"...เจ้านายหญิงผู้สูงศักดิ์ ไม่ได้เป็นตัวละครในพงศาวดารพม่า ไม่ได้เป็นพระประยูรญาติกับเจ้านายองค์ใดในนวนิยายผู้ชนะสิบทิศ หนำซ้ำเป็นเจ้านายของฝ่ายสยาม เหตุใดจึงเข้าไปมีบทบาทขัดขวางเส้นทางรักของตะละแม่กุสุมา..."
“ข้าพเจ้ารักตะละแม่จันทราด้วยใจภักดิ์
รักตะละแม่กุสุมาด้วยใจปอง”
เป็นอารมณ์รักของจะเด็ด ยอดขุนพลแห่งนวนิยายผู้ชนะสิบทิศ ที่ลือลั่นในฟากฟ้าวรรณกรรมไทย ในยุค 2477 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
จะเด็ด จันทรา กุสุมา ไขลู สีอ่อง เป็นตัวละครที่โลดแล่นอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของบรรดาแฟนคลับของยาขอบ ถึงขนาดคนอ่านไม่รอซื้อหนังสือบนแผง แต่ไปตามอ่านแบบบรรทัดต่อบรรทัดกันที่สำนักพิมพ์ ในวันที่นิตยสารกำลังตีพิมพ์เรื่องผู้ชนะสิบทิศเป็นตอนๆ เรียกว่าขออ่านกันตั้งแต่หมึกยังไม่ทันแห้ง
ใครที่ติดตามเบื้องหลังเพลง “ผุ้ชนะสิบทิศ” จะรับรู้ได้ว่า เพราะเหตุไม่มีเงินซื้อหนังสือ ครูไศล ไกรเลิศ และชรินทร์ (งามเมือง) นันทนาคร นั้น ตระเวนไปตามร้านหนังสือแถวเวิ้งนคร-เกษม แล้วหยิบเอาหนังสือผู้ชนะสิบทิศมายืนอ่าน อาแปะเจ้าของร้านแสดงความไม่พอใจด้วยการเอาไม้ขนไก่มาทำทีปัดฝุ่นแผงหนังสือ เพื่อบอกให้รู้ว่าอย่ามาอ่านหนังสือฟรีที่นี่ ทั้งสองคนต้องเร่ไปตามอ่านที่ร้านหนังสืออื่น เพียรอ่านผู้ชนะสิบทิศจบทั้ง 8 เล่ม จึงแต่งเพลง “ผู้ชนะสิบทิศ” ขึ้นมากลายเป็นเพลงอมตะเพลงหนึ่งของสังคมไทย
ที่เรียกว่ารักซ้อนซ่อนรักของจะเด็ดนั้น เป็นนิยาย แต่ผู้ที่ขัดขวางเส้นทางรักของตะละแม่กุสุมา ซึ่งเป็นหนึ่งในคนรักของจะเด็ดนั้นเป็นเรื่องจริง
ที่เรียกว่าเป็นนิยายนั้น ยาขอบ หรือโชติ แพร่พันธ์ ผู้ประพันธ์ได้เล่าถึงข้อเสนอแนะของ ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ว่า
“ศรีบูรพา แนะให้ข้าพเจ้าโจนเข้าไปในชนิดของเรื่องที่ผู้อ่านกำลังต้องการ แต่ให้สติว่าควรถือเอาการบำเรอผู้อ่านด้วยความสนุกและให้งดงามด้วยศิลปของการประพันธ์ยิ่งกว่าการกอดต้นฉบับพงศาวดารเดิมๆ ให้แน่นไว้ ข้าพเจ้าเชื่อคติของนักเขียนมีชื่อผู้นี้ เชื่อจนความเห็นของ ‘ศรีบูรพา’ ที่ว่าควรให้ชื่อ ‘ยาขอบ’ ที่ใช้เขียนแต่เรื่องตลกขบขันนี้แหละ มาเขียนเรื่อง (ปลอม) พงศาวดาร เพื่อให้ผู้อ่านเห็นชื่อยาขอบแล้วจะได้สงสัยว่านี่แกจะพาเรื่องรบๆ รักๆ ไปได้ตลอด รอดฝั่งอย่างไรกัน ข้าพเจ้าเริ่มเรื่องชื่อ ‘ยอดขุนพล’ โดยเคร่งในคติที่ว้าจะบำเรอผู้อ่านให้สนุกยิ่งกว่ากอดพงศาวดารเดิม”
ในคำนำของยาขอบ ที่เขียนไว้ในเรื่อง “ยอดขุนพล” (ชื่อเดิมของ ผู้ชนะสิบทิศ) ระบุว่า
“เรื่องยอดขุนพลนี้ ข้าพเจ้าเขียนจากข้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารพม่าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ หน้า 107 ระหว่างบรรทัดที่ 11 เหตุที่เสนอโดยละเอียดดังนี้ ก็เพื่อที่จะบอกให้ท่านผู้อ่านทราบว่า เมื่อตัวจริงมีอยู่ในพงศาวดาร 8 บรรทัด แต่เรื่องยอดขุนพลมี 3,224 บรรทัด”
8 บรรทัดในพงศาวดารพม่าที่ยาขอบอ้างถึง คือ
“ราชกุมาระกุมารีแลจะเด็ดทั้ง 3 ก็เล่นหัวสนิทสนมเจริญวัยมาด้วยกัน ในพระราชวังเมืองตองอูจนรุ่นขึ้น อยู่มาวันหนึ่ง พระราชเทวีทรงสังเกตเห็นอาการสนิทสนมกันอย่างไม่ชอบกล เหลือจะอภัยโทษได้ ในระหว่างพระราชบุตรีกับของจะเด็ดบุตรพระนมของพระราชกุมารมังตรา อันเป็นอนุชาต่างพระมารดาของพระราชธิดาองค์นั้น”
“จึงกราบบังคมทูลฟ้องพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์กริ้ว พระมหาเถรขัติยาจารย์ขอพระราชทานโทษจึงโปรดอภัยให้ แล้วตรัสให้ไปรับราชการเป็นเจ้าพนักงานผู้น้อยอยู่ในกรมวัง จะเด็ดพากเพียรพยายามเอาใจใส่ในราชการ โดยจงรักภักดีอย่างแข็งแรงที่สุด จึงได้เลื่อนยศบรรดาศักดิ์ขึ้นโดยลำดับ จนได้เป็นนายทหารมีตำแหน่งแลยศสูง”
จากข้อความนี้เอง ที่ยาขอบเรียงร้อยเป็นผู้ชนะสิบทิศได้ถึง 8 เล่ม มีอักษรมากกว่า 1.5 ล้านตัวอักษร ซึ่งความจริงแล้วนักเขียนร่วมสมัย เช่น อาจิณ จันทรัมพร ทองอิน บุณยเสนา (เวทางค์) ชลอ เภกะนันท์ เพื่อนสนิทต่างยอมรับว่า ยาขอบได้อ่านพงศาวดารพม่า สามก๊ก ราชาธิราช มหาภารตยุทธ์ และหนังสืออื่นๆ มากมาย ที่เปล่งประกายผู้ชนะสิบทิศ ให้มีความอลังการ ทั้งในสนามรบและสนามรักอย่างถึงลูกถึงคน
เจ้านายหญิงผู้สูงศักดิ์ ไม่ได้เป็นตัวละครในพงศาวดารพม่า ไม่ได้เป็นพระประยูรญาติกับเจ้านายองค์ใดในนวนิยายผู้ชนะสิบทิศ หนำซ้ำเป็นเจ้านายของฝ่ายสยาม เหตุใดจึงเข้าไปมีบทบาทขัดขวางเส้นทางรักของตะละแม่กุสุมา
พระพี่นางของพระเจ้ามังตราแห่งเมืองตองอู คือ ตะละแม่จันทรา ซึ่งเป็นคนรักของจะเด็ดอยู่แล้ว แต่จะเด็ดได้ไปพบรักกับตะละแม่กุสุมา พระราชธิดาแห่งเมืองแปรผู้ซึ่งถูกสอพินยา พระญาติของตนหลอกลวงและถูกขยี้พรหมจรรย์ไปแล้ว แต่จะเด็ดก็มีใจให้แก่สตรีทั้งสองว่า “รักตะละแม่จันทราด้วยใจภักดิ์ รักตะละแม่กุสุมาด้วยใจปอง”
ยาขอบได้ปูพื้นให้พระญาติวงศ์ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งจันทราได้เห็นคล้อยด้วยกับการอภิเษกสมรสคู่กันเป็นชายหนึ่งหญิงสอง
แต่พระองค์เจ้าเฉิดโฉม พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นแฟนคลับของผู้ชนะสิบทิศ ประเภทเกาะติดขอบสนาม เมื่ออ่านผู้ชนะสิบทิศถึงตอนนี้ พระองค์ “ทนไม่ไหวที่จะเด็ดจะให้สตรีที่ถูกฉุดคร่าจนเสียความบริสุทธิ์แล้วมาเข้าสู่พิธีอภิเษกเชิดหน้าชูตาคู่กับตะละแม่จันทรา ซึ่งเป็นหญิงพรหมจารีและดีพร้อม” จึงเดินทางไปหายาขอบถึงสำนักพิมพ์
ด้วยการแต่งกายและท่วงท่าแห่งเจ้านายหญิงผู้สูงศักดิ์ เจ้านายหญิงบอกว่า
“ไม่มีใครเขาจะพิเรนทร์หรอก พ่อเอ๋ย”
ยาขอบยืนยันว่า ตนได้วางโครงเรื่องไว้อย่างนั้นแล้ว อีกฝ่ายขึ้นเสียงขึงขังว่า
“พ่อยาขอบจะเขียนอย่างนั้นไม่ได้เป็นอันขาด” แล้วอ้อนวอนว่า
“พ่อยาขอบช่วยฉันหน่อยได้ไหม นึกว่าเหมือนหลานช่วยย่าให้ตายอย่างมีความสุขว่าหลานไม่ได้ทำผิด ฉันเตือน เขาก็ยกให้ไม่ทำ เอ้าใครผิดใครถูกไม่ต้องพูดกัน เอาแต่เพียงพ่อเปลี่ยนตามฉัน นึกว่าทำบุญให้คนแก่ตายสบายใจได้ไหม”
ยาขอบเขียนเล่าไว้ในนิตยสารรายปักษ์ โบว์แดง ฉบับ 26 วันที่ 16 กพ. 2490 ว่า
“ข้าพเจ้างงงันเหมือนโดนทุบหัว อีกใจหนึ่งก็เศร้านัก เมื่อคิดว่า โอ้ปราสาทหลังงามของเราเอ๋ย ยาขอบรำพัน หลังการรับปากว่าจะเปลี่ยนถวาย ตามที่ประสงค์
กว่าจะดึงเอากุสุมามาแต่งงานกับจันทราได้ ก็ได้ผูกโยงเหตุผลแวดล้อมเสียแน่นหนา จนเป็นเงื่อนตาย ปัญหาก็คือ จะแก้เรื่องไม่ให้เสียรูปรส...แบบไหนดี
ตัวละครสำคัญ และมีน้ำหนักจะห้ามปรามจะเด็ด เช่น ตัวตะละแม่จันทรา พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ หรือมังสินธู มหาเถรอาจารย์ ก็เอามาสนับสนุนข้างให้จะเด็ดแต่งงานพร้อมกันเสียแล้ว พวกนี้จะกลับความคิดข้างไม่ยอมขึ้นมา ก็บ้าเต็มทน
จึงต้องหาตัวใหม่ ใครหนอ ที่จะมีความสำคัญและมีน้ำหนักพอ
ข้าพเจ้าพบพระนมเลาชี มารดาของจะเด็ดเอง
ตามเรื่องที่ผ่านมาแล้ว แม้จะกล่าวถึงแม่เลาชีว่าเป็นคนซื่อทรงสัตย์ ทรงธรรม และภักดีในราชวงศ์ตองอูเต็มเปี่ยม แต่ก็ไม่มีพฤติกรรมอันใด ที่จะชูลักษณะนิสัยของแม่เลาชี ในข้อที่ว่านี้ได้เด่นชัดออกมาสักคราวเดียว
แม่เลาชีมีบทบาทน้อยเหลือเกินในผู้ชนะสิบทิศที่แล้วมา
ยาขอบเริ่มคิดได้ ครั้งนี้จะให้แม่เลาชีแสดงบทบาทให้เด่นชัด “ข้าพเจ้าวางแผนให้ตัวละครตัวนี้เข้าขัดขวางจะเด็ด”
ดังนั้น ปราสาทเก่าก็หายวับไป แต่มิใช่การรื้อทำลาย หากด้วยการสร้างอันใหม่ ครอบลงไปบนอันเก่า
บทบาทของแม่เลาชีที่ออกมาห้ามโดยขู่ว่า หากตะละแม่กุสุมานั่งเสมอกับตะละแม่จันทราเมื่อใด นางก็จะผูกคอตายเมื่อนั้น
ตอนนี้ ทำให้ข้าพเจ้าได้รับจดหมายจากผู้อ่านนับเป็นจำนวนร้อย ยินดีปรีดากับพฤติการณ์อันเป็นผู้มีใจซื่อถือธรรมของพระนมผู้เฒ่า บ้างก็บอกว่าถึงกับน้ำตาคลอเพราะตื้นตันใจ
แม่นมเลาชีมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ยาขอบเขียนเรื่อง เหตุที่กุสุมาไม่ได้แต่งงาน ไว้ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๘๙ ในวันที่ได้ยินวิทยุประกาศกำหนดวันพระราชทานเพลิง เสด็จพระองค์เฉิดโฉม ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส
“ในฐานผู้น้อยด้อยศักดิ์ ข้าพเจ้าย่อมหมดโอกาสที่จะไปสักการะพระศพด้วยดอกไม้ธูปเทียน แต่นักประพันธ์เล็กคนหนึ่ง ไม่เคยลืม ความปรารถนาดีที่ใครๆเคยมีต่อมันเลย จึงขอสักการะพระศพด้วยปากกา ซึ่งไหลออกมาเป็นข้อเขียนชิ้นนี้ แทนดอกไม้ธูปเทียน”
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงเฉิดโฉม สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489 สิริพระชนมายุได้ 90 ปี ทรงเป็นเจ้านายฝ่ายวังหน้าที่พระชนมายุยืนยาวอีกพระองค์หนึ่ง
“ผู้ทรงบันดาลให้กุสุมาไม่ได้แต่งงาน”
ที่มาจาก : เรือนไทย
เวียงวังและคลังประวัติศาสตร์
ความยิ่งใหญ่ของผู้ชนะสิบทิศ ดูได้จากการพิมพ์ซ้ำนับครั้งไม่ถ้วน ทำเป็นละครหลายคณะ หลายครั้ง หลายหน เรียบเรียงเป็นเพลงร้อง ไม่ต่ำกว่า 25 เพลง
ยาขอบสารภาพว่า
“ในการเขียนผู้ชนะสิบทิศนั้น ขอเรียกตามความนึกคิดของข้าพเจ้าว่า พยายามเขียนให้บ้าที่สุดที่จะบ้าได้ พฤติการณ์ของตัวละครทุกตัวในเรื่อง ถ้ามีโอกาสมักจะถูกบังคับให้ทำ ในสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาสามัญเขาไม่ค่อยทำ เช่น ให้นางเอกถูกข่มขืนเสียบ้าง พ่อเจ็บใจถึงกับแทงลูกเสีย ตายกับมือตนเองบ้าง ฯลฯ”
ถ้าไม่ใช่สุดยอดแห่งวรรณกรรมอมตะ ด้วยจินตนาการและฝีมือชั้นครูของยาขอบ มีหรือที่ผู้อ่านจะรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อน จนไม่ยอมให้ผู้ประพันธ์วาดบทบาทของตัวละครไปตามอำเภอใจตนเอง ถึงขั้นที่เอาตนเองเข้าเป็นปราการกีดกั้นพิธีอภิเษกอันเกรียงไกร
แต่เมื่อได้แก้ไขไปตามคำร้องขออันเฉียบขาด ก็ทำให้เสียงตอบรับกลายเป็นถ้อยทิพย์อันอิ่มเอมใจยิ่งนัก