"...แต่แล้วเหมือนฟ้าลิขิต ในช่วงปลายปี 2532 พี่นพมาศได้เรียกผมไปสัมภาษณ์พร้อมทาบทามให้เป็นบุคลากร 1 ใน 3 ชุดบุกเบิก พาแบงก์ชาติไปปักหลักที่นครนิวยอร์ก ซึ่งภายหลังพี่นพมาศได้เปิดเผยว่า “อยากให้มีผู้ชายไปด้วย เห็นบุคลิกคล่องแคล่วและน่าจะเรียนรู้ได้เร็ว” จากวันนั้นทุกอย่างเปลี่ยนไป ต้องสวมบทใหม่จากนักวิเคราะห์มาเป็นนักจัดการ ช่วยเตรียมการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ พร้อม ๆ กับได้สัมผัสกลิ่นอายของการบริหารเงินสำรอง นำตำราการลงทุนในพันธบัตรมาอ่านพร้อมรื้อฟื้นความจำจากที่ได้ร่ำเรียนมา..."
ภายหลังที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้แบงก์ชาติจัดตั้งสำนักงาน นครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2532 ทีมงานประกอบด้วย พี่นพมาศ มโนลีหกุล พี่ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ และพี่สุภาวดี ปุณศรี ได้เตรียมการต่าง ๆ ตั้งแต่การยื่นขอใบอนุญาตจากธนาคารกลางสหรัฐ หาสถานที่ตั้งสำนักงานฯ ไปจนถึงการขออนุมัติภายในที่เกี่ยวข้อง ของบประมาณ รวมทั้งผู้ที่จะไปปฏิบัติงานที่สำนักงานฯ
ในช่วงเวลานั้น ผมเพิ่งเข้ามาทำงานที่แบงก์ชาติ ในตำแหน่งผู้วิเคราะห์ผู้ช่วย หน่วยวิเคราะห์ ฝ่ายการธนาคาร หน้าที่สำคัญคือจัดทำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสำคัญเพื่อให้ผู้บริหารนำไปกำหนดค่าเงินบาทในแต่ละวัน รวมทั้งเขียนรายงานภาวะตลาดเงินประจำสัปดาห์ เรียกว่ายังอยู่ในช่วงการเรียนรู้ตลาดทางการเงิน และบทบาทของแบงก์ชาติ โดยยังไม่เคยรับรู้ถึงการดำเนินการจัดตั้งสำนักงานฯ
แต่แล้วเหมือนฟ้าลิขิต ในช่วงปลายปี 2532 พี่นพมาศได้เรียกผมไปสัมภาษณ์พร้อมทาบทามให้เป็นบุคลากร 1 ใน 3 ชุดบุกเบิก พาแบงก์ชาติไปปักหลักที่นครนิวยอร์ก ซึ่งภายหลังพี่นพมาศได้เปิดเผยว่า “อยากให้มีผู้ชายไปด้วย เห็นบุคลิกคล่องแคล่วและน่าจะเรียนรู้ได้เร็ว” จากวันนั้นทุกอย่างเปลี่ยนไป ต้องสวมบทใหม่จากนักวิเคราะห์มาเป็นนักจัดการ ช่วยเตรียมการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ พร้อม ๆ กับได้สัมผัสกลิ่นอายของการบริหารเงินสำรอง นำตำราการลงทุนในพันธบัตรมาอ่านพร้อมรื้อฟื้นความจำจากที่ได้ร่ำเรียนมา
การดำเนินการทำไปพร้อมกันในหลายเรื่อง บางวันต้องรอติดต่อกันทางโทรศัพท์ในช่วงกลางคืน หรือบางครั้งส่งเป็นหนังสือเพื่อรอคำตอบ แต่จุดที่เห็นว่าสำนักงานฯ น่าจะใกล้คลอดแล้ว คือการตัดสินใจเช่าชั้น 17 ตึกธนาคาร Security Pacific บนถนน 52nd ซึ่งอยู่กลางเมือง พี่นพมาศให้สัมภาษณ์ว่า“นายหน้าพาพี่ไปวิ่งขึ้นลงตึกโน้นตึกนี้ ตัดสินใจว่าระหว่างอยู่ down town แถว Wall Street ใกล้ศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งสิงคโปร์อยู่ที่นั่น ออสเตรเลียอยู่ที่นั่น เราตัดสินใจไม่เลือก down town เพราะไปเดินดูแล้วที่คับแคบ สองลมแรงมาก หน้าหนาวหนาวเยือกเลยถ้าอยู่พนักงานน่าจะลำบาก เลือกอยู่กลางเมืองใกล้สถานีรถไฟ Grand Station เวลาไปไหนมาไหนจะได้สะดวก….”1/
พี่นพมาศออกเดินทางไปเตรียมการก่อน ในขณะที่ผมติดตามไปในช่วงเดือนมีนาคม 2533 จำได้ว่าตื่นเต้นเล็กน้อย เพราะแม้เคยใช้ชีวิตในสหรัฐมากว่า 8 ปี แต่อาศัยอยู่ในเมืองมหาวิทยาลัยแถบ Midwest แบบชนบท การมาอยู่ในมหานครนิวยอร์ก เมืองที่มีแต่ตึกสูงระฟ้า แถมมีกิตติศัพท์ในเรื่องความปลอดภัย ทำให้ใจระทึก ไปถึงสนามบินยังนั่งรถเแท็กซี่ป้ายดำเข้าเมือง ซึ่งมารู้ตอนหลังว่า “ช่างกล้า” ช่วงแรกต้องอาศัยอยู่เซอร์วิส อะพาร์ตเมนต์ชั่วคราวก่อนจะหาอะพาร์ตเมนต์ได้แถวถนน 32nd ที่นั่งรถไฟใต้ดิน 3 ป้ายถึงสำนักงานฯ แต่นึกไม่ออกจนถึงวันนี้ ว่าทำไมถึงไปเช่าอะพาร์ตเมนต์แบบไม่มีเฟอร์นิเจอร์ เพราะเป็นภาระที่ต้องหาซื้อตั้งแต่เตียงนอน โซฟา ไปถึงเครื่องครัว (ไม่นับรวมต้องจำหน่ายจ่ายออกตอนกลับกรุงเทพฯ)
ช่วงแรกที่สำนักงานฯ ยังอยู่ระหว่างการตกแต่ง ผมได้มีโอกาสไปฝึกงานที่บริษัท Aubrey Lanston บริษัทนายหน้าขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งตั้งอยู่ที่ Wall Street ผมเริ่มทำตัวเนียนเป็นนักการเงิน ใส่สูท ผูกเนคไท สวมเสื้อโค้ท ขึ้นรถไฟใต้ดินเบียดเสียดนั่งร่วมกับนายธนาคาร ที่ต่างคนต่างก้มหน้าเดิน พร้อมเลี้ยวเข้าตึกธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ก่อนเวลาตลาดเปิด เรียกว่าบนท้องถนนจะเงียบกริบหลังจากตลาดเปิด
การฝึกงานที่บริษัทดังกล่าว ไม่ได้ไปซื้อขายพันธบัตรจริง ๆ ได้เพียงแต่นั่งอยู่ข้าง ๆ นักค้า (Dealers) ที่คอยจ้องอยู่หน้าจอดูราคาพันธบัตรวิ่งขึ้นวิ่งลง พร้อมรับคำสั่งวุ่นวายตลอดวัน พอ Dealers มีเวลาว่างจะหันมาสอนเราว่าเขาซื้อขาย หรือมีวิทยายุทธ์อะไร ฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ในขณะที่บริษัทมีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อ David Jones ที่เขียนตำราเรื่องการดำเนินนโยบายทางการเงินผ่านทางตลาดการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Open Market Operation) ทำให้ได้เรียนรู้ว่าในแต่ละวันธนาคารกลางเข้ามาดูแลสภาพคล่องในระบบอย่างไร และที่สำคัญที่สุดมีผลต่อราคาหลักทรัพย์โดยเฉพาะพันธบัตรอย่างไรบ้าง
งานเจิมป้ายสำนักงาน นครนิวยอร์ก มีท่านทูตนิตย์ พิบูลสงคราม เป็นประธาน
จากซ้าย: พี่ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ พี่นพมาศ มโนลีหกุล ผม และท่านทูตนิตย์
นอกจากได้ไปฝึกงานที่บริษัทดังกล่าวแล้ว ยังได้มีโอกาสเข้าไปในห้องค้าของตลาดหลักทรัพย์ New York Stock Exchange และห้องค้าของบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่ห้อง Dealing Room กว้างใหญ่ ทั้งชั้นเต็มไปด้วยจอค้าหลักทรัพย์ เสียง Dealers ที่พูดคุยกับคู่ค้าและลูกค้าดังกึกก้องไปทั่วห้อง เรียกว่าตื่นตาตื่นใจ และทำให้เห็นถึงการบริหารจัดการ การตัดสินใจ และบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งไม่แปลกใจว่าทำไมนิวยอร์กจึงกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก
ภายหลังที่สำนักงานฯ ตกแต่งแล้วเสร็จพร้อมการเปิดสำนักงานฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2533 โดยมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด พวกเรา 3 คน ประกอบไปด้วย พี่นพมาศ มโนลีหกุล เป็นหัวหน้าสำนักงานฯ พี่ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้ช่วยสำนักงานฯ และผมเป็นเจ้าหน้าที่ลงทุน ได้เข้าไปทำงานในสำนักงานฯ อย่างเป็นทางการ แม้พี่นพมาศจะมีห้องทำงานส่วนตัว แต่เลือกเข้ามานั่งในห้อง Dealing Room กับพวกเรา สำนักงานฯ ได้รับจัดสรรวงเงินมาก้อนหนึ่งที่จะนำไปลงทุนในตั๋วเงินคลังและพันธบัตรสหรัฐ แม้การทำธุรกรรมต่อรายการโดยเฉลี่ย 5 ล้านดอลลาร์ สรอ. แต่สามารถดึงดูดธนาคารคู่ค้าพอสมควรกับการเป็นธนาคารกลางรายล่าสุดที่มาเปิดสำนักงานฯ
สภาพห้องทำงานในสำนักงาน นครนิวยอร์ก
ผมได้มีโอกาสเรียนรู้ โดยเฉพาะการบริหารเงินสำรองได้มากขึ้น แต่งานที่มาคู่ขนานกันคือการจัดการทุกอย่างให้ลงตัว ทั้งการหาที่อยู่แบบถาวรให้กับหัวหน้าและผู้ช่วยหัวหน้าในรุ่นต่อไป รวมทั้งการจัดให้มีอุปกรณ์ให้ครบครัน ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าได้เรียนรู้หมด นำแบงก์ชาติมาย่นย่อไว้ที่สำนักงานฯ ได้เรียนรู้ทุกเรื่องตั้งแต่วิชาจัดจ้าง งบประมาณ ไปจนถึงงานธุรการสนับสนุน เช่น นิมนต์พระมาเจิมป้ายสำนักงานฯ จองรถ จองโรงแรม ผนวกกับเป็นบุรุษไปรษณีย์ส่งจดหมาย พัสดุ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี บทเรียนที่จดจำมาถึงวันนี้ คงจะหนีไม่พ้นเหตุการณ์ทำกระเป๋าเอกสารของอดีตผู้ว่าการชวลิต ธนะชานันท์ ที่มาเยือนสำนักงานฯ ก่อนไปร่วมประชุมประจำปีของธนาคารโลกที่กรุงวอชิงตัน ในเดือนกันยายน 2533 หายไป ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเช็คเอาท์จากโรงแรม เพื่อเดินทางไปยังสนามบิน ซึ่งเมื่อท่านและภรรยาลงมาพร้อมกระเป๋าเอกสาร ผมจึงอาสานำไปไว้บริเวณหน้ารถข้างคนขับ ที่จอดรออยู่หน้าโรงแรม ก่อนที่จะวิ่งกลับไปนำกระเป๋าใบใหญ่มาไว้หลังรถ ระหว่างทางได้แวะรับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งผู้ว่าการชวลิตได้ขอกระเป๋าเอกสาร แต่เมื่อผมเปิดประตูหน้ากลับไม่พบกระเป๋าดังกล่าว คนขับกลับปฏิเสธไม่ทราบ ทั้ง ๆ ที่ตอนนำมาไว้ก็เห็นกับตา เรียกว่าวินาทีนั้นแทบเข่าทรุด ว้าวุ่นใจไปหมด พอไปบอกท่านว่ากระเป๋าหาย ท่านและภรรยาถึงกับหน้าถอดสี
พร้อมบอกกับคณะด้วยเสียงเรียบว่า “ข้างในกระเป๋ามีเช็คเดินทางที่น่าจะเรียกคืนได้ แต่ที่ต้องทำใจคือเครื่องเพชรของภรรยาที่นำมาใส่ในงานกาล่าดินเนอร์” พอฟังแค่นี้ เกิดความรู้สึกว่าโลกหมุน ชีวิตต้องแตกหักขึ้นมาถึงสมองอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยความเป็นผู้ใหญ่ ผู้ว่าชวลิตไม่ได้แสดงอาการโกรธแต่อย่างใด กลับบอกด้วยความใจเย็นว่า “คงจะโดนขโมยที่สมรู้ร่วมคิดกันหน้าโรงแรมและของคงอันตรธานไปแล้ว ต้องถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญของทุกคนนะ อยู่นิวยอร์กไว้ใจใครไม่ได้หรอก” ถือเป็นบทเรียนที่แสนสาหัส แต่ก็ได้เห็นอีกมุมของผู้ใหญ่ที่มีอุเบกขา เมตตา กรุณา กับลูกน้อง
การใช้ชีวิตกว่า 2 ปีที่นครนิวยอร์ก ได้ให้บทเรียนทั้งด้านความรู้ ด้านการเงิน และด้าน soft skills ที่หาจากที่ไหนไม่ได้ โดยเฉพาะวิธีคิด วางแผน และการบริหารจัดการเวลา แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่า 30 ปี แต่ภูมิใจที่มีส่วนก่อตั้งสำนักงานตัวแทนในต่างประเทศที่วันนี้มีอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ สำนักงานฯ นครนิวยอร์ก ลอนดอน และปักกิ่ง เป็นสะพานเชื่อมเสริมสร้างองค์ความรู้ทั้งด้านการบริหารเงินสำรองและการจับชีพจรแนวโน้มใหม่ ๆ ในตลาดการเงิน มาจนถึงทุกวันนี้
รณดล นุ่มนนท์
27 พฤศจิกายน 2566
แหล่งที่มา:
1/ สุมัยวดี เมฆสุด ภูมิสถาน: ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530 ถึง พ.ศ. 2539
หมายเหตุ:
ขอขอบคุณ คุณนันทนา กรดเต็ม และคุณนิศา ชัยประเสริฐ ฝ่ายบริหารข้อมูลและดาต้าอนาไลติกส์ ที่ช่วยค้นหาเอกสารจากหอจดหมายเหตุเพื่อประกอบการเขียน Weekly Mail