"...การสัมมนาจบลงด้วยการเสวนาที่ทำให้เห็นมุมมองของคนต่างวัย ต่างมิติ คำถามจาก ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้ดำเนินรายการ ต่อผู้ร่วมเสวนาว่า “มองไปในอนาคต เรายังมีความหวังหรือไม่” ซึ่งคุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ คนรุ่นใหม่ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทคซอส มีเดีย ที่บ่มเพาะจากการเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ จนกลายเป็นบริษัทแนวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเมืองไทย กล่าวว่า “ตราบใดที่เราให้โอกาสตนเอง มุ่งมั่นพัฒนา มีความอดทน ตนก็เชื่อว่าทุกอย่างมีทางออก” ถามตัวเองเสมอว่า เรามีโอกาสไหม มีความหวังไหม ไม่ได้รอโอกาส แต่สร้างความหวังให้เกิดขึ้นจริง เพราะ “ถ้าเราไม่มีความหวัง จะไม่มีดาวเหนือ” ทำให้ไม่มีเป้าหมายที่จะทำ ดังนั้น เคล็ดลับ คือความอดทนและความใส่ใจ ตามหลักอิทธิบาท 4 เพื่อให้เกิดดอกออกผล ไม่อยากให้หมดความหวังกับสิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้านดิจิทัล ต้องมองให้เป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค..."
“เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมต้องการให้แม่ได้รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และได้รับความเอาใจใส่และบริการอันดี ในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก” เป็นประโยคเริ่มต้นของบทความ
ที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกไกล (Southeast Asian Developments Advisory Group – SEADAG) เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 ก่อนนำมาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในชื่อ From Womb to Tomb ต่อมาได้แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”
บทความนี้ได้สะท้อนความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย พร้อมการตั้งคำถาม ว่ารัฐควรจะมีบทบาทการสร้างรากฐานชีวิตที่ดีให้แก่ผู้คนอย่างไร และเนื่องจากบทความได้ถูกตีพิมพ์ครบ 50 ปี จึงเป็นที่มาของ theme ว่าด้วยเรื่อง “คน” The Economics of Well-Being ในงานสัมมนาวิชาการแบงก์ชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา
ผู้นำเสนอบทความ พาผู้เข้าร่วมสัมมนาสำรวจความคิดถึงห้วงเวลา 50 ปี ว่าความใฝ่ฝันที่อาจารย์ป๋วย อยากจะให้ประชาชนมีชีวิตอย่างมีคุณภาพ ตั้งแต่เกิดจนตาย สำเร็จมากน้อยแค่ไหน ซึ่งสรุปได้ว่า ยังคงมีพื้นที่สาธารณะ ระบบการศึกษา ระบบประกันสังคม การจ้างงาน และการดูแลสิ่งแวดล้อม ที่ประชาชนยังเรียกร้องจากนโยบายรัฐ เพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำในสังคม การตอบสนองต่อโลกยุคดิจิทัล การเข้าสู่สังคมวัยชรา ไปจนถึงเร่งแก้สภาพปัญหาโลกรวน [1]
การสัมมนาจบลงด้วยการเสวนาที่ทำให้เห็นมุมมองของคนต่างวัย ต่างมิติ คำถามจาก ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้ดำเนินรายการ ต่อผู้ร่วมเสวนาว่า “มองไปในอนาคต เรายังมีความหวังหรือไม่” ซึ่งคุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ คนรุ่นใหม่ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทคซอส มีเดีย ที่บ่มเพาะจากการเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ จนกลายเป็นบริษัทแนวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของเมืองไทย กล่าวว่า “ตราบใดที่เราให้โอกาสตนเอง มุ่งมั่นพัฒนา มีความอดทน ตนก็เชื่อว่าทุกอย่างมีทางออก” ถามตัวเองเสมอว่า เรามีโอกาสไหม มีความหวังไหม ไม่ได้รอโอกาส แต่สร้างความหวังให้เกิดขึ้นจริง เพราะ “ถ้าเราไม่มีความหวัง จะไม่มีดาวเหนือ” ทำให้ไม่มีเป้าหมายที่จะทำ ดังนั้น เคล็ดลับ คือความอดทนและความใส่ใจ ตามหลักอิทธิบาท 4 เพื่อให้เกิดดอกออกผล ไม่อยากให้หมดความหวังกับสิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้านดิจิทัล ต้องมองให้เป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค
ในขณะที่คุณสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนและนักคิดชื่อดัง นามปากกา “นิ้วกลม” เติบโตมากับความหวัง สามารถเลือกเส้นทางชีวิตเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า ในยุคสมัยนี้
ความรู้สึกของผู้คนวนว่ายอยู่ที่ความโกรธที่เสียงของพวกเขาไม่ได้ยินและตอบสนอง ความกลัว จากความแตกต่าง และความเหลื่อมล้ำในสังคม และความเหงา จากความรู้สึกโดดเดี่ยว ดังนั้น การที่จะให้ความรู้สึกเหล่านี้เจือจางลง ต้องให้พวกเขารู้สึกว่ามีโอกาสในชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะการได้รับโอกาสทางการศึกษาที่ดีขึ้น ขจัดความเหลื่อมล้ำที่นับวันจะสูงขึ้น เพื่อเป็นต้นทุนเริ่มต้น เป็นไปตามที่อาจารย์ป๋วย ได้กล่าวว่า “ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัวผม ต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ”
ท้ายสุด คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน ได้ให้ข้อคิดอย่างน่าสนใจว่า การมีความหวังต้องมาด้วยความศรัทธา และต้องไม่ใช่เป็นภาระต่อสังคม แม้บทความของอาจารย์ป๋วย จะกล่าวถึงบทบาทของรัฐ ในการทำให้เรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่การทวงสิทธิเท่าไหร่คงไม่เพียงพอและพึงพอใจ ดังนั้น เราต้องทำหน้าที่ตนเองมากขึ้น รัฐให้เราได้เท่าไหร่ เรายิ่งต้องลุกขึ้นมาทำตัวเรา คนรอบตัว คนในองค์กร และในชุมชน ให้เข้มแข็งมากขึ้น ทั้งนี้ การวัดความเป็นอยู่ที่ดีไม่ได้วัดด้วยตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่วัดด้วยคุณภาพชีวิต สอดรับกับที่อาจารย์ป๋วย ได้เขียนไว้ในบทความดังกล่าวว่า “โลกสังคมที่ทุกคนไม่เพียงทุกข์ร่วมกัน แต่ควรเป็นสังคมที่สุขร่วมกันได้ด้วย” [2]
แหล่งที่มา:
[1] พลอยธิดา เกตุแก้ว “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ความหวัง ความฝัน” ของป๋วย อึ๊งภากรณ์ Decode, 3 มีนาคม 2565 https://decode.plus/20220304/
[2]Thamonwan KuahaIn “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ย้อนอ่านความฝันของป๋วย อึ๊งภากรณ์ A DayBulletin, 09/03/2020 https://adaybulletin.com/life-feature-from-womb-to-tomb-puey-ungphakorn/47552