"... ปัจจุบันสังคมไทยตกอยู่ในความเข้าใจผิดหลายประการเกี่ยวกับหลักการที่สำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความแตกแยกขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทยต่อไปจากความไม่รู้และความโกรธเกลียด ..."
ปัจจุบันสังคมไทยตกอยู่ในความเข้าใจผิดหลายประการเกี่ยวกับหลักการที่สำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความแตกแยกขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทยต่อไปจากความไม่รู้และความโกรธเกลียด โดยเฉพาะในการพิจารณาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยในวันพรุ่งนี้ 13 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นประเด็นทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ในฐานะนักกฎหมายมหาชนคนหนึ่งและได้รับการขอให้ช่วยอธิบายความเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงขอให้ข้อมูลและแสดงความห่วงใยต่อสังคมไทยว่า ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับหลักนิติรัฐ โดยยึดกฎหมายเป็นใหญ่ในการปกครองประเทศ โดยเฉพาะการปฏิบัติให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
ความถูกต้องตามกฎหมายย่อมต้องมาก่อนความถูกใจ หรือการอ้างแต่เสียงข้างมากว่ามาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนแล้วคือความถูกต้องจะทำอะไรก็ได้ ซึ่งไม่ถูกต้องและไม่ใช่หลักการประชาธิปไตยที่แท้จริง
อีกทั้งประเทศไทยได้ยึดหลักการสำคัญมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงปกครอง 2475 คือหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ มิใช่อำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐสภา
ดังนั้นจึงมีประเด็นทางกฎหมายที่สังคมไทยจะต้องตระหนักและควรรู้เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง เพื่อทำความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ดังนี้
1.ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในกรณีของไทยปัจจุบันภายใต้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ผ่านการลงประชามติของประชาชนเสียงข้างมากพร้อมคำถามพ่วง ที่ประชาชนมีเจตจำนงให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจร่วมลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในฐานะสมาชิกรัฐสภาด้วย
ดังนั้นการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ภายหลังครบวาระ 4 ปี มิใช่เป็นการเลือกเพื่อแสดงเจตจำนงในการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงตามแบบระบบประธานาธิบดีอย่างสหรัฐอเมริกา แม้จะกำหนดให้มีการเสนอรายชื่อผู้ที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองแต่ละพรรคก็ตาม เพราะภายใต้ระบบรัฐสภา ผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะมาจากพรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดตั้งเป็นรัฐบาล
ดังนั้นการกล่าวว่ามีประชาชนจำนวนมากถึง 14 ล้านเสียงเลือกพรรคการเมืองหนึ่ง ก็มิได้หมายความว่า เป็นฉันทามติที่ประชาชนเลือกให้ผู้ถูกเสนอรายชื่อจากพรคการเมืองนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี
เพราะในความเป็นจริงมีประชาชนจำนวนมากเกินกว่าร้อยละ 50ที่ไม่ได้เลือกพรรคการเมืองดังกล่าว และอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่ที่สมาชิกรัฐสภา ประชาชนไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง หรือหากจะกล่าวอ้างว่าเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยอ้อมก็ยิ่งไม่ถูกต้องเพราะไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราใดรับรองหรือระบุไว้เช่นนั้น
2.ประเทศไทยเคยได้รับบทเรียนที่เลวร้ายร่วมกันจากคดีซุกหุ้นภาคแรก ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินในคำวินิจฉัยที่ 20/2544 ว่าไม่ผิดด้วยคะแนน 8 ต่อ 7 ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นท่ามกลางมวลชนที่กดดันศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างเสียงข้างมากที่ประชาชนเลือกพรรคไทยรักไทยในเวลานั้นได้ส.ส.มากเป็นดับหนึ่ง และคะแนนเสียงแบบบัญชีรายชื่อเป็นอันดับหนึ่งเช่นเดียวกัน
ในเวลานั้นมีความเห็นของหลายฝ่ายที่พูดไปในทางเดียวกันว่า เรื่องนี้ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์มาก่อนหลักนิติศาสตร์ เพราะประชาชนข้างมากเลือกพรรคไทยรักไทยหรือก็คือเลือกและสนับสนุนให้คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่กี่คนจะตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งได้อย่างไร
ทั้งนี้ในความเป็นจริงคำวินิจฉัยดังกล่าวมีข้อกังขาในความถูกต้องและชอบด้วยหลักกฎหมาย ทั้งในเรื่องการนับคะแนนเสียงในการลงมติ โดยได้มีการนับรวมคะแนนเสียงที่ไม่ควรนับรวมเข้าไปด้วย เพราะไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นความผิดแห่งคดี
แต่ที่เลวร้าย คือการไม่ได้วินิจฉัยโดยยึดหลักกฎหมายที่ถูกต้อง เพราะปรากฏว่าในวันเดียวกันกับการตัดสินคดีของคุณทักษิณ ในช่วงเช้า ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ตัดสินคดีของนักการเมืองที่มีข้อเท็จจริงที่คล้ายกันในการซุกหุ้นไว้ที่ภรรยา ซึ่งศาลตัดสินว่ามีความผิด แต่เมื่อมาถึงตอนบ่าย ในคดีของคุณทักษิณ ศาลกลับตัดสินว่า ไม่ผิด โดยข้อต่อสู้สำคัญ คือ การอ้างว่าบกพร่องโดยสุจริต
ดังนั้นจากบทเรียนการใช้มวลชนมากดดันศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ผ่านมา 22 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการใช้มวลชนกดดันสมาชิสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ให้เลือกผู้ที่ถูกเสนอรายชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง โดยใช้ทั้งสื่อสังคมออนไลน์ สื่อมวลชนทั่วไป รวมถึงการออกเดินสายไปยังจังหวัดต่างๆ สร้างความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ในกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยแอบอ้างหลักการประชาธิปไตย ซึ่งไม่ถูกต้องเพราะหลักประชาธิปไตยที่ถูกต้องแม้จะเป็นการปกครองโดยเสียงข้างมากแต่ก็ต้องเคารพเสียงข้างน้อย และเหนืออื่นใด คือต้องยึดหลักนิติรัฐ คือยึดหลักกฎหมายเป็นใหญ่โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุด
3.ปัญหาใหญ่ทางกฎหมายที่สำคัญที่สุดในกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้14 กรกฎาคม 2566 คือ ปัญหาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับการเสนอชื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากเป็นอันดับหนึ่ง
ล่าสุด ทาง กกต. ได้มีการประชุมและลงมติในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ว่า สมาชิกภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จึงให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป
ทั้งนี้ จากกรณีศึกษาที่ผ่านมาในอดีต เมื่อคำร้องที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐมนตรีเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลมักจะมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางกฎหมายตามมาในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ดังเช่น กรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นต้น
ดังนั้นการจะดึงดันจะเสนอชื่อให้มีการพิจารณาลงมติ หรือ การที่จะพยายามโน้มน้าวกดดันให้มีการลงมติเลือกในการประชุมรัฐสภา หากมีการเลือกจริง บุคคลนั้นก็ย่อมมีปัญหาในคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก เพราะมาตรา 159 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า 'ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิก ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สภาผู้แทนราษฎร'
ทั้งนี้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิถูกเสนอชื่อตามมาตรา 88 และสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีก็ได้ผูกไว้กับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ตามมาตรา 160 (6) คือต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งใน (3) ระบุถึงบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ และหากนายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 รัฐมนตรีทั้งคณะก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยตามมาตรา 167 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
เมื่อกล่าวถึงประเด็นทางข้อกฎหมายและข้อเท็จริงที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยโดยรัฐสภาในวันพรุ่งนี้มาทั้งหมดแล้ว
ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง จึงขอเรียกร้องต่อสมาชิกรัฐสภาไม่ว่าจะเป็นส.ส.หรือส.ว. ให้ยึดมั่นในการทำหน้าที่ของตนตามมาตรา 114 และคำปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ ในมาตรา 115 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่จะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ในเส้นทางประชาธิปไตยที่ถูกต้องโดยยึดหลักนิติรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติว่า
มาตรา 114 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกัน แห่งผลประโยชน์
มาตรา 115 ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องปฏิญาณตน ในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกด้วยถ้อยคํา ดังต่อไปนี้
'ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกประการ'
ผศ.กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์