"...ในขณะที่คุณเศรษฐา บอกว่าแจกเงินดิจิตัล 10,000 บาท ทำได้ทันทีที่เป็นรัฐบาล แต่แล้ว ก็ประกาศเลื่อนไปเป็น 1 กพ. 67 ตอนนี้ก็เลื่อนอีกแล้วเป็น พค. 67 ทั้งๆ ที่พยายามชี้ว่าเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน เพราะถ้าเร่งด่วนและจำเป็นจริงต้องออกเป็นพระราชกำหนดประเภทม้วนเดียวจบ..."
ใช่หรือไม่ว่า การพูดของคุณเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี มักมีปัญหาตามมา
ความไม่กระจ่าง ความกลับไปกลับมา ความไม่รู้จริง ความสับสนในตรรกะ ทำให้ “การแก้ตัว” กลายเป็นวาระสำคัญประจำวัน ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะเป็น ขณะเดียวกัน กลายเป็นภาระที่คนรอบข้างจะต้องออกมาช่วยพูดแก้ต่างให้นายกรัฐมนตรี เช่นถ้อยคำว่า
“ผู้กำกับใหม่ ซึ่งผมมั่นใจว่าคงมีผู้ผิดหวังมากกว่าผู้สมหวัง ในห้องนี้ที่ขอตำแหน่งไป เพราะรู้สึกมันเยอะเหลือเกิน แต่ก็มีไม่น้อยที่ได้สมหวัง แต่ก็เป็นผู้กำกับใหม่ ซึ่งเราจะต้องพูดคุยเรื่องนี้กันให้เข้าใจถึงถ่องแท้ และต้องกำจัดปัญหานี้ออกไป ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเราเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ”
(พูด 21 พ.ย. 66 ที่พรรคเพื่อไทย)
“ยืนยันว่า ส.ส. ไม่ได้มาขอ เราพูดเรื่องความไม่ได้พูดเรื่องคน ความนี่คือการมีปัญหาในพื้นที่ เรามาพูดในตรงนี้มากกว่า โดยเอาเรื่องความเป็นหลัก ผมไม่เคยไปก้าวก่าย หรือสั่งการ สตช. และการแต่งตั้ง ผกก. จริงๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจของผมด้วย”
(พูด 22 พ.ย. 66)
ที่ย้ำว่า “เราพูดเรื่องความ ไม่ได้พูดเรื่องคน” นั้น
ต่อไปนี้เป็นคำถามถึงนายกรัฐมนตรี
คำว่า “ผู้กำกับใหม่” นี่เป็นความหรือเป็นคน
คำว่า “ผู้ผิดหวัง” นี่เป็นคนหรือเป็นความ
คำว่า “ผู้สมหวัง” ล่ะ เป็นความหรือเป็นคน
คำว่า “ที่ขอตำแหน่งไป” มีความที่ไหนไปขอตำแหน่ง ถ้าไม่ใช่คน จะไปขอตำแหน่งได้หรือ
คำว่า “รู้สึกมันเยอะเหลือเกิน” อะไรที่เยอะ ความอะไรที่เยอะ
คำว่า “ก็มีไม่น้อยที่ได้สมหวัง” มีความอะไร กี่ความที่ไปสมหวังในเรื่องอะไรช่วยชี้แจงมาที
คำว่า “ความนี่คือการมีปัญหาในพื้นที่” นี้ต้องการสื่ออะไร ปัญหามันเกิดขึ้นลอยๆ โดย ไม่ต้องมีคนไปทำ ปัญหามันผุดขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับคน หรืออย่างไร
คำว่า “คน” กับ “ความ” เป็นคำง่ายๆ ไม่ต้องตีความอะไรให้ยุ่งยาก แต่ทำไมคนเป็นนายกรัฐมนตรีจึงสับสนอลเวง เอา “ความ” ไปขอตำแหน่ง ไปผิดหวัง ไปสมหวัง ไปเป็นผู้กำกับใหม่ จนจับต้นชนปลายไม่ถูก
เรื่องผู้กำกับใหม่ หากคุณเศรษฐา จะใช้คำพูด ว่า
“เรื่องตำแหน่งทางราชการ ไม่ว่าทหาร ตำรวจ หรือพลเรือน ในอดีตเป็นอย่างไรผมไม่รู้ แต่สำหรับผมในฐานะนายกรัฐมนตรี ขอให้เข้าใจตรงกันว่า การแต่งตั้งโยกย้ายทุกตำแหน่ง มีระเบียบราชการรองรับไว้หมดทั้งหลักคุณธรรม หลักความสามารถ และหลักอาวุโส ดังนั้นใครอย่ามาวิ่งเต้นกับผม เพราะผมช่วยใครไม่ได้ เพราะถ้าผมไม่เคารพกติกา ผมก็จะพลอยมีความผิดไปด้วย”
คุณเศรษฐา ลองพิจารณาดูทีว่า หากพูดด้วยถ้อยคำทำนองนี้ นายกจะกลายเป็นเจ้าของพื้นที่ทัวร์ลงอย่างวันนี้หรือไม่
เรื่องแจกเงินดิจิตัล 10,000 บาท โดยจะต้องออก พ.ร.บ. กู้เงิน 500,000 ล้านบาท มาใช้ก่อนหน้านี้ คุณเศรษฐาพูดอย่างไร
“มีผู้เชี่ยวชาญมากล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยต้องกู้เงินมาแจก ผมขอชี้แจงชัดๆว่าที่มาของงบประมาณ นโยบายนี้ไม่จำเป็นต้องกู้สักบาทเดียว.....”
(นสพ.ไทยโพสต์ 26 เมย. 66 / 8.28 น.)
ในขณะที่คุณเศรษฐา บอกว่าแจกเงินดิจิตัล 10,000 บาท ทำได้ทันทีที่เป็นรัฐบาล แต่แล้ว ก็ประกาศเลื่อนไปเป็น 1 กพ. 67 ตอนนี้ก็เลื่อนอีกแล้วเป็น พค. 67 ทั้งๆ ที่พยายามชี้ว่าเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน เพราะถ้าเร่งด่วนและจำเป็นจริงต้องออกเป็นพระราชกำหนดประเภทม้วนเดียวจบ
ตกลงเร่งด่วนหรือไม่เร่งด่วนกันแน่
คุณเศรษฐา ในฐานะนายกรัฐมนตรี กล่าวปราศรัยบนเวที APEC CEO ที่ซานฟรานซิสโก เมื่อ 15 พย. 66 (รอยเตอร์ส) ว่า “ไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางพลังงานหมุนเวียน ที่บริษัทลงทุนสามารถเข้าถึงได้... ไทยพัฒนาการเชื่อมต่อทางกายภาพและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานลำดับ ต้นๆ... ไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคสำหรับการพาณิชย์ และโลจิสติกส์ภายในทศวรรษนี้ เรายินดีอย่างยิ่งที่จะต้อนรับนักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับแนวคิดอันน่าตื่นเต้นนี้”
พูดอย่างนี้แปลว่าเศรษฐกิจไทยดีเยี่ยมใช่หรือไม่
นักลงทุนต่างชาติฟังแล้วคงตื่นเต้นและเคลิบเคลิ้มสุดประมาณ
แต่เมื่อกลับมาประเทศไทย ในวันร่วมกันแถลงเรื่อง GDP เมื่อ 20 พย. 66 ขณะที่นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่า
“โดยรวมเศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวได้ แต่ถ้าต้องการขยายตัวดีกว่านี้ต้องมีการปรับโครงสร้าง”
ในเวทีเดียวกัน คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่า
“ทุกอย่างก็เลวร้ายกว่าที่คิดไว้เยอะ” และว่า
“จุดยืนของผมนั้นชัดเจน วิกฤตและจำเป็น”
เมื่อยืนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา บอกว่าเศรษฐกิจไทยดี ต่างชาติควรเข้ามาลงทุนกัน พอกลับมายืนที่เมืองไทย ไม่ทันพ้น 7 วัน บอกว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤต จำเป็นต้องกู้เงิน 500,000 ล้านบาท
ตกลงพูดจริงกับต่างชาติ แล้วพูดปดกับคนไทย หรือพูดจริงกับคนไทย แล้วพูดเท็จกับต่างชาติ
ทำไมตรรกะของนายกรัฐมนตรีจึงเป็น “มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก” ได้ปานฉะนี้
บุคคลและสถาบันต่างๆ แสดงทัศนะคัดค้านการแจกเงินดิจิตัล 10,000 บาท ว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ที่เป็นจริงตามคำโฆษณา ว่าจะก่อหนี้สินให้ลูกหลานระยะยาว ว่าเป็นนโยบายสร้างนิสัยแบมือขอ แทนที่จะสร้างทักษะอาชีพ ว่าสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจระยะยาว จึงเสนอแนะให้ปรับปรุงนโยบาย เป็นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เสนอให้ใช้เงินในการสร้างอาชีพจะเป็นประโยชน์ได้มากกว่า
99 นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ อดีตผู้ว่าธนาคารชาติ 2 คน สถาบัน TDRI สื่อมวลชนหลายภาคส่วน ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ไม่ได้พูดเพื่อเอาใจพรรคก้าวไกล ไม่มีใครคิดจะโค่นล้มรัฐบาล แต่ได้แสดงออกด้วยปรารถนาดีต่อประเทศชาติโดยแท้
เมื่อได้ยินคุณเศรษฐา ทวีสิน พูดว่า
“ถ้า พ.ร.บ. เงินกู้ไม่ผ่าน ก็ถือว่าเป็นความซวยของประเทศ ผมก็ไม่รู้ว่าผมพูดอย่างนี้ได้หรือเปล่า”
(ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 16 – 19 พย. 66 )
ที่พูดอย่างนี้ ต้องการจะประณามคนไม่เห็นด้วยกับนโยบายแจกเงินดิจิตัล 10,000 บาท หรืออย่างไร
แน่ใจนะที่พูดเช่นนั้น
คนที่เรียนวิชาการสื่อความ (Communication) จะเข้าใจดีว่า นักสื่อความหรือนักสื่อสารที่ดีนั้น ไม่ว่าจะพูดหรือเขียน หรือใช้อากัปกริยา จะต้องใช้หลัก 5 C คือ
1. ชัดเจน Clear พูดหรือเขียนด้วยข้อความแจ่มชัดไม่คลุมเครือ
2. กระชับ Concise สื่อสารตรงประเด็น กระชับความ ไม่เยิ่นเย้อ
3. เป็นรูปธรรม Concrete ให้เข้าใจได้ง่าย
4. ถูกต้อง Correct พูดหรือเขียนได้ถูกต้อง ไม่ผิดพลาดในเนื้อหา
5. สมบูรณ์ Complete มีความครบถ้วนสมบูรณ์
สำหรับ คุณเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งมักสร้างปัญหาในการสื่อความเป็นกิจวัตร ควรต้องน้อมนำเพิ่มอีก 3 ข้อ คือ
6. หลักสมเหตุสมผล Reasonable
7. หลักคงเส้นคงวา Consistency
8. หลักน้อมใจรับฟังคนอื่น Open – Mindedness
ประสาร มฤคพิทักษ์