“...การพนัน ต้องควบคุม ไม่ใช่กำกับดูแล ปัญหาของไทยในเรื่ององค์กรกำกับดูแลล้มเหลวมาก จึงต้องฝากพรรคการเมืองที่จะดันเรื่อง การพนันถูกกฎหมาย ต้องเชื่อมั่นองค์กรนั้นจริงๆว่า ทำได้หรือไม่ อย่างกฎหมายการพนันเราก็เก่ามากที่สุด จะครบ 80 ปีแล้ว หลายประเทศมีกฎหมายพนันหลายฉบับ เพื่อทำให้ซี่กรงถี่ขึ้นในการจัดการการพนัน เพราะจักรวาลการพนันกว้างมาก...”
การขยายตัวของธุรกิจพนันที่ผิดกฎหมาย และการเชื่อมโยงระหว่างการพนันผิดกฎหมายกับปัญหาคอร์รัปชั่นและองค์กรอาชญากรรม เป็นปัญหาที่แทบทุกสังคมต้องเผชิญ
หลายประเทศจึงพิจารณาเปิดให้มีการพนันถูกกฎหมายมากขึ้น เพื่อสนองผู้เล่นที่มีอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด ป้องกันไม่ให้เกิดนักพนันหน้าใหม่ เฝ้าระวังไม่ให้นักพนันเดิมเล่นพนันจนเกินขอบเขต
โดยตระหนักว่า ธรรมชาติของการพนัน ถ้าคนเล่นพนันครั้งแรกได้ชนะพนันจะทำเกิดความอยากเล่นพนันบ่อยขึ้น และมีโอกาสก้าวเข้าสู่ภาวะเสี่ยงที่จะเป็น ‘นักพนันที่มีปัญหา (Problem Gambling)’ หรือเป็น ‘โรคติดพนัน (Pathological Gambling)’ ซึ่งจะทำให้เกิด ‘ต้นทุนทางสังคม (social cost) จากการพนัน’ อาทิเช่น ต้นทุนที่เกิดจากการเสียการเรียน เสียงาน เสียสุขภาพ เจ็บป่วย ฆ่าตัวตาย การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การหย่าร้าง การก่ออาชญากรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดจากการเล่นพนันของคน 1 คน อาจส่งผลกระทบต่อครอบครัวและคนใกล้ชิดมากถึง 10 -17 คน
ดังนั้น แนวนโยบายแห่งรัฐที่ต้องการให้มีการพนันถูกกฎหมายจึงต้องมีความทันสมัย เท่าทันปัญหาและผลกระทบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดต้นทุนทางสังคมจากการพนันที่สูง สูงกว่ารายได้ที่รัฐจัดเก็บจากธุรกิจพนันและภาษีรางวัลของคนชนะพนัน
ข้อมูลจากประสบการณ์ของประเทศที่บริหารจัดการการพนันถูกกฎหมายได้ในระดับน่าพอใจล้วนมีระบบราชการและตำรวจที่ปลอดการคอร์รัปชั่น และการออกแบบกฎหมายการพนันทันสมัย
ล้วนเริ่มต้นด้วยฐานคิดที่ว่า
-
ธุรกิจพนันต้องปราศจากความเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมและการคอร์รัปชั่น
-
ผู้เล่นพนันต้องได้รับทราบข้อมูลและสามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกเอาเปรียบ
-
ต้องมีบทบัญญัติคุ้มครองเด็กและเยาวชน และบุคคลที่ขาดความสามารถในการปกป้องตนเอง
-
ต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลกิจการพนัน (Gambling Commission) ที่มีความน่าเชื่อถือ
-
ต้องมีกลไกป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันที่ครอบคลุม พร้อมปฏิบัติงานตลอดเวลา
ขณะที่ทางตรงกันข้าม ประสบการณ์ของประเทศที่อนุญาตให้มีการพนันถูกกฎหมาย โดยมุ่งหวังรายได้จากภาษีจะมองข้ามผลกระทบจากการพนัน ยอมให้ธุรกิจพนันพัฒนาเกมพนันเพื่อตลาดมวลชนและมีการตลาดรูปแบบต่างๆ เพื่อจูงใจให้มีคนอยาก ‘ทดลอง’ เล่นพนัน และใช้เงินพนันมากขึ้นๆ เพราะผลกำไรที่เป็นกอบเป็นกำที่สุดของธุรกิจพนันมาจากเกมพนันที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้น้อย 'ภาษีการพนันจึงเท่ากับเป็นภาษีคนจน'
ยิ่งกว่านั้น กรณีที่นักการเมืองเข้าไปพัวพันกับธุรกิจพนัน การคอร์รัปชั่นจะมีมากขึ้น ส่งผลให้รัฐจะไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากธุรกิจพนันถูกกฎหมายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และธุรกิจพนันจะกลายเป็นแหล่งหากำไรและสร้างอิทธิพลส่วนตัวของนักการเมืองและนักธุรกิจกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง
ท่ามกลางกระแสเสรีนิยม การพิจารณาเปิดให้มีการพนันถูกกฎหมายมากขึ้นเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง และการพนันยังเชื่อมโยงกับอีกหลายปัญหาอีกด้วย แต่ขณะเดียวกัน การบริหารจัดการการพนันถูกกฎหมายที่มีอยู่แล้วก็เป็นเรื่องท้าทายเช่นกัน
เนื่องจากผลกระทบด้านลบจากการพนันที่เกิดขึ้นแล้ว ยังไม่มีหน่วยงานหรือกลไกรับผิดชอบดูแล เช่น ไม่มีหน่วยงานเฉพาะในการดูแลผู้ป่วยด้วยโรคติดพนัน (Pathological Gambling) ไม่มีระบบให้คำปรึกษาแบบเฉพาะกับนักพนันที่มีปัญหา (Problem Gambling) จำนวนแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดรักษามีอยู่น้อยมากๆ องค์ความรู้ด้านการป้องกันยังจำกัดในวงแคบ คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงการปกป้องเด็กและเยาวชนจากการพนัน และไม่เข้าใจว่าภาวะติดพนันเป็นโรคทางจิตเวชที่รักษาได้ เป็นต้น
ปัญหาเหล่านี้ต้องการ ‘การออกแบบ’ และการสนับสนุนให้เกิดกลไกในการทำงานที่พร้อมปฏิบัติงานตลอดเวลา
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2566 ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดการประชุมศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2566 'การพนันในสังคมก้าวหน้า : ก้าวให้ทันความท้าทาย เพื่อสร้างการรู้เท่าทันพนันในสังคมไทย'
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส.สนับสนุนให้จัดตั้ง ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ทำให้ไทย มีข้อมูลทางวิชาการหลากหลาย และพร้อมใช้งาน เช่น สถานการณ์พฤติกรรม ผลกระทบการพนัน รายงานสถานการณ์ระดับจังหวัด และยังจัดให้มีการประชุมวิชาการต่อเนื่องทุกปี สถานการณ์พนันถือเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญ เพราะธรรมชาติของการพนัน ถ้าคนเล่นพนันครั้งแรกได้ชนะพนัน ทำให้เกิดความอยากเล่นพนันบ่อยขึ้น และมีโอกาสก้าวเข้าสู่ภาวะเสี่ยงที่จะเป็น นักพนันที่มีปัญหา หรือเป็น โรคติดพนันในที่สุด
“ปัญหาจากพนัน ต่อตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม เมื่อคนเสพติดการพนัน ทักษะความสามารถการจัดการปัญหาทั้งด้านความคิด จิตใจ และอารมณ์จะลดลง ก่อให้เกิดปัญหาต่อการดำเนินชีวิต ตามมาด้วยผลกระทบ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความรุนแรง หนี้สิน การทุจริต อาชญากรรม ฯลฯ งานวิจัยยังพบว่า คนติดการพนัน 1 คน เกิดปัญหากระทบต่อคนในครอบครัว และคนใกล้ชิดถึง 10-17 คน การประชุมครั้งนี้ จะช่วยชี้ให้เห็นแนวทางการรับมือกับปัญหาที่เกิดจากพนัน ในฐานะปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ และสังคม นอกจากองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัย เชื่อว่าประสบการณ์ของวิทยากรที่ร่วมอภิปรายในแต่ละเวที จะนำไปสู่การออกแบบนโยบาย มาตรการ หรือกลไกที่เหมาะสมต่อการจัดการกับการพนันในสังคมไทย โดยเฉพาะการปกป้องกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือเด็กและเยาวชน รวมถึงการผลักดันให้รัฐบาลมีนโยบายที่เข้มแข็ง” ดร.สุปรีดา กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส.
ทางด้าน นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวภายในเวทีอภิปราย การพนันถูกกฎหมายในกระแสเสรีนิยม ในการประชุมศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี2566 ซึ่งจัดโดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และเครือข่ายฯ ว่า การพนันไม่ใช่สินค้าปกติ เป็นสินค้าที่ไม่อิ่ม ก่อผลกระทบทางลบสูง หากจะให้ถูกกฎหมายจะยิ่งมีผลกระทบ เรียกว่าการสินค้าที่นำไปสู่การเมาที่มองไม่เห็น
แต่เราจะเห็นตอนมีปัญหา คือ เริ่มไม่มีเงิน ส่วนที่ระบุว่า จะทลายทุนผูกขาด ซึ่งปัจจุบันเรามีทุนผูกขาดคือ สลากกินแบ่งรัฐบาล พรรคก้าวไกลจะทลายทุนผูกขาดนี้หรือไม่ ที่ต้องคิดคือ การขจัดจะเท่ากับขยายหรือไม่ หากจะเอาการพนันถูกกฎหมาย ต้องควบคุมไม่ใช่กำกับดูแล การเอาขึ้นมาต้องยอมรับว่า กิจการพนัน เป็นสีเทา เป็นกิจการเอาเปรียบผู้เล่นในตัวเองอยู่แล้ว เปรียบเหมือนเสือ ไล่กัดคนได้
นายธนากร กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องภาษีบาปนั้น จากแนวคิดฝั่งการเมืองเป็นวิธีการแบบเจ้าพ่อ โดยอุปถัมภ์บนความอ่อนแอ เอาเงินบาปมาสร้างบุญ จริงๆสังคมต้องการทุนแบบกองทุนพัฒนานวัตกรรม ไม่ใช่ทุนสงเคราะห์ ยกตัวอย่าง การใช้ทุนแบบ สสส. ทำให้สังคมแข็งแรงมากขึ้น และที่สำคัญอย่าดีใจว่าเก็บภาษีได้เยอะ เพราะเป็นภาพย้อนแย้ง อย่างกิจการรรัฐวิสาหกิจที่ส่งเงินเข้ารัฐมากสุด คือ สลากกินแบ่งรัฐบาล ทำเงินให้รัฐมากสุดด้วยกิจการพนัน เป็นเงินภาษีที่เกิดจากกิจการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ เพราะดูดเงินจำนวนมากสู่กระเป๋าเจ้ามือและคนชนะพนัน
“การพนัน ต้องควบคุม ไม่ใช่กำกับดูแล ปัญหาของไทยในเรื่ององค์กรกำกับดูแลล้มเหลวมาก จึงต้องฝากพรรคการเมืองที่จะดันเรื่อง การพนันถูกกฎหมาย ต้องเชื่อมั่นองค์กรนั้นจริงๆว่า ทำได้หรือไม่ อย่างกฎหมายการพนันเราก็เก่ามากที่สุด จะครบ 80 ปีแล้ว หลายประเทศมีกฎหมายพนันหลายฉบับ เพื่อทำให้ซี่กรงถี่ขึ้นในการจัดการการพนัน เพราะจักรวาลการพนันกว้างมาก” นายธนากร กล่าว
นายธนากร กล่าวทิ้งท้ายว่า หากจะเกิดกิจการ การพนันถูกกฎหมาย ขอฝากไว้ 5 ย. คือ 1) ยาก ต้องให้เกิดยากๆ วางเงื่อนไขและให้ตายง่ายๆ ทำผิดต้องล้มเลย 2) เยอะ การพนันต้องไม่เยอะ ต้องถูกจำกัด 3) ยั้วเยี้ย ต้องไม่ยั้วเยี้ย ต้องอยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่ให้เข้าถึงง่ายเกินไป 4) ยั่วยุ ต้องไม่มีการยั่วยุ ไม่มีการโฆษณา อย่างตอนกองสลากพลัสเคยโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งหลักการพนันต้องไม่ทำ และ 5) ยุ่ง ต้องไม่ยุ่งกับเด็ก
รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวว่า ท่ามกลางกระแสเสรีนิยม การพิจารณาให้มีพนันถูกกฎหมายมากขึ้นเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง เพราะพนันเชื่อมโยงกับหลายปัญหา และยังไม่มีกลไกแก้ปัญหา หรือรับผิดชอบดูแล เช่น การดูแลผู้ป่วยด้วยโรคติดพนัน ไม่มีระบบให้คำปรึกษาแบบเฉพาะกับนักพนันที่มีปัญหา จำนวนแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดรักษา องค์ความรู้ด้านการป้องกันยังจำกัดในวงแคบ คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงการปกป้องเด็ก และเยาวชนจากพนัน และไม่เข้าใจว่าภาวะติดพนันเป็นโรคทางจิตเวชที่รักษาได้ ฯลฯ
ปัญหาเหล่านี้ต้องการ การออกแบบ และการสนับสนุนให้เกิดกลไกในการทำงานที่พร้อมปฏิบัติงานตลอดเวลา จึงจัดให้มีการประชุมศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2566 เรื่องพนันในสังคมก้าวหน้า และก้าวให้ทันความท้าทาย เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่เป็นข้อค้นพบงานวิจัย นำเสนอเครื่องมือสร้างการรู้เท่าทันพนัน และเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนร่วมคิด ร่วมเสนอแนะแนวทางจัดทำนโยบาย มาตรการ หรือกลไกที่เหมาะสมในการจัดการกับการพนันในสังคมไทย
รศ.นวลน้อย กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามักได้ยินว่า เอาการพนันขึ้นมาถูกกฎหมาย รัฐบาลจะได้เงิน การพูดเช่นนี้หลงลืมไปว่า การพนันมีต้นทุนทางสังคมสูงมาก ทั้งทำลายคน และคนที่ถูกทำลายก็ไปก่ออาชญกรรมมากมาย แต่การพนันถูกกฎหมาย การเปิดคาสิโนก็มีการพูดกันในต่างประเทศเหมือนกันเกี่ยวกับผลกระทบ
ยกตัวอย่างสิงคโปร์ พูดชัดเจนว่า เน้นนักท่องเที่ยว ถ้าคนในประเทศจะเข้ามาต้องจ่ายสูง แต่เมื่อถึงขั้นหนึ่งเมื่อคนติดพนันกลับยอมจ่าย แต่รัฐบาลมีนโยบายว่าให้คนในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากคนเล่นพนัน แจ้งไปยังคาสิโนว่า ห้ามคนๆนี้เข้าเล่น ตรงนี้เห็นชัดว่า กลายเป็นปัญหาแล้ว เมื่อมองมาที่ไทย เรามีระบบจัดการดีหรือไม่ ระบบการกำกับดูแลเราอ่อนแอสิ้นเชิง
รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน
ขณะที่ นายกัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่ตั้งโดยผู้แทนราษฎร ซึ่งกระบวนการของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ประกอบด้วยทุกพรรค โดยชุดนี้มีจำนวน ส.ส.ร่วมเป็นกรรมาธิการ 72 ท่าน ซึ่งมีการศึกษาเรื่อง เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ขอยืนยันว่า ไม่ได้เท่ากับคาสิโน หรือกิจการพนัน โดยมีการศึกษาว่าจะมีการอนุญาตพื้นที่ทำกาสิโนเพียง 5% ของพื้นที่ทั้งหมด
นอกนั้นยังมีกิจการอื่นๆอีก ดูตัวอย่างจากประเทศสิงคโปร เพราะเห็นว่าไทยควรมีสถานที่ท่องเที่ยว ดึงเงินลงทุนเข้ามาได้ แต่ตอนนี้ยังไม่จบ ที่ผ่านมาแค่นำเสนอผลการศึกษา ไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิดว่าจะทำหรือไม่ ต้องเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลในอนาคต
“การพนันออนไลน์เข้าไปง่าย เข้าไปในครัวเรือน ไปถึงห้องนอน ห้องน้ำ เด็กไปเล่นในห้องน้ำ จึงต้องเปิดใจยอมรับ และหาวิธีจัดการแก้ปัญหา แต่ผมขอยืนยันว่า 100% ของการพนันออนไลน์ คือ มิจฉาชีพ เป็นการโกง ไม่มีทางที่จะได้เงินจากการพนันออนไลน์ อาจได้บางครั้ง แต่สุดท้ายคือโกง ดังนั้น ภาครัฐต้องเข้าไปกวดขัน โดยต้องตั้งคำถามกับผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งต้องยอมรับเลยว่า การพนันทำไมจึงอยู่ได้ เพราะอะไร นี่คือความจริงในสังคม จริงๆมีทุกวงการ” นายกัญจน์พงศ์ กล่าว
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรณีเรื่อง 5 ย อย่าง ย ที่ไม่ควรยุ่งกับเด็ก เนื่องจากการทำงานของสมอง จะมีทั้งสมองส่วนคิดและส่วนอยาก โดยสมองส่วนคิดจะเติบโต พัฒนาดีสุด คือ ช่วงอายุ 25 ปี ซึ่งระยะเวลา 12-25 ปีที่เป็นช่วงสมองกำลังเติบโตนั้น หากระหว่างนั้นหากไปกระตุ้นสมองส่วนอยาก ก็จะยิ่งส่งผลกระทบ อย่างการโฆษณาเบียร์ ซึ่งสมัยก่อนยังไม่มีกฎหมาย พบว่าเยาวชนหันมาเสพเยอะมาก นี่มีทั้งการยั่วยุ จนไปถึงเด็กเยาวชน ทำให้อัตราการเสพติดเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ซึ่งจะมีกิจการพนัน ก็ต้องมีการควบคุมไม่ให้ไปกระทบเด็กและเยาวชน
“สิ่งสำคัญต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure มารองรับให้ดีก่อน ทั้งระบบการศึกษา การควบคุมดูแล อย่างโรงเรียนต้องมีระบบการศึกษาให้ดี ไม่ใช่มุ่งแต่เรียน อย่างคนที่ไม่ได้เรียนเก่ง ก็ต้องมีทางเลือก มีกิจกรรมหลากหลายมารองรับ เราต้องปฏิรูปการศึกษาให้เด็กแสดงศักยภาพของตนเอง ขณะที่ระบบสุขภาพก็ต้องมีการปรับปรุงระบบสุขภาพจิตเยอะ ดังนั้น โครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นแรกๆ เมื่อถึงเวลาให้พวกอยู่ใต้ดินมาอยู่บนดิน ปัญหาก็จะน้อยลงถ้าเรามีโครงสร้างระบบรองรับที่ดีแล้ว” นพ.ยงยุทธ กล่าว
นพ.ยงยุทธ ยังยกตัวอย่างการทำงานของสมองที่ผิดปกติเมื่อติดการพนันหรือเสพติด ว่า หลักๆ หน้าที่สมองที่สำคัญคือ สมองส่วนหน้า หรือสมองส่วนคิด และสมองส่วนกลาง คือ สมองทางอารมณ์ หรือเรียกว่าสมองส่วนอยาก อย่างมีความโกรธ ความพอใจก็ตรงนี้ ซึ่งสมองส่วนคิดจะควบคุมสมองส่วนอยาก แต่เมื่อเสพยาเสพติด จะกระตุ้นสมองส่วนอยาก กระตุ้นจนผิดปกติไปควบคุมสมองส่วนคิด นี่คือกลไกจากเสพสารเสพติดทั้งหมด
ทั้งนี้ ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการค้นพบพฤติกรรมคนติดการพนันก็จะคล้ายกัน อย่างคนเสพติดจะโกหก ลักขโมย ใช้ความรุนแรงเพื่อให้ยามาเสพ ซึ่งคนติดการพนันก็เช่นกัน สิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมพื้นฐานของคนเสพติด แต่หากเขาไม่เสพติดเขาจะไม่มีพฤติกรรมเหล่านี้ ทำให้มีการนำเสนอเมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า การเสพติดเป็นการเจ็บป่วยทางจิตใจที่เกิดความผิดปกติทางสมอง จนมีการบรรจุภาวะติดการพนัน และการติดเกม ให้เป็นโรคความผิดปกติทางจิตใจ ดังนั้น หากจะมีการพนันถูกกฎหมาย จะเห็นด้วยก็ต่อเมื่อ 3 ข้อ
-
ถ้าถูกกฎหมายต้องมีระบบสังคม ระบบควบคุมดูแลที่แข็งแกร่งจริงๆ จะทำอย่างไรไม่ให้คนใช้มากเกินไป อย่างเหล้าบุหรี่ ห้ามโฆษณา ถ้าดารามาโฆษณาก็ยังถูกสังคมตั้งคำถามเลย เพราะเราห่วงสุดคือ วัยรุ่น เพราะวัยรุ่นอยู่ที่อายุ 12-25 ปี ตั้ง 13 ปีกว่าจะพัฒนาสมองส่วนคิดมาควบคุมสมองส่วนอยากได้ ดังนั้น วัยนี้หากติดสารเสพติดจะติดง่ายสุด เพราะสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ อย่างกัญชาในวัยรุ่น กับผู้ใหญ่ต่างกัน การเสพติด การพนันในวัยรุ่นจึงง่ายกว่า ดังนั้น ต้องควบคุมติดตามดีจริงๆ
-
หากจะทำจริงต้องมีระบบการดูแลช่วยเหลือที่ดี ทั้งเริ่มเสี่ยง เริ่มติด เริ่มใช้เงินมากขึ้น เสียงาน อดหลับอดนอน ไม่สามารถควบคุมตัวเองไม่ให้เล่นการพนัน อันนี้ต้องมีระบบช่วยหลือ อย่างกรณีรัฐบาลสิงคโปร์ ตนเคยไปศึกษาดูงานเหตุการณ์นี้ อย่างมาตรการหนึ่งคือ มีการเคลียร์ระบบสุขภาพว่า ต้องมีระบบบำบัดดูแลคนติดการพนัน ซึ่งสิงคโปร์ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาบทลงดทษติดสารเสพติดหนักมากถึงประหารชีวิต
-
ต้องมีระบบการศึกษาที่ดี ต้องทำให้คนมีวิจารณญาณ มีความรู้เท่าทัน และการเรียนต้องมีคุณภาพ ไม่ใช่แค่ท่องตำราเท่านั้น แต่ต้องคิด ตัดสินใจได้ ต้องมีการศึกษาแอบบแอกทีฟ เลิร์นนิ่ง
“ทั้ง 3 ถ้าที่หากจะทำให้การพนันถูกกฎหมายนั้น เรายังไม่เห็นว่ามีตรงนี้เลย...” นพ.ยงยุทธ กล่าว
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
ทั้งหมดนี้ คือเสียงสะท้อนจากวงเสาวนาที่แสดงถึงเจตนารมณ์ที่ห่วงใยต่อประชาชน และกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากประเทศไทยจะเปิด 'กาสิโนถูกกฎหมาย' จะต้องติดตามต่อไปว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้จะผลักดันเรื่องดังกล่าวอย่างไร