"...'หยก' เป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆ อายุเพียง 15 ปี คนๆ เดียวกันสามารถเป็นได้ทั้ง 'วีรสตรี' และ เป็น'นางร้าย' ในสายตาของผู้คน เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันไปได้ทั้งประเทศ ส่งแรงสะเทือนไหวถึงระบบการศึกษาไทยอย่างน่าติดตาม..."
ทำให้เห็นได้ว่าในมุมหนึ่งนั้น คนไทยมีความคิดแยกขั้วกันไปในทิศทางที่สอดคล้องกับ ความเชื่อของตนเอง อีกมุมหนึ่ง น่าคิดว่า คนในสังคมมีความรู้สึกกังวลต่ออนาคตว่า จากนี้ไปลูกหลานจะเติบโตไปในทิศทางใด
ที่จริงความคิดต่อต้านระบบการศึกษามีมานานแล้ว ร้อยกรองบทที่กล่าวขวัญกันมากในยุค 14 ตุลาคม 2516 คือ
ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย
สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว
เป็นกวีวรรคทองในบท 'เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน' ของ วิทยากร เชียงกูล ในนิตยสารยูงทอง ของ ม. ธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2511
เมื่อ 24 เมย. 65 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 'หยก' เข้าร่วมกิจกรรมรำลึกถึง
'วัฒน์ วรรลยางกูร' นักเขียนที่จากไป ตามด้วยการเข้าร่วมกิจกรรม 'ราษฎรไล่ลุงตู่' และร่วมงานรณรงค์ให้ปล่อยนักโทษการเมืองและยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112
หยกบอกว่า การเข้าร่วมกิจกรรมทำให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตยตามที่กล่าวอ้างกัน และยังมีปัญหาการปิดปากประชาชนด้วยกฎหมาย มีการบังคับให้สูญหายต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง
หยก เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน โดยร่วมตั้งกลุ่มกิจกรรมเรียกร้องให้แก้ไขพิธีกรรม และพิธีการต่างๆ เธอให้สัมภาษณ์ว่า เธอทำโดยความรู้สึกว่าอยากทำไม่ใช่เป็นเพราะอิทธิพลหรือการบังคับจากใคร
เธอถูกหมายเรียกในคดีตามมาตรา 112 ซึ่งเธอเห็นว่าเป็นกฎหมายที่มีอัตราโทษสูงเกินไปเธอเป็นคนหนึ่ง ที่ถูกคุมขังด้วยคดีนี้อยู่ที่บ้านปรานี จ. นครปฐม
ไม่นานมานี้ มีภาพข่าว หยกโกรกสีผม ไปประท้วงหน้าโรงเรียน และปีนเข้าประตูโรงเรียน โดยโรงเรียนชี้แจงว่าเธอไม่ยอมให้ผู้ปกครองมามอบตัวตามระเบียบ จะประเมินบทบาทของหยก ด้วยแว่นสีอะไรก็ตาม สิ่งที่หยกต่อต้าน หยกเรียกว่าเป็น 'อำนาจนิยม' ในระบบการศึกษา
ปรากฏการณ์ของหยกไม่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องผ่านเลย ไม่จำเป็นต้องกระหน่ำซ้ำเติมจนหยกไร้ทางออก หมดทางไป แต่ควรคำนึงถึงบริบทแวดล้อมทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
ขอฉายภาพโรงเรียน 3 แห่งนี้
1. โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ต. วังด้ง อ. เมือง จ. กาญจนบุรี
'บ่าว' เป็นเด็กน้อยวัย 9 ขวบ แม่เสียชีวิต พ่อทิ้งบ่าวให้อยู่กับป้าที่สุราษฎร์ธานี เขาเดินขายลูกอมตามท้องถนนเพื่อหาเลี้ยงปากท้องตนเอง เมื่อมาอยู่ รร.หมู่บ้านเด็กระยะแรก เขาพูดบ่อยๆ ว่า 'อยากฆ่าผู้ใหญ่ทุกคน' ซึ่งเป็นผลจากภาพจำที่เกลียดผู้ใหญ่
'อ้อย' เด็กหญิง 8 ขวบ มีบ้านเดิมเป็นกระต๊อบทำจากเศษไม้ ปลูกใต้สะพานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อมาอยู่ รร. หมู่บ้านเด็กใหม่ๆ เธอโอ้อวดกับเพื่อนๆ ว่ามีบ้านหลังใหญ่สวยงามในกรุงเทพฯ ความแร้นแค้นทำให้เธออำพรางชีวิตด้วยการโกหกเพื่อน
'เข้ม' นั้น เมื่อคลอดจากครรภ์มารดาได้เพียง 18 ชั่วโมง ดูดนมแม่ได้เพียง 2 ครั้ง แล้วถูกนำไปทิ้งไว้ริมคลองชลประทาน ที่ท่ามะกา พ่อหายตัวไปไหนไม่รู้ โรงพยาบาลโทรมาแจ้ง ครูแอ๊ว - รัชนี ธงไชย ผอ.รร.หมู่บ้านเด็ก จึงขอรับตัวมาดูแลที่บ้านทานตะวันของมูลนิธิหมู่บ้านเด็ก
'เข้ม' เรียกครูแอ๊วว่า 'ยายแอ๊ว' เรียก พิภพ ธงไชย ว่า 'พ่อเปี๊ยก' พ่อเปี๊ยกเคยแกล้งดึงกางเกงเข้มให้หลุดจากเอว เข้มเอาเรื่องไปฟ้องสภานักเรียน เข้มพร้อมจะท้าทายพ่อเปี๊ยกด้วยเหตุผลหากพ่อไม่ฟัง เข้มจะบอกว่า 'พ่อหยุดก่อน ฟังเข้ม พูดก่อน'
สภานักเรียน ให้เด็กเลือกประธานที่ประชุมกันเอง เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพ ในการฝึกวิถีชีวิตประชาธิปไตย โดยให้เด็กได้พูด ร้องเรียน ถกเถียงกันเอง และโต้แย้งครูได้อย่างเป็นอิสระโดยไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น
โรงเรียนถือว่า เด็กทั้งโรงเรียน 250 คน เป็น 'ของขวัญจากพระเจ้า' ซึ่งนอกจากจะโอบล้อมด้วยความเอื้ออาทรของป่าเขา แมกไม้ สายน้ำแควน้อยแล้ว ยังโอบล้อมด้วย 'เสรีภาพและความรัก' ตามแนวทางของ นีล แห่ง ซัมเมอร์ ฮิลล์ ที่ให้คุณค่าต่อเสรีภาพว่าเป็นกำลังแห่งการเติบโตทางปัญญาและความคิด และให้คุณค่าต่อความรักว่ายิ่งใหญ่ มีพลัง แห่งการกล่อมเกลาจิตวิญญาณของเด็กให้มีเมตตาและอยู่ในครรลองความดีงาม
บ่าว เปลี่ยนจากก้าวร้าวเป็นอ่อนโยน
อ้อย เปลี่ยนจากโกหก และโอ้อวด เป็นเด็กพูดความจริง และสุภาพเรียบร้อย
เข้ม ถูกเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเป็นทารก ไม่มีภาพจำความรุนแรงมาก่อน เป็นเด็กที่ชอบร้องเพลง ชอบเต้นรำ เล่นกีตาร์ กระโดดเล่นน้ำในแคว เล่นฟุตบอล ชอบหาของกินและของเล่นไปให้เพื่อนๆ มีน้ำใจช่วยเหลือคนอื่นเป็นนิสัยประจำตัว ทั้งๆ ที่อายุเพียง 6 ขวบ นี่เป็นตัวอย่างผลพวงของโรงเรียนที่เอื้ออาทรเด็กด้วยเสรีภาพ และอ้อมกอดแห่งความรัก
2. โรงเรียนมีชัยพัฒนา หรือโรงเรียนไม้ไผ่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์
นักเรียนที่นี่ไม่ได้กอดเอาวิชาเรียนไว้กับตัวเอง หากแต่มีพันธะจะต้องลงสู่ชุมชน โดยเด็กชั้น ม.ปลาย ที่มีความรู้และทักษะแปลงเกษตร จะประกบคู่กับผู้อาวุโสในหมู่บ้าน
ที่หมู่บ้านกวางงอย ต.โคกกลาง ห่างจากโรงเรียนราว 5 กม.โรงเรียนเข้าไปทำงานกับชุมชน โรงเรียนเชิญชวนให้ชุมชนตั้งธนาคารหมู่บ้าน โดยมีเงื่อนไขว่าชาวบ้านจะต้องปลูกต้นไม้ในหมู่บ้านให้ได้ 10,000 ต้น ก็จะโอนเงินเข้ามาให้หมู่บ้านเป็นเงิน 200,000 บาท ซึ่งชาวบ้านก็สามารถทำได้จริง
เงินจำนวนนี้กลายเป็นทุนตั้งต้นในการตั้งธนาคารหมู่บ้าน โดยชาวบ้านถูกเลือกเข้ามาเป็นกรรมการธนาคารแล้วต้อนรับคนในชุมชนเข้ามาเป็นสมาชิก ส่งเงินออมเข้ามา ได้ดอกเบี้ย ผู้เป็นสมาชิกครบ 6 เดือน สามารถกู้เงินดอกเบี้ยต่ำไปทำมาหากินได้ เช่นกู้ไปเพาะเห็ด ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงไส้เดือน พอครบปีสมาชิกจะได้เงินปันผล ผ่านไป 6 ปีนับถึงวันนี้ ชาวบ้านที่เป็นหนี้นอกระบบอัตราดอกเบี้ยโหด เข้ามาสู่ระบบธนาคารหมู่บ้านดอกเบี้ยต่ำ กลายเป็นธนาคารเพื่อความมีอยู่มีกินของคนในหมู่บ้าน คนทั้งหมู่บ้านได้พึ่งพา และธนาคารสามารถ มีเงินหมุนเวียนถึง 34 ล้านบาท
หมู่บ้านมีต้นไม้เพิ่มขึ้นกว่าหมื่นต้น มีแปลงผัก มีโรงเพาะเลี้ยงเห็ด มีโรงเลี้ยงไก่ โดยผู้สูงอายุในหมู่บ้านจะจับคู่ทำงานกับเด็กนักเรียนชั้น ม.ปลาย ที่มีทักษะทางเกษตรจากโรงเรียนการจ่ายค่าเทอมแทนที่จะจ่ายด้วยเงิน กลับให้เด็กจ่ายด้วยการทำความดีและปลูกต้นไม้ 400 ต้น
เด็กเรียนรู้จากทำงานกลุ่มด้วยการคิดสร้างสรรค์กันเอง แล้วร่วมคิดร่วมทำ การฝึกให้เด็กทำงานแบบผู้ประกอบการ เช่นเลี้ยงผึ้ง เลี้ยงไก่ไข่ ทำซิลสกรีน ทำขนม ทำไอศกรีม รวมทั้งการฝึกงานช่วงปิดเทอม เป็นสิ่งที่เด็กทุกคนต้องผ่าน นี่เป็นสภาพความเป็นจริง จึงไม่แปลกใจเลยที่เด็กทุกคนมีสีหน้าเบิกบานแจ่มใส เจอหน้ากันทีไร เด็กจะยกมือไหว้พร้อมเอ่ยคำ “สวัสดีครับ สวัสดีค่ะ” ทุกครั้งไป เป็นบรรยากาศไมตรีจิตที่หาดูได้ยาก เด็กทุกคนมีความมั่นใจที่จะแสดงออกและตอบคำถามอย่างชัดถ้อยชัดคำ ระบบโรงเรียนของบ้านเรา แต่ไหนแต่ไรมา ตกอยู่ในกับดักของการ 'ไต่บันไดดารา' คือการเอาชนะ ทำให้เพื่อนแพ้ การได้อยู่ห้องคิง การสอบได้ที่หนึ่ง ทำให้ได้คนเก่งแต่โตขึ้นแล้วโกง เราได้เห็นมามากแล้ว การปฏิรูปการศึกษาควรมุ่งสร้างคนดีเป็นหลัก เพื่อเขาจะได้ออกไปใช้ปัญญาและทักษะเอื้ออาทรต่อสังคม การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ สร้างประสบการณ์ตรงแห่งการแบ่งปัน ที่กล่อมเกลาให้เกิดจิตใจเอื้ออาทรต่อชุมชนและคนรอบข้าง เป็นการปฏิรูปการศึกษาภาคปฏิบัติที่โรงเรียนแห่งนี้ดำเนินมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว
3. โรงเรียนรุ่งอรุณ เขตบางขุนเทียน ซึ่งมี รศ. ประภาภัทร นิยม เป็นเจ้าของ
มีทั้งนักเรียนอนุบาล ประถม และมัธยม ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในความสามารถการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน อย่างเป็นองค์รวมทั้งกาย ใจ สติปัญญา และสังคม
บริเวณโรงเรียนร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ และสายน้ำที่เหมาะแก่การเป็นพื้นที่ของเด็กและเยาวชน ครูจะไม่สอนยัดเยียดตำราให้เด็ก ตามวิธีการสอนแบบเก่า เช่นครูอนุบาล จะเอาภาพมาแสดงและเล่านิทานให้เด็กเห็นว่า ห้องเรียนที่ไม่สะอาด มีเศษอาหารตกอยู่ ข้าวของวางระเกะระกะ สมุดดินสอตกหล่นที่พื้นก็ไม่มีการเก็บให้เรียบร้อย
ครูถามว่า “จะเกิดอะไรขึ้นคะ” เด็กอนุบาลในห้องจะพากันตอบคำถาม
- “ห้องเรียนเลอะเทอะ ครับ”
- “ถ้าเหยียบดินสอบนพื้น จะหกล้ม เจ็บตัว ครับ”
- “มีแมลงมาตอมเศษอาหาร ค่ะ”
ครูตั้งคำถามต่อว่า “เราต้องทำอย่างไรคะ” เด็กพากันตอบว่า
- “ต้องกวาดพื้นให้สะอาด ค่ะ”
- “ต้องเช็ดพื้นด้วย ค่ะ”
- “ต้องจัดวางของเข้าที่ให้เรียบร้อย ครับ”
- “ต้องแยกขยะด้วย ครับ”
ครูถามต่อว่า “เราทำกันเลยเดี๋ยวนี้จะดีไหมคะ” เด็กยกมือพร้อมกัน ตอบว่าดี แล้วครูกับเด็กพากันทำความสะอาดห้องเรียนเดี๋ยวนั้น ด้วยความสมัครใจของนักเรียนทั้งหมด โรงเรียนรุ่งอรุณ ได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนที่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ยอดเยี่ยมจนกลายเป็นโรงเรียนที่ผู้ปกครองปรารถนาจะฝากลูกฝากหลานเข้าเรียนกันมากมาย ผู้สมัครล้นเกินจำนวนที่ต้องการทุกปีต่อเนื่องกันมา จุดเด่นสำคัญอีกอย่างคือ โรงเรียนจะเชิญชวนให้ผู้ปกครองเด็กเข้ามาร่วมรับรู้พัฒนาการของลูกหลานและเชิญเข้ามาร่วมกิจกรรมกับนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ เหมือนผู้ปกครองเข้ามาเป็นสมาชิกในชุมชนรุ่งอรุณด้วย
โรงเรียนและผู้ปกครองพาเด็กไปบวชเป็นสามเณรน้อยและแม่ชีน้อย ตามโครงการ 'สามเณรน้อย ลูกชีน้อย พบธรรม ครอบครัวพบสุข' ทำมาตั้งแต่ปี 2559 เด็กได้บวชฝึกสติ พ่อแม่ได้ทำบุญ เป็นกุศลร่วมกัน ครั้งล่าสุด เมื่อ 1-9 เมย. 66 ณ สวนธรรมธาราศัย จ. นครสวรรค์
นี่คือการสร้างสภาพพื้นที่อันเหมาะสมให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามหลักพุทธศาสนาที่เรียกว่า 'ปฏิรูปเทสวาสะ'
นิเวศแห่งการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ มีโรงเรียนทั้งสามแห่งนี้สร้างให้ดู ให้รู้ ให้เห็น ที่สามารถประจักษ์ด้วยตาได้ยินด้วยหู รู้ได้ด้วยใจ สามารถพิสูจน์ได้ในย่างก้าวของโรงเรียน
บทบาทของ 'หยก' เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องต้องทบทวนการศึกษาไทยทั่วทั้งกระบวนว่า ระบบการเรียนการสอนปัจจุบันเป็นระบบนิเวศการเรียนรู้ที่นำไปสู่ความดีความงาม ความจริงของเยาวชน หรือไม่ อย่างไร
ประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสว. (ผู้เขียน)