"...“สรรพรังสรรค์เสียง” หมายถึงนานาทัศนะของผู้คนต่อปรากฏการณ์ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว นับเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่หาได้ยากนัก และอาจเรียกได้ว่าเป็น “ต้นฉบับ” เพราะหนังสือเล่มนี้มาจากการเขียนขึ้นใหม่ สัมภาษณ์ใหม่ เรียบเรียงใหม่ ซึ่งเป็นปากคำประวัติศาสตร์เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี 14 ตุลาคม 2516..."
“เพียงความเคลื่อนไหว” เป็นถ้อยสัญลักษณ์การลุกขึ้นสู้ของ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่ง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เขียนไว้เป็นบทกวี
“สรรพรังสรรค์เสียง” หมายถึงนานาทัศนะของผู้คนต่อปรากฏการณ์ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว นับเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่หาได้ยากนัก และอาจเรียกได้ว่าเป็น “ต้นฉบับ” เพราะหนังสือเล่มนี้มาจากการเขียนขึ้นใหม่ สัมภาษณ์ใหม่ เรียบเรียงใหม่ ซึ่งเป็นปากคำประวัติศาสตร์เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี 14 ตุลาคม 2516
ประวัติศาสตร์ตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นำทัพเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้น ซึ่งในเวลานั้น สุกี้พระนายกอง แห่งกองทัพพม่า ยึดครอง กรุงศรีอยุธยา ในที่สุดกองทัพพม่าแตกพ่ายไปอย่างสิ้นเชิง พระเจ้าตากสินฯ ทรงสถาปนา “กรุงธนบุรี” เป็นราชธานีสยามหลังจากสามารถสยบ 4 คณะชุมนุมได้อย่างราบคาบ
บันทึกประวัติศาสตร์สำคัญในแต่ละยุคตามลำดับ ปีเดือนวัน ใช้ถ้อยคำกระชับตรงตามความเป็นจริงในเหตุการณ์สำคัญ เช่นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ผ่านการ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2560 เป็นบันทึกแบบกาลานุกรมประวัติศาสตร์ ที่สั้น เข้าใจง่าย และยังไม่เคยมีบันทึกเช่นนี้ที่ไหนมาก่อน
ส่วนที่สอง บันทึกแนวรบด้านศิลปวัฒนธรรมที่แสดงผ่านกวีและบทเพลง ภาพวาด และงานศิลปะของบรรดาศิลปินยอดฝีมือ
นอกจาก บทกวี “ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง” ของวิทยากร เชียงกูล บทเพลง “ดอกไม้จะบาน” ของจิระนันท์ พิตรปรีชา “ตื่นเถิดเสรีชน” ของรวี โดมพระจันทร์ (2515) “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” (2512) ของสุจิตต์ วงษ์เทศ “ค่ำนี้เหน็บหนาว” (2516) ของธีรยุทธ บุญมี “หยาดน้ำตาประชาไทยในวันนี้” (2516) ของวิสา คัญทัพ “หนทางแห่งหอยทาก” (2516) ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ “เพื่อมวลชน” ของกุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ “จากภูพานถึงลานโพธิ์” (2519) ของวัฒน์ วรรลยางกูร “ทะเลชีวิต” ของจิตร ภูมิศักดิ์ “เดือนหงายกลางป่า” ของรังสิต จงฌานสิทโธ “ดอกไม้ให้คุณ” ของหงา คาราวาน ซึ่งจัดวางประกอบภาพวาดของ 50 ศิลปิน ที่เขียนให้สำหรับงาน “สีสันเดือนตุลา” ในวาระครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา เปิดแสดงตลอดเดือนกรกฎาคม 2566 ณ มศว.ประสานมิตร
งานเขียนและบทปาฐกถาประวัติศาสตร์ของ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 3 ชิ้น คือ ปาฐกถาโกมล คีมทอง ปี 2517
จดหมายเปิดผนึกของนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงผู้ใหญ่ทำนุ เกียรติก้อง (จอมพลถนอม กิตติขจร) และบทความ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”
ถูกนำมาวางรวมกันไว้ เพราะเป็นข้อเขียนที่มีผู้คนอ้างถึงกันมากมาย เป็นประจำและมีพลัง ไม่ว่าเวลาจะเนิ่นนานมาหลายสิบปีก็ตาม เช่น “เราท่านมักจะได้ยินเสมอว่า ‘อุดมคติกินไม่ได้’ คันปากนัก อยากจะตอบเสียเหลือเกินว่าใครเล่าจะบ้าบอที่จะกินอุดมคติ หรือมิฉะนั้นก็มีผู้กล่าวว่า ‘ไอ้ที่คุณคิดจะทำนั่นมันเป็นอุดมคติ แต่ปฏิบัติไม่ได้’ ต้องตอบว่า สิ่งที่ดีนั้นปฏิบัติยาก ไม่ใช่ปฏิบัติไม่ได้ ต้องพยายามปฏิบัติให้ได้ สิ่งที่เลวนั้น จะปฏิบัติให้ง่ายสักปานใดก็ดีขึ้นมาไม่ได้” (ป๋วย อึ๊งภากรณ์ / ปาฐกถาโกมล คีมทอง 2517)
ในขณะที่ ปรีดี พนมยงค์ เขียน “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” โดยชี้ให้เห็นความสำคัญทางเศรษฐกิจ ว่า “ถ้าหากรัฐธรรมนูญอันเป็นแม่บทแห่งกฎหมายสอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจนั้น วิกฤตการณ์ทางสังคมก็ไม่เกิดขึ้น และประเทศชาติก็ดำเนินก้าวหน้าไปตามวิถีทางวิวัฒน์ (Evolution) อย่างสันติ ถ้าหากรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับความต้องการทางเศรษฐกิจของสังคม วิกฤตการณ์ก็ต้องเกิดขึ้นตามกฎธรรมชาติแห่งข้อขัดแย้งระหว่างสองสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน”
บางทีอาจจะไม่ทันคิดก็ได้ว่า ถนนราชดำเนินนั้น เป็นทั้งพื้นที่แห่งพระราชพิธีและเป็นพื้นที่แห่งการเคลื่อนไหวต่อสู้ของนักศึกษาประชาชน
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ และสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ สองนักวิชาการประวัติศาสตร์จึงเรียงร้อยประวัติศาสตร์ตั้งแต่ 2475 โดยชี้ให้เห็นพิพิธภัณฑ์เปิด (Open Museum) ประชาธิปไตยตั้งแต่หลักหมุดอภิวัฒน์ 2475 พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นสถาปัตยกรรมคลาสสิคแบบอิตาลีในยุคเรอเนสซองส์ สะพานมัฆวานรังสรรค์ สะพานผ่านฟ้าลีลาศ โรงหนังเฉลิมไทย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว สนามหลวง อนุสาวรีย์ทหารอาสา ม. ธรรมศาสตร์ โดยใช้สถานที่สำคัญเป็นอุปกรณ์บอกเล่าประวัติศาสตร์อย่างน่าสนใจยิ่ง
ในขณะที่ เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล และเสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ เขียนบทความ ชื่อ “ทางสองแพร่งของประชาธิปไตยไทย” โดยชี้ให้เห็นว่า “รัฐที่ดีจึงต้องบริหารความสมดุลระหว่างเสรีภาพเชิงบวกกับเสรีภาพเชิงลบ เพราะผลกระทบของเสรีภาพเชิงบวกที่มากเกินไปก็อาจนำไปสู่สงคราม หรือการละเลยเสียงของประชาชน ขณะที่ถ้าเน้นเสรีภาพเชิงลบอย่างสุดโต่งก็จะกลายเป็นการละทิ้งผู้คนอย่างแยกขาดจากสังคม”
อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนอาวุโสที่มีบทบาททางความคิดต่อสังคมไทยมายาวนาน สะท้อนผ่านการสัมภาษณ์ว่า
“ประชาธิปไตยเต็มใบ ครึ่งใบ นี่ต้องนิยามกันนะ แต่สิ่งหนึ่งที่จะได้คือเราจะเดินไปหาสาระของประชาธิปไตยมากขึ้นทุกที และสาระประชาธิปไตยสำหรับผม ประการแรกต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกเป็นพื้นฐาน มนุษย์จะต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพต้องนำไปสู่สังคมนิยม ต้องลดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน และเดี๋ยวนี้ไม่ใช่สังคมนิยมอย่างเดียว ต้องธรรมชาตินิยมด้วย คือต้องไม่เอาเปรียบธรรมชาติด้วย ต้องไปด้วยกัน”
และแน่นอน ผู้ประสานงานกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เดินแจกใบปลิวและถูกจับที่ประตูน้ำ เป็นหนึ่งใน 13 กบฏ บัดนี้เป็นศาตราจารย์ ธีรยุทธ บุญมี ได้ตกผลึกความคิดอย่างลึกซึ้งว่า “ผมคิดว่าตอนนี้ เสรีภาพ เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด แล้วเสรีภาพนี้ต้องมองกว้างกว่าเสรีภาพทางการเมือง มองกว้างกว่าเสรีภาพทางการพูด อย่างเสรีภาพทางการดำเนินชีวิต ทำธุรกิจ ดำเนินเศรษฐกิจ เสรีภาพทางสังคมที่จะคบหากับคนอย่างเปิดกว้างทางความคิด ไม่กลัว ลดช่องว่างทางชนชั้น เรารู้สึกเราเหมือนๆ กัน เท่าๆ กัน เราเป็นสังคมมากขึ้น เป็นประชาคมมากขึ้น หรือเป็นกลุ่มคนซึ่งทัดเทียมกันมากขึ้น แล้วเราก็ใช้เสรีภาพนี้มาตลอด แล้วสังเกตนะว่าไม่มีใครกล้าทวงสิ่งนี้ไปจากคุณ จากคนไทย มีนิดๆ หน่อยๆ ที่พยายามจะเหน็บเอาไป ตอดเอาไป เช่น ในการชุมนุมเรื่องนั้นทำไม่ได้เลย เรื่องนี้ทำไม่ได้ ต้องขออนุญาต ซึ่งผมรู้สึกว่าถ้าผมต้องไปขออนุญาต ผมคงไม่ทำดีกว่า สมัยก่อนเรารู้สึกไม่อยากไปสยบกับอำนาจเจ้าหน้าที่ แต่ตอนนี้เขาเขียนเป็นกฎหมายแล้ว
เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ผมว่าช่วยทำให้เศรษฐกิจเราพัฒนามา สังคมเราพัฒนามา การเมืองเราอาจจะพัฒนาน้อย มันพัฒนาตามรูปแบบของมันซึ่งจะต้องวิเคราะห์อีกแบบหนึ่ง แต่เราก็ผ่านมาเยอะ ก้าวมาเยอะนะ อย่างที่ผมบอกไม่มีใครกล้าเอาเสรีภาพไป คุณสังเกตดูให้ดี ไม่มีใครกล้าเอาไป ไม่มีนายกคนไหนกล้ามาละเมิดคนไทยในเรื่องการพูด การแสดงความเห็น”
“เชื่อว่าไม่มีใครเอาเสรีภาพไปจากสังคมไทยได้อีกแล้ว”
“ไม่มีแล้ว ไม่มีทาง” ธีรยุทธ บุญมี ตอบ
สำหรับ ศ. ประเวศ วะสี ผู้อาวุโสที่นำเสนอทัศนะอันมีคุณค่าต่อสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมา ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ไทยนี่ใครคิดว่าไม่ดี แต่ไปดูจริงๆ วัฒนธรรมไทยคือความมีน้ำใจ ความยืดหยุ่น ประนีประนอม แล้วสามารถพลิกความคิดได้เร็ว เหมือนสงครามกับคอมมิวนิสต์ที่ปัญญาชนเข้าป่า พอคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66 / 2523 ออกมา ยุติทันทีเลย นั่นคือการพลิก แล้วก็กลับเข้ามากลมกลืนกันไปหมด แบบไม่มีตะเข็บเลยกับคนที่เคยเข้าป่า ลี กวนยู บอกมีแต่คนไทยเท่านั้นที่ทำได้ เพราะฉะนั้น ต้องรู้ตรงนี้ว่าไทยมีจุดดี แล้วการทูตไทยที่เอาตัวรอดมาได้เพราะอาศัยตรงนี้ ความยืดหยุ่น ประนีประนอม เป็นประเทศเดียวที่เอาตัวรอดมาได้
จริงๆ อยากจะแนะนำคนรุ่นใหม่ให้ใช้วัฒนธรรมไทย แต่มีความรู้สากล วัฒนธรรมไทยคือ มีน้ำใจ มีความยืดหยุ่น ประนีประนอม อันนี้เป็นเครื่องมือ แล้วคนก็จะรักและเอ็นดู คนไทยไปต่างประเทศฝรั่งรักคนไทยหมดเลย เพราะคนไทยเป็นคนอ่อนโยน อันนี้เป็นจุดแข็งของไทย
เพราะฉะนั้นการเมืองคนรุ่นใหม่ ทำตัวเหมือนคนไทยก็จะน่ารัก คนก็จะรัก แต่มีอุดมคติ แล้วก็มีวิธีจัดการเก่ง คนรุ่นใหม่อยู่ในฐานวัฒนธรรมไทยที่มีน้ำใจ มีความอ่อนโยน มีความยืดหยุ่น ประนีประนอม เป็นจุดแข็งของไทย แล้วจะไปใช้กับต่างประเทศวันหลัง ใช้สร้างสันติภาพอะไรก็ได้ ใช้จุดแข็งของไทยแต่ว่ามีความรู้ระดับโลก แล้วมีการจัดการที่ดีด้วยผสมกันอย่างนี้
ขอให้คนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าร่วมสร้างประเทศไทยที่น่าอยู่ที่สุด ผมว่าเราสร้างได้นะ ถ้าเราจับประเด็นได้ เปลี่ยนบทเรียนมาสร้างประเทศไทยที่น่าอยู่ที่สุด เป็นแผ่นดินศานติสุข แล้วก็ช่วยให้เกิดสันติภาพในโลกด้วย”
และแน่นอน อดีตนายกรัฐมนตรี คุณอานันท์ ปันยารชุน ที่มีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยอย่างสูงยิ่ง ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจมาก ว่า “ประชาธิปไตยที่แท้จริงมันเป็นเรื่องของหลักการ แต่ประชาธิปไตยของไทยเรา หากเราหวังว่าถ้าเรามีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยแล้วอันนั้นคือประชาธิปไตย ผมบอกว่าไม่ใช่ เดี๋ยวนี้ผมไม่ค่อยใช้คำว่าประชาธิปไตย แต่ใช้คำว่า Democratic Governance คือประชาธิปไตยนี่มันต้องมีธรรมาภิบาลด้วย
ประชาธิปไตยไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครแพ้ใครชนะ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อใครชนะแล้ว คนๆ นั้นจะดูแลผลประโยชน์ของฝ่ายข้างน้อยด้วยหรือเปล่า ต้องมีธรรมาภิบาล ต้องมีความโปร่งใส ต้องมีความรับผิดชอบ มีอิสรภาพในการชุมนุม ออกความเห็น เดินขบวน ศาลต้องมีอิสรภาพและไม่ใช่ยุติธรรมอย่างเดียว ศาลต้องยุติธรรมและเที่ยงธรรมด้วย หนังสือพิมพ์ก็มีอิสรภาพ มีเดีย (Media) ก็มีอิสรภาพ แต่ไม่ใช่อิสรภาพที่จะด่าคนได้ตลอดเวลา อิสรภาพที่ใช้สร้างให้เกิดความเกลียดชังกันก็ไม่ใช่อิสรภาพ เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดว่ามีเดียจะต้องมีอิสรภาพ ถ้าคุณมีอิสรภาพจะต้องใช้อิสรภาพด้วยความรับผิดชอบ ต้องมีความโปร่งใส มันมีองค์ประกอบหลายๆ อย่าง
เพราะฉะนั้นผมบอกผมไม่ได้เน้นเรื่องประชาธิปไตย แต่ผมเน้นเรื่องธรรมาภิบาลในกรอบของประชาธิปไตยถึงใช้คำว่า Democratic Governance คำนี้ผมว่าผมเป็นคนแรกที่ใช้ในเมืองไทย หลายๆ ประเทศยังไม่เคยได้ยินคำนี้เลย”
อุดมทัศน์ของบุคคลสำคัญ ทั้งคุณอานันท์ อ.ประเวศ อ.สุลักษณ์ และ อ.ธีรยุทธ เป็นบทสัมภาษณ์ใหม่สุดและล่าสุด โดยพิภพ ธงไชย เป็นผู้สัมภาษณ์ บางข้อความที่คัดมาวางไว้ เพื่อให้สังคมไทยปัจจุบันได้ไตร่ตรองร่วมกัน
เมื่อประกอบเข้ากับบทความและข้อเขียนเลือกสรรของคนรุ่นเก่าและรุ่นปัจจุบัน จึงเป็นคมความคิดร่วมสมัย 50 ปี 14 ตุลา ที่มีค่ายิ่ง
หนังสือหรือเรียกอีกอย่างว่า สมุดบันทึก “เพียงความเคลื่อนไหว” 50 ปี 14 ตุลา ขนาด 7.5 x 9 นิ้ว กระดาษอาร์ต พิมพ์สี่สี จำนวน 560 หน้า มีเหรียญโลหะครึ่งซีก 2 ชิ้น เป็นเหรียญรำลึกวีรชน 14 ตุลา ออกแบบโดยศิลปินนิรนาม ผลิตโดยแพรนด้า จิวเวลรี่ ประกบปกหน้าและปกหลัง เป็นปกลายผ้าสีน้ำตาลเข้ม ทำให้หนังสือเล่มนี้เลอค่าขึ้นมาทั้งในทางคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความประณีตงดงามในการออกแบบ
สมุดบันทึกเล่มนี้ ควรตั้งราคาเล่มละ 1,500 บาท แต่กำหนดราคาจริงเพียงเล่มละ 699 บาท เพื่อให้สามารถเผยแพร่ได้ในวงกว้าง ผู้สั่งจองคือผู้บริจาคเงินเพื่อเด็กและเพื่อการปรับปรุงอาคารอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ให้เป็นพื้นที่สาธารณะ (Public Space) ของเยาวชนและประชาชนสืบไป / (ติดต่อที่ มูลนิธิเด็ก 02-8141481-7 / 097-2130647 / 097-2130648)