"...เรื่องจริงของสะการิกา บัททาชายา (Sagarika Bhattacharya) แม่บ้านชาวอินเดียที่ติดตามสามี อนุรัพ บัททาชายา (Anurup Bhattacharya) ไปตั้งรกรากที่ประเทศนอร์เวย์ และคิดจะสร้างครอบครัวที่อบอุ่นในประเทศที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐสวัสดิการที่ดีติดอันดับโลกจนมีลูก 2 คน แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างที่หวังเพราะหลังจาก Barnevernet หน่วยงานคุ้มครองเด็กของประเทศนอร์เวย์ ได้พรากลูกจากอ้อมอกไปอยู่ในความดูแลของครอบครัวที่เหมาะสมและมีความพร้อมที่จะเลี้ยงดูเด็กได้ตามมาตรฐานของประเทศ เหตุเพราะมุมมองความต่างทางวัฒนธรรมการเลี้ยงดูบุตร มีเพื่อนบ้านมาฟ้องร้องว่า ใช้มือเปล่าป้อนอาหารแทนการใช้ช้อน ให้เด็กนอนห้องเดียวกับพ่อแม่ มีการทำโทษลูกด้วยการตีและใช้ถ้อยคำรุนแรงกับเด็ก ไปจนถึงการที่สามีไม่ช่วยเหลืองานบ้าน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ฝังลึกสำหรับชาวอินเดียมายาวนาน..."
บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินข่าวผู้ปกครองมีปัญหากับคุณครูโดยเฉพาะโรงเรียนเด็กเล็ก เนื่องจากคุณครูอาจทำโทษนักเรียนด้วยการตีหรือใช้ถ้อยคำรุนแรง พ่อแม่หลายคนบอกว่าไม่เคยตีลูกเลย แต่อีกหลายครอบครัวกลับบอกว่าการตีเป็นการลงโทษเด็กที่ดื้อ ไม่เชื่อฟังเกเร ซึ่งไม่มีใครตัดสินได้ว่าวิธีเลี้ยงเด็กแบบไหนถูก แบบไหนผิด เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานการศึกษา พื้นฐานทางครอบครัวหรือแม้แต่ขนบประเพณีที่แตกต่างกัน
เรื่องจริงของสะการิกา บัททาชายา (Sagarika Bhattacharya) แม่บ้านชาวอินเดียที่ติดตามสามี อนุรัพ บัททาชายา (Anurup Bhattacharya) ไปตั้งรกรากที่ประเทศนอร์เวย์ และคิดจะสร้างครอบครัวที่อบอุ่นในประเทศที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐสวัสดิการที่ดีติดอันดับโลกจนมีลูก 2 คน แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นอย่างที่หวังเพราะหลังจาก Barnevernet หน่วยงานคุ้มครองเด็กของประเทศนอร์เวย์ ได้พรากลูกจากอ้อมอกไปอยู่ในความดูแลของครอบครัวที่เหมาะสมและมีความพร้อมที่จะเลี้ยงดูเด็กได้ตามมาตรฐานของประเทศ เหตุเพราะมุมมองความต่างทางวัฒนธรรมการเลี้ยงดูบุตร มีเพื่อนบ้านมาฟ้องร้องว่า ใช้มือเปล่าป้อนอาหารแทนการใช้ช้อน ให้เด็กนอนห้องเดียวกับพ่อแม่ มีการทำโทษลูกด้วยการตีและใช้ถ้อยคำรุนแรงกับเด็ก ไปจนถึงการที่สามีไม่ช่วยเหลืองานบ้าน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ฝังลึกสำหรับชาวอินเดียมายาวนาน
ในฐานะของแม่ที่ไม่ยอมแพ้แก่โชคชะตา สภาพแวดล้อมที่ไม่เคยเข้าข้าง เพราะแม้แต่สามี (ที่ภายหลังหย่าร้าง) กลับมุ่งหวังเพียงแต่จะได้รับการโอนสัญชาติ โดยไม่คิดจะต่อสู้นำลูกกลับคืนมา สะการิกา จึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพียงลำพังในทุกวิถีทาง ตอบโต้กับผู้พิพากษา อัยการ และทนายของรัฐอย่างไม่เกรงกลัว จนบางครั้งแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว ทำให้อีกฝ่ายนำไปใช้เป็นหลักฐานยืนยันเพิ่มเติมว่า เธอมีอารมณ์แปรปรวน ไม่สมควรที่จะดูแลลูก ๆ อีกต่อไป นำไปสู่การพิพากษาของศาลฎีกาที่ตัดสินให้บุตรทั้งสองอยู่ในความดูแลของพ่อแม่บุญธรรม จนสะการิกาไม่มีทางเลือก ลักพาตัวลูกทั้งสองเดินทางข้ามพรมแดนไปประเทศสวีเดน แต่ไม่สามารถเล็ดลอดไปได้ ทำให้เธอถูกศาลตัดสินเนรเทศออกนอกประเทศในที่สุด1/
แต่หมือนฟ้าลิขิต ก่อนถูกเนรเทศ เธอได้พบกับรัฐมนตรีอินเดียท่านหนึ่งที่เดินทางมาเจรจากับรัฐบาลนอร์เวย์ จึงเข้าไปร้องเรียน จนทำให้รัฐบาลอินเดียตัดสินใจเข้าแทรกแซง โดยนายกรัฐมนตรีมันโมหัน สิงห์ มีหนังสือขอให้นอร์เวย์รื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง นำไปสู่ข้อตกลงให้พี่ชายของสามีเป็นผู้ปกครองของลูกทั้งสองแทน และนำกลับมาเลี้ยงดูที่ประเทศอินเดียโดยรัฐบาลนอร์เวย์จ่ายค่าเลี้ยงดูเป็นรายเดือนให้2/
สถานการณ์ที่ดูจะดีขึ้นกลับตาลปัตร เพราะครอบครัวของสามี โดยเฉพาะปู่ ย่า ตั้งกฎเหล็กไม่ให้สะการิกา มาเยี่ยมบุตร โดยกล่าวหาว่าเธอเป็นต้นตอของปัญหา เป็นการฝืนข้อตกลงที่ทำไว้ ซึ่งจะส่งผลให้สามีของเธอไม่ได้รับการโอนสัญชาติ และที่สำคัญจะไม่ได้รับค่าเลี้ยงดูเด็กอีกต่อไป
สะการิกา ตัดสินใจทิ้งไพ่ใบสุดท้ายด้วยการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอินเดีย เพื่อพิสูจน์ว่า เธอเป็นแม่ที่เหมือนกับแม่ทั่วไป ที่รักลูกด้วยหัวใจเต็มเปี่ยม เลี้ยงดูลูกตามขนบธรรมเนียมของแม่ชาวอินเดีย แม้ว่าเธอจะแต่งงานกับสามีแบบคลุมถุงชน ถูกสามีทำร้ายตลอดเวลา แต่เธอยังทำหน้าที่เป็นภรรยาที่ดี จนในที่สุดศาลได้ไตร่ตรองจากความบริสุทธิ์ใจ และหัวใจของความเป็นแม่ กลับคำตัดสินให้ลูกทั้งสองกลับมาอยู่ในความครอบครองของเธอ แม้ว่ายังคงมีกระแสไม่เห็นด้วย โดยให้ข้อมูลที่ต่างออกไป เช่น การตัดสินใจพรากลูกทั้งสองเกิดจากการเฝ้าดูของเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กกว่า 1 เดือน พร้อมชี้แจงว่านอร์เวย์ไม่เคยเลือกปฏิบัติจากขนบธรรมเนียม
ที่ต่างกันก็ตาม
ปัจจุบันเธอใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับลูกทั้งสอง แม้ว่าลูกจะอยู่ในการดูแลของคุณตา เพราะเธอทำงานเป็นพนักงานบริษัทคอมพิวเตอร์ในต่างเมืองเพื่อนำเงินมาเลี้ยงดูลูก โดยเฉพาะลูกคนโตที่มีอาการออทิสติก พร้อมให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “10 ปีที่ผ่านมา ฉันเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เลี้ยงดูบุตรทั้งสอง พร้อมพิสูจน์ให้ชาวโลกได้เห็นความรักและความผูกพันของฉันและลูก ๆ”3/
เรื่องราวการต่อสู้ของเธอถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์เรื่อง Mrs. Chatterjee vs Norway (สงครามของแม่) ที่กำลังฉายอยู่ใน Netflix ที่ทำให้ผู้ชมได้รับรู้ถึงพลังความรักของผู้เป็นแม่
รณดล นุ่มนนท์
19 มิถุนายน 2566
แหล่งที่มา :
1/ ดูไปบ่นไป, ความเห็นหลังชม Mrs Chatterjee vs Norway สงครามของแม่ (2023) อึดอัดกดดันโดยไม่บีบคั้นลุ้นระทึกเร้าใจ
ทุกนาทีกับหัวใจยิ่งใหญ่ของแม่ผู้ไม่ยอมแพ้, 20 พฤษภาคม 2566 https://entertainment.trueid.net/detail/VKO5wMY69JMb
2/ SUSHRUT GOPESH, Is ‘Mrs. Chatterjee Vs. Norway’ Based On The Real Story Of Sagarika Bhattacharya?, MAY 14, 2023
https://dmtalkies.com/mrs-chatterjee-vs-norway-true-story-sagarika-bhattacharya-2023-film/
3/ Entertainment Desk, Hindustan Times, Sagarika Chakraborty, on whom Mrs Chatterjee Vs Norway is based, condemns Norwegian ambassador's claims, Mar 18, 2023 https://www.hindustantimes.com/entertainment/bollywood/mrs-chatterjee-vs-norway-sagarika-chakraborty-condemns-norwegian-ambassador-s-claims-101679139322692.html
หมายเหตุ :
ขอขอบคุณคุณประภาศรี รงคสุวรรณ ที่มีส่วนร่วมในการเขียน Weekly Mail สัปดาห์นี้