"...1.1 การเปิดเผยผลการสำรวจ ITA ต้องไม่จำกัดแค่ผลคะแนนประเมิน แต่ต้องเปิดเผยข้อมูลรายประเด็น พร้อมชี้ประเด็นที่น่าจับตาเป็นพิเศษของแต่ละหน่วยงานว่ามีอะไรดี อะไรไม่ดี..."
(ต่อเนื่องจาก 'ล็อค – ลอก – บัง' (1))
เพื่อแก้ปัญหาว่า 'ทำอย่างไรให้การประเมิน ITA เป็นที่ยอมรับของเจ้าหน้าที่และประชาชน' พร้อมสะท้อนปัญหาคอร์รัปชันที่ดำรงอยู่ในหน่วยงานรัฐ ทาง กมธ. กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ได้ทำการศึกษาและมีข้อเสนอแนะ สรุปได้ดังนี้
1. 'ตอบสนอง' ความคาดหวังของสังคม
1.1 การเปิดเผยผลการสำรวจ ITA ต้องไม่จำกัดแค่ผลคะแนนประเมิน แต่ต้องเปิดเผยข้อมูลรายประเด็น พร้อมชี้ประเด็นที่น่าจับตาเป็นพิเศษของแต่ละหน่วยงานว่ามีอะไรดี อะไรไม่ดี
1.2 ทุกหน่วยงานต้อง 'เผยแพร่' ให้สื่อและสังคมรับรู้ผลงานที่มีอยู่และผลงานที่หน่วยงานของตนสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน
1.3 ป.ป.ช. ต้องมีมาตรการติดตามผลว่า หน่วยงานมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ เพียงใด
2. 'ใช้ประโยชน์' ให้สมคุณค่าการประเมินที่ทุกฝ่ายลงทุนลงแรงไป
2.1 ทุกข้อมูลรายประเด็นจากการประเมิน IIT, EIT และ OIT ที่สะท้อนปัญหาความโปร่งใสหรือส่อว่าจะเกิดการทุจริตหรือเสื่อมเสียจริยธรรม ต้องนำมาใช้ประโยชน์ โดย
2.1.1 รายงาน ครม. รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และเผยแพร่ให้สาธารณะรับรู้
2.1.2 ส่งเสริมให้ทุกฝ่ายทราบว่า ผลงานของหน่วยงานที่ทำไป สิ่งใดที่ดีควรเชิดชูเป็นแบบอย่างเพื่อกำลังใจคนทำงาน สิ่งใดที่เป็นปัญหาต้องถูกจับตาเพื่อแก้ไขและป้องกันความเสียหาย
2.2 ติดตามให้หน่วยงานมีการพัฒนาและแก้ไข แม้ต้องลงทุนมากหรือใช้มาตรการเข้มข้น เช่น ลงโทษ โดยไม่ปล่อยให้เป็นภาระของ ป.ป.ช. และรัฐบาลตามลำพัง
2.3 หน่วยงานต้องนำผลการประเมินทั้งข้อเด่น – ข้อด้อยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาองค์กร ระบบงาน บุคลากร และสร้างค่านิยมองค์กร
3. 'การสื่อสาร' ให้สื่อมวลชนและประชาชนเข้าใจกติกาในการประเมิน ว่า
3.1 หน่วยงานใดมีประกาศ ระเบียบ หรือข้อบังคับให้สามารถมีการปกปิดข้อมูลเป็นความลับหรือมีเหตุให้ไม่สามารถเปิดเผยได้ทั้งหมดหรือบางส่วน (เช่น กระทบความมั่นคงของประเทศ) ที่ทำให้เรื่องนั้นๆ ไม่ถูกประเมินในระบบ ITA
3.2 เผยแพร่ให้สังคมรับรู้สภาพที่เป็นจริงของแต่ละหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ติดตาม ตรวจสอบ ช่วยชี้แนะ เพื่อนำไปสู่เชื่อมั่นต่อการประเมิน
4. 'การประเมิน' ที่เกิดคุณค่า
4.1 หาแนวทาง 'สร้างแรงจูงใจ' ให้หน่วยงานฯ ดำเนินการให้บุคลากรและผู้บริหารของตน ได้รับรู้และมีส่วนร่วมในขั้นตอนต่างๆ ของการประเมินมากที่สุด เพื่อตระหนักที่จะร่วมมือกันแก้ไข
4.1.1 นำผลการประเมิน จุดเด่น จุดด้อยของหน่วยงาน ไปเผยแพร่และใช้อย่างมีเป้าหมายร่วมกัน เกิดการปรับปรุงสภาพแวดล้อม ระบบและวิถีปฏิบัติขององค์กร
4.1.2 ให้ทุกคนรับรู้ 'พัฒนาการ' แต่ละปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง ว่าแต่ละประเด็นสำคัญจากการประเมินนั้นมีการเปลี่ยนแปลงประการใด หรือไม่
4.2 วางค่าน้ำหนักคะแนน IIT, EIT และ OIT ให้เหมาะสม เช่น ลดน้ำหนักคะแนน OIT (ปัจจุบัน40%)
4.3 ปรับรูปแบบคำถามให้ผู้ตอบสามารถเข้าใจชัดเจน เช่น แยกได้ว่าคำตอบในข้อนั้นๆ เป็นเรื่องความเห็นหรือความจริงที่เกิดขึ้น
4.4 จัดให้มีคณะที่ปรึกษาการประเมิน ITA โดยแยกตามประเภทกลุ่มหรือภาระกิจของหน่วยงาน
4.5 หน่วยงานผู้แทน ป.ป.ช. ในการประเมิน ต้องตระหนักถึงวัตถุประสงค์ของ ITA เข้าใจเรื่องที่ประเมินและบริบทที่แตกต่างกันของหน่วยงานที่ถูกประเมิน
4.6 ควรทบทวนว่า ป.ป.ช. เป็นองค์กรกำกับดูแล ลงโทษ เรื่องคอร์รัปชันและความโปร่งใส ดังนั้นหากให้หน่วยงานอื่นที่เป็นกลางเป็นผู้ดูแลการประเมิน ITA จะเหมาะสมกว่าหรือไม่
5. มีมาตรการป้องกันและมีบทลงโทษ พฤติกรรมที่ไม่ซื่อสัตย์ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
5.1 การจงใจลอกเลียนข้อมูลหรือลอกคำตอบในการประเมินของหน่วยงานอื่น อาจป้องกันโดยให้ทุกหน่วยงานต้องแสดงข้อมูลกลไกการดำเนินงานในการเปิดเผยข้อมูล ฯลฯ
5.2 การทุจริตเพื่อกำหนดผลการประเมิน เช่น การกำหนดตัวบุคคลเพื่อตอบแบบประเมิน การโน้มน้าวหรือซักซ้อมให้เกิดคำตอบไปในทางที่ต้องการ การทำแทนกันโดยเก็บเลขที่บัตรประชาชนหรือบัตรข้าราชการเพื่อนำมาตอบแบบประเมินเอง อาจป้องกันโดยการกระจายกลุ่มตัวอย่างให้มากขึ้น ฯลฯ
5.3 จัดให้มีระบบประเมินความพึงพอใจของประชาชน (Citizen Feedback) เมื่อใช้บริการที่หน่วยงาน
ITA ไม่การันตีว่าหน่วยงานนั้นๆ มีคอร์รัปชันหรือไม่ และเป็นการประเมินสถานะภาพของหน่วยงานระดับปฏิบัติการและธุรการที่ไม่เชื่อมโยงถึงบุคลิกภาพและศักยภาพของตัวบุคคลและผู้บริหารแต่อย่างใด จึงควรปรับให้การประเมินสะท้อนพฤติกรรม 'ผู้นำ' องค์กรทั้งระดับกรมและกระทรวง หรือ 'องค์อำนาจ' เช่น รัฐมนตรี อธิบดี คณะตุลาการ คณะกรรมการ นายก อปท. ฯลฯ ด้วยเช่นกัน
ป.ป.ช. พัฒนาระบบ ITA มาตลอด 10 ปีและเชื่อว่ายังต้องปรับปรุงอีกมาก แต่งานที่ครอบคลุมหน่วยงานมากถึง 8,303 แห่งทำให้ยากจะดูแล ขณะที่หลายหน่วยงานทำได้ดี หลายหน่วยงานวางเฉยไม่เห็นความสำคัญ ดังนั้น หน่วยงานที่ถูกประเมินต้องใส่ใจที่จะประเมินตนเอง หัวหน้าหน่วยงานต้องปรับทัศนคติและยอมรับความจริงเพื่อแก้ไข การประเมินนี้จึงจะเป็นที่ยอมรับของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ
ดร.มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)