"...ดังนั้น เมื่อเทียบตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ประเทศไทยไม่อาจจัดว่าอยู่ในภาวะวิกฤตที่ต้องอัดฉีดเงินจำนวนมากด้วยการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อเพิ่มตัวเลข GDP เฉพาะหน้าคือการเร่งรัดการใช้จ่ายของรัฐ โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่าย ที่ล่าช้าในปี 2567 เพราะเป็นตัวถ่วงGDPในปีนี้ หน่วยราชการมีการชองบประมาณถึง 5.8 ล้านล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรรในวงเงินเพียง 3.48 ล้านล้านบาท ยังมีอีก40% หรือ 2.32 ล้านล้านบาทที่ไม่ได้รับงบประมาณ ซึ่งน่าจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างสาธารณูปไภคสาธารณูปการที่ช่วยประชาชนเพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตในการหารายได้ โดยเฉพาะเรื่องแหล่งน้ำในภาคเกษตร การให้ความรู้แก่ประชาชนในการประกอบสัมมาชีพด้าน Digital Technology เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้รัฐบาลควรเร่งรัดปรับแก้กฎเกณฑ์ต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารการเงินของประชาชน เช่น กฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกฎหมายสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารการเงินและหนี้สิน โดยไม่มีภาระใดๆต่องบประมาณแผ่นดิน..."
ระยะนี้มีการพยายามชี้นำว่าต้องกระตุ้นเศรษฐกิจไทยโดยการกู้เงินเพื่อแจกให้ประชาชนได้ใช้จ่ายเพื่อบริโภคคนละ 10,000บาท ยกเว้นคนอายุต่ำกว่า 16 ขวบ
ผมขอตั้งคำถาม 4 ข้อ คือ เศรษฐกิจเข้าขั้นวิกฤตหรือไม่ หากไม่วิกฤตจะต้องมีนโยบายอะไร รัฐบาลมีวิธีการแก้ไขที่เหมาะสมหรือไม่ และผลกระทบมีอย่างไร
คำถามแรก เศรษฐกิจไทยเข้าขั้นวิกฤตหรือไม่
ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ จะหมายถึงสภาพที่เศรษฐกิจหดตัวอย่างฉับพลัน หรือวัดได้ว่า GDP ติดลบติดต่อกัน
ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยอยู่ภาวะวิกฤต 3 ครั้งคือ
วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540-41 เมื่อเศรษฐกิจหดตัว 7.6% GDP ลดลง $30พันล้าน รัฐบาลกู้เงินมิยาซาวา
วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551-52 เมื่อเศรษฐกิจหดตัว 0.7% GDP ลดลง $10พันล้าน รัฐบาลกู้เงินไทยเข้มแข็ง
วิกฤตโควิด 2562-63 เมื่อเศรษฐกิจหดตัว 6.2% GDP ลดลง $45พันล้าน รัฐบาลกู้เงินด้วยพรกโควิด
ขณะนี้ เศรษฐกิจของประเทศไม่อยู่ในภาวะวิกฤต อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในเกณฑ์ปกติ หน่วยงานที่ศึกษาภาวะเศรษฐกิจไทยที่สำคัญของประเทศ คือ สศช. (สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ธปท.(ธนาคารแห่งประเทศไทย) ได้โต้แย้งรัฐบาลว่า แม้GDPอาจชะลอลง แต่การบริโภคของครัวเรือนยังขยายตัวค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่อง อัตราการขยายตัวของ C (Consumption) อยู่ระดับ 6-7% ต่อเดือน ตัวที่ฉุดเศรษฐกิจกลับเป็น การลงทุนภาครัฐ (เพราะงบประมาณ67 ล่าช้า7เดือน การส่งออกเพราะเศรษฐกิจภายนอก และการลงทุนเอกชนเพราะขาดความเชื่อมั่น ทำให้ผลผลิตมวลรวมประชาชาติปีนี้จะขยายตัวต่ำลงเหลือ 2.7%(ตามการประเมินของ IMF) หรือ 3.2% ตามการประเมินของสศช และกระทรวงการคลัง หรือ 4.4% ตามการประเมินของธปท เหตุผลที่ ธปท. ยังสูงกว่าหน่วยงานอื่นเป็นเพราะมีการประเมินการใช้จ่ายภาครัฐไว้ในอัตราสูง แต่ยังไม่ถึงขั้นติดลบตามที่มีการกล่าวอ้าง หรือชี้ว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ recession และประมาณการในปี2567 ก็ล้วนแต่จะมีแนวโน้มฟื้นตัวที่สูงกว่าปีนี้
ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ไม่ถึงร้อยละ 1 ดังนั้นหากอิงตามตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคไม่ปรากฎว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะวิกฤตที่ติดลบหรือถดถอยแต่ประการใด
คำถามต่อไป เศรษฐกิจไทยสมควรต้องดูแลอย่างไร เมื่อโตไม่ถึง 2% ต่อปีในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
ผมเห็นด้วยว่าเศรษฐกิจไทยโตช้าเกินไป และจำเป็นต้องแก้ไข การที่เศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนบ่งชี้ถึงปัญหาที่ต้องแก้ไขทั้งในด้านโครงสร้างที่ต้องใช้เวลา และเฉพาะหน้าที่น่าจะทำได้ทันที ทั้งที่ใช้เงินแผ่นดินและที่ไม่ต้องใช้เงินแผ่นดิน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยได้ขยายตัวในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 แต่ไม่ใช่การแจกเงินอย่างเลื่อนลอย
อันดับแรก ปัญหาโครงสร้างที่ต้องแก้ไขโดยด่วนคือ ประชากรไทยกำลังลดลง เพราะเด็กเกิดใหม่น้อยลงเหลือต่ำกว่า 5 แสนคนต่อปีเทียบกับที่เคยเกิดใหม่ 1.2 ล้านคนต่อปีเมื่อ 40ปีที่แล้ว ผลที่ตามมาคือมีแรงงานเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ลดลง เกิดปัญหาการขาดแคลนจำนวนแรงงาน ซึ่งดูเหมือนว่าเศรษฐกืจไทยมีการว่างงานที่ต่ำ และมีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมากขึ้นทุกที ปัญหานี้ย่อมกระทบต่อแรงดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับที่ใช้ทักษะมาก(skilled) หรือทักษะปานกลาง(Semi skilled) ก็ยังไม่ได้มาตรฐาน นอกจากแรงงานไทยจะลดลง นโยบายการส่งแรงงานไปต่างประเทศก็ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงานของธุรกิจภายในประเทศ
อีกด้านหนึ่งของปัญหาประชากร คือ คนไทยมีอายุยืนยาวมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะ ที่แก่แต่ยังไม่มีเงินเก็บเพียงพอ เกิดปัญหาคนจนระหว่างผู้สูงอายุ ที่ขาดรายได้ประจำ มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มีเงินออมหรือบำนาญใช้ในยามชรา แต่ส่วนใหญ่ยังต้องดิ้นรนทำงาน ไม่มีหน่วยงานรัฐใดๆมาดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ลุกลามมากขึ้น ได้แต่ทำการสงเคราะห์อย่างผิวเผิน
รัฐบาลยังไม่มีนโยบายดูแลปัญหาประชากรอย่างเป็นระบบ และเหมาะสมกับเศรษฐกิจและสังคม
อันดับ 2 ปัญหาน้ำมันขายปลีกมีราคาแพง คนไทยยังต้องบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงโดยรัฐบาลไปอ้างอิงกับราคาน้ำมันสิงคโปร์ ทั้งที่กำลังการผลิตของไทยที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิงคโปร์ หากมีการขยายโรงกลั่นอี 2.4 แสนบาร์เรลต่อวันตามประกาศ กำลังการผลิตของไทยจะมากกว่าสิงคโปร์ ประเทศไทยกลายเป็นผู้กลั่นน้ำมันดิบและส่งออกน้ำมันเบนซินและดีเซลไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่รัฐบาลก็ยังประกาศราคาหน้าโรงกลั่น โดยอิงกับราคาที่สิงคโปร์(ซึ่งบวกกำไรและค่าใช้จ่ายอื่นๆอยู่แล้ว) บวกค่าขนส่ง ค่าประกัน ค่าคุณภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังยอมให้มีค่าการตลาดที่สูงกว่าลิตรละ 2 บาท โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา รัฐบาลที่เข้ามาบริหารในระยะสองเดือนที่ผ่านมาก็แก้ไขปัญหาโดยการใช้เงินแผ่นดินจากการลดอัตราภาษีและใช้เงินกองทุนน้ำมันซึ่งติดลบสูงกว่า 70,000 ล้านบาท
รัฐบาลยังไม่มีนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำมันแพงด้วยการปรับโครงสร้างไม่ให้ผู้ผลิตและจำหน่ายเอาเปรียบได้กำไรเพิ่มขึ้นมหาศาล ทำให้เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะการประกาศราคาหน้าโรงกลั่นโดยอ้างอิงกับราคาสิงคโปร์ ทั้งที่ประเทศไทยมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปสิงคโปร์ปีละหลายหมื่นล้านบาท ต้นทุนพลังงานที่แพงยังบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศที่อาจจะได้เปรียบในเรื่องพลังงาน
อันดับ 3 ปัญหาดอกเบี้ยแพง ประชาชนฝากเงินได้ดอกเบี้ยต่ำ แต่ต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แพง ประเทศไทยไม่การการกำหนดส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้เงินฝาก ทำให้ประชาชนถูกเอาเปรียบ โดยเฉพาะเงินกู้นอกระบบธนาคารยังมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก แม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามไว้ก็ตาม
อันดับ 4 ระบบราชการมีปัญหา มีการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ไม่ตอบสนองประชาชนอย่างแท้จริง มีกำหนด KPI ให้หน่วยราชการปฏิบัติแต่ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนพึงได้รับ ตัวอย่างเช่น KPI ด้านการศึกษาเป็นภาระให้ครูต้องมาให้เวลากับการปฏิบัติตาม KPI โดยไม่มีการวัดผลกระทบต่อเวลาที่เด็กได้รับน้อยลง เป็นต้น
อันดับ 5 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีปัญหาขาดทุนเรื้อรังและไม่มีเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหา เช่น ขสมก รฟท และ รฟม เป็นต้น ขสมกจึงมีภาระหนี้สะสมกว่า 1 แสนล้านบาทเพราะขาดทุนสะสมต่อเนื่องมากว่า 40 ปี
อันดับ 6 กลไกตลาดผู้บริโภคมีการรวมกลุ่มกันมากขึ้นมีลักษณะของการเป็น oligopoly ทั้งในธุรกิจค้าปลีก โทรคมนาคม และน้ำมันเชื้อเพลิง กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคยังอ่อนแอ
อันดับ 7 ประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติจากแสงแดด และน้ำบาดาลในปริมาณมากมหาศาล แต่รัฐบาลก็ไม่สนับสนุนให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ มีหมู่บ้านไม่น้อยกว่า 2 หมื่นหมู่บ้านที่ไม่มีน้ำสะอาดใช้บริโภค การติดตั้ง solar roofs เพื่อส่งไฟฟ้าเข้าระบบก็ยังถูกกีดกัน
อันดับ 8 ด้านเทคโนโลยี่ ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยจำนวนมาก แต่ยังคงเป็นสถานศึกษามากกว่าที่จะเป็นแหล่งสนับสนุนทางวิชาการให้กับธุรกิจโดยเฉพาะ SME งานวิจัยต่างๆมักจะไม่ได้ต่อยอดเพื่อเกิดประโยชน์แก่ภาคการผลิตของเอกชน ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยี่จากต่างประเทศเป็นหลักด้วยต้นทุนที่สูง
ตัวอย่างของปัญหาโครงสร้างทั้งแปดข้างต้น ได้สะสมพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดความสูญเปล่า และเป็นภาระต่อประชาชนรวมทั้งผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยในประเทศ แต่ไม่มีรัฐบาลใดมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง จึงทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางและความทุกข์ยาก ทำให้ความเหลื่อมล้ำและการด้อยโอกาสจำนวนมาก
ปัญหาโครงสร้างที่หมักหมมเหล่านี้ ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยการแจกเงินคนละหนึ่งหมื่นบาทในรูปของ Digital Wallets (DW) ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ผมมีข้อโต้แย้งดังนี้
1.รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ให้เหตุผลเดียวกันในการตรา พระราชกำหนด2ฉบับใช้เงินรวม 1.5 ล้านล้านบาทในเวลา 3ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนบริโภคมากขึ้น แต่ก็ไม่ปรากฎว่าเศรษฐกืจไทยมีการตอบสนองด้วยการขยายตัวสูงมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด เงินDigital Wallet มีวงเงินน้อยกว่าเพียง 1 ใน 3 ของที่เคยใช้ จึงย่อมไม่อาจเชื่อได้ว่าจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5 ได้
2.สาเหตุที่กระตุ้นเศรษฐกิจไทยไม่ได้ผล เพราะลักษณะเศรษฐกิจไทยคล้ายกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ คือเป็นเศรษฐกิจเปิด มีสัดส่วนของการนำเข้าสูงมากถึง 68% ใกล้เคียงกับกัมพูชาที่ 80% และมาเลเซียที่ 60% ซึ่งตรงข้ามกับประเทศใหญ่ เข่น สหรัฐอเมริกา จีนและญี่ปุ่น ซึ่งเศรษฐกิจอันดับ 1-2-3 ของโลกเหล่านี้มีสัดส่วนการนำเข้าเพียง 15%สำหรับสหรัฐอเมริกา 17% สำหรับจีนและ 18% สำหรับญี่ปุ่น ดังนั้น multiplier effect* หรือการเกิดการไหลเวียนของเงินหลายๆรอบจึงเกิดได้ชัดในประเทศใหญ๋ แต่สำหรีบประเทศไทยหรือกัมพูชาเงินส่วนใหญ่จะรั่วไหลไปต่างประเทศทันทีที่จ่ายออกไปในรอบแรก นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำของการมีรายได้ ย่อมทำให้เงินบางส่วนที่อัดฉีดไปไม่ได้มีการใช้จ่ายทันที ยิ่งมีความเหลื่อมล้ำมากรายได้หรือเงินก็จะกระจุกตัวในหมู่ผู้มีรายได้มาก รัฐบาลได้ประกาศว่าเงินนี้จะหมุน 3.3 รอบแต่จากการตรวจสอบผู้ทำวิจัยเรื่องนี้จากข้อมูลประเทศไทย ได้รับคำชี้แจงว่าจะหมุนเพียง 0.8 รอบเท่านั้น
ตามสมการ องคประกอบของรายจ่ายประชาชาติหรือGDP มี4 ปัจจัย
GDP = C(consumption) + G(Government Expenditure) + I(Investment) + E-M(Current Account Balance)
หากรัฐบาลเพิ่ม ตัว C ผลที่ตามมาคือตัว M ที่จะเพิ่มตามมาทำให้ GDP ไม่ได้เพิ่ม แถมยังจะติดลบและอาจมีผลทำให้ค่าเงินอ่อนเพราะเกิดการสูญเสียทุนสำรองระหว่างประเทศ
การที่รัฐบาลกล่าวอ้างว่า เศรษฐกิจจะหมุน 3.3 รอบจากการใข้จ่ายบริโภค เท่ากับมีข้อสมมุตฐานว่า mpc (marginal propensity to consume) ของไทยมีค่า 0.7 ขณะที่สมการข้างต้นจะเห็นได้ว่า GDP=Y
C =0.7Y consumption function
M = 0.68Y import function
Y = 0.7Y-0.68Y + A A คือ ปัจจัยอื่นๆ
Y = .02Y+A
(1-.02)Y = A
0.98Y =A
^Y =1.02A
สรุป จากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการนำเข้าถึง68% multiplier effect น่าจะมีเพียง 1.02 รอบ ไม่ใช่ 3.3 รอบ
แต่ multiplier อาจจะลดต่ำลงอีก หากการหาแหล่งเงินชดเชยมาจากการลดการให้สินเชื่อแก่ภาคเอกชนและเกิด Crowding out effect
3.พฤติกรรมการออมและการบริโภคของคนในแต่ละประเทศแต่ละสังคมก็มีความแตกต่างกัน จะมาอ้างเพื่อลอกเลียนกันง่ายๆมิได้ การนำมาตรการแจกเงินที่ใช้ในบางประเทศเช่นญี่ปุ่นมาเป็นตัวอย่างจึงพึงตระหนักว่า คนญี่ปุ่นจะมีนิสัยรักการออมและระมัดระวังการใช้เงินมากกว่า จนประเทศเข้าสู่ภาวะDeflation แม้รัฐบาลจะมีหนี้สาธารณะมากแต่ก็เป็นการลงทุนของชาวญี่ปุ่น ขณะที่คนเกาหลีเมื่อได้รับการกระตุ้นให้ใช้จ่ายก็เกิดภาวะวิกฤตบัตรเครดิด ประชาชนมีหนี้สินเกินตัว เป็นต้น
4.การออกพรบ. กู้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาทย่อมได้รับการสนับสนุนจากธนาคารต่างๆ ที่มีสภาพคล่องสูงแต่เป็นห่วงเรื่องความเสี่ยงในการให้สินเชื่อแก่ประชาชน และมีความต้องการที่จะถือครองหลักทรัพย์รัฐบาลเช่นพันธบัตรมากกว่าที่จะปล่อยสินเชื่อซึ่งจะมีกรณีไม่อาจชำระหนี้ได้ หรือ NPL (non performing loans) ธนาคารต่างๆย่อมขานรับการกู้เงินของรัฐบาลเพราะได้รับประโยชน์เฉพาะหน้า ผลเสียที่เกิดขึ้นในระบบการเงินคือ ประชาชนและธุรกิจขนาดเล็กขนาดย่อมจะถูกเมินจากธนาคารในการขอกู้เงิน เพราะให้กู้กับรัฐบาลจำนวน500,000 ล้านบาท เป็นหนี้ที่ปลอดความเสี่ยงและได้ดอกเบี้ยสูงเพราะเป็นภาวะที่ดอกเบี้ยโลกปรับตัวขึ้นสูงมาก มิฉะนั้นผู้กู้ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นให้ระบบธนาคาร การลงทุนและการบริโภคของประชาชนและธุรกิจย่อมถูกกระทบและถ่วงไม่ให้เศรษฐกิจขยายตัวตามที่รัฐบาลคาดหวัง ผลกระทบนี้ ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Crowding Out Effects
ดังนั้น เมื่อเทียบตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ประเทศไทยไม่อาจจัดว่าอยู่ในภาวะวิกฤตที่ต้องอัดฉีดเงินจำนวนมากด้วยการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อเพิ่มตัวเลข GDP เฉพาะหน้าคือการเร่งรัดการใช้จ่ายของรัฐ โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่าย ที่ล่าช้าในปี 2567 เพราะเป็นตัวถ่วงGDPในปีนี้ หน่วยราชการมีการชองบประมาณถึง 5.8 ล้านล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรรในวงเงินเพียง 3.48 ล้านล้านบาท ยังมีอีก40% หรือ 2.32 ล้านล้านบาทที่ไม่ได้รับงบประมาณ ซึ่งน่าจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างสาธารณูปไภคสาธารณูปการที่ช่วยประชาชนเพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตในการหารายได้ โดยเฉพาะเรื่องแหล่งน้ำในภาคเกษตร การให้ความรู้แก่ประชาชนในการประกอบสัมมาชีพด้าน Digital Technology เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้รัฐบาลควรเร่งรัดปรับแก้กฎเกณฑ์ต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารการเงินของประชาชน เช่น กฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกฎหมายสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารการเงินและหนี้สิน โดยไม่มีภาระใดๆต่องบประมาณแผ่นดิน
ในการบริหารเศรษฐกิจให้เติบโตต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและต่อเนื่อง ลำพังแค่การใช้เงินหมื่นบาทให้หมดเปลืองไปไม่กี่วัน ย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาโครงสร้างเรื้อรังที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนในด้านต่างๆที่ระบุไว้ข้างต้นทั้ง 8 ประการได้ การบริหารเศรษฐกิจโดยคิดแต่จะปั้นGDPเพื่อกดสัดส่วนหนี้ต่อGDPก็ไม่น่าใช่วิธีคิดที่รอบคอบ และเป็นการใช้เงินที่ไม่คุ้มค่า
คำถามที่สาม เกี่ยวกับแหล่งเงินเพื่อชดเชย
รัฐบาลขาดความชัดเจนเรื่องการชดเชย เงิน DW ว่าจะมาจากแหล่งใดซึ่งสร้างความสับสนหรือความไม่เชื่อมั่นต่อการบริหารการเงินการคลังของรัฐ เพราะขัดแย้งกับกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
ก ในช่วงการหาเสียง ได้แจ้ง กกต(คณะกรรมการการเลือกตั้งว่า จะอาศัยการตัดรายจ่ายในงบประมาณ และการเพิ่มรายได้ภาษีอากร โดยไม่มีการกู้เงินหรือก่อหนี้ใดๆ ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดี เพราะแสดงว่ามีความรับผิดชอบทางการคลัง มีการยืนยันว่าต้องการแสดงความโปร่งใสตรงไปตรงมา
ข ภายหลังการเลือกตั้ง ได้ชี้แจงว่า จะอาศัยการจัดเก็บรายได้ที่จัดเก็บได้เกินเป้า 1-2 แสนล้านบาทมาใช้ ผมแย้งว่ารายได้ที่เก็บได้เกินหรือต่ำกว่าเป้าหรือประมาณการรายได้ ได้เป็นส่วนหนึ่งของเงินคงคลังแล้ว ไม่อาจจะนำมากล่าวอ้างเพื่อชดเชยการใช้จ่ายใหม่ของรัฐบาลได้ เว้นแต่จะระบุในกฎหมายรายจ่ายว่าเป็นการใช้เงินคงคลัง
ค ต่อมามีการให้คำชี้แจงว่า จะอาศัย 1 เงินยืมจากธนาคารออมสิน 2 วงเงินที่เหลือไม่ได้ใช้ตามมาตรา 28 แห่งพรบวินัยการเงินการคลัง 3 เงินนอกงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ
ผมได้แย้ง ว่า เงินยืมจากธนาคารออมสิน ไม่น่าจะสมควรเพราะ เป็นสถาบันการเงินที่ตั้งมากว่า 100 ปีเพื่อสนับสนุนให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้การออม การที่รัฐก่อหนี้โดยนำเงินนี้มาให้ใช้เพื่อบริโภคจึงเป็นการไม่สมควร ต่อมากฤษฎีกาก็ชี้ว่ามาตรา 8 แห่งพรบออมสินไม่ได้เปิดช่องให้รัฐบาลใช้เงินออมสินเพื่อการบริโภค
สำหรับการอ้างอิงมาตรา 28 แห่งพรบ วินัยการเงินการคลัง เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะ พรบวินัยการเงินการคลังมีไว้เพื่อตีกรอบไม่ให้รัฐบาลใช้เงินเกินตัว ถ้อยคำในมาตรา 28 จึงไม่ได้ให้อำนาจรัฐบาลกู้เงิน หากจะกู้เงินต้องไปดูมาตรา 21 แห่งพรบหนี้สาธารณะซึ่งอนุญาตให้กู้เงินด้วยวัตถุประสงค์ 5 ประการ แต่การกู้มาแจกหรือบริโภคไม่อยู่ในเงื่อนไขในการกู้เงินตามมาตรา 28 สำหรับการใช้เงินนอกงบประมาณนั้นก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบ เพราะบางส่วนรัฐอาจเรียกมาได้ แต่ถ้ามีจำนวนมากก็จะมีผลเสียต่อตลาดเงินตลาดทุนที่เงินเหล่านี้ไปลงทุนไว้
ง เมื่อปลายเดือนตุลาคม มีการจัดสัมนาเรื่องนี้ที่วุฒิสภา ซึ่งมีที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมาชี้แจงซึ่งได้ให้ข้อสรุปทิ้งท้ายว่าจะชดเชยการใช้เงิน DW ด้วยงบประมาณรายจ่าย 2567 แต่จะไปจ่ายเดิอนกันยายน 2567 ไม่ใช่ กุมภาพันธ์ 2567 ตามที่เคยประกาศไว้
จ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะประกาศวิธีการชดเชยการใช้เงิน DW ก็มีการให้ข่าวจากรัฐบาลว่า จะอาศัยการผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะกระทำเป็นรายปี ผมก็ได้ให้ความเห็นในงานเสวนาเรื่องนี้ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคมว่า เท่าที่ผ่านมารัฐบาลมีการดำเนินโครงการใหญ่ที่ต้องใช้เงินหลายปี เช่นการก่อสร้างทางมอเตอร์เว จึงมีการผูกพันงบประมาณปีต่อๆไป โดยมีช่าวว่าปีแรก 2567 จะใช้ 130,000 ล้านบาท (ซึ่งเท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่เพิ่มจากเดิมที่รัฐบาลพลเอกประยทธ์เคยมีมติไว้ โดยรัฐบาลเศรษฐาให้เพิ่มยอดการขาดดุลอีก 100,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 30,000 ล้านบาทจะมาจากการปรับประมาณการรายได้ที่สูงขึ้นเพราะฐานรายได้ปี 2566 เก็บได้สูงกว่า) แต่คราวนี้จะมีการผูกพันงบเพื่อการบริโภคซึ่งจะไม่มีข้อสัญญารองรับเฉกเช่นงบลงทุน เพราะเป็นการแจกเพื่อบริโภค รัฐบาลที่รับช่วงต่ออาจปฏิเสธไม่จัดงบให้ได้
ฉ ล่าสุด นายกรัฐมนตรีก็ประกาศว่า จะตราพรบกู้เงิน 500,000 ล้านบาท โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 53 แห่งพรบ วินัยการเงินการคลัง ทำให้เกิดข้อเป็นห่วงใยหลายประการ เช่น มาตรา 53 มีถ้อยคำระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นกรณีเร่งด่วนฉุกเฉินและวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ หากไม่เข้าเกณฑ์นี้ก็จะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 140 เกี่ยวกับการใช้เงินแผ่นดิน นอกจากนี้ การขาดดุลภาครัฐที่เคยลดลงภายหลังจากที่covid เบาบางลง จะกระโดดสูงเป็น 1.3 ล้านล้านบาท เทียบกับเมื่อก่อนเกิดcovid ที่สูง 2-4 แสนล้านบาท ดังนั้นหนี้สาธารณะในปี 2567 ย่อมขยายสูงขึ้นอึกเป็น 64% ของ GDP เทียบกับ 40% เมื่อก่อนเกิดcovid ถึงแม้ว่าสัดส่วนนี้ของไทยจะดูไม่มากใกล้กับประเทศในยุโรป แต่อย่าลืมว่ารายได้รัฐบาล ของชาวยุโรปมีสัดส่วนที่สูงมากถึง 30-40% ของ GDP เพราะมีอัตราภาษี VAT กว่าร้อยละ 20% และอัตราภาษีเงินได้จะสูงและเป็นแบบขั้นบันได ดังนั้นกำลังในการหารายได้ของรัฐบาลไทยที่ต่ำย่อมเป็นข้อจำกัดต่อการก่อหนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะไทยต่อรายได้รัฐบาลไทยจึงอยู่ในเกณฑ์สูงมาก
คำถามที่ สี่ ผลกระทบที่ตามมา ความเสี่ยงทางการคลัง
ความไม่ชอบมาพากลเหล่านี้ ทำให้สังคมมีข้อกังขา หน่วยงานตรวจสอบต่างๆ เช่น ปปช สตง ได้เคลื่อนไหวตั้งทีมงานเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ของรัฐ ว่าจะเกิดความเสียหายเช่นเดียวกับกรณีจำนำข้าวซึ่งย่อมทำให้เกิดความหวั่นไหวในบรรดากรรมการที่เกี่ยวข้อง ถึงขั้นที่ผู้ว่าการธปท และเลขาสศช ประกาศในประชุมให้บันทึกความเห็นต่างของตนในรายงานการประชุม แม้แระทั่งเลขากฤษฎีกาซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลยังแบ่งรับแบ่งสู้ ความไม่ชัดเจนและมีข้อคำถามเกี่ยวกับการชดเชยการใช้เงิน DW เหล่านี้ย่อมสร้างความหวั่นไหวต่อตลาดทุน ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกและหุ้นตก ประชาชนผู้ลงทุนสูญเสียมูลค่าทรัพย์สินไปจำนวนมาก การประกาศใช้มาตราการคืนภาษีทดแทนการแจกเงินแก่คนรวยก็มีผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้มีรายได้สูงทำให้ธุรกิจฝีดเคืองยิ่งขึ้นเพราะรอดูความชัดเจนของรัฐ ก่อนจะซื้อข้าวของ
ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะบั่นทอนความเชื่อถือของรัฐบาลในการดำเนินโครงการนี้ หรือถือว่าเป็นเรื่องการเมือง แต่ต้องการท้วงติงหลังจากที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศได้ออกมาทักท้วง เพราะประสงค์ให้รัฐบาลคำนึงถึงความเสี่ยงทางการคลัง เพราะเงินแผ่นดินมีจำกัด เมื่อใช้ไปแล้วก็ต้องเก็บภาษีจากประชาชนมาคืนหนี้สินที่เกิดขึ้น รัฐบาลพึงเก็บทรัพยากรเหล่านี้ไว้ใช้ในยามจำเป็นที่อาจจะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่มีความอ่อนไหวและเภทภัยต่างๆที่ประเมินไม่ได้ ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอาจถูกกระทบหากมีความประมาทในการบริหารการคลัง ดังเข่นที่สหรัฐอเมริกากำลังถูกบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือลดเกรดเพราะมีหนี้ชนเพดานและเสี่ยงต่อการshutdown สำนักงานของรัฐเพราะไม่มีเงินจ่าย
การผ่านกฎหมายกู้เงินเพื่อDW นี้ยังต้องผ่านด่าน 4 ด่านคือ
1.คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล
2.สภาผู้แทนราษฎร ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ
3.วุฒิสภา ซึ่งมีวุฒิสมาชิกที่ออกมาแสดงความเห็นต่างอย่างมาก
4.ศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีผู้ดำเนินการยื่นและอยู่ในกระบวนการแล้ว
ทั้ง 4 ด่านนี้คงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี โอกาสที่รัฐบาลจะสามารถผลักดันให้เป็นกฎหมายเพื่อให้แจกเงินแก่ประชาชนได้โดยเร็วจึงเป็นเรื่องยาก นี่ยังไม่ได้คำนึงถึงประเด็นทางเทคนิคที่จะมีการใช้ Blockchain หรือการตีความว่าเข้าข่ายเป็นเงินตราตามพรบ เงินตรา 2501 หรือไม่ การไปทำงานซ้ำซ้อนกับ ธปทในเรื่องการจัดทำ CBDC โดยที่ยังไม่มีประเทศใดในโลกดำเนินการได้จึงน่าจะไม่เหมาะสม
ข้อเสียที่ตามมาคือประชาชนที่คาดหวังและสมควรได้รับการดูแลช่วยเหลือจากรัฐก็จะต้องรอและสุดท้ายก็อาจจะรอเก้อหากกฎหมายถูกตีตกไป เช่นเดียวกับกรณีพรบ เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทที่เคยถูกพิพากษาตกไปเมื่อปี 2557 หวังว่ารัฐบาลจะไม่โบ้ยความผิดพลาดเสียหายว่าเป็นเพราะศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มีการเตือนจากฝ่ายต่างๆและมีตัวอย่างจากพรบ2ล้านล้านบาทอยู่แล้ว
ท้ายสุด ในการออกแบบโครงการนี้ รัฐบาลควรคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนที่อายุน้อยกว่า 16 ขวบในปัจจุบันซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ไม่ให้เกิดความรู้สึกว่ามีความไม่เป็นธรรม เพราะประชาชนรุ่นนี้จำนวน 10 ล้านคน แม้จะเยาว์วัย แต่ก็เสียภาษีVATทุกครั้งที่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค กลับถูกจำกัดสิทธิ์โดยไม่มีเหตุผล
ทั้งหมดนี้ เท่ากับว่ารัฐบาลได้สร้างประเด็นเป็นที่ถกเถียงในสังคมนับตั้งแต่เริ่มเข้ามาบริหารประเทศเมื่อต้นเดือนกันยายนเป็นต้นมาถึงบัดนี้ไม่ได้มีความชัดเจนว่าปฏิบัติได้และจะเกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจอย่างคุ้มค่า
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com , https://hilight.kapook.com