“…อีกประเด็นท้าทายตั้งแต่ COP 1- COP 28 ภาคอุตสาหกรรมฟอสซิลปลดปล่อยก๊าซมากที่สุดของโลก เนื่องจากโลกยังติดกับดักกับพลังงานฟอสซิล ปมปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไม่ได้จนทุกวันนี้ คือการบิดเบือนหลักความรับผิดชอบที่แตกต่าง มาจากหลักความเป็นธรรมที่ผู้สร้างมลภาวะมากต้องรับผิดชอบมาก จากเงินที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ให้เปล่า 1 แสนล้านเหรียญฯ กลายเป็นเงินกู้ เงินลงทุน เพื่ออ้าง Net Zero และก็ยังไม่ถึงเป้าหมายที่สัญญาไว้…”
จบกันไปแล้ว สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP 28 จัดขึ้นที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม 2566 โดยเวทีการประชุมครั้งนี้ มี พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมเพื่อนำเสนอนโยบายและความก้าวหน้าการทำงานแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งตอนนี้กลายเป็นโลกเดือดแล้ว
เวที COP28 มีสิ่งสำคัญต้องหารือ เพราะนับตั้งแต่ประชาคมโลกก้าวเข้าสู่ทศวรรษแห่งความท้าทายในการแก้ปัญหาโลกร้อนระยะ 10 ปีแรก ตั้งแต่ พ.ศ.2564-2573 โดยมีการประชุมเจรจาลดโลกร้อน COP26 และ COP27 ที่เมืองกลาสโกล์ว ประเทศอังกฤษ และประเทศอียิบต์ ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ
ทั้งนี้ โลกกำลังก้าวสู่บททดสอบที่หนักหนาสาหัส เพราะความไม่ลงรอยในแนวทางแก้ปัญหาของประเทศสมาชิกในการเจรจาตกลงแก้ไขปัญหาโลกร้อนในเวทีดังกล่าว และเพื่อจะบรรลุเป้าหมายที่จะรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส หรือไม่เกินขีดจำกัดที่ 1.5 องศาฯ ทุกประเทศต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 43% ของระดับการปล่อยในปี 2562
แต่ข้อมูลจาก World Resources Institute กลับพบว่า ความพยายามในการช่วยกันลดก๊าซฯ ผ่านการดำเนินงาน ‘การมีส่วนร่วม (ลดก๊าซ) ที่ประเทศกำหนด’ (NDCs) ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) โลกจะสามารถลดก๊าซฯ ได้เพียง 7% เท่านั้น
นอกจากนี้ กลับพบว่า การให้เงินอุดหนุนการใช้พลังงานฟอสซิลกลับพุ่งสูงถึงกว่า US$7 ล้านล้านในปีที่ผ่านมา แม้จะมีความสำเร็จในการเจรจาในเบื้องต้นใน COP27 ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงจัดทำ Global Stocktake การเตรียมจัดตั้งทุนสำหรับ Loss and Damage หรือการเพิ่มเงินสนับสนุนการปรับตัวฯ ก็ตาม ประเด็นเหล่านี้ยังเป็นความท้าทายในวงเจรจาที่ดูไบ
เมื่อเร็วๆ นี้ ภาคประชาสังคมจัดเวทีในการพูดคุยแลกเปลี่ยนทางความคิดสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”วิเคราะห์ข้อท้าทายเจรจาฯ ลดโลกร้อน COP28 ภายใต้โครงการ“Dialogue Forum เพื่อเป็นพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อเท็จจริง รวมทั้งข้อคิดเห็นต่างๆ ของทุกฝ่ายในประเด็นที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคม โดยเฉพาะประเด็นเชิงนโยบายทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่ดีขึ้นระหว่างการเจรจาระดับโลก
นางสาวนารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึง ข้อท้าทายในการเจรจาฯ ลดโลกร้อน COP28 ว่า COP28 เป็นเวทีที่ต้องทำให้ชัดเจน หนักแน่น และมุ่งมั่นมากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และประเทศไทยได้จัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำบนหลักการความรับผิดชอบที่แตกต่างกันและตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ
สำหรับจุดยืนของไทย COP 28 เน้นเรื่องพลังงาน นโยบายภาคพลังงานของไทยต้องกลับมาดูว่า มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2573 และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอีก 2 เท่า ไทยจะสามารถดำเนินการได้แค่ไหน ประเด็นสำคัญเป็นการข้ามผ่านอย่างเป็นธรรมโดยคำนึงถึงทุกภาคส่วน ถ้าค่าไฟขึ้น แรงงานทำยังไง มองลึกกว่าเทคโนโลยี แต่มองภาคประชาชนเข้าถึงพลังงาน หรือประชาชนกลุ่มเปราะบางไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์แบบนี้ได้ เป็นประเด็นที่จะคุยกัน
“COP28 ให้ความสำคัญกับ action เน้นเรื่องพลังงาน เราก็ต้องกลับมาดูนโยบายภาคพลังงานว่า เราจะผ่าน just energy transition นี้ไปได้อย่างไร สิ่งที่เรียกร้องมา เราเห็นได้ชัดว่าขอให้มีสัดส่วนการใช้ renewal energy มากขึ้น เช่น ให้ใช้ RE เพิ่มมากขึ้น 3 เท่า ผลิต renewal energy เป็น installation ภายในปี 2030 แล้วก็เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไปอีก 2 เท่า เราก็ต้องมาดูว่าประเทศไทยจะดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน” นางสาวนารีรัตน์ กล่าว
นางสาวนารีรัตน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ อีกหนึ่งความท้าท้ายคือ โลกเราพยายามลดปล่อยก๊าซสาเหตุโลกร้อน แต่หยุดโลกร้อนไม่ได้ ฉะนั้น การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญมาก เงินจะให้ด้านนี้มากขึ้น
ในการประชุมหลายประเทศกล่าวจะให้เงินทุนเพิ่มขึ้นในเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเห็นภาพกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะชัดเจนยิ่งขึ้น
โดยท่าทีของไทยสนับสนุนกองทุนดังกล่าว หลายประเทศพัฒนาแล้วเห็นว่า ก็ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการกองทุน ทำไมไม่ใช้กองทุนเดิม ก็เป็นแนวทางพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุนการเงิน การลงทุนในกลุ่มกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและยั่งยืน แล้วยังมีพันธบัตรที่มุ่งเน้นระดมทุนเพื่อนำไปอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (GREEN BOND) ตลอดจนการสนับสนุนด้านการเงินอื่นๆ ด้วย
“Loss and Damage ก็อยู่ในท่าทีของไทยตั้งแต่ปีที่แล้ว เราสนับสนุน Loss and Damage Fund แต่ก็คำนึงว่าขนาดกองทุนที่ผ่านมาเราเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วใส่เงินเข้ามาแสนล้านเหรียญต่อปี ทุกวันนี้อยู่แค่แปดหมื่น แล้ววันนี้ตั้งขึ้นมาอีกกองทุน เขาจะเอาเม็ดเงินมาจากไหน เพื่อมาใส่ funding ใหม่” นางสาวนารีรัตน์ ระบุ
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจัดเป็นผลกระทบภายนอกระหว่างประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่ผลกระทบภายนอกระดับชาติ ทั้งสินค้าสาธารณะและผลกระทบภายนอกก่อให้เกิดความล้มเหลวของตลาด ทำให้กลไกการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่อย่างจำกัดขาดประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดปัญหาความยุติธรรมระหว่างคนต่างรุ่น ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นหัวใจการแก้ไขปัญหา ทำให้ต้องประชุมลดร้อนโลกทุกปี กลไกช่วยลดความเหลื่อมล้ำและไม่ยุติธรรม ความเสียหายจากน้ำท่วม ทำให้ข้าวตาย ส่วนความสูญเสีย ภายใต้โลกร้อน ผลผลิตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรได้รับ บางประเทศไม่ได้ปล่อยก๊าซ แต่ได้รับผลกระทบ และมีขีดความสามารถในการปรับตัว
“พูดง่ายๆ ในประเทศเราเอง ครัวเรือนก็ไม่ได้มีแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไม่ได้มีแรงจูงใจช่วยเหลือคนอื่น เพราะต่างคนต่างอยู่ดีกว่า ทำไมต้องทำเพื่อคนอื่นให้ตัวเองเสียประโยชน์ แล้วถ้ามองในระดับข้ามประเทศ ไทยเองก็ไม่ได้มีแรงจูงใจช่วยคนอื่น อย่างที่เราคุยกันเมื่อสักครุ่นี้ ประเทศพัฒนาแล้วไม่มีแรงจูงใจ ลงเงินไปแล้วคนอื่นได้ประโยชน์ นี่คือลักษณะแรกของสินค้าสาธารณะ” รศ.ดร.วิษณุ ระบุ
รศ.ดร.วิษณุ กล่าวด้วยว่า ความท้าทายที่พูดใน COP 28 เรื่องกองทุนฯ จะมีเกณฑ์และตัวชี้วัดอย่างไร จะจำกัดนิยามความสูญเสียและเสียหายอย่างไร ครอบคลุมพืชชนิดไหน ภาคเศรษฐกิจ หรือประเทศใดควรมีสิทธิได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน เช่น จีน อินเดีย ปล่อยก๊าซเยอะมาก แต่ก็อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา จะใช้เกณฑ์ใดชี้วัดปล่อยมากปล่อยน้อย ประเทศไหนควรบริจาคเงินเข้ากองทุน ตลอดจนการกำหนดแนวทางความช่วยเหลือจะทันการณ์หรือไม่ อีกความท้าทายไทยจะมีโอกาสได้รับเงินสนับสนุนมากน้อยแค่ไหนและเงื่อนไขใด
ขณะที่ ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และผู้ประสานงานเครือข่าย Thai Climate Justice for All (TCJA) กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้แก้ แม้ว่าจะมีการประชุมลดโลกร้อนผ่านมาเกือบ 30 ปี และมีการตั้งคำถามกลไกความร่วมมือแบบพหุภาคียังไปรอดหรือไม่ การหาคำตอบให้อุตสาหกรรมรายใหญ่เหมือนมีความก้าวหน้า แต่กองทุนความเสียหายและความสูญเสียยังไม่มีความเป็นรูปธรรม แล้วใครจะยอมจ่าย และใครคือผู้ได้เงิน ยังเป็นโจทย์ใหญ่ ที่ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน
ตัวอย่างคือ Green Climate Fund ที่มาสู่ประเทศไทย มีแค่ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดการน้ำ และโครงการป่าชายเลน ส่วนในประเด็นทุนต่างๆ ไม่เคยลงสู่มือผู้เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากโลกร้อน ซึ่ง COP 28 จะเป็นเพียงแค่การระบุรายละเอียกให้ชัดเจน เท่านั้น
ดร.กฤษฎา กล่าวอีกว่า อีกประเด็นท้าทายตั้งแต่ COP 1- COP 28 ภาคอุตสาหกรรมฟอสซิลปลดปล่อยก๊าซมากที่สุดของโลก เนื่องจากโลกยังติดกับดักกับพลังงานฟอสซิล ปมปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไม่ได้จนทุกวันนี้ คือการบิดเบือนหลักความรับผิดชอบที่แตกต่าง มาจากหลักความเป็นธรรมที่ผู้สร้างมลภาวะมากต้องรับผิดชอบมาก จากเงินที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ให้เปล่า 1 แสนล้านเหรียญฯ กลายเป็นเงินกู้ เงินลงทุน เพื่ออ้าง Net Zero และก็ยังไม่ถึงเป้าหมายที่สัญญาไว้ รวมถึงกองทุน Loss & Damage เช่นกัน
ดร.กฤษฎา ระบุว่า ระบบพลังงานของโลกยังยึดติดกับพลังงานฟอสซิล ซึ่งปล่อยคาร์บอนฯ ถึง 60% ของทุกภาคส่วน โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลและเหล่านักลงทุนการเงิน การค้ารายใหญ่ของโลกสนับสนุน ถ้าโครงสร้างพลังงานโลกไม่เปลี่ยน การเอาแนวคิดการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset ) ตั้งแต่พิธีสารเกียวโต 1997 และบรรจุในมาตรา 6 ของข้อตกลงปารีส มาบิดเบือนความรับผิดชอบของผู้ปล่อยคาร์บอนฯ ด้วยการเอาธรรมชาติมาดูดซับคาร์บอน เอาแรงงานทำป่าคาร์บอน ฟาร์มคาร์บอน เกิดการอ้าง net zero อย่างไม่มีหลักฐานวิทยาศาสตร์รองรับ ตัวเลขที่ถูกปั่นขึ้นมา ไม่เพียงแต่จะไม่ช่วยลดโลกร้อน ยังละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย แต่ COP 28 จะทำระบบการชดเชยคาร์บอนเป็นเครื่องมือสำคัญโดยไม่ดูบทเรียนที่เกิดขึ้น แน่นอนจะมีเสียงเรียกร้องให้ทบทวนในเวทีที่ดูไบแน่นอน อีกทั้งกระบวนการจัดทำแผนเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ ส่วนมากยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจัง จึงเกิดแผนฯที่ขาดความจริงทางทางปฏิบัติ มีเงื่อนไขไม่ทำตาม
ด้าน นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล ว่า ถ้าเราไปต่อกับพลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล เป้าหมายการลดอุณหภูมิโลก 1.5 หรือ 2 องศาก็ไม่มีทางจะไปได้ ปัจจุบันพลังงานที่เราใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน ก๊าซ เชื้อเพลิงอื่นๆ ที่เป็นแหล่งสำรองที่พัฒนาไปแล้ว ถ้าใช้ไปเรื่อย ๆ ก็เกินงบประมาณคาร์บอน (Carbon Budget) ที่จะพ้นขีดจำกัดอุณหภูมิผิวโลก และถ้าเราไปขุดเจาะก๊าซ น้ำมันแหล่งใหม่ก็ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าจะลดหรือจำกัดอุณภูมิโลกได้อย่างไร
“ข้อเรียกร้อง COP28 ของภาคประชาสังคมนอกจาก phase out ฟอสซิล การสำรวจแหล่งใหม่ก็ต้องหยุด ทำยังไงจะจัดการตรนี้กับขาลงของแหล่งฟอสซิลสำรองที่เหลือให้มันดี แต่การลงทุนด้านพลังงานก็พุ่งไปที่ฟอสซิล พลังงานหมุนเวียนกลับไม่หวือหวามาก ก็เป็นที่มาสู่คำถามว่า ทำไมภาคประชาสังคมอยากเห็น phase out นอกจากตัวที่ต้องเพิ่มพลังงานหมุนเวียน 3 เท่า ประสิทธิภาพพลังงาน 2 เท่า ตามเป้า COP มันอาจจะยังไม่พอ มันต้องคู่ไปกับการ phase out ฟอสซิลด้วย ไม่งั้นไปด้วยกันไม่ได้” นายธารา ระบุ
ทั้งหมดนี้ คือข้อท้าทายในการประชุม COP28 ที่ภาคประชาสังคมให้ความเห็นไว้ ส่วนผลการประชุม COP28 จะเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา จะมาสรุปและนำเสนอต่อไป