"… การหักล้างความเชื่อของผู้คนจากการรับข้อมูลข่าวสารในทางลบที่ถูกประทับตราไปแล้วตั้งแต่แรกบนโซเชียลมีเดียและเผยแพร่ไปเร็วดังไฟลามทุ่งจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่ในสังคมที่ผู้คนมีศักยภาพในการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้ …"
“ อินเทอร์เน็ต ไม่เพียงแต่นำผู้คนเข้ามาอยู่ร่วมกันเท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้ผู้คนแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆได้ด้วย ” เดวิด โบวี - นักร้องและนักแสดง
ในช่วงเวลาที่อุณหภูมิทางการเมืองกำลังร้อนระอุจากผลจากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและกำลังอยู่ในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่เป็นไปตามความประสงค์ของพรรคการเมืองเสียงข้างมาก นอกจากข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลออกมาจากพรรคการเมืองและสื่อต่างๆแทบจะทุกชั่วโมงแล้ว โลกโซเชียลก็มีความร้อนแรงไม่แพ้กัน เพราะทั้งสำนักข่าวและผู้คนบนโลกออนไลน์ต่างนำเสนอข่าวและความเห็นทางการเมืองอย่างเข้มข้น รวมทั้งมีการแสดงความคิดเห็นต่อข่าวต่างๆอย่างต่อเนื่อง มีการโจมตีซึ่งกันและกัน การแฉเบื้องหลังทางการเมืองและการดิสเครดิตทางการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆอย่างดุเดือดจนไม่อาจรู้ได้เลยว่าสิ่งเห็นบนจอมือถือนั้น สิ่งใดเป็นความเท็จหรือสิ่งใดเป็นความจริง
โลกของความไร้บริบท
การที่ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ ผ่านเทคโนโลยีที่สามารถทำให้สีดำเป็นสีขาวและทำให้ความผิดเป็นความถูก สามารถทำให้ความเห็นกลายเป็นสิ่งมีอิทธิพลเหนือความจริงอย่างง่ายดาย จนผู้คนไม่สามารถแยกแยะได้เลยว่าความเท็จและความจริงอยู่ตรงไหน โลกทั้งโลกจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่สามารถสร้างสภาวะที่เรียกกันว่า สภาวะไร้บริบท(decontextualization) ซึ่งหมายถึง สิ่งที่มองเห็นตรงหน้าผ่านจอโทรศัพท์มือถือบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียไม่สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งที่มาของข้อมูลได้ เราจึงไม่รู้เลยว่า สิ่งที่มองเห็นต่อหน้านั้นถูกดัดแปลง(Alter) แก้ไข(Edit) ผสมผสานขึ้นมาใหม่(Remix) จนทำให้ข้อมูลเดิมบิดเบี้ยวไปจนจากข้อมูลเดิมมากน้อยเพียงใด จากเจตนาของผู้ต้องการนำเสนอสิ่งที่ต้องการให้เป็นข่าว
โซเชียลมีเดียกับอารมณ์การเมือง
การเล่นกับโซเชียลมีเดียคือการเล่นกับอารมณ์ของผู้คน การกระตุ้นให้ผู้คนสนใจจนเกิดอารมณ์ร่วมทางการเมืองอย่างมากมายนั้น นอกจากได้ยอดวิวและสามารถแตะอารมณ์กับมวลมิตรที่มีอุดมการณ์เดียวกันแล้ว ยังอาจส่งผลให้ตัวเองกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ในอนาคตได้อีกด้วย การนำข่าวเชิงลึก ข่าววงในหรือข่าวสำคัญๆทางการเมืองมาเปิดเผยบนสื่อออนไลน์ก่อนคนอื่น จึงเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการเมืองของคนบางคน
นักวิชาการบางคนเคยกล่าวไว้ว่า “ เมื่อใดก็ตามที่เราไม่รู้ หรือ เรารู้ไม่มากพอเรามักจะทดแทนความไม่รู้นั้นด้วยอารมณ์ของเราเสมอ” คำกล่าวนี้สามารถนำมาใช้กับโซเชียลมีเดียได้เป็นอย่างดี เพราะการมองเห็นคอนเทนต์หน้าจอผ่านโซเชียลมีเดียมักเป็นคอนเทนต์ที่ไม่ชัดเจนเพียงพอและมีช่องว่างที่ทำให้เราต้องเติมอารมณ์ที่ขึ้นอยู่กับความเชื่อของเราเข้าไปอยู่เสมอจนทำให้ความหมายของคอนเทนต์นั้นถูกแปลความหมายไปอีกทางหนึ่งได้อย่างง่ายดายและคอนเทนต์ที่เรียกร้องความสนใจได้ดีที่สุดไม่ใช่คอนเทนต์ทางวิชาการหรือคอนเทนต์ประเภทคำบอกเล่าทั่วๆไป แต่มักเป็นคอนเทนต์ที่กระตุ้นอารมณ์ของผู้อ่านซึ่งคอนเทนต์ทางการเมืองน่าจะเป็นคอนเทนต์ประเภทกระตุ้นอารมณ์ได้ดีที่สุดประเภทหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์โกรธมักมีอิทธิพลมากกว่าอารมณ์อื่นๆ
จากการศึกษาของนักวิจัยของจีนโดยการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวน 70 ล้านข้อความจากผู้ใช้โซเชียลมีเดีย Weibo พบข้อมูลจนได้ข้อสรุปว่า ความโกรธเป็นอารมณ์ที่เดินทางได้เร็วที่สุดและไกลที่สุดบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค ผ่านการเชื่อมต่อของผู้คนในกลุ่มต่างๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่คอนเทนต์ทางการเมืองจึงมักได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากผู้คนเสมอเมื่อถูกเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย
ไลน์หลุด สว. – ข่าวปล่อยหรือ ข่าวจริง
หลังจากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองไปเพียงวันเดียวมีข่าวไลน์หลุดของ สว. เผยแพร่ตามสื่อต่างๆอย่างกว้างขวางโดยนำเนื้อหาข้อความมาจากบุคคลที่อ้างว่าเป็น สส. ของพรรคการเมืองหนึ่งโพสผ่านโซเชียลมีเดีย โดยสื่อพาดหัวข่าวว่า “สว.ดาหน้าปัดไลน์หลุดใบสั่งตีตก “พิธา” ซ้ำ “สมชาย” ชี้เลอะเทอะ “กิตติศักดิ์” ยันกลุ่มใหญ่ไม่มี” ซึ่งมีรายละเอียดจับใจความได้ว่า
จากกรณีแชตไลน์หลุดที่อ้างว่าเป็นการส่งข้อความให้ในกลุ่มของ ส.ว. เรื่องเกี่ยวกับนัดแนะเข้าร่วมประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566โดยให้ลงมติ ไม่เห็นชอบญัตติที่จะเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 และให้ลงมติไม่เห็นชอบนายพิธานั้น เมื่อตรวจสอบ สมาชิกวุฒิสภาหลายคนต่างปฏิเสธว่าไม่มี ไม่เคยเห็นแชตไลน์ ในลักษณะดังกล่าว โดย สว. ท่านหนึ่ง ระบุว่า ไม่เคยเห็นข้อความจากไลน์ดังกล่าว มองว่าเป็นเรื่องเลอะเทอะ หากมีคนนำไปแชร์หรือส่งต่อต้องบอกที่มาให้ได้ ว่าใครคนส่ง ใครเขียน ตนไม่รู้ว่าใครสร้างเรื่องขึ้นมาหรือไม่ ส่วนจะเป็นการดิสเครดิต สว.หรือไม่ ก็ไม่ทราบ แต่ยืนยันว่า สว. มีเอกสิทธิ์ส่วนตัว มีการแสดงความเห็น สั่งใครไม่ได้
ในขณะที่ สว.คนดังอีกคนหนึ่งออกมาปฏิเสธเช่นกันว่า ในกลุ่มใหญ่ของ สว. ไม่มีข้อความดังกล่าวแน่นอน แต่ไม่รับประกันว่า ในกลุ่มของคณะกรรมาธิการ 26 คณะ และอนุกรรมาธิการของวุฒิสภา อีกเกือบ 100 คณะ จะมีข้อความดังกล่าวหรือไม่
สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นได้อีกอย่างหนึ่งว่า โลกออนไลน์นั้นไม่มีความเป็นส่วนตัว ไม่ว่าจะอยู่ บนแพลตฟอร์มใดก็ตาม ข้อมูลของทุกคนมีโอกาสที่จะถูกเปิดเผยในทางใดทางหนึ่งต่อสาธารณะเสมอ และกรณีที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นของจริงหรือเป็นการดิสเครดิต สว. แต่ก็เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปแล้ว
สิ่งที่น่าสนใจต่อการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะคือ แหล่งข่าวอ้างว่าผู้ที่นำข้อมูลมาเปิดเผยเป็น สส. ของพรรคการเมืองหนึ่งที่กำลังมีปัญหากับ สว.ส่วนใหญ่เพราะไม่โหวตให้คุณพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ผู้ที่นำข้อมูลมาโพสจนเป็นข่าวไปทั่วได้เขียนข้อความบนโซเชียลมีเดียว่า “มีผู้ส่งมาว่าภาพนี้อาจจะมีที่มาจากไลน์กลุ่มของ สว.อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถยืนยันที่มาได้ จริงเท็จอย่างไรเดี๋ยวดิฉันจะตรวจสอบอีกทีค่ะ” (อ้างอิง 1และอ้างอิง2) ข้อความดังกล่าว ผู้โพสใช้คำว่า 'อาจจะ' และใช้คำว่า 'ไม่สามารถยืนยันที่มาได้' แปลว่า ผู้โพสข้อมูลยังไม่รู้เลยว่าข้อมูลที่โพสอยู่นั้นเป็นจริงหรือเท็จแต่ก็ตั้งใจนำมาเผยแพร่สู่สายตาผู้คนเสียแล้ว ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่น่าชื่นชมหรือน่าภาคภูมิใจใดๆเลย
การตีกินทางการเมือง
การที่นำข้อความทั้งๆที่รู้ว่าเป็นข้อความที่ยังไม่ได้พิสูจน์เลยว่าเป็นความจริงหรือความเท็จ ซึ่งเป็นข้อความที่พาดพิงถึง สว. ที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับตนเองในทางให้ร้ายมาเปิดเผยนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นการตั้งใจ ดิสเครดิต สว. และตามข่าวอ้างว่าผู้ให้ข้อมูลเป็น สส.ของพรรคการเมืองหนึ่ง ข้อมูลที่โพสจึงมีน้ำหนักมากพอที่จะชี้นำให้คนเชื่อถือ โดยเฉพาะพวกถือหางทางการเมืองฝ่ายตนเองอาจเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจไปแล้วว่าเป็นเรื่องจริง แม้จะอ้างว่าจะมีการตรวจสอบอีกครั้งก็ตามและถึงแม้ สว.บางคนจะออกมาปฏิเสธต่อเรื่องดังกล่าวอย่างแข็งขัน แต่สิ่งที่เผยแพร่ออกไปได้ถูกจดจำโดยผู้คนส่วนหนึ่งและสร้างความเสียหายต่อ สว.ไปแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
การกระทำดังกล่าวอย่างน้อยที่สุดทำให้ผู้นำข้อมูลมาเปิดเผยได้ประโยชน์ในแง่ของการเป็นที่รู้จักของผู้คน ทำให้ได้อารมณ์มวลชน และได้ดิสเครดิต สว.ไปด้วย ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะแปลความเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากเป็นการใช้สื่อโซเชียลในมือเพื่อตีกินทางการเมืองโดยการฉกฉวยประโยชน์จากโซเชียลมีเดียที่ง่ายและรวดเร็ว แต่เป็นการเล่นนอกเกมที่ไม่มีความเป็นธรรมต่อกลุ่มผู้ถูกนำข้อมูลมาเปิดเผย ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นความจริงหรือความเท็จก็ตาม
ผลของการกระทำ
แม้ว่าในภายหลังหากมีการพิสูจน์ได้ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง สว. ที่กระทำเรื่องดังกล่าวจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และผู้เปิดเผยข้อมูลย่อมได้หน้าได้ตาหรือขยับขึ้นมาเป็น สส.แถวหน้าในพรรค แต่หากเรื่องดังกล่าวไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงหรือเรื่องเงียบหายไปโดยมิได้มีการพิสูจน์ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผู้นำข้อมูลมาเปิดเผยก็ได้รับประโยชน์ทางการเมืองไปแล้วเต็มๆเช่นกัน เพราะสิ่งที่ได้โพส ไปล่วงหน้านั้นได้ทำลายความน่าเชื่อถือของเหล่า สว.รวมทั้งยกระดับความไม่พอใจของด้อมการเมืองต่อ สว.ขึ้นไปอีกหรือ แม้จะมีน้ำใจกล่าวคำขอโทษในภายหลังหากเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องจริงก็ไม่อาจหักล้างสิ่งที่กระทำไปก่อนหน้าได้
การหักล้างความเชื่อของผู้คนจากการรับข้อมูลข่าวสารในทางลบที่ถูกประทับตราไปแล้วตั้งแต่แรกบนโซเชียลมีเดียและเผยแพร่ไปเร็วดังไฟลามทุ่งจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่ในสังคมที่ผู้คนมีศักยภาพในการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้
การใช้โซเชียลมีเดียในการ โจมตี ดิสเครดิต กลั่นแกล้งหรือให้ข้อมูลในลักษณะกำกวมเพื่อให้ผู้ได้รับข้อมูลไปแปลความเอาเอง ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใดในโลกถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำและถือว่าเป็นการใช้โซเชียลมีเดียในทางไม่สร้างสรรค์ มิใช่การติชมโดยสุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเรื่องที่ตัวเองอ้างว่ายังไม่รู้เลยว่าเป็นความจริงหรือเท็จมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่า ตัวเองเป็น สส.ที่แสดงว่าสามารถเข้าถึงวงในของข้อมูลข่าวสารหรือเพื่อเรียกกระแสมวลชนหรือเหตุผลอื่นใดก็ตามก็ตามมาเปิดเผย ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรไม่ว่าคนคนนั้นจะอยู่ในสถานะของ สส.หรือบุคคลทั่วไปก็ตาม
การกระทำดังกล่าวนอกจากเป็นเสมือนการชี้นำสังคม ซึ่งน่าจะทำให้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงและเพิ่มความเกลียดชังต่อผู้อื่นแล้ว ยังเป็นการจงใจดิสเครดิต บุคคลอื่นในสภาวะที่กำลังตกเป็นจำเลยของสังคมซ้ำเข้าไปอีกและยังเร่งอุณหภูมิทางการเมืองที่ร้อนแรงอยู่แล้วให้นำไปเป็นประเด็นถกกันในวงโซเชียลต่อไปอย่างสนุกปากโดยไม่รู้ที่ไปที่มาซึ่งไม่ควรอยู่ในวิสัยในการแสดงออกถึงเสรีภาพที่ปุถุชนพึงกระทำ
การเผยแพร่ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมและมารยาทในการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่ดีจะต้องเรียนรู้เองด้วยการสังเกตและศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้โซเชียลมีเดียจากแหล่งหรือประเทศที่มีอารยะ รวมทั้งสังเกตการตอบสนองจากคนรอบตัวที่ใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อรักษาภาพลักษณ์ทั้งของตัวเองและสถาบันสส.เอาไว้ โดยไม่ฉวยโอกาสใช้ความได้เปรียบจากโซเชียลมีเดียก้าวล่วงไปยังผู้อื่นเพื่อให้ตกเป็นข่าวในทางลบโดยยังไม่รู้ข้อเท็จจริงใดๆ
ผู้เขียน พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร
อ้างอิง
1.https://mgronline.com/politics/detail/9660000065763
2.https://www.naewna.com/politic/744888
3.Like War โดย P.W. Singer และ Emerson T.Brooking
ภาพประกอบ https://www.labyrinthit.com/social-media-risks-for-business/