"...การต้อนรับของสหายป่าที่อยู่มาก่อนต่อนักศึกษาที่หลบภัยปราบปรามจากกรณีสังหารโหด 6 ตุลา เป็นการปลอบขวัญที่ทำให้ทุกคนรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย..."
ในขณะที่เพลง “คืนรัง” ของ หงา คาราวาน เป็นเพลงเส้นแบ่งประวัติศาสตร์ ของขบวนนักปฏิวัติจากป่าเขากลับคืนสู่เมือง เราอาจพูดได้ว่า เพลง “จากลานโพธิ์ ถึงภูพาน” ของ วัฒน์ วรรลยางกูร คือเพลงเส้นแบ่งประวัติศาสตร์ของนักศึกษา คลื่นขบวนจากเมืองสู่เขตป่าเขา เมื่อหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
โพธิ์ต้นใหญ่หน้าตึกคณะศิลปศาสตร์ มีลานขนาดพอเหมาะ ตึกสูงล้อมรอบ ร่มโพธิ์ให้ ร่มเงาต่อการชุมนุมคนขนาดพอเหมาะ เมื่อ 9 ตุลาคม 2516 ลานโพธิ์แห่งนี้เองที่เป็นจุดเริ่มการชุมนุมต่อสู้ นำโดย เสกสรร ประเสริฐกุล เรียกร้องให้ปล่อย 13 กบฏ เรียกร้องรัฐธรรมนูญ
ประสบการณ์ตรงจากการถูกล้อมปราบ ณ ลานโพธิ์ และสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ ทำให้วัฒน์ วรรลยางกูร ใช้สัญลักษณ์ปลายดินสอของยอดโดมธรรมศาสตร์ เป็นคำตั้งต้นบทกวีประวัติศาสตร์ของเขา เขาเรียงร้อยกวีบทนี้ ด้วยอารมณ์แห่งความปวดร้าว
เพลง จากภูพานถึงลานโพธิ์
คำร้อง วัฒน์ วรรลยางกูร
ทำนอง สุรสีห์ ผาธรรม
ดินสอโดมธรรมศาสตร์ เด่นสู้ศึก ได้จารึกหนี้เลือด อันเดือดดับ
6 ตุลา เพื่อนเรา ล่วงลับ มันแค้นคับ เดือดระอุ อกคุไฟ
เรามีเพียงมือเปล่ามันล้อมปราบ ระเบิดบาป กระสุนบ้า มาสาดใส่
เสียงเหมือนแตรงานศพ ซบสิ้นใจ สนามหญ้าคลุ้งกลิ่นไอ คาวเลือดคน
มันตามจับ ตามฆ่า ล่าถึงบ้าน อ้างหลักฐาน จับเข้าคุก ทุกแห่งหน
เราอดทน ถึงที่สุด ก็สุดทน จึงเปลี่ยนหนทางสู้ขึ้นภูพาน
อ้อมอกภูพานคือชีวิตใหม่ สู่มหาวิทยาลัยคนกล้าหาญ
จะโค่นล้มไล่เฉดผเด็จการ อันธพาลอเมริกาอย่าหวังครอง
สู้กับปืนต้องมีปืนยืนกระหน่ำ พรรคชี้นำตะวันแดงสาดแสงส่อง
จรยุทธนำประชาสู่ฟ้าทอง กรรมาชีพลั่นกลองอย่างเกรียงไกร
ในวันนี้ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์อาจเงียบหงอย ก็เพียงช่วงรอคอยสู่วันใหม่
วันกองทัพ ประชาชนประกาศชัย จะกลับไปกรีดเลือดพาล ล้างลานโพธิ์
ราว 10 วันที่วัฒน์ เดินทางเข้าป่าภูพาน ที่สกลนคร เขาใช้ชื่อ “สหายร้อย” เมื่อนำเอาบทกวีนี้ให้ สุรสีห์ ผาธรรม (ผู้กำกับภาพยนตร์ เรื่องครูบ้านนอก) ซึ่งเข้าป่าในเวลาเดียวกันให้ได้อ่าน สุรสีห์ ถูกอกถูกใจกวีบทนี้มาก จึงทดลองฮัมทำนองให้เข้ากับบทกลอน แล้วลองทำเพลงขึ้นมา หน่วยศิลป์ของพรรคคอมมิวนิสต์ ภูพาน คือวงดนตรี 66 ซึ่งเกิดจากนิสิตนักศึกษา ม. เกษตร และ ม. ขอนแก่น ประกอบวงกัน เรียบเรียงเสียงประสานเพลงนี้ ให้สรรเสริญ ยงสูงเนิน เป็นคนร้อง
ท่วงทำนองช้าๆ ที่เกริ่นนำในช่วงแรก “ดินสอโดม ธรรมศาสตร์......” เป็นการปูอารมณ์ พอถึงท่อนแยก “อ้อมอกภูพานคือชีวิตใหม่ สู่มหาวิทยาลัยคนกล้าหาญ.....” ลีลาเร่งเร้าฮึกห้าวเหิมหาญ ทำให้นักศึกษาที่เคลื่อนขบวนเข้าป่าเวลานั้น มีอารมณ์ร่วมตามไปด้วย เพลงจากลานโพธิ์ถึง ภูพานจึงติดปากสหายนักปฏิวัติอย่างรวดเร็ว
ช่วงตุลาคม 2519 - กุมภาพันธ์ 2520 เขตป่าเขาทั้งเหนือใต้อิสาน ล้วนแต่ต้องต้อนรับนักศึกษาจากในเมืองเข้าไปอยู่ใต้ร่มธงปฏิวัติด้วยกัน โดยมีเป้สะพายบรรทุกบ้านไว้ทั้งหลัง มีแมกไม้เป็นข้างฝา มีแผ่นฟ้าเป็นเพดาน มีปืนประจำตัวไว้ป้องกันภัย มีหน่อไม้ ผักหวาน กะปอม อึ่งอ่าง ข้าวเหนียวเป็นอาหารประจำ
นักศึกษาชุดแล้วชุดเล่าทยอยเข้าไปในแต่ละเขตงาน พอถึงตอนค่ำ ทุกคนจะรวมกันที่บริเวณลานกว้างใต้ร่มไม้ ได้รับการต้อนรับด้วยเสียงเพลงและเครื่องเล่นดนตรีเท่าที่จะหาได้
บรรดาสหายจะร่วมกันร้องเพลง “เราต่างมาจากทั่วทุกสารทิศ” พร้อมเสียงปรบมือต้อนรับ
“เราต่างมาจากทั่วทุกสารทิศ มีชีวิตร่วมกันในป่า
จากบ้านเกิดเมืองนอนถึงไพรลำเนา ด้วยพวกเรามีอุดมการณ์อันเดียวกัน
อันความรักทางชนชั้นนั้นล้ำลึก ประสานผนึกรวมกันเป็นสายธาร
ต่อประชาเรามั่นรักดังชีวัน ต่อศัตรูกล้าประจัญรบจนสุดใจ”
การต้อนรับของสหายป่าที่อยู่มาก่อนต่อนักศึกษาที่หลบภัยปราบปรามจากกรณีสังหารโหด 6 ตุลา เป็นการปลอบขวัญที่ทำให้ทุกคนรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย
เพลง เราต่างมาทั่วทุกสารทิศ ผู้แต่งคือสหายสง ผู้ร้องมีหลายคนทั้ง มงคล อุทก (หว่อง) ศักดิ์สิทธิ์ เชื้อกลาง ศรัทธา หนูแก้ว ฯลฯ เป็นเพลงที่นำมาใช้ทุกครั้งในการต้อนรับสหายใหม่
ถ้าอยากรู้ว่า สหายในป่า ใช้ชีวิตกันอย่างไร ยอมบอกได้ด้วยเพลง นกหวีดปฏิวัติ ที่ คมกฤช เสริฐนวลแสง แห่งวงโคมฉาย เป็นผู้แต่ง
เพลง นกหวีดปฏิวัติ
ฟัง ฟัง ฟัง นกหวีดสัญญาณยามเช้า
เร็ว เร็ว เข้า พวกเรารีบตื่นขึ้นมา
เก็บเครื่องนอนอย่าช้า รีบล้างหน้าแปรงฟัน
อย่ามัวนั่งฝัน เดี๋ยวไม่ทันออกกำลังกาย (ปริ๊ด.......)
มา มา มา มาออกกำลังกันเถิด
ให้กายและใจเราเกิด ซึ่งพลังเกรียงไกร
เพื่อการเพื่องาน จะได้ก้าวหน้าไป
สู่วันสดใส ประชาไทยจะเบิกบาน (ปริ๊ด.......)
ดู ดู ดู สิแสงทองงามฟ้า
เสียงนก เสียงกา ร้องกังวานอยู่ก้องไพร
ประหนึ่งจะรู้ อีกไม่นานเท่าไร
ท้องฟ้าจะแจ่มใส ประชาไทยจะร่มเย็น (ปริ๊ด.......)
มา มา มา เรามาศึกษากันสักหน่อย
เราเป็นนักเรียนน้อย ต้องศึกษาอีกยาวนาน
ปฏิบัติและแก้ไข ไม่เสรีเสียการงาน
วินัยแห่งทหาร ทปท. ที่ทรนง (ปริ๊ด.......)
ฟัง ฟัง ฟัง นกหวีดสัญญาณกินข้าว
พี่เลี้ยงของเรา ตื่นนอนเช้าทุกวัน
รับใช้สารพัด ด้วยต้มแกง สารพัน
อย่าลืมสิ่งสำคัญ ข้าวเรากินนั้นของประชาชน (ปริ๊ด.......)
เพลงร้องหมู่นกหวีดปฏิวัติ มีท่วงทำนองสนุกสนาน ชื่นบาน ทำให้ทุกคนอยากร่วมกัน ร้อง บรรยายถึงกิจกรรมของสหายในป่า ไม่ว่าเขตงานไหนก็ต้องมีกิจกรรมเหล่านี้
กิจกรรมที่ขาดไม่ได้ คือการศึกษารวมหมู่ถึงทฤษฎีและแนวทางการปฏิวัติของ มาร์กซ เลนิน เหมาเจ๋อตง ที่สหายของพรรคจะต้องจัดให้มีชั่วโมงเรียนรู้ร่วมกัน
-กรรมาชีพทั่วโลกจงสามัคคีกัน
-อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน
-ชนบทล้อมเมือง
-มึงมาข้ามุด มึงหยุดข้าแหย่ มึงแย่ข้าตี มึงหนีข้าตาม
-กุมใจกลางของปัญหา
-แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง
-ฯลฯ
ทฤษฎีและแนวทางเหล่านี้ สหายทุกคนล้วนได้เรียนรู้จากสหายที่อยู่มาก่อน และเรียนรู้จากกันและกัน โดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ค.ท.) หมายจะให้สหายทุกคนมีจิตหนึ่งใจเดียวกันที่จะเดิน “ตามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยืนหยัดปฏิวัติไปสู่ชัย.......”
แต่นักศึกษาปัญญาชนในเขตป่าเขา ใช่ว่าจะเดินตามทุกย่างก้าว เพราะตระหนักได้ว่าประเทศไทยไม่ได้มีเงื่อนไข ยากจนข้นแค้นและถูกญี่ปุ่นย่ำยีแบบประเทศจีน หรือแม้แต่บริบทแวดล้อมที่ต่างไปจากประเทศ กัมพูชา เวียดนาม ซึ่งต่างชาติ รุกราน และต้องสู้รบกับฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาแบบถึงเลือดถึงเนื้อ
ที่สำนักแขวงอุดมไชย สปป.ลาว จุดแวะพักของสหายจำนวนหนึ่งก่อนเดินทางต่อไปยังสำนักแนวร่วม ตอนนั้นราวปลาย กย. 2519 ยังไม่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ผู้เขียน พร้อมสหายไกรสีห์ (ไขแสง สุกใส) และ สหายไพรำ (วิสา คัญทัพ) อยู่กันพร้อมหน้า มีเวลาว่างจึงชวนกันทำเพลง เพื่อต้อนรับ 1 ธันวา วัน พ.ค.ท. ทั้งสหายไกรสีห์และผู้เขียน ช่วยกันทบทวนทำนองเพลงไทยเดิม 3 เพลงที่มีลีลาคึกคักสนุกสนาน คือเพลงคลื่นกระทบฝั่ง เพลงต้นวรเชษฐ์ และเพลงทะเลบ้า มาเป็นทำนองเพลงนี้
วิสาใช้เวลาราว 2 วัน ในการเขียนเพลงนี้ เขาบอกว่า
“เพลงแรกที่ผมเขียนขึ้นในเขตป่าเขา คือเพลง ‘รำวง 1 ธันวา’โดยนำเอาทำนองเพลงไทยเดิมมาต่อกัน ต้องเรียกว่า ‘ปล้ำเอา’ เพราะความร้อนวิชา พยายามจะใส่คำร้องลงทุกเม็ดของเมโลดี้ คำจึงเยอะขนาดนั้น เรียกว่าร้องกันแทบไม่ทัน เพลงนี้ผมและสหายแขกขับร้อง สหายแขกคือใครทิ้งไว้เป็นคำถาม บันทึกเสียงโดยการล้อมวงเล่นและร้องสด มีเครื่องอัดเทปยี่ห้ออะไรจำไม่ได้ของสหายศักดิ์สิทธิ์”
ขอเฉลยว่าสหายแขก คือ กาญจน์ลดา มฤคพิทักษ์ (ชื่อเดิมรัตนา) นั่นเอง เครื่องเทปของผู้เขียนขนาดใหญ่ประมาณเท่าหน้ากระดาษ A4 ความหนาราว 6 ซม. ยี่ห้อชาร์ป ลอเรนซ์ ซึ่งในเวลาต่อมาเครื่องนี้ใช้อัดเพลงปฏิวัติอีกหลายเพลง เช่น “เจ็ดสิงหาสู้บนทางปืน” “ลูกจะกลับพร้อมกับชัย” “มาลำเลียง” “บินหลาสู่เสรี” เป็นต้น
เพลง รำวง 1 ธันวา
ทำนองเพลงไทยเดิม คลื่นกระทบฝั่ง / ต้นวรเชษฐ์ / ทะเลบ้า
แต่งเนื้อ วิสา คัญทัพ (สหายไพรำ)
นักร้อง วิสา คัญทัพ / กาญจน์ลดา (รัตนา) มฤคพิทักษ์
“มารำวง ร่วมกันมั่นคง
เชิดชัยชูธง แดงเด่นของมวลประชา
รำวงที่ 1 ธันวา พราวฟ้าเกริกไกร
จากหัวใจศรัทธา สุขสันต์ธันวา มาเร็วมารวมกัน
ฟ้าแดงดาลเดือด เลือดไทยไหลโลมรินหลั่ง
เสียงร้องสั่งก้องมา พวกเรารบราลือลั่น
พรั่งพร้อมกันหญิงชาย
ชีพนี้พลีกาย ไปเราไปโรมรัน
(ต้นวรเชษฐ์)
สุขสันต์บันเทิง เริงรื่น สดชื่นพร้อมกัน
วันนี้เป็นวันของพรรค ที่เป็นหลักชี้นำ
สดใสไพรี หนีพ่าย เชิญสหายฟ้อนรำ
ม่านฟ้าคืนค่ำคอยท่า มาเร็วมาร่วมใจ..........”
ควรกล่าวได้ว่า ในบรรดานักแต่งเพลงที่ใช้ถ้อยคำได้ดี กล่าวคือ เสียงวรรณยุกต์ลงตัวกับทำนองเพลงนั้น คือไม่ต้องดัดเสียงให้เข้าทำนอง นอกจากจิตร ภูมิศักดิ์ ที่แต่งเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ได้อย่างเยี่ยมยอด ต้องนับว่า วิสา คัญทัพ เป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นยอดฝีมือในการใช้คำที่มีวรรณยุกต์ลงตัวเข้ากับทำนอง
ประสาร มฤคพิทักษ์