“...ท่ามกลางสังคมที่มี hate speech เกิดขึ้น สื่อวิชาชีพต้องยึดหลักให้มั่นว่า สื่อวิชาชีพนั้นต้องเป็นความหวังที่พึ่งพาได้ โดยต้องมีการรายงานข่าวตามปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบแล้ว และมีความครบถ้วนรอบด้าน ต้องไม่เอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง...”
สืบเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองได้เข้มข้นขึ้น และสื่อมีการนำเสนอข่าวหลากหลายมุมมอง จึงเกิดการตั้งคำถามถึง การทำงานของสื่อมวลชน สื่อมวลชนควรมีบทบาทการทำงานอย่างไรในขณะที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง
สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองได้รุนแรงขึ้นจากการโหวตนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ประชาชนได้แบ่งออกเป็นหลายพรรคตามพรรครัฐบาลที่ชื่นชอบและต้องการสนับสนุน จึงเกิดการโจมตีกันของประชาชนระหว่างพรรคที่สนับสนุนและพรรคฝ่ายตรงข้าม ทั้งนี้สื่อต่างๆได้เข้ามามีบทบาทในการกระจายข่าวสารข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ข่าวสารแพร่กระจายเป็นวงกว้างด้วยความรวดเร็ว
เมื่อถูกตั้งคำถามถึงบทบาทการทำงานของสื่อหลักท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนระอุ คำถามที่ตามมาคือ สื่อสามารถมีจุดยืนที่แน่ชัดทางการเมืองได้หรือไม่
นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ตอบคำถามถึงการทำงานของสื่อในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองว่า นับเป็นเรื่องที่ปกติของวงการข่าว ที่จะมีการแสดงความคิดเห็น การวิเคราะห์ข่าวตามความเห็นส่วนบุคคลในบทความ หรือคอลัมนิสต์ต่างๆ เพราะแม้แต่ในประเทศสหรัฐฯอเมริกาก็มักจะมีการวิเคราะห์กันถึง สื่อแต่ละสำนักจะมีบทความ บทวิเคราะห์ หรือบทบรรณาธิการที่ค่อนไปในการเชียร์พรรคเดโมแครต หรือ พรรครีพับลิกัน แต่หากเป็นข่าวรายงานสถานการณ์ที่บอกชัดเจนว่า สิ่งนี้คือเนื้อข่าว การใส่ความคิดเห็นถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณสื่อ โดยหลักในการรายงานข่าวนั้นจะต้องเคร่งครัดในการให้ข้อมูลข่าวสารที่ซื่อตรงต่อผู้บริโภค เพราะฉะนั้นจะไม่มีการใส่ความคิดเห็นส่วนตัว ต้องให้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านและทั่วถึง และไม่มีอคติกับเนื้อหาข่าว
นายมงคล กล่าวถึงบทบาทของสมาคมนักข่าวเมื่อเกิดสถานการณ์สื่อมีการเลือกข้างว่า สมาคมนักข่าวต้องอธิบายความแตกต่างระหว่างการนำเสนอข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นให้เกิดความชัดเจน และที่สำคัญต้องคอยย้ำเตือนสื่อมวลชนถึงการละเมิดสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องในข่าวที่นำเสนอออกไป หมายถึงการนำเสนอในหลากหลายมุมมอง และแน่นอนหากเป็นการรายงานสถานการณ์ข่าวแล้ว ต้องมีความเคร่งครัดในการไม่สอดแทรกความคิดเห็นตัวเองไป และต้องซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภคข่าวสารด้วยการหาข้อมูลที่ไม่อคติ ไม่ควรกล่าวสรุปตามความคิดเห็นที่ตนต้องการ
นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงภาพการทำงานของสื่อในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยมีมาอย่างยาวนาน เพียงแต่ในยุคสมัยนี้ มีตัวแปรใหม่เข้ามาคือการนำโซเชียลมีเดียมาใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งโซเชียลมีเดียนั้นเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถสื่อสารได้และไม่ได้จำกัดเพียงแค่สื่อหลักเท่านั้น ทั้งสื่อหลักและสื่อโซเชียลมีเดียทำให้ข่าวสารมีการเคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมง สามารถกล่าวได้ว่า โซเชียลมีเดียเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ข่าวสารเกิดการตื่นตัว เพียงแต่ว่าการกระตุ้นนั้นเป็นเชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณภาพ การใช้สื่อโซเชียลมีเดียจึงเป็นการโหมกระพือระดับความรุนแรงของสถานการณ์มากขึ้น
ทั้งนี้ ผศ.ดร.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่า หากจะให้พูดแบบฟันธงว่า สื่อนี้เลือกสนับสนุนพรรคนั้น สื่อนั้นไม่สนับสนุนพรรคนี้เป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากสื่อหลักที่มีจุดยืนทางการเมืองที่แน่ชัดนั้นมีไม่กี่องค์กรเท่านั้น สื่อหลักไทยยังไม่กล้าหาญพอถึงขนาดที่จะประกาศตัวตนออกมาชัดเจนว่าสนับสนุนใคร และยังคงเป็นลักษณะของการหลบซ่อนอยู่มากกว่า
ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทางด้าน นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ในบริบทของสังคมที่มีความหลากหลายของสื่อ สื่อหลักควรต้องแสดงบทบาทของความเป็นสื่อที่มีหลักการ มีแนวทางปฏิบัติและความรับผิดชอบ เพื่อสะท้อนให้สังคมได้เห็นว่า ระหว่างผู้ที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้าง hate speech หรือ เป็นการสร้างรายได้จากการโพสต์ข้อความ และสื่อวิชาชีพที่มีหลักการ มีแนวทางปฏิบัติและความรับผิดชอบ มีการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารก่อนการนำเสนอออกไป แต่ในด้านความเป็นจริงนั้น สื่อหลักจำนวนไม่น้อยได้ถูกกลืนไปกับสื่อโซเชียลมีเดีย หมายถึง มีลักษณะที่ต้องการที่ให้ความสำคัญกับบุคคลเดียว โดยอาจมี hate speech และ click base บ้าง ทั้งนี้พบว่าสื่อหลักจำนวนไม่น้อยใช้วิธีการพาดหัวข่าวแบบนี้เพื่อให้ผู้บริโภคกดเข้าไปอ่าน ไปแชร์ ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการ
“ท่ามกลางสังคมที่มี hate speech เกิดขึ้น สื่อวิชาชีพต้องยึดหลักให้มั่นว่า สื่อวิชาชีพนั้นต้องเป็นความหวังที่พึ่งพาได้ โดยต้องมีการรายงานข่าวตามปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบแล้ว และมีความครบถ้วนรอบด้าน ต้องไม่เอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สื่อหลักควรยึดมั่น 2 หลักการคือ 1.ยึดหลักการพื้นฐาน เสนอข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน รอบด้าน ถึงแม้ว่าความคิดเห็นส่วนตัวคุณจะเป็นอย่างไรก็ตาม และ 2.ต้องมีการประเมินคุณค่าข่าวที่นำเสนอ อย่าให้ความสำคัญกับเรื่องความขัดแย้ง ห้ามจุดประเด็นความขัดแย้งขึ้น” นายจักร์กฤษ กล่าว
นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
ดังนั้น การนำเสนอข่าวท่ามกลางวิกฤติทางการเมือง สื่อวิชาชีพไม่ควรนำความคิดเห็นและทัศนคติส่วนตัวมาใช้ โดยอาศัยพื้นที่สาธารณะในการกระจายข่าว สื่อวิชาชีพควรรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนและหลากหลายมุมมองซึ่งเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของการเป็นสื่อ ถึงแม้ว่าสื่อวิชาชีพเองจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันก็ตาม หากสื่อวิชาชีพต้องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองสามารถรายงานได้เพียงแต่ต้องมีการระบุชัดเจนว่าสิ่งนี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น หรือมิเช่นนั้นแล้ว สื่อวิชาชีพยังสามารถแสดงออกซึ่งจุดยืนทางการเมืองผ่านบทบาทอื่นที่มิใช่บทบาทของผู้สื่อข่าว เช่น สื่อโซเชียลมีเดีย แต่ควรอยู่ในกรอบความเหมาะสม โดยต้องไม่สร้าง hate speech และ ละเมิดสิทธิผู้อื่น