"...ศาสตราจารย์หลี่ กล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจถึงการหาจุดเติบโตใหม่ของเศรษฐกิจจีนในอนาคต ท่านเชื่อมั่นว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จะเป็นตัวสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ที่สามารถพลิกกลับถึงฐานรากโดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบได้ แล้วจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร? ท่านอธิบายย่อๆว่า สถาบันวิจัยของท่านและแผนกวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยชิงหวา(Tsinghua University) ได้ศึกษาเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนมั่นใจว่า ผลงานวิจัยเมทานอลสีเขียว (Green Methanol) จะเสร็จสมบูรณ์และเป็นไปได้ที่จำนวนมาใช้ในเร็ววันนี้ นั่นคือ การผสมผสานพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเข้าด้วยกัน โดยใช้แสงและลมที่ผันผวนเพื่ออิเล็กทรอไลสิสน้ำ (Water Electrolysis) เป็นกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้าโดยไม่ต้องปรับค่าสูงสุด ซึ่งกระบวนการอิเล็กทรอไลสิสน้ำโดยตรงก็เพื่อผลิตไฮโดรเจน จากนั้นรวมกับคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมผลิตถ่านหิน การผลิตเหล็ก และการผลิตพลังงานจากความร้อน เพื่อผลิตเมทานอล เมทานอลสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรงทดแทนน้ำมันดีเซลได้ บริษัทเครื่องยนต์สันดาปภายในของจีนใช้เวลามากกว่า 10 ปีในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถเผาไหม้เมทานอลได้ 100% และสามารถเผาไหม้ได้โดยตรงในเครื่องยนต์สันดาปภายใน มีก๊าซไอเสียที่ผลิตได้เพียง 1/20 ของน้ำมันดีเซล ซึ่งแทบจะไม่มีนัยสำคัญเลยและทำได้ดีกว่าค่ามาตรฐานการปล่อยมลพิษแห่งชาติ ที่รัฐบาลกำหนดไว้อย่างมาก ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า หากสามารถสร้างขนาดการลงทุนได้ตั้งแต่ 3-5 ล้านล้านหยวนขึ้นไป จะทำให้มูลค่าผลผลิตต่อปีอยู่ที่ 1-2 ล้านล้านหยวน..."
อสังหาริมทรัพย์ของจีนเป็นประเด็นที่ถกเถียงพูดคุยกันอย่างกว้างขวางในสื่อต่างประเทศและไทยมาตั้งแต่ต้นปีนี้ หลายคนต่างสงสัยว่า จีนจะผ่านพ้นวิกฤตที่ถาโถมเศรษฐกิจครั้งนี้ได้อย่างไร
ลองมาฟังอีกมุมมองหนึ่งของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติและมีอิทธิพลทางความคิดด้านเศรษฐศาสตร์การเงินของจีน Prof. LI Daokui (ศาสตราจารย์หลี่ เต้าคุย) ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของธนาคารประชาชนแห่งชาติจีน (People’s Bank of China) ในตำแหน่งกรรมการนโยบายการเงิน ตั้งแต่ปี 2010 ถึง 2012 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความคิดและการปฏิบัติด้านเศรษฐกิจของจีน ที่มหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University)
เวทีสัมมนา จัดโดย China Construction Bank Training Center
และ Chongyang Institute of Financial Studies แห่ง Renmin University of China
4 กันยายน 2023 ณ กรุงปักกิ่ง
ในช่วงเดือนกว่าที่ผ่านมา ท่านได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Bloomberg และได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกในเวทีต่าง ๆที่จัดขึ้นในจีน และล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ววันที่ 4 กันยายน 2023 China Construction Bank Training Center และ Chongyang Institute of Financial Studies แห่ง Renmin University of China ซึ่งเป็น Think Thank รุ่นใหญ่ของจีนที่มีบทบาทในเวทีระดับนานาชาติ จัดสัมมนาเรื่อง “สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินของจีนและอนาคตภายใต้ศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่กรุงปักกิ่ง ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่มีชื่อเสียงจำนวนมากในวงการเศรษฐกิจและการเงินได้เข้าร่วมการประชุม ศาสตราจารย์หลี่ เต้าคุย ได้รับเชิญกล่าวปาฐกถาพิเศษ
สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ ได้รวบรวมมุมมองของท่านที่มีต่อเศรษฐกิจจีนในช่วงเวลานี้ และทางออกในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจีนในอนาคต โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ศักยภาพการเติบโตของจีนในปัจจุบันขึ้นอยู่กับสองประเด็นหลัก โดยดูจาก ประเด็นแรก ยังมีความต้องการในตลาดหรือไม่ ปัจจุบันจีนมีผู้มีรายได้ปานกลางมากกว่า 400 ล้านคน และยังมีอีกเกือบหนึ่งพันล้านคนที่จำเป็นต้องเพิ่มรายได้ต่อไป ความต้องการหลายประการของคนกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการสนองตอบ
ประเด็นที่สอง กำลังการผลิตยังสามารถเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ กำลังการผลิตเกี่ยวข้องกับปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ การลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทรัพยากรมนุษย์ และประสิทธิภาพการผลิต ในแง่ของการลงทุนอย่างต่อเนื่อง สำหรับเศรษฐกิจของประเทศใหญ่ การลงทุนถือเป็นการออมภายในประเทศเป็นหลัก อัตราการออมของประเทศจีนอยู่ในระดับสูง อัตราการออมที่สูงสามารถเคลื่อนย้ายไปมาสร้างรายได้และแก้ไขปัญหาต่างๆได้ ในแง่ของทรัพยากรมนุษย์ เมื่อพิจารณาตามตัวชี้วัด เช่น จำนวนประชากรที่กระตือรือร้นและมีสุขภาพดีโดยรวม และระดับการศึกษาหรือทักษะแรงงานโดยเฉลี่ย จากการคำนวณภายในก่อนปี 2050 ทรัพยากรมนุษย์ของจีนจะยังคงเติบโต ประสิทธิภาพการผลิตก็ดีขึ้นเช่นกัน และศักยภาพด้านอุปทานและอุปสงค์ยังคงมีอยู่
กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจจีนยังมีศักยภาพในการเติบโต “แต่จีนต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้” ศาสตราจารย์หลี่ กล่าว และอธิบายว่า เศรษฐกิจและการเงินของจีนยังคงต้องวางลำดับความสำคัญอยู่ภายในประเทศ จีนต้องจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเงินในปัจจุบัน โดยแยกออกเป็น โรคเฉียบพลันที่ต้องรักษาตามอาการโดยไม่ชักช้า ส่วนโรคเรื้อรังต้องรักษาที่ต้นเหตุ
แล้วอะไรคือ “โรคเฉียบพลัน” และ “โรคเรื้อรัง” ?
โรคเฉียบพลันก็คือ สืบเนื่องจาก การชะลอตัวของการขายอสังหาริมทรัพย์ในจีน ห่วงโซ่ทุนของนักพัฒนาจึงตึงเครียด ในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่หลายอย่างตามมา กล่าวคือ รัฐบาลท้องถิ่นได้ควบคุมเงินทุนของนักพัฒนาอย่างเข้มงวด นักพัฒนาสามารถใช้เฉพาะเงินทุนที่ขายล่วงหน้าเท่านั้นเพื่อมาดำเนินโครงการในท้องถิ่นให้แล้วเสร็จและไม่อนุญาตให้นำกลับไปชำระหนี้
ในเวลาเดียวกัน เนื่องจากความเสี่ยงที่ห่วงโซ่ทุนของนักพัฒนาจะถูกทำลาย ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ๆ จึงได้เพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อแก่นักพัฒนา
นอกจากนี้ ภายใต้แรงกดดันของรัฐบาลทุกระดับและความคิดเห็นของสาธารณะ นักพัฒนาจึงมุ่งเน้นธุรกิจของตนไปที่ “การรับประกันการส่งมอบอาคาร” แทนที่จะ “ชำระหนี้” ส่งผลให้ปัญหาหนี้ของนักพัฒนาถูกถ่ายโอนไปอยู่ภาคการเงินทั้งหมด
ประเด็นนี้มีผลกระทบมากน้อยเพียงใด? ศาสตราจารย์หลี่ได้คำนวณคร่าวๆ พบว่า การผิดนัดชำระหนี้อาจเกิดขึ้นเกือบ 10 ล้านล้านหยวนในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ นำมาซึ่งการขาดแคลนเงินทุนในตลาดหุ้นมากกว่า 80 ล้านล้านหยวน และความตื่นตระหนกในตลาดตราสารหนี้มากกว่า 80 ล้านล้านหยวน
ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับ “โรคเฉียบพลัน” และแก้ไขอย่างเหมาะสมด้วยความพยายามทุกวิถีทางในการจัดการกับสิ่งเหล่านี้
ท่านได้แนะนำให้นักพัฒนาโครงการรายสำคัญร่วมมือกับสำนักงานใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ โดยธนาคารจะต้องให้ความสำคัญในการจัดหาสินเชื่อที่ผูกพันไว้ล่วงหน้า ในเวลาเดียวกัน นักพัฒนาไม่ควรปฏิบัติตามแนวทางดั้งเดิมในการเจรจาทีละโครงการ แต่ต้องติดต่อกับสำนักงานใหญ่ของธนาคารโดยตรง เพื่อให้ได้รับสินเชื่อ จากการคำนวณ ท่านยังเห็นว่า ตราบใดที่จำเป็นต้องมีสินเชื่อหลายหมื่นล้านหยวน การผิดนัดชำระหนี้ทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจำนวน 10 ล้านล้านหยวนก็สามารถแก้ไขได้
ในรายงานที่ ศาสตราจารย์หลี่ ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ไว้ ท่านประเมินว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ในเมืองใหญ่ที่สุดของจีนน่าจะกลับมาเติบโตอีกครั้งในอีก 4-6 เดือนข้างหน้า แต่เมืองเล็ก ๆ จะใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปีในการฟื้นตัว เพราะนักพัฒนาบางรายมีโครงการจำนวนมากในเมืองระดับ 3 และ 4
ดังนั้น สถานการณ์ทางการเงินของพวกเขาจะไม่ดีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ การเพิ่มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงขยายตัว ดังนั้น จึงต้องกำหนดนโยบายในการเพิ่มสินเชื่อของธนาคาร
“โรคเรื้อรัง” ส่วนใหญ่แสดงออกมาในสามด้าน
ด้านแรก ปัญหาหนี้ในท้องถิ่นจะต้องได้รับการแก้ไข หากหนี้ในท้องถิ่นไม่ได้รับการแก้ไข การดำเนินงานประจำวันของรัฐบาลท้องถิ่นจะได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง หากเศรษฐกิจจีนไม่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของรัฐบาลท้องถิ่น เศรษฐกิจจีนก็จะสูญเสียพลังและความมีชีวิตชีวา แล้วจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร?
ท่านเสนอว่า วิธีการนั้นไม่ยาก รัฐบาลกลางจะต้องออกพันธบัตรรัฐบาล จัดตั้งบริษัทปรับโครงสร้างสินทรัพย์ จากนั้นเลือกบางกรณีขึ้นมาโดยร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นให้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่
ด้านที่สอง จะต้องปกป้องความกระตือรือร้นในการลงทุนทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน ท่านกล่าวว่า มีข่าวที่ดีออกมาจากรัฐบาลว่า คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติเตรียมจัดตั้งสำนักพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชน ซึ่งท่านและเพื่อนร่วมงานได้เคยเรียกร้องให้มีการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนมาตลอด
เศรษฐกิจของภาครัฐมีคณะกรรมการกำกับและบริหารทรัพย์สินของรัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอยู่แล้ว แต่ในด้านเศรษฐกิจภาคเอกชน ยังห่างไกล มีเพียงสภาอุตสาหกรรมและหอการค้าซึ่งไม่เพียงพอ ประเด็นสำคัญ เนื่องจากสภาอุตสาหกรรมและหอการค้า และคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินของรัฐมีลักษณะที่แตกต่างกัน สภาอุตสาหกรรมและหอการค้าอยู่ในระบบ United Front ไม่ใช่ระบบของภาครัฐ
ดังนั้น เมื่อจัดตั้งสำนักพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนขึ้นแล้ว ท่านคาดหวังว่า อย่างน้อยระดับรองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจะเข้ามาเป็นผู้อำนวยการเพื่อให้สถานะเศรษฐกิจของภาครัฐและเศรษฐกิจของภาคเอกชนค่อนข้างสมดุล ในด้านการเงิน ธนาคารประชาชนแห่งชาติจีน หรือธนาคารกลางจำเป็นต้องแสดงบทบาทผู้นำในการจัดตั้งคณะกรรมการสินเชื่อเพื่อเศรษฐกิจภาคเอกชน ด้วยวิธีนี้ เชื่อว่าจะเพิ่มความแข็งแกร่งของแรงสนับสนุนให้กับเศรษฐกิจภาคเอกชนได้มากขึ้น
ด้านที่สาม จะต้องหาจุดเติบโตใหม่ให้กับเศรษฐกิจจีน ในอดีตโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์เป็นจุดเติบโตหลักของเศรษฐกิจ ท่านเชื่อมั่นว่าหลังจากการปรับตัวและฟื้นตัวทางเศรษฐกิจรอบนี้ อสังหาริมทรัพย์จะยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญมาก ท้ายที่สุดแล้ว ประมาณ 35% ของประชากรในประเทศจีนก็ยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท และประชากรเขตเมือง 65% นั้น ในจำนวนนี้ยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเองอีกมาก เช่น แม่บ้านทำความสะอาดและคนส่งของ ฯลฯ ความต้องการบ้านของคนเหล่านี้ยังมีอยู่มาก
ดังนั้น อสังหาริมทรัพย์จึงยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ แต่จะไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดอีกต่อไป โครงสร้างพื้นฐานอื่นยังคงมีความสำคัญ แต่ความสามารถในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังลดลง เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานแบบดั้งเดิมของจีนมีขนาดใหญ่มากและมีคุณภาพสูงมาก
ศาสตราจารย์หลี่ กล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจถึงการหาจุดเติบโตใหม่ของเศรษฐกิจจีนในอนาคต ท่านเชื่อมั่นว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จะเป็นตัวสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ที่สามารถพลิกกลับถึงฐานรากโดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบได้ แล้วจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร?
ท่านอธิบายย่อๆว่า สถาบันวิจัยของท่านและแผนกวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยชิงหวา(Tsinghua University) ได้ศึกษาเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนมั่นใจว่า ผลงานวิจัยเมทานอลสีเขียว (Green Methanol) จะเสร็จสมบูรณ์และเป็นไปได้ที่จำนวนมาใช้ในเร็ววันนี้ นั่นคือ การผสมผสานพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเข้าด้วยกัน โดยใช้แสงและลมที่ผันผวนเพื่ออิเล็กทรอไลสิสน้ำ (Water Electrolysis) เป็นกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้าโดยไม่ต้องปรับค่าสูงสุด ซึ่งกระบวนการอิเล็กทรอไลสิสน้ำโดยตรงก็เพื่อผลิตไฮโดรเจน จากนั้นรวมกับคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมผลิตถ่านหิน การผลิตเหล็ก และการผลิตพลังงานจากความร้อน เพื่อผลิตเมทานอล เมทานอลสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรงทดแทนน้ำมันดีเซลได้
บริษัทเครื่องยนต์สันดาปภายในของจีนใช้เวลามากกว่า 10 ปีในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถเผาไหม้เมทานอลได้ 100% และสามารถเผาไหม้ได้โดยตรงในเครื่องยนต์สันดาปภายใน มีก๊าซไอเสียที่ผลิตได้เพียง 1/20 ของน้ำมันดีเซล ซึ่งแทบจะไม่มีนัยสำคัญเลยและทำได้ดีกว่าค่ามาตรฐานการปล่อยมลพิษแห่งชาติ ที่รัฐบาลกำหนดไว้อย่างมาก ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า หากสามารถสร้างขนาดการลงทุนได้ตั้งแต่ 3-5 ล้านล้านหยวนขึ้นไป จะทำให้มูลค่าผลผลิตต่อปีอยู่ที่ 1-2 ล้านล้านหยวน
ถ้าเป็นดังที่ ศาสตราจารย์หลี่ เต้าคุย กล่าวมา เรื่องนี้ก็จะกลายเป็นจุดเติบโตใหม่ที่น่าเหลือเชื่อทีเดียวสำหรับเศรษฐกิจจีนในอนาคตอันใกล้ จึงน่าติดตามอย่างไม่กระพริบตา
ยุวดี คาดการณ์ไกล
สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.freepik.com