"...เมื่อศึกษาต่อไปก็พบว่า หน่วยงานเหล่านี้ล้วนมีอำนาจ งบประมาณ และงานบริการจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน มีอิทธิพลต่อนักธุรกิจนักลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สังคมและผลประโยชน์ของชาติ แน่นอนว่า หากมีการใช้อำนาจหน้าที่อย่างบิดเบือน ทั้งดิน/น้ำ/ลม/ไฟ จะสำแดงเดชกลายเป็นแหล่งกอบโกยผลประโยชน์จากรัฐของคนบางกลุ่มบางพวก (Economic Rent) พูดง่ายๆ คือ มีเงินทั้งสีขาวสีเทาพรั่งพรูเข้ากระเป๋าใครบางคน..."
น่าตื่นเต้นมากเมื่อได้ฟังเรื่อง “ดิน/น้ำ/ลม/ไฟ” ที่กระทรวงมหาดไทย จาก รศ. ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ท่านอธิบายว่า
ดิน คือ กรมที่ดิน กุมอำนาจการออกหรือเพิกถอนโฉนด ให้บริการรังวัดที่ดินทั่วประเทศ
กรมโยธาธิการและผังเมือง นอกจากมีงบก่อสร้างมหาศาลแล้วยังมีอำนาจขีดแบ่งโซนการใช้
ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของราคาที่ดิน
น้ำ คือ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาคและโครงการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก
ลม คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มีงบประมาณและงบฉุกเฉินให้ใช้ง่ายจ่ายคล่อง
ไฟ คือ การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
เมื่อศึกษาต่อไปก็พบว่า หน่วยงานเหล่านี้ล้วนมีอำนาจ งบประมาณ และงานบริการจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน มีอิทธิพลต่อนักธุรกิจนักลงทุน การพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สังคมและผลประโยชน์ของชาติ
แน่นอนว่า หากมีการใช้อำนาจหน้าที่อย่างบิดเบือน ทั้งดิน/น้ำ/ลม/ไฟ จะสำแดงเดชกลายเป็นแหล่งกอบโกยผลประโยชน์จากรัฐของคนบางกลุ่มบางพวก (Economic Rent) พูดง่ายๆ คือ มีเงินทั้งสีขาวสีเทาพรั่งพรูเข้ากระเป๋าใครบางคน
กล่าวเฉพาะรัฐวิสาหกิจ 4 แห่งคือ การประปาและการไฟฟ้าทั้งส่วนภูมิภาคและนครหลวง มีงบลงทุน งบการตลาด งบประชาสัมพันธ์ การจ้างงาน มีงบจัดซื้อที่มักตกเป็นข่าวอื้อฉาว เช่น สารส้มและคลอรีนของการประปา ของการไฟฟ้าเช่น การลงทุนตามแผนพัฒนาระบบไฟฟ้า การก่อสร้างและซ่อมบำรุง การจัดซื้อระบบคอมพิวเตอร์ ซอฟท์แวร์และการดูแลระบบ เป็นต้น
ยังมีอีกศูนย์กลางอำนาจและผลประโยชน์ของมหาดไทยคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดที่กุมอำนาจการอนุญาตอนุมัติตามกฎหมายและกฎกระทรวงราว 153 ฉบับ กฎระเบียบอื่นๆ อีกนับพัน เช่น อนุญาตให้ตีไก่ ชนวัว เปิดบ่อนการพนัน งานออกร้านขายสินค้าที่สนามหน้าศาลากลางฯ จัดงานประกวดพระ ฯลฯ ผู้ว่าฯ ต้องทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการร่วม 200 คณะ เช่น กอ.รมน. จังหวัด, คกก. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ มีอำนาจกำกับดูแลทั้ง อบจ. อบต. และเทศบาลทั่วประเทศ ทำหน้าที่นายทะเบียนตามกฎหมายกว่าร้อยรายการ เช่น การมีและพกพาอาวุธปืน, การเปิดกิจการโรงแรม, ใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว ผู้ว่าฯ ยังได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง เช่น ได้โควต้าลอตเตอรี่
การใช้งบฉุกเฉินเมื่อเกิดภัยแล้ง ภัยหนาว น้ำท่วม ศัตรูพืชระบาด และธรรมเนียมจ่าย “ค่าน้ำหมึก” จากหน่วยราชการในจังหวัดก็มีเรื่องอื้อฉาวบ่อยอยู่ครั้ง
การที่อำนาจและผลประโยชน์เหล่านี้มีอยู่อย่างหนาแน่นแต่กระจัดกระจาย หลากหลายและมากพอ จึงเกิดการแบ่งสรรไปยังผู้เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึงไม่ว่าตำแหน่งหรือหน่วยงานใดโดยอัตโนมัติ เมื่อประกอบกับเส้นทางการเติบโตของข้าราชการและวิถีปฏิบัติภายในกระทรวง ทำให้เกิดสภาพเอื้อเฟื้อกันอย่างลงตัวทั้งองคาพยพขององค์กร
ฤทธิ์เดชเหล่านี้พอจะอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างได้ว่า
1.ทำไม มหาดไทยจึงเป็นกระทรวงเกรด A ที่นักการเมืองแถวหน้าต้องแย่งกันมาเป็นใหญ่
2.ทำไม “ข้าราชการ” มหาดไทยจึงเป็นอุปสรรคขัดขวางการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ใช่นักการเมือง
3.เหตุใด คนของมหาดไทยจึงมีข่าวความขัดแย้ง หักหลังหรือเล่นงานกันเองน้อยมาก
เรื่องราวนี้อาจเป็นคำอธิบายด้วยว่า ทำไม การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงไม่ถูกย้ายไปอยู่กระทรวงพลังงานเหมือนการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
กระทรวงมหาดไทยเป็นที่พึ่งใกล้ชิดของประชาชน เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เกิดความเป็นธรรม แต่หากปล่อยให้มีใครคดโกง ความเดือดร้อนจะเกิดได้ถึงระดับชุมชนรากหญ้าของสังคม
ตลอดหลายปีที่มีการผลักดันการปฏิรูประบบราชการ จึงมีการเสนอให้กระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้กำกับดูแล (Regulator) ให้มากขึ้น ลดการใช้อำนาจสั่งการลง (Director) เร่งกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาระบบงานให้โปร่งใสทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เคร่งครัดเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายตามความสามารถและระบบคุณธรรม ฯลฯ
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
8 พฤศจิกายน 2566