"...คำพิพากษาของศาลอังกฤษนี้เป็นเพียงคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งอาจมีการกลับได้ในชั้นอุทธรณ์/ฎีกา แต่ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลสูงของอังกฤษก็จะนำมาใช้บังคับกับจำเลยที่เป็นคนไทยในประเทศไทยไม่ได้ จึงมีจำเลยคนไทย 2 คน (คือนายเกษมและนายประเดช) ไม่ไปต่อสู้คดีเลย เพราะไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาอย่างไรก็ไม่กระทบถึงตนเอง..."
คดีหุ้นวินด์มีทั้งกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่สิงคโปร์ คดีในศาลฮ่องกง คดีในศาลอังกฤษ และคดีในศาลไทย แต่ที่เป็นประเด็นในเชิงวิชาการนิติศาสตร์และการใช้อำนาจตุลาการในช่วงนี้ที่ผ่านมา คือ การที่ศาลชั้นต้นของศาลอังกฤษมีคำพิพากษาให้ผม (นายวีระวงค์ – ไม่ใช่สำนักงานกฎหมายวีระวงค์ฯ) และจำเลยอื่น ๆ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายนพพรและบริษัทของนายนพพรจำนวนสูงมากในคดีแพ่ง ทั้ง ๆ ที่มีการฟ้องคดีอาญาในเรื่องเดียวกันอยู่ก่อนแล้วในศาลไทย
คดีที่ศาลอังกฤษนี้ นายนพพรซึ่งเป็นโจทก์เป็นคนไทย จำเลยเกือบทั้งหมดเป็นคนไทย เรื่องราวทั้งหมดอันเป็นข้อหาฟ้องร้องของโจทก์เกิดขึ้นในประเทศไทย และตามหลักการเกี่ยวกับกฎหมายที่จะใช้บังคับกับคดี จะต้องใช้กฎหมายไทย แต่ไปฟ้องที่ศาลอังกฤษได้ เพราะระบบกฎหมายของอังกฤษเปิดให้มีการฟ้องคดีที่ศาลอังกฤษได้ หากมีจำเลยแม้เพียงคนเดียวเป็นคนสัญชาติอังกฤษ (คดีนี้มีจำเลย 17 ราย มีคนสัญชาติอังกฤษ 1 คน)
คำพิพากษาของศาลอังกฤษนี้เป็นเพียงคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งอาจมีการกลับได้ในชั้นอุทธรณ์/ฎีกา แต่ไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลสูงของอังกฤษก็จะนำมาใช้บังคับกับจำเลยที่เป็นคนไทยในประเทศไทยไม่ได้ จึงมีจำเลยคนไทย 2 คน (คือนายเกษมและนายประเดช) ไม่ไปต่อสู้คดีเลย เพราะไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาอย่างไรก็ไม่กระทบถึงตนเอง แต่แท้จริงแล้วเป้าหมายของโจทก์ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งหากไม่ไปต่อสู้คดีก็จะถูกพิพากษาฝ่ายเดียวให้แพ้คดีตามที่ฝ่ายนพพรกล่าวอ้าง และถูกยึดทรัพย์สินที่ SCB มีอยู่ในประเทศที่ใช้คำพิพากษาศาลอังกฤษไปบังคับเพื่อชำระหนี้ได้ คือ ฮ่องกง และสิงคโปร์ จึงเป็นเหตุให้ผมและจำเลยคนไทยคนอื่นๆ (นอกจากนายเกษมและนายประเดช) ต้องเข้าไปต่อสู้คดีเพื่อไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับการที่ SCB ให้เงินกู้กับกลุ่มบริษัทวินด์ (ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของคดีที่มีการกล่าวหา SCB และจำเลยคนอื่น ๆ) ว่าเป็นไปด้วยความถูกต้อง จนในที่สุดคำพิพากษาของศาลอังกฤษต้องยกฟ้องในส่วนของ SCB และนายอาทิตย์ (CEO ในขณะนั้น)
ในการฟ้องคดีที่อังกฤษนี้ นายนพพรมีกองทุนค้าความชื่อ Harbour Litigation Funding เป็นผู้สนับสนุนออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดซึ่งเป็นจำนวนเงินลงทุนที่สูงจนน่าตกใจ แต่กองทุนค้าความ Harbour Litigation Funding นี้จะได้แบ่งผลประโยชน์หากนายนพพรชนะคดีอย่างเกินคุ้ม ซึ่งการดำเนินการเป็นธุรกิจเยี่ยงนี้ของ Harbour Litigation Funding ซึ่งเป็นกองทุนค้าความเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนี้ผิดกฎหมายไทย การออกค่าใช้จ่ายในคดีที่มีการฟ้องร้องในประเทศไทยเพื่อหาประโยชน์เข้าตนจากคดีที่ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลยทำไม่ได้ ซึ่งกองทุนค้าความ Harbour Litigation Funding นี้เคยสนับสนุนคดีที่ดึงบริษัทไทยไปฟ้องในต่างประเทศ และทำผลกำไรมหาศาลมาแล้ว
ความจริงในคำพิพากษาคดีหุ้นวินด์ของศาลอังกฤษ
- ในช่วงปี 2554-2555 นายนพพรถูกฟ้องคดียักยอกทรัพย์ในประเทศไทย โดยศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกนายนพพร 78 เดือน และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนแต่ลดโทษจำคุกเหลือ 56 เดือน นายนพพรยื่นฎีกา ศาลฎีกายังไม่มีคำพิพากษา
- ในวันที่ 1 ธันวาคม 2557 นายนพพรหลบหนีออกจากประเทศไทย เพราะไปก่อคดีใหม่และไม่ต่อสู้คดี จึงเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของพนักงานสอบสวนในข้อหามาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่เกี่ยวข้องกับการ “ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น ... โดยมีอาวุธ โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป” โดยมีมูลเหตุมาจากการที่นายนพพรไม่พอใจบุคคลที่เป็นโจทก์ฟ้องคดียักยอกทรัพย์
- ในขณะนั้น บริษัทของนายนพพรเป็นผู้ถือหุ้นประมาณ 50+% (โดยถือผ่านบริษัท REC) ในบริษัท WEH ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังลมในประเทศไทยจำนวน 8 โครงการ โดยมีโครงการที่สำเร็จไปแล้ว 2 โครงการ
- SCB ซึ่งเป็นธนาคารที่ให้สินเชื่อแก่ 2 โครงการแรกของบริษัท WEH และได้มีสัญญาให้สินเชื่อแก่โครงการ Watabak ซึ่งเป็นโครงการที่ 3 ของ WEH ปฏิเสธไม่ให้โครงการ Watabak เบิกเงินกู้ (ตามสิทธิภายใต้สัญญาให้สินเชื่อและเป็นไปตามนโยบายของ SCB) อันเนื่องมาจากการที่นายนพพรซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท (ผ่านบริษัท REC) ตกเป็นผู้ต้องหา มาตรา 112 เกี่ยวเนื่องกับการร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นและหลบหนีไม่มาต่อสู้คดีตามหมายจับ (ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมือง)
- กลางปี 2558 บริษัทของนายนพพรจึงขายหุ้นที่ถืออยู่ในขณะนั้นทั้งหมด คือ 100% ของบริษัท REC ให้แก่บริษัทของนายณพ เพื่อให้นายนพพรพ้นจากการเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมของบริษัท WEH มิฉะนั้น จะมีปัญหาจากการที่ SCB และธนาคารอื่น ๆ ไม่ให้เงินกู้แก่ WEH โดยโครงการ Watabak จะมีปัญหาอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของอีก 5 โครงการที่เหลือทั้งหมด ทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัท WEH ต้องด้อยค่าลงไปอย่างมหาศาล
- เมื่อนายนพพรพ้นจากการเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมของบริษัท WEH โดยขายหุ้นบริษัท REC ทั้งหมดให้บริษัทของนายณพ เป็นผลให้บริษัทของนายณพเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทางอ้อมของบริษัท WEH โดยนายนพพรไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ อีก SCB จึงกลับมาพิจารณาที่จะให้โครงการ Watabak เบิกเงินกู้ได้ รวมถึงพิจารณาให้สินเชื่อบริษัทโครงการที่เหลือของแก่อีก 5 บริษัทของ WEH
- ต้นปี 2559 หลังจากที่ได้รับเงินจากบริษัทนายณพไปแล้ว 5 ล้านเหรียญฯ บริษัทของนายนพพรได้แจ้งบอกเลิกสัญญาขายหุ้น REC อ้างว่าบริษัทของนายณพไม่ชำระเงินอีก 85.75 ล้านเหรียญฯ ตามกำหนดเวลา และนำคดีไปที่อนุญาโตตุลาการในสิงคโปร์เพื่อบังคับให้บริษัทนายณพโอนหุ้นคืนทันที ซึ่งบริษัทของนายณพต่อสู้ว่าการที่ไม่ได้ชำระเงิน 85.75 ล้านเหรียญฯ นั้นมาจากความผิดของนายนพพร และพร้อมชำระเงินให้ โดยบริษัทของนายนพพรไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาขายหุ้น REC เพื่อบังคับให้บริษัทนายณพโอนหุ้นคืน
- SCB ปฏิเสธไม่ให้โครงการ Watabak เบิกเงินกู้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ SCB เนื่องจากหากบริษัทของนายนพพรชนะคดีอนุญาโตตุลาการ นายนพพรซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามมาตรา 112 เกี่ยวเนื่องกับการร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นและอยู่ระหว่างหลบหนีตามหมายจับจะกลับเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท WEH (โดยถือผ่านบริษัท REC) อีกครั้งหนึ่ง แม้ผมในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของ WEH ในขณะนั้นจะให้ความเห็นว่า บริษัทของนายนพพรไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาขายหุ้น REC เพื่อบังคับให้บริษัทนายณพโอนหุ้นคืน แต่จะได้รับเงินจำนวน 75 ล้านเหรียญฯ ตามที่บริษัทของนายณพเสนอซื้อให้ตามสัญญาเพราะไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาก็ตาม ทั้งนี้ ในการให้ความเห็นดังกล่าวผมให้ความเห็นในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของ WEH ไม่ใช่การทำหน้าที่ในฐานะกรรมการของ SCB และแม้ในขณะนั้นผมดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทของ SCB แต่ผมก็ได้แจ้งประเด็นการที่จะต้องทำหน้าที่ในบทบาทของที่ปรึกษากฎหมายให้แก่บริษัท WEH ซึ่งเป็นลูกหนี้ของ SCB จึงได้ขอไม่ร่วมและไม่เคยมีส่วนร่วมในการรับทราบหรือพิจารณาตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับการให้สินเชื่อหรือให้เบิกเงินกู้แก่โครงการใดๆ ของบริษัท WEH
- ผมในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท WEH ในขณะนั้นได้ให้ความเห็นแก่บริษัท WEH รวมถึงบริษัท REC ว่า เนื่องจากโครงการ Watabak จะได้รับความเสียหายถึงขั้นดำเนินโครงการต่อไปไม่ได้ หากไม่ได้รับเงินกู้โดยเร่งด่วน รวมทั้งโครงการอื่น ๆ อีก 5 โครงการของ WEH ซึ่งจำเป็นต้องได้รับสินเชื่อโดยเร็วก็จะได้รับความเสียหายด้วย คณะกรรมการบริษัท REC มีอำนาจตามกฎหมายที่จะตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ใน WEH ออกไปให้แก่บุคคลภายนอกได้ แต่จะต้องขายหุ้น WEH ในราคาไม่ต่ำกว่าราคาซึ่งที่ปรึกษาทางการเงินเห็นว่าเหมาะสม เพื่อให้เป็นไปโดยสุจริตตามความหมายของมาตรา 237 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งจะไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ตามมาตรา 350 ของประมวลกฎหมายอาญาด้วย เพราะบริษัท REC ไม่มีเจ้าหนี้ และการขายหุ้น WEH นี้ไม่ได้มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหนี้ของบุคคลอื่นใดไม่ได้รับชำระหนี้ เพราะเป็นการขายด้วยเหตุจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์และส่วนได้เสียของบริษัท REC เนื่องจากหากไม่ขายหุ้น WEH ออกไป ราคาก็จะลดต่ำลงไปเรื่อย ๆ ตามสภาพธุรกิจของ WEH ซึ่งนอกจากจะไม่มีมูลค่าเพิ่มจากโครงการ Watabak และโครงการอื่น ๆ แล้ว ก็ยังจะต้องถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก GE, EGAT และเจ้าหนี้อื่น ๆ จนถึงขั้นล้มละลายได้ด้วย รวมทั้งจะไม่เป็นการไปล่วงละเมิดกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างบริษัทของนายนพพรกับบริษัทของนายณพ เพราะบริษัท REC ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับบริษัทของนายนพพรและไม่ได้ถูกฟ้องด้วย และหุ้นที่เป็นประเด็นพิพาทของสัญญาในคดีอนุญาโตตุลาการคือหุ้นที่บริษัทของนายณพถืออยู่ คือ บริษัท REC ไม่ใช่หุ้น WEH ที่ถือโดยบริษัท REC ในทางกฎหมายไทยจะแยกนิติบุคคลคือบริษัท REC กับผู้ถือหุ้นคือบริษัทของนายณพออกจากกัน ดังนั้น อนุญาโตตุลาการจึงได้มีคำสั่ง (EA Order) ห้ามจำหน่ายหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับหุ้น REC เท่านั้น ไม่ได้มีคำสั่งขยายไปถึงหุ้น WEH ที่ถือโดยบริษัท REC ตามที่บริษัทของนายนพพรร้องขอ
- แต่ผู้ซื้อหุ้น WEH ไปนี้จะต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยง หาก SCB จะยังปฏิเสธไม่ให้โครงการ Watabak เบิกเงินกู้และ/หรือไม่ให้สินเชื่อแก่โครงการอื่น ๆ เพราะในขณะนั้น SCB ไม่ได้ให้คำมั่นหรือแสดงออกใด ๆ ว่าหากมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นเช่นนี้แล้ว SCB จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งจะเป็นผลให้ราคาหุ้น WEH ลดต่ำลงไปเรื่อย ๆ ตามสภาพธุรกิจของ WEH
- วันที่ 25 เมษายน 2559 คณะกรรมการบริษัท REC ได้มีมติให้บริษัท REC ขายหุ้น WEH ให้แก่คุณหญิงกอแก้ว (นายเกษม-ตัวแทน) ในราคาตามมูลค่าทางบัญชี (Book Value) ซึ่งเป็นราคาที่ที่ปรึกษาทางการเงินเห็นว่าเหมาะสม เนื่องจากไม่มีความแน่นอนใด ๆ ว่า SCB จะให้โครงการ Watabak เบิกเงินกู้และ/หรือจะให้สินเชื่อแก่โครงการอื่น ๆ ซึ่งเป็นสถานการณ์ในขณะนั้น
- เมื่อในทางกฎหมายสามารถยืนยันได้ว่า นายนพพรจะไม่กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมของบริษัท WEH โดยผ่านบริษัท REC ได้อีก แม้ว่าจะเป็นฝ่ายชนะคดีอนุญาโตตุลาการเรื่องบอกเลิกสัญญาซื้อขายหุ้นก็ตาม SCB จึงกลับมาพิจารณาที่จะให้โครงการ Watabak เบิกเงินกู้ได้ รวมถึงพิจารณาให้สินเชื่อบริษัทโครงการที่เหลือของแก่อีก 5 บริษัทของ WEH
- ในที่สุด อนุญาโตตุลาการได้ตัดสินให้บริษัทของนายณพชำระค่าหุ้นจำนวน 75 ล้านเหรียญฯ ตามที่บริษัทของนายณพเสนอพร้อมดอกเบี้ย โดยไม่ให้เลิกสัญญาซื้อขายหุ้น ซึ่งในขณะนั้น บริษัทของนายณพไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น WEH (ผ่านบริษัท REC) แล้ว แต่บริษัทของนายณพก็ได้ชำระค่าหุ้นจำนวน 85.75 ล้านเหรียญฯ ให้แก่บริษัทของนายนพพรครบถ้วนตามคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ แต่โต้แย้งคำตัดสินให้ชำระดอกเบี้ยในศาลไทย ซึ่งขณะนี้คดียังไม่ถึงที่สุด
- ก่อนที่จะมาฟ้องคดีในศาลอังกฤษ บริษัทของนายนพพรได้ยื่นคำร้องต่อศาลในฮ่องกงขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้าม GML (ซึ่งเป็นบริษัทในฮ่องกงของคุณหญิงกอแก้ว) ทำการจำหน่ายหรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับหุ้น WEH ที่ GML ถืออยู่แทนคุณหญิงกอแก้ว ซึ่งในชั้นแรกซึ่งเป็นการพิจารณาโดยเร่งด่วนโดย GML ไม่ได้โอกาสที่จะนำหลักฐานเข้าชี้แจงนั้น ศาลฮ่องกงได้มีคำสั่งตามคำขอดังกล่าว แต่ต่อมาภายหลังจากที่ศาลฮ่องกงได้พิจารณาพยานหลักฐานทางฝั่งของ GML แล้ว จึงได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว โดยศาลฮ่องกงตัดสินว่า บริษัทของนพพรจงใจปกปิดข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญต่อการพิจารณาคดีซึ่งถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรง (the seriousness and deliberateness…of material non-disclosure)
คดีนี้เป็นคดีใหญ่มากมีการเรียกค่าเสียหายกันหลายหมื่นล้านบาท (ไทย) แต่ระบบกฎหมายอังกฤษกลับมีผู้พิพากษาเพียงนายเดียว คือ นาย Calver ทำหน้าที่รับฟังพยานเบิกความและพิจารณาพยานหลักฐานอื่น ๆ ทั้งหมด เพื่อตัดสินคดี ซึ่งในคำพิพากษาก็มีนาย Calver ลงชื่อคนเดียว โดยไม่มีองค์คณะ
นาย Calver ได้รับพิจารณาและพิพากษาคดี ทั้งๆ ที่ทราบดีว่า บริษัทของนายนพพรได้ทำการฟ้อง “คดีอาญา” ในศาลไทยเอากับจำเลยหลายคนในคดีอังกฤษนี้ (ซึ่ง SCB นายอาทิตย์ อดีต CEO ของ SCB และผมไม่ได้ถูกฟ้องด้วย) ในฐานความผิดเดียวกัน คือ กล่าวหาว่าจำเลยทั้งหมดร่วมกันให้บริษัท REC โอนขายหุ้น WEH ออกไป โดยมีเจตนาพิเศษที่จะทำให้บริษัทของนายนพพรไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัทของนายณพ (ร่วมกันโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย) (คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 157/2561 ของศาลแขวงพระนครใต้ ซึ่งในขณะนี้ศาลยังไม่ได้พิพากษา) ก่อนที่จะไปฟ้อง “คดีแพ่ง” ในศาลอังกฤษ
ซึ่งการที่นายนพพรและบริษัทของนายนพพรเลี่ยงไปฟ้องคดีแพ่งที่ศาลอังกฤษก็เพราะเมื่อฟ้องคดีอาญาไว้แล้วจะดำเนินกระบวนการในศาลไทยเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งในข้อกล่าวหาเดียวกันนั้นไม่ได้ ศาลไทยจะจำหน่ายคดี (คือฟ้องได้แต่ดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไม่ได้) ต้องรอให้มีคำพิพากษาของศาลไทยในคดีอาญาก่อน และคำพิพากษาของศาลไทยในคดีอาญาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ร่วมกันกระทำการโกงเจ้าหนี้หรือไม่นั้น จะผูกพันศาลไทยในคดีแพ่งให้ต้องรับฟังเป็นอย่างเดียวกันด้วย จะชี้ขาดข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไม่ได้
ในการตัดสินให้ผมและจำเลยคนอื่น ๆ ร่วมกันรับผิดนั้น นาย Calver ได้เขียนข้อความกล่าวหาผม และจำเลยคนอื่น ๆ ด้วยถ้อยคำรุนแรงไว้ในคำพิพากษา (ซึ่งนักกฎหมายทั้งหลายที่ได้อ่านต่างเห็นว่าผิดวิสัยที่ผู้พิพากษาจะกระทำเช่นนี้ และก็อดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสงสัยในทางลบเกี่ยวกับพฤติการณ์ของนาย Calver) แม้ว่าคำพิพากษาของนาย Calver จะใช้บังคับในประเทศไทยไม่ได้ดังที่ได้กล่าวแล้ว แต่เมื่อมีการนำมาเผยแพร่ในประเทศไทยผ่านสื่อบางสำนักที่มีการจ้างวานกันไว้ตามที่นายนพพรให้การยอมรับไว้ในคดี ก็จะทำให้ผมและจำเลยคนอื่น ๆ ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างรุนแรง เพราะคนไทยโดยทั่วไปย่อมจะมีความเชื่อถือว่าระบบการพิจารณาคดี รวมถึงผู้พิพากษาอังกฤษ (นาย Calver) ที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีนี้ คงได้ทำหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม
ผมจึงต้องการที่จะให้ข้อเท็จจริงในเชิงลึกเกี่ยวกับคำพิพากษาที่ตัดสินและเขียนโดยผู้พิพากษาอังกฤษ คือ นาย Calver คนนี้ไว้ เพื่อให้ข้อมูลในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน คือ การนำคำพิพากษาของผู้พิพากษาอังกฤษมาชี้แจงอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา ตามความเป็นจริง และตามหลักกฎหมาย ที่ทำได้เช่นนี้เพราะผมไม่ใช่คนอังกฤษที่จะถูกกฎหมายปิดปากไม่ให้พูดในสิ่งที่ผมรู้ผมเห็น หรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้พิพากษาอังกฤษที่ตัดสินคดี
ผมไม่มีเจตนาใส่ความหรือต้องการทำให้นาย Calver เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ผมมีเจตนาเพียงเพื่อนำความจริงมาชี้แจงให้เห็นถึงประสบการณ์เลวร้ายอย่างไม่น่าเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นกับผมและจำเลยคนไทยคนอื่นๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ใช้วิจารณญาณวิเคราะห์ตามทำนองคลองธรรม และเพื่อให้เป็นอุทาหรณ์สำหรับประชาชนคนไทยและธุรกิจของคนไทยโดยทั่วไปที่ไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนสัญชาติอังกฤษ ให้เฝ้าระวังตัวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโดยวิธีการเช่นเดียวกันนี้ และผมยังมุ่งหวังให้การให้ข้อมูลของผมนี้เป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการนิติศาสตร์และการใช้อำนาจตุลาการด้วย โดยผมจะใช้วิธีการชี้แจงแบบถาม-ตอบ (Q&A) ซึ่งคำถามตอบและคำตอบจะอยู่ในประเด็นที่เกี่ยวกับหัวข้อต่อไปนี้ คือ
Q&A (1): ผู้พิพากษาอังกฤษโกหก-เท็จหรือไม่?
Q&A (2): ผู้พิพากษาอังกฤษตัดสินผิดหลักกฎหมายไทยหรือไม่?
Q&A (3): ผู้พิพากษาอังกฤษอยู่ในกระบวนการละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทยหรือไม่?
Wish you wonderful ways
วีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ