“...การที่เธอไม่เคยยอมแพ้ในสิ่งที่ทำอยู่ ไม่ใช่ เพราะต้องการให้คนมาสรรเสริญเยินยอในสิ่งที่จะค้นพบ แต่ทุกครั้งที่คนอื่นเห็นว่าตนเองล้มเหลว กลับคิดตรงกันข้าม คิดว่ามีความสำเร็จในชีวิต อย่างน้อยได้ทำในสิ่งที่ตนเองต้องการทำความผิดพลาดถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่สำคัญ คือการที่เราจะต้องลุกขึ้นมาสู้ เรียนรู้และจุดพลังเพิ่มขึ้นเพื่อไปสู่เป้าหมาย...”
ผลรางวัลโนเบล (Nobel Prize) สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ประจำปี 2566 ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก (Katalin Kariko) นักชีวเคมี สัญชาติฮังการี และศาสตราจารย์ ดร. นพ.ดรู ไวส์แมน (Drew Weissman) นายแพทย์ชาวอเมริกัน จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ผู้ร่วมกันคิดค้นและพัฒนาวัคซีน mRNA ซึ่งทั้งสองท่านไม่ใช่ใครอื่นไกล เป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2564 โดยที่นายแพทย์ไวส์แมน เป็นที่รู้จักดีในวงการแพทย์ไทย เพราะท่านเป็นที่ปรึกษาให้กับคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยร่วมค้นคิดวัคซีนต้านโรคโควิดในประเทศไทย
ศ. ดร.กอตอลิน กอริโก และ ศ. ดร. นพ.ดรู ไวส์แมน
ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ประจำปี 2566
ศ. ดร.ปีเตอร์ คุลลิส, ศ. ดร. นพ.ดรู ไวส์แมน และ ศ. ดร.กอตอลิน กอริโก
ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2564
พวกเราอาจจะรู้จัก mRNA จากวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท ไฟเซอร์ และบริษัท โมเดอร์นา วัคซีนที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 95 และช่วยป้องกันการสูญเสียที่มากกว่านี้ จากวิกฤติภัยโควิดเพราะอย่างน้อยในสหรัฐสามารถรักษาชีวิตของผู้ติดโควิดขั้นโคม่าได้ถึง 3 ล้านคน และที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลถึง 18 ล้านคน1/ อย่างไรก็ดี ในข้อเท็จจริง วัคซีน mRNA หรือชื่อเต็มว่า Messenger RiboNucleic Acid เป็นรูปแบบของวัคซีนที่ถูกค้นคิดมานานกว่า 20 ปีแล้ว ทั้งนี้ วัคซีนดั้งเดิมใช้โปรตีนของไวรัส หรือใช้ไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนแอ ฉีดเข้าไปเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้น เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น แต่สำหรับ วัคซีน mRNA จะลงลึกถึงระดับพันธุกรรมโมเลกุล ให้ร่างกายสร้างโปรตีนที่มีลักษณะคล้ายหนามของไวรัส เพื่อเป็นเกราะป้องกัน และกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อสู้กับไวรัส นอกจากนี้ วัคซีนยังมีไขมันอนุภาคนาโนที่ใช้ห่อหุ้ม mRNA ป้องกันการย่อยสลายของเอนไซม์ไรโบนิวคลีเอส มีความสำคัญในการปกป้องร่างกายจากไวรัสโดยถูกสร้างและปล่อยสู่ผิวหนัง เส้นผม และน้ำลาย
ผมยอมรับว่า อ่านเรื่อง mRNA อยู่หลายรอบแต่ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ และไม่แปลกใจเลยว่าในวงการแพทย์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม่ได้ให้คุณค่ากับวัคซีนประเภทนี้มากนัก เพราะเห็นว่าวัคซีนเดิม ๆ ถือว่ามีประสิทธิภาพมากอยู่แล้ว การต้องมาเสียเวลาแกะโจทย์ในระดับโมเลกุล แถมต้องหาวิธีไม่ให้ mRNA เป็นบ่อนทำลายเอนไซม์ในร่างกายที่ยังมืดมน ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก นักวิจัยหลายท่านที่ศึกษาเรื่องนี้ ต้องยอมยกธงขาวหันกลับไปศึกษาพัฒนาวัคซีนในแนวเดิม ๆ
สำหรับ ดร.กอริโก เธอกลับไม่เคยเปลี่ยนความคิด เชื่อมั่นว่ากำลังมาถูกทางแล้ว แม้ว่าจะถูกปฏิเสธทุนวิจัยนับครั้งไม่ถ้วน และถูกทางมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ลดตำแหน่งทางวิชาการถึง 4 ครั้ง เรียกได้ว่าการรับตำแหน่งศาสตราจารย์ถาวร (tenure) แทบจะเป็นไปไม่ได้
ดร.กอริโก เกิดที่ประเทศฮังการี ในครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อเป็นคนขายเนื้อ แม่เป็นนักบัญชี อาศัยในหมู่บ้านเล็ก ๆ ไม่มีน้ำประปา ตู้เย็น หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์ แต่ ดร.กอริโก เป็นเด็กเรียนเก่ง ชอบศึกษาชีววิทยา จนได้ลำดับที่ 3 ในการแข่งขันชีววิทยาของประเทศ และเรียนต่อจนจบปริญญาเอกสาขาชีวเคมี (biochemistry) ในปี 1982 จากมหาวิทยาลัยเซเกด (Szeged) อย่างไรก็ดีเธอตัดสินใจย้ายครอบครัวมาอยู่สหรัฐ ในปี 1985 โดยเธอกล่าวว่า “ฉันไม่ทราบว่าจะเผชิญอะไรข้างหน้า มีเงินติดตัวที่แอบซ่อนไว้ในตุ๊กตาของลูกสาวเพียง 900 ดอลลาร์ สรอ. หวังเพียงว่าจะได้ทำงานวิจัยที่ฉันรักและใฝ่ฝัน”
ภายหลังที่เธอได้เข้าทำงานเป็นนักวิจัย (postdoctoral fellow) ที่มหาวิทยาลัยเทมเปิล (Temple) สนใจในเรื่อง RNA มาตั้งแต่ต้น แต่ความพยายามของเธอในการพัฒนา RNA กลับถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เธอก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ แม้ว่าในช่วงเวลาหนึ่งต้องไปทำงานในห้องทดลองถึงประเทศเยอรมนี ดร.กอริโก มีความคิดว่า “การที่เธอไม่เคยยอมแพ้ในสิ่งที่ทำอยู่ ไม่ใช่เพราะต้องการให้คนมาสรรเสริญเยินยอในสิ่งที่จะค้นพบ แต่ทุกครั้งที่คนอื่นเห็นว่าตนเองล้มเหลวกลับคิดตรงกันข้าม คิดว่ามีความสำเร็จในชีวิต อย่างน้อยได้ทำในสิ่งที่ตนเองต้องการทำความผิดพลาดถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่สำคัญ คือการที่เราจะต้องลุกขึ้นมาสู้ เรียนรู้และจุดพลังเพิ่มขึ้นเพื่อไปสู่เป้าหมาย”
จนวันหนึ่งเธอได้พบกับ ศ. นพ. ดร.ไวส์แมน นายแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการสร้างภูมิคุ้มกันในห้องถ่ายเอกสารด้วยความบังเอิญ โดยทั้งสองต่างกำลังถ่ายสำเนาบทวิจัยในเรื่อง RNA ทั้งสองท่านให้สัมภาษณ์ว่า “เราต่างมีเป้าหมายเดียวกันที่จะตอบโจทย์นี้ให้ได้ แม้ว่าเธอจะชอบคิดนอกกรอบ ออกซ้าย ออกขวา ในขณะที่ ดร.ไวส์แมน จะมีความแน่วแน่ในการตอบโจทย์เป็นเส้นตรงมากกว่า แต่เราจะแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกันตลอดเวลา บางคืนเรียกว่า ไม่ได้หลับไม่ได้นอน” จนในที่สุดทั้งสองได้ค้นพบวิธีการสร้างไขมันอนุภาคนาโนเพื่อใช้ห่อหุ้ม mRNA และทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเป็นที่มาของวัคซีนโควิด-19 ในเวลาต่อมา
ศ. ดร. นพ.ดรู ไวส์แมน (ซ้าย) และ ศ. ดร.กอตอลิน กอริโก (ขวา)
ศ. ดร.กอตอลิน กอริโก ถ่ายรูปร่วมกับสามี และลูกสาว
ที่ได้รับเหรียญทองโอลิกปิก นครลอนดอน 2012
ดร.กอริโก กล่าวไว้ว่า “เราไม่ควรหมกมุ่นกับสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ การที่มีคนปฏิเสธให้ทุนวิจัย เราไม่ควรที่จะใช้เวลาโศกเศร้าเสียใจ แต่ควรมุ่งมั่นก้าวต่อไปที่จะทำให้สำเร็จ”เสียงสะท้อนของการต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อของ ดร.กอริโก ได้ดีที่สุดน่าจะมาจาก ซูซาน ฟรานเซีย(Susan Francia) ลูกสาวของเธอที่เป็นนักกีฬาพายเรือเหรียญทองโอลิมปิก 2 สมัย และได้เขียนลง Twitter ส่วนตัวไว้ว่า “ขอแสดงความยินดีกับแม่ด้วย ต่อจากนี้ฉันไม่ได้เป็นคนที่มีชื่อเสียงที่สุดในครอบครัวแล้วนะ แม่บอกเสมอว่า การพายเรือไม่ต่างกับการเป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่ต้องหันหลังพายเรือให้ถึงเส้นชัย แต่หากเรามุ่งมั่นกับสิ่งใด ๆ อดทน มีเป้าหมายไว้พุ่งชน ชัยชนะและการค้นหาคำตอบจะไม่เกินเอื้อม”
แม้ปัจจุบันทั้งสองท่านอายุเลย 60 ปีแล้ว แต่ยังมุ่งมั่นวิจัยพัฒนา mRNA ในการต่อสู้กับโรคร้าย มาลาเรีย ไข้หวัดใหญ่ ไปจนถึงโรคพิษสุนัขบ้า อย่างไม่หยุดยั้ง
รณดล นุ่มนนท์
9 ตุลาคม 2566
แหล่งที่มา :
1/ Kelsey Piper, The lifesaving, Nobel Prize-winning discovery that almost didn’t happen, VOX, October 5, 2023, 8:00 am EDT
https://www.vox.com/future-perfect/2023/10/5/23903292/katalin-kariko-drew-weissman-nobel-prize-medicine-mrna-vaccines-covid-coronavirus
2/ รู้จัก mRNA วัคซีนที่คนไทยเรียกหา, โรงพยาบาลวิชัยเวช
https://vichaivej-nongkhaem.com/health-info/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81mrna/
3/ Aditi Shrikant, Nobel Prize winner Katalin Karikó was ‘demoted 4 times’ at her old job. How she persisted: ‘You have to focus on what’s next’, CNBC, Published Fri, Oct 6 20232:33 PM https://www.cnbc.com/2023/10/06/nobel-prize-winner-katalin-karik-on-being-demoted-perseverance-.html?__source=sharebar%7Ctwitter&par=sharebar
4/ Sheena Goodyear, Nobel winner whose work led to COVID-19 vaccines inspired her
daughter to Olympic victory, CBC Radio · Posted: Oct 04, 2023 6:20 PM EDT | Last Updated: October 6 https://www.cbc.ca/radio/asithappens/nobel-olympic-mother-daughter-1.6986691