"...จุดเริ่มต้นของการนำเศษไม้มาผลิตสิ่งประดิษฐ์เริ่มต้นจากความสนใจของแนนในเรื่อง 'รักษ์โลก' ในช่วงการเรียนที่มหาวิทยาลัย แม้จะเรียนด้านสถาปัตยกรรม แต่ได้สัมผัสและรับรู้ได้ว่า ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์โลกใบนี้จากภาวะโลกรวนได้ แนนเขียนวิทยานิพนธ์โยงกับการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนวันหนึ่งมีความคิดขึ้นมาได้ว่า เศษไม้ที่กองปนอยู่ในกองขี้เลื่อย มีคนมารับซื้อจากโรงงานกระสอบละ 5 บาท เพื่อเอาไปบ่มเพาะเห็ดและเผาทำฟืนเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งแม้จะตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรอย่างครบวงจร แต่ไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรไม้ยืนต้นที่เสียไป ควรจะสามารถทำให้มีคุณค่ามากกว่านั้น..."
“พ่อไม่มีมรดกให้นอกจากเศษไม้ที่กองอยู่ในโรงไม้นี้และการศึกษา จะเอาไปทำอะไรยกให้ทั้งกอง” ประโยคเริ่มต้น ร่วมเสวนาของคุณวีรดา ศิริพงษ์ (แนน) ผู้ก่อตั้งบริษัท คาร์เพนเทอร์ สตูดิโอ ผู้สร้างแบรนด์ Carpenter ผลิตสิ่งประดิษฐ์จากเศษไม้ ในงานสัมมนาวิชาการแบงก์ชาติ ภายใต้หัวข้อ “สร้างความยั่งยืนแบบคนรุ่นใหม่ สู่การยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่” ณ สำนักงานภาคเหนือ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา สะกดจิตผู้ร่วมสัมมนาให้ฟังจนจบ และเป็นที่มาให้ผมได้ขอสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์เพิ่มเติมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
แนนเริ่มต้นเล่าว่า พื้นเพครอบครัวเป็นชาวกรุงเทพ ตัดสินใจย้ายรกรากมาตั้งโรงงานทำวงกบประตูและหน้าต่างที่เชียงใหม่ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นอนุบาล จนเรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกได้ว่าใช้ชีวิตอยู่กับท่อนไม้ เศษไม้ และเสียงเลื่อยไม้ มาตั้งแต่เด็ก พร้อม ๆ กับได้เห็นการต่อสู้ชีวิตของพ่อและแม่ที่มาแบบตัวเปล่า เริ่มต้นอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ ลองผิดลองถูก จนประสบความสำเร็จ พร้อมเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาที่มอบให้กับลูกสาวทั้งสาม
จุดเริ่มต้นของการนำเศษไม้มาผลิตสิ่งประดิษฐ์เริ่มต้นจากความสนใจของแนนในเรื่อง 'รักษ์โลก' ในช่วงการเรียนที่มหาวิทยาลัย แม้จะเรียนด้านสถาปัตยกรรม แต่ได้สัมผัสและรับรู้ได้ว่า ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์โลกใบนี้จากภาวะโลกรวนได้ แนนเขียนวิทยานิพนธ์โยงกับการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนวันหนึ่งมีความคิดขึ้นมาได้ว่า เศษไม้ที่กองปนอยู่ในกองขี้เลื่อย มีคนมารับซื้อจากโรงงานกระสอบละ 5 บาท เพื่อเอาไปบ่มเพาะเห็ดและเผาทำฟืนเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งแม้จะตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรอย่างครบวงจร แต่ไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรไม้ยืนต้นที่เสียไป ควรจะสามารถทำให้มีคุณค่ามากกว่านั้น
แนนใช้เวลาไม่นาน ผุดความคิดที่จะผลิตภัณฑ์จากเศษไม้จากสิ่งที่ใกล้ตัวมากที่สุด นั่นก็คือสเกลไม้ ที่สมัยนั้นยังคงนิยมทำจากพลาสติก “ตัดสินใจลงมือร่างแบบคืนนั้นเลย พร้อมขอให้ช่างที่โรงงานช่วยขึ้นรูปให้ โดยช่างยอมทำให้แค่ด้านเดียวทั้ง ๆ ที่สเกลมี 3 ด้าน พอเสร็จแล้วจึงลงโพสต์ในเพจที่สร้างขึ้น ตั้งชื่อง่าย ๆ ว่า Carpenter ด้วยโลโก้เก๋ไก๋ที่นำตัว T ดัดแปลงมาเป็นค้อน พร้อมอธิบายความเป็นมาของสเกลชิ้นนี้ที่ผลิตจากเศษไม้” ภายหลังจากโพสต์ไม่ทันข้ามคืน ปรากฏว่ามีคนสั่งจองกว่า 100 ชิ้น เป็นจุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์ของ Carpenter เมื่อ 11 ปีที่แล้ว จากสเกลไม้ที่เป็นสินค้าชิ้นแรก ต่อยอดเป็นสินค้าอื่นออกมาอีกเรื่อย ๆ เช่น ชุดหมากรุก ถ้วยน้ำ ปฏิทิน ไปจนถึงงานชิ้นใหญ่ขึ้นอย่างเฟอร์นิเจอร์ 1/
แนนกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ผู้ประกอบการมักคิดว่า เงินทุนเป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ แต่สำหรับแนน ความหลงใหล มุ่งมั่น (passion) และกรอบความคิด (mindset) ที่เชื่อว่าสิ่งที่อยู่รอบตัวล้วนมีคุณค่าและสามารถต่อยอดได้เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้ แนนได้มีโอกาสเดินทางไปแลกเปลี่ยนข้อคิดตามชุมชนทั่วประเทศ และเห็นว่าสินค้าที่ผลิตจากชุมชนเหล่านั้นต่างมีคุณค่าและสามารถต่อยอดได้เสมอ เช่น ร่มกระดาษที่บ่อสร้าง มรดกตกทอดของชาวเชียงใหม่ สามารถนำไปผสมผสานกับลายผ้าย้อมครามของจังหวัดสกลนคร เพื่อเพิ่มลายและสีสันให้กับร่มบ่อสร้าง เป็นต้น
แนนเคยคิดเหมือนกับผู้ประกอบการทั่วไปว่า รูปแบบของสินค้าต้องเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า ในช่วงแรก ๆ จึงพยายามออกแบบผลิตภัณฑ์ตามกระแส แต่ทำไปได้ระยะหนึ่งจึงค้นพบว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่ตัวตนของเรา จึงเริ่มต้นออกแบบตามจินตนาการและความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองจากการเป็นสถาปนิกที่รู้ทุกองค์ประกอบและชอบงาน DIY (Do it yourself) 2/ ในขณะที่การตลาดสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ ทำให้การลองผิดลองถูกไม่ได้ใช้ต้นทุนมากนัก 'ทำผิด ไม่ถูกทาง' จึงกลับไปเป็นบ่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ตนเองชอบเล่นหมากรุกไทยมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมต้น และเมื่อภาพยนตร์ซีรีส์เรื่อง The Queen’s Gambit เรื่องราวของเด็กหญิงที่เติบโตในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่กลายเป็นเซียนหมากรุก เป็นหนังซีรีส์สร้างสถิติใหม่ใน NETFLIX ยอดคนดู 62 ล้านใน 28 วัน จึงกลายเป็นที่มาของการผลิตภัณฑ์ชุดหมากรุกภายใต้ชื่อ 'Checkmate' 3/
แนนไม่เคยคิดว่าจะผลิตสินค้าแข่งขันกับผู้เล่นรายใหญ่ รวมถึงรายเล็กด้วยกัน แนนมองว่า “แม้โรงงานทำวงกบประตูหน้าต่างจะปิดไปภายหลังที่คุณพ่อเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว ช่างไม้ที่เคยทำงานกับเรายังคงทำต่อ แนนไม่ได้มองว่าโรงงานอื่นเป็นคู่แข่ง แต่ช่วยสนับสนุนเรื่องไอเดีย” 2/ เพราะปัจจุบันลูกค้ากำลังโหยหาผลิตภัณฑ์ 'รักษ์โลก' ทำให้ตลาดกว้างใหญ่ขึ้น สร้างโอกาสให้กับผู้ผลิตรายเล็ก ๆ อย่าง Carpenter ที่สามารถเปิดตลาดอย่างไร้พรมแดน ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวจากเศษไม้เล็ก ๆ ให้ลูกค้าได้ฟัง ปัจจุบันสินค้าของ Carpenter จึงอยู่เกือบทั่วทุกมุมโลก
แนนได้รับเชิญให้ไปออกงานในต่างประเทศบ่อยครั้ง ครั้งที่ภูมิใจที่สุดคืองาน Milan Design Week งานดีไซน์ระดับโลก ณ ประเทศอิตาลี เพราะเมื่อชาวต่างชาติได้รับรู้เรื่องราวของแบรนด์ ว่าเกิดขึ้นมาจากการนำเศษไม้เล็ก ๆ ที่เหลือทิ้งแล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เขาก็รู้สึกประทับใจ เป็นการสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ไปในตัว" 1/
ชีวิตที่ผูกพันกับผลิตภัณฑ์ไม้มาตั้งแต่เด็ก และดำเนินชีวิตตามแนวทาง 'รักษ์โลก' เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับคุณวีรดา ศิริพงษ์ (แนน) และแม้ว่าในวันนี้จะสามารถตอบโจทย์นั้นได้ แต่เธอยังคงมุ่งมั่นและก้าวต่อไป ซึ่งจะได้เขียนถึงใน Weekly Mail สัปดาห์หน้าครับ
รณดล นุ่มนนท์
28 สิงหาคม 2566
แหล่งที่มา:
1/ Carpenter ธุรกิจจากเศษไม้กระสอบละ 5 บาท ที่ไปไกลถึง Milan Design Week BY SME THAILAND 25 ธันวาคม 2562 https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/4182.html
2/ ป้อมยาม, 'carpenter แบรนด์จากเศษไม้ 'แนน วีรดา' ไม่ได้คิดว่าจะไปไกลขนาดนี้y 17 มี.ค. 2566 เวลา 15:00 https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/judprakai/1058277
3/ PRATARN TEERATADA, (ARCHI)TECT’S GAMBIT, ART4D, กุมภาพันธ์ 25, 2021 https://art4d.com/2021/02/architects-gambit