"...เพลง 'คืนรัง' จึงเป็นปากคำประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยที่สะท้อนกระแส 'จากป่าคืนเมือง' ของนักศึกษาประชาชน ในช่วงปี 2524 – 2526 ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 66 / 2523 ลงนามโดย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการใช้นโยบายการเมืองนำทหาร หลังจากที่นักศึกษาประชาชน จำนวนกว่า 3,000 คนเดินทางเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เกิดปรากฏการณ์ 'ขวาพิฆาตซ้าย' อันหฤโหด ณ สนามหลวง และในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์..."
ควรบันทึกไว้ได้เลยว่า เพลง “คืนรัง” ของ หงา คาราวาน เป็นเพลงเส้นแบ่งประวัติศาสตร์ในการ “คืนเมือง” จากเขตป่าเขาของนิสิตนักศึกษา ประชาชน
ชูเกียรติ ฉาไธสง นักเขียน นักร้อง นักดนตรี บันทึกไว้ในหนังสือ “เส้นทางและวิถีของ ‘หงา คาราวาน’ ” ว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2525 ในงาน CONCERT FOR UNICEF
“หงาและเพื่อนร่วมวงเตรียมพร้อมอยู่หลังผ้าม่านผืนใหญ่บนเวทีหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเป็นเสมือนบ้านเก่าของพวกเขา ขณะที่พิธีกรสาวชื่อดัง จันทรา ชัยนาม กล่าวเชิญชวน
‘ขอเชิญพบกับวงคาราวานค่ะ’
คนดูแน่นขนัดล้นหอประชุมปรบมือกระหึ่ม ต้อนรับการคืนสู่เวทีธรรมศาสตร์อย่างอบอุ่น ม่านค่อยๆรูดเปิดออก แสงไฟสปอตไลท์สาดลงมาจนนัยน์ตาพร่าไปชั่วขณะ แล้วพยางค์เสียงแรกในมือหงาก็กรีดกังวาน ตามด้วยเสียงร้อง
“โอ้ยอดรัก ฉันกลับมา
จากขอบฟ้า ที่ไกลแสนไกล
จากโคนรุ้ง ที่เนินไศล
จากใบไม้ หลากสีสัน
ฉันเหนื่อย ฉันเพลีย ฉันหวัง......”
เพียงท่อนแรกของเพลง ด้วยสุ้มเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ ที่ทุกคนจำได้ สะกดให้ผู้คนในหอประชุมสะอื้น ไม่อาจกลั้นน้ำตาไว้ได้
ลองคิดดูเถิดว่า สี่สหายที่พวกเขาคุ้นเคย แห่งวงดนตรี ‘ท.เสน สัญจร’ หรือชื่อ ‘คาราวาน’ ในเวลาต่อมา หงา - สุรชัย จันทิมาธร กีตาร์ / ร้องนำ หว่อง - มงคล อุทก พิณ / ฮาร์โมนิก้า / โหวด อืด - ทองกราน ทานา ไวโอลิน / กีตาร์ / กลอง แดง - วีรศักดิ์ สุนทรศรี กีตาร์ ทั้ง 4 คนที่ประกอบวงกันมาแต่แรกเริ่ม เข้าป่าและคืนเมืองมากันครบ ไม่มีใครตกหล่น หลังจากที่ห่างหายจากเมืองไปนานกว่า 5 ปี ได้มาร่วมวงกันใหม่ในวงแบบอาคูสติก เปิดแสดงสดเพลง “คืนรัง” โดยไม่ได้เข้าห้องอัดเสียงมาก่อน
“ฉันเหนื่อย ฉันเพลีย ฉันหวัง
ฝากชีวิต ให้เธอเก็บไว้
ฝากดวงใจ ให้นอนแนบรัง
ฝากดวงตา และความมุ่งหวัง
อย่าชิงชัง ฉันเลยยอดรัก”
ลีลาเพลงที่หวาน เศร้า และพลิ้วไหว อ้อยสร้อยด้วยเสียงไวโอลินของ ทองกราน ทานา ประสานกับเสียงพิณ อันเสนาะเหมือนอยู่ในบรรยากาศแห่งพงไพร เสียงพร่ำถึงอดีตที่ฝากชีวิต ฝากดวงใจ ฝากดวงตา ยิ่งชวนให้ทุกคนในห้องประชุมสะเทือนใจ
“นานมาแล้ว เราจากกัน
โอ้คืนวัน นั้นแสนหน่วงหนัก
ดั่งทุ่งแล้ง ที่ไร้เพิงพัก
ดั่งภูสูง ที่สูงสุดสอย
โอ้ยอดรัก ฉันกลับมา
ดังชีวา ที่เคยล่องลอย
มาบัดนี้ ที่เราเฝ้าคอย
เจ้านกน้อย โผคืนสู่รัง
ฉันเหนื่อย ฉันเพลีย ฉันหวัง...”
ท่วงทำนองและเนื้อหา เพลง “คืนรัง” ในค่ำวันนั้น เป็นตัวแทนความรู้สึกทั้งหมดของอดีตสหายในหอประชุมวันนั้น เป็นประสบการณ์แห่งอารมณ์ห่วงหาอาทร เป็นชะตากรรมร่วมที่อดีตสหายล้วนผ่านพบมาด้วยกัน
คุณจันทรา ชัยนาม พิธีกรในวันนั้น สารภาพกับผู้เขียนว่า “ทันทีที่เพลงนี้บรรเลงขึ้น แดง(ชื่อเล่น) แอบเข้าไปร้องไห้อยู่หลังเวทีอย่างสะอึกสะอื้น ทั้งๆที่ไม่ได้เข้าป่าเข้าดงไปกับสหาย”
เพลง “คืนรัง” จึงเป็นปากคำประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยที่สะท้อนกระแส “จากป่าคืนเมือง” ของนักศึกษาประชาชน ในช่วงปี 2524 – 2526 ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 66 / 2523 ลงนามโดย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการใช้นโยบายการเมืองนำทหาร หลังจากที่นักศึกษาประชาชน จำนวนกว่า 3,000 คนเดินทางเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เกิดปรากฏการณ์ “ขวาพิฆาตซ้าย” อันหฤโหด ณ สนามหลวง และในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำสั่งนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 66 / 2523 เป็นสาเหตุสำคัญในการคืนสู่เมือง นั้นเป็นความจริง แต่มีปัจจัยอื่นที่ควรบันทึกไว้ด้วย
หลังจากกองทัพเวียดนามบุกยึดกรุงพนมเปญ ขับไล่เขมรแดงกลับเข้าป่าอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ 25 ธค. 2521 เป็นปัจจัยจากสถานการณ์อินโดจีนที่ส่งผลต่อขบวนปฏิวัติ อย่างสำคัญ
ในขณะที่ขบวนปฏิวัติของลาว เป็นฝ่ายเดียวกับเวียดนาม และฝ่ายนำของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยยึดโยงกับจีน ลาวซึ่งเคยเป็นหลังพิงของ พคท. ไม่อนุญาตให้ใช้ดินแดนลาวเป็นที่พักพิงอีกต่อไป สำนักของฝ่ายปฏิวัติไทยในลาวต้องย้ายเข้าเขตไทยทั้งหมด ส่วนหนึ่ง คนที่ป่วยไข้ ต้องไปอยู่จีน เพื่อการรักษาตัว โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังขอให้พรรคคอมมิวนิสต์ไทยปิดสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ที่ตั้งอยู่ในคุนหมิง มณฑลยูนนานตามคำขอร้องของรัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เพื่อแลกกับการที่ทางการจีนจะขอส่งผ่านความช่วยเหลือด้านอาวุธไปให้เขมรแดง ผ่านชายแดนไทยด้านทางสระแก้ว-ปราจีนบุรี เพื่อสู้รบกับกองทัพเวียดนามในกัมพูชา
พรรคคอมมิวนิสต์ไทย ตกอยู่ในสถานะลาวก็ไม่ให้อยู่ จีนก็กดดัน
ในขณะที่นักศึกษาปัญญาชนในเขตป่าเขาต่างทบทวนบทเรียนกันว่าสงครามประชาชนจะดำเนินไปแบบ “เลือดต้องล้างด้วยเลือด” หรือ “อำนาจรัฐมาจากปากกระบอกปืน” เป็นวิถีถูกต้องของสังคมไทยหรือไม่ คนไทยจะต้องฆ่ากันเองไปอีกนานเท่าไร อีกกี่ชีวิตที่ต้องสังเวยให้กับสงคราม แล้วจะจบลงอย่างไร
ทฤษฎีของมาร์กซ – เลนิน – เหมา เจ๋อตง ที่มุ่งหมายให้กรรมกรชาวนา ต้องยึดอำนาจรัฐ ทำให้เกิดระบบนารวม ไม่มีกรรมสิทธิ์ส่วนตัว ประชาชนทุกคนเป็นหน่วยการผลิตที่ต้องพลีเหงื่อแรงให้แก่รัฐ โดยปราศจากเงื่อนไข เช่นนี้ เป็นวิถีทางที่เหมาะสมหรือไม่
การต่อสู้ทางความคิดในหมู่นักศึกษาปัญญาชนแผ่กระจายไปทั่วราวป่า ในขณะที่รัฐบาล เกรียงศักดิ์ ต่อเนื่องถึงรัฐบาลเปรม ก็เปิดทางให้คนป่าคืนเมืองโดยไร้ความผิดใดๆ
แปลว่าในช่วง ปี 2522 – 2525 นั้น ขบวนของนักศึกษาประชาชน ข้องใจในแนวทางปฏิวัติที่ พคท. เป็นผู้นำ จึงเกิดการปริร้าว และเกิดภาวะป่าแตกตามมา
นอกจากเพลงคืนรัง ที่สะท้อนว่า “โอ้ยอดรัก ฉันกลับมา ดังชีวาที่เคยล่องลอย มาบัดนี้ที่เราเฝ้าคอย เจ้านกน้อยโผคืนสู่รัง ฉันเหนื่อย ฉันเพลีย ฉันหวัง .....” แล้ว
อีกเพลงหนึ่งที่ให้อารมณ์ความรู้สึกใกล้เคียงกัน คือเพลง คิดถึงบ้าน ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ เพลง เดือนเพ็ญ ผลงานเขียนของ อัศนี พลจันทร์ หรือนามปากกาว่า “นายผี” ใช้ชื่อจัดตั้งในป่าว่า “สหายไฟ” ใช้ทำนองพม่าแห่ 2 ชั้น
เดือนเพ็ญแสงเย็น เห็นอร่าม นภาแจ่มนวลดูงาม เย็นชื่นหนอยามเมื่อลมพัดมา
แสงจันทร์นวลชวนใจข้า คิดถึงถิ่นที่จากมา คิดถึงท้องนาบ้านเรือนที่เคยเนา.....
กองไฟ สุมควายตามคอก คงยังไม่มอดดับดอก จันทร์เอยช่วยบอกให้ลมช่วยเป่า
โหมไฟให้แรงเข้า พัดไล่ความเยือกเย็นหนาว ให้พี่น้องเฮานอนหลับอุ่นสบาย.....
เรไรร้องดังฟังว่า เสียงเจ้าที่เฝ้าคอยหา ลมเอยช่วยมากระซิบข้างกาย
ข้ายังคอยอยู่มิหน่าย มิเลือนห่างจากเคลื่อนคลาย คิดถึงมิวายที่เราจากมา.....
ลมเอย ช่วยเป็นสื่อให้ นำรักจากห้วงดวงใจ ของข้านี้ไปบอกเขา น้ำ นา
ให้เมืองไทยรู้ว่า ไม่นานลูกที่จากมา จะไปซบหน้าแทบอกแม่เอย.....
เพลงนี้มาแพร่หลายกันจริงจัง เมื่อวงดนตรีเพื่อชีวิตกลับคืนเมืองกันมาแล้ว ตอนอยู่ในป่า มีการร้องกันในวงจำกัด
“คิดถึงถิ่นที่จากมา คิดถึงท้องนาบ้านเรือนที่เคยเนา”
“ให้เมืองไทยรู้ว่า ไม่นานลูกที่จากมา จะไปซบหน้าแทบอกแม่เอย”
เนื้อหาและลีลาเช่นนี้ มีนัยว่า พคท. ไม่ชอบใจเพราะบ่งบอกถึงลักษณะของชนชั้นนายทุนน้อยที่มีท่าทียอมจำนน จึงไม่ยอมให้เผยแพร่ เราจึงไม่ได้ยินเพลงนี้ออกอากาศทางวิทยุ สปท.
คุณโกลิศ พลจันทร์ บุตรชายของอัศนี บอกกับผู้เขียนว่า
“หลังจากไปตั้งสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย ที่กรุงฮานอย เวียดนาม คุณพ่อได้รับมอบหมายจากพรรคให้ไปแปลวรรณกรรมของ เหมา เจ๋อ ตง ที่ปักกิ่ง ด้วยความคิดถึงบ้านจึงแต่งเพลงนี้ขึ้น ในเนื้อเพลงมีคำว่า ลม อยู่ 4 แห่ง เพราะคุณแม่มีชื่อจัดตั้งว่า สหายลม ความจริงคุณพ่อไม่ได้มีความคิดจะยอมจำนนเลย แต่อยากกลับมาสู้ มาปฏิวัติอยู่ในเขตป่าเขาของประเทศไทย จึงเขียนเพลงด้วยอารมณ์คิดถึงบ้าน”
อย่างไรก็ตาม เพลงคิดถึงบ้านนี้เป็นตัวแทนอารมณ์ความรู้สึกอยากกลับบ้านของนักศึกษาปัญญาชนในยุคก่อนคืนเมืองได้
และหงา คาราวานนั้นเอง ในระหว่างอยู่ป่าเขต จ. น่าน ได้ต่อเพลงนี้มาจาก หมอตุ๋ย เป็นหมอพื้นบ้านที่เป็นญาติกับอัศนี พลจันทร์
กลับมาที่เพลง “คืนรัง” อันลือลั่น
“หงา แต่งเพลงนี้ตอนไหน” ผู้เขียนถามตรงกับหงา คาราวาน
“หลังจากอยู่ป่ามาหลายปี ผมคืนเมืองตอนอยู่ที่เขตผาจิ - ผาช้าง จ.น่าน แล้วมาลงจากภู ที่ จ.พะเยา เมื่อเดือน เมษายน 2525
พอกลับมาถึงบ้าน ก็คิดถึงเพื่อน คิดถึงบรรยากาศในป่าเขา ซึ่งเราใช้ชีวิตอยู่กว่า 5 ปี อารมณ์ผิดหวัง อารมณ์หวลหา ก็เลยเขียนเพลงนี้ขึ้น ก่อนจะขึ้นเวทีคอนเสิร์ต ฟอร์ ยูนิเซฟ ไม่กี่วัน”
“แล้วทำไมถึงใช้คำว่า ‘โอ้ยอดรัก’ ” ผู้เขียนซักต่อ
“ผมไม่ได้หมายถึง รักของหนุ่มสาว
ยอดรัก เป็นคำแทนมิตรสหายและบรรยากาศทั้งหมดในเขตป่าเขาที่เราได้มีประสบการณ์ร่วมกันในช่วงหนึ่งของชีวิต การปฏิวัติจะแพ้หรือชนะนั่นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ความผูกพันในความเป็นมนุษย์มันอยู่ในใจ ลืมไม่ได้และเป็นสิ่งมีคุณค่า”
เพลง “คืนรัง” ในวันนั้น กลายเป็นไฮไลท์ของงาน CONCERT FOR UNICEF ที่ทุกคน เก็บรับไว้ในความทรงจำอย่างไม่อาจจะลืมได้
มันไม่ใช่เพียงก่อเกิดพลังร่วมทางอารมณ์เท่านั้น แต่ “คืนรัง” เป็นปากคำประวัติศาสตร์ ของสังคมไทย ที่ในยุคหนึ่งนั้น เรามีบทเรียนร่วมกันว่า ความไม่เป็นธรรม และการข่มเหงรังแก นำไปสู่การต่อสู้อย่างรุนแรง และยังได้บทเรียนบทต่อมาอีกว่า สำหรับสังคมไทยแล้ว การต่อสู้แบบ “เลือดต้องล้างด้วยเลือด” เป็นหนทางที่นำสู่ความพ่ายแพ้ด้วยกันทุกฝ่าย
ความเชื่อต่อลัทธิอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้เกิดความแตกร้าวมากกว่าจะเกิดสันติธรรม
การแบ่งขั้วแยกข้าง แล้วใส่ฟืนเติมไฟลงไป จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม มีแต่จะทำให้สังคมแตกร้าวกันหนักหน่วงยิ่งขึ้น
เพลง “คืนรัง” อาจน้อมนำให้สังคมไทย ช่วยกันคิดหรือไม่ว่า ขนาดสงครามประชาชนที่ต่อสู้กันมาแบบถึงเลือดถึงเนื้ออย่างยืดเยื้อยาวนานเกือบ 20 ปีนั้น ยังสามารถยุติได้
เช่นนี้แล้ว ยุคปัจจุบันที่มีความขัดแย้งแตกแยกแบบแบ่งสีแบ่งขั้วกันมายาวนาน หากสังคมไทยจะคืนเมตตาธรรมให้แก่กันและกัน จะเป็นไปไม่ได้เชียวหรือ