"...คำสั่งศาลดังกล่าวทำให้อดีตสหายที่เข้าป่ามากกว่า 3,000 คน รวมทั้งชาวบ้านและประชาชนที่ร่วมขบวนการปฏิวัติทั้งหมดกลับคืนสู่เมืองโดยปราศจากความผิดใดๆ นับเป็นหมุดหมายประวัติศาสตร์แห่งศานติธรรมวิถีครั้งสำคัญ ที่นำไปสู่การยุติสงครามประชาชน และเป็นการอวสานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย นับแต่นั้นมา..."
คำสั่งศาลล้มละลายกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ล 5598 / 2566 คดีที่การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ยื่นฟ้องแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) 11 คน ให้เป็นบุคคลล้มละลายคดีบุกรุกสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อ 24 พย. - 3 ธค. 51 โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เป็นผลให้ 11 บุคคล เช่น พลตรีจำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย ฯลฯ ตกสถานะบุคลล้มละลาย
เป็นคำสั่งที่ควรน้อมนำมาพิจารณาว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยควรก้าวข้ามความขัดแย้ง ทั้งปวง ไปสู่สามัคคีธรรมอันพึงปรารถนา
ความจริงมีบุคคลและองค์กรต่างๆ ใช้ความพยายามมาแล้ว เพื่อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ให้แก่ผู้ต้องโทษอันเนื่องมาจากความเห็นต่างทางการเมือง จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดผลที่เป็นจริงได้
ทำให้บรรดาแกนนำการเมืองภาคประชาชนทุกฝ่าย ที่ถูกจำขังกันไปแล้ว เช่น พิภพ ธงไชย พลตรีจำลอง ศรีเมือง สมศักดิ์ โกศัยสุข ดร. สุริยะใส กตะศิลา จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ฯลฯ บางคนสิ้นชีวิต บางคนยังถูกคุมขังอยู่ บางคนถูกปล่อยออกมาแล้ว บางคนยังมีคดีอื่นๆ ที่รอวันพิพากษา บางคนถูกพิทักษ์ทรัพย์ เพราะศาลสั่งล้มละลาย
ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงในฐานะเป็นคู่กรณีในยุคขวาพิฆาตซ้ายในช่วงปี 2519 จนเกิดการสังหารโหดในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ในปีนั้น ดุจเดียวกับเพื่อน พี่น้อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิสิตนักศึกษา มีอันต้องหลบลี้ไปอยู่ในเขตป่าเขา ซึ่งเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธ มีการต่อสู้แบบถึงเลือดถึงเนื้อ บาดเจ็บล้มตายกันไปนับร้อยนับพันคนทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายปฏิวัติ ชนิดที่พูดได้ว่า
“เลือดต้องล้างด้วยเลือด ให้มันแห้งเหือดความแค้นในใจ ยิง ปังปัง เราลูกประชา เอาเลือดมันมา ล้างแค้นเลือดไทย...”
(เพลง เลือดต้องล้างด้วยเลือด / จิตร ภูมิศักดิ์)
ผู้เขียนเคยถูกตีตราที่หน้าผากมาแล้วว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” แต่ตรานั้นก็ลบเลือนไป ดุจเดียวกับเพื่อนๆ เพราะได้รับผลพวงแห่งการสร้างสานสามัคคีธรรม ในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 66 / 2523 มีสาระสำคัญคือ รัฐบาลใช้แนวทางการเมืองนำการทหารสำหรับนักศึกษาประชาชน ที่เข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยอันสืบเนื่องมาจากกรณี 6 ตุลาคม 2519
คำสั่งศาลดังกล่าวทำให้อดีตสหายที่เข้าป่ามากกว่า 3,000 คน รวมทั้งชาวบ้านและประชาชนที่ร่วมขบวนการปฏิวัติทั้งหมดกลับคืนสู่เมืองโดยปราศจากความผิดใดๆ นับเป็นหมุดหมายประวัติศาสตร์แห่งศานติธรรมวิถีครั้งสำคัญ ที่นำไปสู่การยุติสงครามประชาชน และเป็นการอวสานของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย นับแต่นั้นมา
ราวหนึ่งปีล่วงมาแล้ว ผู้เขียนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศของไทยคนหนึ่ง ได้รับการเปิดเผยว่า
“วันหนึ่ง ได้คุยกับ ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในเวลานั้น ลีกวนยู เอ่ยปากถึงกรณีคนเข้าป่าคืนเมืองของประเทศไทย ด้วยคำสั่งนายกฉบับ 66 / 2523 ทำให้นักศึกษาประชาชนที่เป็นคู่ต่อสู้ทำสงครามประชาชนกับรัฐบาล เสียเลือดเนื้อและชีวิตไปมากมาย กลับคืนมาใช้ชีวิตในเมืองอย่างปกติสุขโดยไม่มีความผิดใดๆ โดยไม่ต้องเจรจาหยุดยิง ไม่ต้องมีใครมาไกล่เกลี่ย เป็นผลสำเร็จที่น่าทึ่งมาก
มีแต่ประเทศไทยเท่านั้น ที่มีคุณสมบัติพิเศษสามารถทำเรื่องยากๆ เช่นนี้ได้”
ได้ฟังคนระดับ ลี กวน ยู พูดเช่นนี้ จึงรู้สึกปิติและเห็นประจักษ์ว่า สังคมไทยมีอภัยทานเป็นอุปการธรรมมาแต่ครั้งโบราณที่จะหาชาติใดเสมอเหมือนไม่ได้
ก่อนหน้านี้มีกลุ่มคนที่ปรารถนาสามัคคีธรรมจำนวนหนึ่งได้เวียนพบปะพูดคุยกับอดีตอัยการสูงสุด อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สื่อมวลชนอาวุโส สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภาคประชาสังคมและบุคคลอื่นๆ จนตกผลึกเป็นร่าง พรบ. อำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ฉบับนี้ ถึงขั้นนำเสนอไปสู่รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ไปแล้ว
ร่าง พรบ. ฉบับนี้ เป็นร่างที่จะอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่เกิดจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกกล่าวหา ผู้ต้องหา จำเลย ผู้ต้องขังหรือผู้เสียหาย แต่จะไม่ครอบคลุมถึง 3 กรณีความผิดคือ
1.คดีกระทำความผิดฐานทุจริต
2.คดีอาญาที่ร้ายแรง
3.คดีความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ (กฎหมายอาญามาตรา 112)
และเพื่อมิให้เป็นปัญหาต่อการตีความในคดีอาญาร้ายแรง (2) จึงกำหนดให้มีบัญชีแนบท้าย
ร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งกำหนดฐานความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรมไว้ชัดแจ้ง เช่นความผิดต่อกฎจราจร ความผิดทางคอมพิวเตอร์ ความผิดทางวิทยุคมนาคม เป็นต้น
ในที่นี้รวมไปถึงการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้มีความผิด ทางแพ่งที่ประชาชนเป็นคู่กรณีต่อรัฐ
ฟังสรรพสำเนียง ทั่วไปแล้ว ไม่มีภาคส่วนไหนเลยที่จะคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำผิดในทางการเมือง
ข้อแตกต่างปลีกย่อยในรายละเอียด และเรื่องของระยะเวลา เป็นเรื่องที่สามารถพูดคุยกัน และหาจุดลงตัวได้
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ระหว่างพิธีกรรมรำลึกวีรชน คุณชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยกับผู้เขียนว่า พร้อมจะพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางออกให้แก่ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมฉบับนี้
ในวันนี้ รัฐบาลก็จับมือข้ามขั้วข้ามสีกันแล้ว พรรคเพื่อไทยกับพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอด 8 ปี ก็คล้องแขนมาเป็นรัฐบาลร่วมกัน สีเสื้อต่างๆ ล้วนละลายสีเจือจางลงไปมากแล้ว เหลือแต่ผู้ต้องโทษ ผู้รอการพิพากษาลงโทษ ผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ ที่ต้องทนทุกข์จากการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และกระบวนการยุติธรรมสามารถจะเอื้ออาทรได้
อุปสรรคสำคัญเฉพาะหน้ามี 2 ประการ
1.ทิฎฐิมานะของภาคการเมืองบางฝ่าย ที่ชี้ขาดว่า ตนเองจะต้องได้ 100 % ถ้าได้ไม่เต็มร้อย
แปลว่าผิดแนวทาง และจะไม่ยอมร่วมมือด้วย โดยไม่ยอมทำความเข้าใจว่า คนอื่นก็ต้องการ 100 %
เช่นกัน แต่ความเป็นจริงนั้น เป็นไปไม่ได้ มีแต่ต้องลดหย่อนในส่วนของตน แล้วไปเพิ่มให้คนอื่น
จึงจะมีทางออกมีทางไป
2.ความเฉื่อยเนือยของภาคการเมืองที่ไม่เห็นว่าการสร้างสานสามัคคีธรรมเป็นภารกิจ
ประวัติศาสตร์ที่จะต้องดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจัง ต้องมุ่งมั่นในการสร้างความเข้าใจระดมพลังอย่างเป็นฝ่ายกระทำที่จะนำเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมโดยไม่รอช้า แต่ละคนต่างถือว่าไม่ใช่หน้าที่ของตนจึงผลักให้เป็นภาระของคนอื่นจนทำให้เรื่องนี้กลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งไประลอกแล้วระลอกเล่า
สังคมไทยขัดแย้งกันด้วยความคิดต่างทางการเมืองมายาวนาน 18 ปีแล้ว เป็นสภาวะที่ทอนกำลังไปด้วยกันทุกฝ่าย ต่างฝ่ายต่างรู้สึกเหนื่อยหน่าย และต่างก็กล้ำกลืนฝืนทนกันไป โดยไม่ตระหนักว่า การอำนวยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือการสร้างสานสามัคคีธรรม เป็นภารกิจประวัติศาสตร์ ที่สุกงอมเต็มที่แล้ว
การเดินหน้าบรรลุภารกิจนี้ไม่เพียงผู้ต้องหา ผู้รับโทษ ผู้รอรับโทษ จะได้รับผลเท่านั้น แต่เป็นอภิมหากุศลที่สังคมไทยทั้งหมดจะได้ร่วมปิติ และได้ร่วมอนุโมทนาบุญครั้งนี้ด้วย
ประสาร มฤคพิทักษ์ : [email protected]