสว่าง!! ประชาธิปัตย์เข้าใจผิดมาตลอดว่าพรรคตัวเองเก่าแก่ที่สุด จึงเป็นสถาบันการเมืองมากที่สุด แต่ที่ถูก “เวลาที่อยู่มานาน” แม้เป็นดัชนี ชี้วัดความเป็นสถาบันการเมืองตัวหนึ่งก็จริง แต่ตัวชี้วัดที่สำคัญกว่า คือ การยอมรับของสังคม
นักรัฐศาสตร์ชอบยกตัวอย่างศาลสูงสหรัฐอเมริกา คนอเมริกันยอมรับนับถือศาลสูงว่าซื่อสัตย์และเที่ยงธรรม พิพากษาอะไรออกมามีเหตุมีผล ตรงใจประชาชน ฉะนั้น จึงชอบเปรียบเปรยว่า หากศาลสูงสหรัฐอเมริกาไปตั้งเต้นท์ตัดสินคดี คนอเมริกันก็ยอมรับอยู่ดี ความเป็นสถาบันของเขาจึงสูงมาก เพราะความเป็นสถาบันนอกจากตึกหรือออฟฟิชแล้ว ยังหมายถึงแบบแผนของการกระทำที่คนยอมรับกัน ซึ่งสำคัญกว่าตัวโครงสร้างทางกายภาพ
ในอดีตความเป็นสถาบันของพรรคประชาธิปัตย์อยู่ที่คนใต้ยอมรับว่าพรรคเป็นเสาหลักของสังคม ครั้งหนึ่งเคยเปรียบว่า “พรรคประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้ามาลง คนใต้ก็เลือก” ในทางกลับกัน การที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ผู้แทนภาคใต้ลดลง สะท้อนว่าคนใต้ยอมรับลดลง เท่ากับความเป็นสถาบันของพรรคประชาธิปัตย์ลดลง
เวลานี้จึงต้องมาใคร่ครวญ เมื่อก่อนประชาธิปัตย์มีอะไรดี คนถึงยอมรับ ทำไมวัฒนธรรมทางการเมือง เช่น การอภิปรายมัน ๆ หรือความรักในพื้นที่ หรือท้องถิ่นนิยม หรือว่า “ผลงานที่เคยเข้าตา”—มันหายไปไหน?? ปัจจุบันมีการตัดสินใจเป็นชนวนเหตุหรือไม่ เช่น การที่คนประชาธิปัตย์แยกไปตั้งกลุ่ม กปปส. ล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และไม่ให้จัดการเลือกตั้ง --หรือการตัดสินใจเข้าข้างรัฐบาลน้าตู่ที่มาจากการรัฐประหาร –หรือการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลน้าตู่—หรือประชาธิปัตย์ไม่มีผลงานที่ชัดและวัดได้ –หรือประชาธิปัตย์เองก็คิดไม่ต่างจากพรรคที่ตัวเองเคยด่า เช่น ถ้าเป็นแล้วก็อย่าเสียเที่ยว ต้องรู้จักเก็บออม!! หรือว่าประชาธิปัตย์ชอบเล่นเกมหลายหน้า --คนนี้แบ่งเข้าร่วมรัฐบาลน้าตู่ คนโน้นแบ่งออกไปไม่ต้องเข้าร่วม หรือแม้แต่ปัจจุบันพรรคบอกเป็นฝ่ายค้าน แต่บางคนโหวตให้ “เศรษฐา” ลักษณะความเอาแน่เอานอนไม่ได้ หรือการกระทำที่ไม่ต่างจากคนที่ประชาธิปัตย์เคยด่าเขาไว้ น่าจะเป็นเหตุให้คนใต้ลังเลใจ ส่วนคนกรุงเทพฯ พูดเป็นเสียงเดียวว่า “ประชาธิปัตย์—เปี๊ยนไป๋!!”
ประการที่หก ภูมิทัศน์การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงจากการเกิดความแตกแยกทางสังคม การสิ้นสุดอุดมการณ์และการเกิดการเมืองยุคหลังความจริง
ประเด็นนี้ใหญ่มาก ระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมาการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงอย่างสลับซับซ้อนจากปัจจัยสามประการ ได้แก่ (1) ความแตกแยกทางสังคม (social cleavages) (2) การสิ้นสุดอุดมการณ์ (the end of ideology) และ (3) การเมืองยุคหลังความจริง (the post-truth politics)
ทั้งหมดมีปัจจัยกระตุ้น (the triggering factor) จากนโยบายประชานิยม (populist policy) ที่ทักษิณนำมาใช้ครองใจคนจนได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย จนทำท่าว่าจะครองอำนาจนำอย่างเบ็ดเสร็จ ต่อมา ทักษิณขัดแย้งกับสนธิ ลิ้มทองกุล จึงเกิดขบวนการเสื้อเหลืองต่อต้านทักษิณ จนเกิดรัฐประหารนำโดยน้าสนธิ บุญยรัตกลิน ข้ามไปสมัยอภิสิทธิ์เกิดขบวน “เสื้อแดง” ต่อต้าน ข้ามมาอีกถึงยุคยิ่งลักษณ์ เกิดการปะทะกันระหว่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์กับ “ขบวนการ กปปส.” จน “น้าตู่” เข้ามายึดอำนาจโดยการรัฐประหารเป็นคำรบสองในรอบสิบปี
ความแตกแยกนี้สลับซับซ้อนมาก คำว่า “ประชาธิปัตย์” ตรงแปลว่า “ผู้สนับสนุนประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นการปกครองโดยประชาชน กลับต่อต้านการเลือกตั้งสมัยยิ่งลักษณ์ แถมยังไปเข้ากับน้าตู่ที่มาจากการรัฐประหาร ทุกวันนี้เป็นยุคสืบทอดทักษิณ แต่พลังประชารัฐกับรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งสืบทอดมาจากน้าตู่และน้าปุ้มปุ้ย กลับเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ข้างเพื่อไทยอ้างว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” แต่ไม่ยืนหยัดกับ “ก้าวไกล” ที่ได้เสียงข้างมากที่สุด และหันไปรวมกับพรรคสืบทอดเผด็จการที่ตนเคยด่าไว้ เพื่อเอาทักษิณ “ปิ๊กบ้าน” สรุปแล้วไม่มีใครมีอุดมการณ์มั่นคง ล้วนเน้นยุทธวิธีซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์
ฝรั่งวิเคราะห์ว่า “น้าตู่” มีสองภาค ภาคแรกเป็น hard power ใช้อำนาจ คสช. ภาคที่สอง เป็น soft power ใช้อำนาจการเลือกตั้ง
ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา สังคมไทยเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่สับสน ไม่มีใครสนใจว่าความจริง ภววิสัย (objective truth) จะเป็นอย่างไร แต่มุ่งเอาความจริงไปรับใช้เป้าหมายของการปลุกกระแสเร้าอารมณ์คน บางทีก็จริงทั้งหมด บางทีก็ไม่จริงเลย หรือบางทีก็จริงบางส่วน การเมืองทุกค่ายต่างฝ่ายต่าง “ปั่นกระแส” มุ่งสร้างความนิยมให้ตัวเอง สาเหตุที่ปั่นกันมาก เป็นเพราะความเจริญเติบโตทางเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์สารพัดชนิด
การปลุกเร้าอารมณ์ทางการเมืองของไทย เกิดก่อนสมัยทรัมป์ในสหรัฐอเมริกาเสียอีก ตามตำราทรัมป์ได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับของการนำความจริงครึ่งเดียวมาพูดปลุกเร้าทางการเมืองตอนเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อปี 2016 หรือ พ.ศ. 2559 ต่อมา คนอเมริกันพบว่าทรัมป์ชอบใช้การโกหกคำโต แต่ของไทยการปลุกเร้ากลุ่มทางการเมืองและใช้ความจริงบ้างไม่จริงบ้างมีมาตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2544-2549 เป็นต้นมา อันเป็นช่วงที่วอยซ์ทีวี เอเอสทีวี และบลูสกายทีวี แข่งกันสื่อสารครอบงำสังคม ต่อมายุคหลัง พ.ศ. 2561-2563 พรรคอนาคตใหม่ของธนาธรกลับเหนือชั้นกว่าอีก ใช้สื่อออนไลน์สมัยใหม่สร้างกระแสความนิยม กับทั้งประสานกับวอยซ์ทีวีและครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน พ.ศ. 2566 เศรษฐากับอุ๊งอิ๊งก็ย้อนรอยใช้วิธีสร้างกระแสความนิยมผ่านสื่อออนไลน์เหมือนธนาธร แต่เน้นคอนเท้นต์ตลาดล่าง!!
ขณะที่ค่ายอื่นใช้สื่อออนไลน์แข็งแกร่งและได้ผล แต่ประชาธิปัตย์กลับอ่อนกำลัง ปัญหาที่เกิดกับประชาธิปัตย์ คือ มีสื่อในมือครบครัน แต่ไม่มีคอนเท้นต์!! สะท้อนว่าไม่มีคนดูแลจริงจังหรือไม่ก็คนดูแลไม่เอาอ่าว!!
ประการที่เจ็ด การเมืองของการใช้เงิน (Money Politics)
การเมืองของการใช้เงิน (Money Politics) เป็นภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่ที่มีสเกลใหญ่กว่าสมัยที่ผ่านมามากนัก ยุคก่อน ๆ ยังใช้กันเฉพาะบางพรรค บางพรรคยืนหยัดกับการไม่ใช้เงิน เช่น ประชาธิปัตย์ แต่ยุคปัจจุบันใช้กันหมด ยกเว้นก้าวไกล
ยุคน้าตู่ก๊อกสอง จำเป็นต้องเปิดให้เลือกตั้งทั่วไป เพราะต้องการเปลี่ยน hard power เป็น soft power แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าหากน้าตู่ไม่ชนะก็ไม่สามารถกลับไปใช้ hard power ได้ จึงเป็นไฟท์บังคับที่น้าตู่กับพรรคพวกต้องช่วยกันทุกวิถีทาง อีกทั้งได้เตรียมกลไก สว. กับองค์กรอิสระไว้ล่วงหน้าแล้ว
การเลือกตั้งยุค soft power ของน้าตู่ ปี 2562 จึงเป็นยุคเริ่มต้น “Big Money in Politics” ในประเทศไทย โดยที่องค์กรอิสระไม่ฟังก์ชั่นเท่าใดนัก มันไม่ใช่ “ม่านสีม่วง” อย่างที่น้าชวนเคยเผชิญ แต่คราวนี้เป็น “สีเทาทึม ๆ” กองเท่าภูเขาเลากา ว่าด้วยกระสุนเป็นหมื่น ๆ นัด
ยิ่งน้าตู่กับน้าปุ้มปุ้ยแตกกันเอง ต่างหาแหล่งทุน คนใกล้ชิดน้าตู่กับน้าปุ้มปุ้ยก็แข่งกันเสนอตัวเป็น “ผู้จัดการกองทุนหลักทรัพย์” เพราะอาจได้ “สิทธิพิเศษ” จากการเข้าถึงกองทุน แต่ “นายทุน” ปวดตับรุนแรง ไม่รู้จะลงหุ้นเท่าใดและแบ่งลงให้แต่ละฝ่ายเท่าใด??
ข้างประชาธิปัตย์ เมื่อพรรคอื่นเขาว่ากันด้วยกระสุนหมื่นนัด แต่ประชาธิปัตย์มีจำกัดจำเขี่ยระดับพัน แค่เจือจานลูกพรรคก็ได้ไม่ครบคน ทุกคนรู้แก่ใจว่าไม่อาจเข้าสู่สนาม Big Money กับเขาได้เต็มกำลัง
เงินจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาธิปัตย์เปลี่ยนแปลง เพราะใคร ๆ เขาก็ใช้กัน-- “ผู้จัดการกองทุนหลักทรัพย์” กลายเป็นคนใหม่ที่ใคร ๆ ก็เห็นความสำคัญ ดังที่น้าชวนโอดครวญ!!
ประการที่แปด ประการสุดท้าย ประชาธิปัตย์ยุคใหม่จะเอาอะไรไปขาย?
ปัญหาใหญ่ที่สุดของประชาธิปัตย์ยุคใหม่ คือ ประชาธิปัตย์จะเอาอะไรไปขาย สมัยน้าควง เอาการต่อสู้กับเผด็จการไปขาย สมัยน้าชวนเอาการยึดหลักการกฎหมายและวาทศิลป์ไปขาย สมัยอภิสิทธิ์เอาความรูปหล่อ การเป็นนักเรียนนอกและการมีวิสัยทัศน์ ปฏิภาณไหวพริบไปขาย
ประชาธิปัตย์ชุดใหม่จะขายอะไรดี? ความเป็นพรรคพวก ใจถึงพึ่งได้ หรือพูดคำไหนเป็นคำนั้น?
ถามต่อว่าจะสู้ด้วย “กระสุน” อย่างเดียวหรือจะเอา “กระแส” ด้วย จะขยายตลาดการเมืองออกไปให้กว้างกว่าที่ผ่านมาไหม? เตรียมทีมไว้แล้วหรือยัง? หรือมีทีเด็ดแล้ว แต่ยัง ไม่เปิดเผย—กะเซอร์ไพร้ส์ทีเดียว!!
สุดท้าย หากขายกระแสไม่ได้ แถมยิงจนกระสุนหมดคลัง แล้วถากรักแร้ศัตรู แฉลบออกข้างหมด จะทำยังไง --ปิดบริษัทดีไหม? แล้วใครจะชำระหนี้คงค้าง -–ยังไงก็อย่าให้ถึงมือน้าชวน...เสียงนุ่ม ๆ ของแกมันบาดใจเหลือเกิ้น...!!!