"...การนำวัฒนธรรมของประเทศหนึ่งที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับมาใช้ในอีกประเทศหนึ่งย่อมเกิดความเปราะบางต่อความเชื่อถือซึ่งกันและกัน เกิดการทำลายรากฐานทางสังคมที่เกิดมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมซึ่งแม้ว่าวัฒนธรรมใหม่จะได้มาซึ่งความมีเสรีภาพ..."
มนุษย์ใช้เวลานับพันนับหมื่นปีกว่าจะก้าวข้ามความป่าเถื่อนสู่ยุคของความมีอารยธรรม ดังเช่นทุกวันนี้ แต่เมื่อมนุษย์มาถึงจุดที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใกล้ถึงขีดสุด คุณค่าของความเป็นมนุษย์กลับเดินสวนทางกับความเจริญทางเทคโนโลยี เพราะวัฒนธรรม จริยธรรม ความดีงามและระเบียบแบบแผนที่มนุษย์สร้างและรักษาสืบต่อกันมาไม่รู้กี่ชั่วอายุคนเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสงบกำลังถูกกัดกร่อนลงทุกขณะและกลายเป็นปัญหาที่มนุษย์ส่วนหนึ่งเห็นว่าพวกเขากำลังเผชิญกับสิ่งแปลกปลอมและนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม
เทคโนโลยี ผลกระทบที่มองไม่เห็น
มนุษย์กับเทคโนโลยีมักอยู่คู่กันเสมอเพราะถ้ามนุษย์ไร้ซึ่งเทคโนโลยี มนุษย์คงไม่สามารถดำรงเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงทุกวันนี้ การพัฒนาของเทคโนโลยีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่สามารถทำให้พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น ทั้ง วิธีคิด ความรู้สึกและความเป็นอยู่ โดยที่เราแทบไม่รู้ตัว เพราะการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างช้าๆจากเทคโนโลยีที่พัฒนาในแต่ละยุคและมนุษย์ในแต่ละยุคที่เข้าไปสัมผัสเทคโนโลยีกับเหล่านั้น
๏มนุษย์ในยุคที่ โทรทัศน์ มีบทบาทสำคัญในครอบครัว - ผู้คนสามารถรับรู้ข่าวสาร เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นรอบโลกในแต่ละวันอย่างฉับไว แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับทำให้พฤติกรรมการอ่านหนังสือลดลงและเริ่มหันเข้าหาความสุขสบายจากสินค้าที่ผ่านการโฆษณาทางโทรทัศน์
๏ ความแพร่หลายของอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในบ้าน ไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ฯลฯ - ผู้คนสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งผู้อื่นมากนัก - มีเวลาที่จะหาความสุขให้กับตัวเองมากกว่าแต่ก่อน
๏การเข้ามาของเครื่องปรับอากาศ – ผู้คนรู้สึกสบายตัวมากขึ้นเมื่ออยู่ในบ้าน – ไม่อยากออกนอกบ้าน - พบปะผู้คนน้อยลง
๏ยุคคอมพิวเตอร์ - มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมในการทำงานกับคอมพิวเตอร์แทนการทำงานร่วมกับคนจำนวนมาก
๏ ยุคอินเทอร์เน็ต – ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลใดๆก็ตามเมื่อต้องการ – ทำให้ธุรกิจหนังสือพิมพ์ซบเซาลง - ผู้คนเริ่มเลือกเสพข้อมูลข่าวสารได้ตามที่ต้องการ
๏ยุคโซเชียลมีเดีย – ผู้คนได้เข้าถึงเครือข่ายคนกลุ่มใหญ่ได้ง่าย – การปฏิสัมพันธ์พูดคุยแบบตัวต่อตัวและกลุ่มลดลง - มองเห็นกลุ่มก้อนทางการเมืองของผู้ใช้โซเชียลมีเดียชัดเจนขึ้น
เทคโนโลยีทุกประเภทจึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้นแต่เรามักไม่ค่อยสังเกตเห็น เพราะการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นทีละน้อยและคนในแต่ละยุคที่ซึมซับเทคโนโลยีเหล่านี้ค่อยๆเปลี่ยนพฤติกรรมตามยุคสมัยตลอดมาทั้งทางตรงและทางอ้อม มนุษย์ยุคใหม่จึงกลายเป็นมนุษย์ที่มีเวลาคิดถึงตัวเองมากขึ้นและเริ่มเห็นความต้องการของตัวเองเป็นใหญ่เพราะเทคโนโลยีได้แบ่งเบางานภาระและงานที่น่าเบื่อของมนุษย์ไปจนเกือบหมด
ดังนั้นผู้ที่เกิดในช่วงสงครามโลกย่อมมีความเป็นอยู่และแนวความคิดที่ต่างจากผู้ที่เกิดหลังสงครามโลก ผู้ที่เกิดในยุคคอมพิวเตอร์ย่อมมีทักษะและพฤติกรรมที่ต่างจากคนยุคก่อนมีคอมพิวเตอร์และผู้ที่เกิดในยุคอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเบ่งบานย่อมใช้ชีวิตและมีแนวคิดที่ต่างจากผู้คนในยุคก่อนๆอย่างไม่ต้องสงสัย
ความเป็นตัวของตัวเอง (Individualism) : ผลพวงจากเทคโนโลยี
นวัตกรรมแต่ละยุคสมัยนอกจะทำให้มนุษย์ได้รับความสะดวกสบายและยังส่งผลต่อพฤติกรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ในทางอ้อมอย่างน้อยที่สุด 2 ประการคือ 1. ทำให้เกิดพฤติกรรมยึดถือ 'ความเป็นตัวของตัวเอง' (Individualism) มากขึ้น 2. ทำให้มนุษย์เดินทางสู่จุดหมายปลายทางในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตช้าลง (Slower life: โตช้า แต่งงานช้า เกษียณช้า และอายุยืนกว่าคนรุ่นก่อนหน้า)
เทคโนโลยีในแต่ละยุคจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเองของมนุษย์โดยไม่ต้องการพึ่งพาผู้อื่นจนทำให้ผู้คนเหินห่างกันทุกทีและนำผู้คนเข้าสู่ภาวะ 'ความเป็นตัวของตัวเอง' เข้าไปทุกขณะ 'ความเป็นตัวของตัวเอง' ของมนุษย์ในยุคหลังจึงเด่นชัดกว่ายุคบรรพบุรุษหลายเท่าตัว ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการจมอยู่กับตัวเองของมนุษย์จึงมักอยู่คู่กันเสมอ เพียงแต่เรามักไม่ค่อยสังเกตหรือไม่ให้ความสำคัญจนมองข้ามไป
อย่างไรก็ตามโลกดิจิทัลมักนำสิ่งที่ไม่คาดคิดมาสู่สังคมใดสังคมหนึ่งได้เสมอภายในระยะเวลาอันสั้น วัฒนธรรมที่มี 'ความเป็นตัวของตัวเอง' ที่สั่งสมมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยีในแต่ละยุคจนกระทั่งถึงยุคของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย จึงเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นผ่านผู้คนแต่ละวัยในหลายต่อหลายประเทศในช่วงเวลาแทบจะใกล้เคียงกันด้วยพฤติกรรมต่างๆ เป็นต้นว่า สนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมทาง เพศ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์และสถานะของบุคคลข้ามเพศ จนเกินขอบเขต ไม่ให้ความสำคัญต่อการสวมเสื้อผ้าหรือการแต่งตัวที่เป็นทางการและชื่นชอบการสวมใส่เสื้อผ้าในแบบไม่เป็นทางการในทุกโอกาส และมักทำสิ่งใดก็ตามตามใจตัวเองโดยยึดหลักว่าไม่ต้องแคร์ว่าใครจะคิดอย่างไรกับตน เพราะพวกเขาจะมองตัวเองสำคัญกว่าผู้อื่นเสมอ
ฝ่าฝืนกฎ - เรื่องธรรมดาหรือความแปลกแยก
แนวคิดการยึดถือตัวเองเป็นใหญ่ ได้ส่งผลต่อสังคมไทยอยู่เป็นระยะๆในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายคนจึงอาจพบกับประสบการณ์การฝ่าฝืนกฎเกณฑ์จากคนจำนวนหนึ่ง ที่กล้าแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูงจนทำให้ ความรู้สึกของการมีส่วนร่วมในสังคมสูญเสียไป กฎเกณฑ์ต่างๆที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อถือปฏิบัติต่อส่วนรวมเพื่อความเท่าเทียมจึงมักถูกท้าทายจากคนกลุ่มนี้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นกฎของสถานศึกษา กฎของสถานที่ทำงานหรือแม้แต่กฎทางศาสนาก็ตามและหากมีปัจจัยสอดแทรกอื่นๆ เช่น การเกิดเหตุการณ์สำคัญๆหรือการกระตุ้นจากบุคคลอื่นๆยิ่งจะเพิ่มระดับความท้าทายต่อกฎเกณฑ์มากยิ่งขึ้น
การฝ่าฝืนกฎของโรงเรียนของเยาวชนไทยซึ่งอยู่ในวัยเพียง 15 ปี ที่เป็นข่าวครึกโครม จึงน่าจะอยู่ในข่ายบุคคลที่มี 'ความเป็นตัวของตัวเอง' สูงมากด้วยเช่นกัน การฝ่าฝืนกฎของโรงเรียนของเยาวชนรายนี้หากอยู่ในสังคมที่เชิดชูความเป็นปัจเจกบุคคล(Individualistic world) อาจไม่ถือเป็นเรื่องแปลกและโรงเรียนอาจมีทางเลือกอื่นให้ แต่การฝ่าฝืนกฎของสังคมที่ถือกฎเกณฑ์ส่วนรวม(Collectivistic world) เป็นสำคัญเช่นในเมืองไทยยังถือว่าเป็นความผิดปกติและยิ่งมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องยิ่งเป็นความอ่อนไหวที่ต้องระมัดระวังและถือว่าเป็นการแสดงออกที่ยังไม่ถูกที่และถูกเวลา นอกจากนี้ในสังคมที่เข้มงวดเรื่องระเบียบวินัยและกฎเกณฑ์ของส่วนรวม หากเด็กยังไม่สามารถแยกแยะระหว่างพื้นที่ส่วนตัว(Private meaning) กับพื้นที่สาธารณะ(Public meaning) ได้ ก็อาจนำไปสู่ผลกระทบที่จะเกิดกับตัวเองและส่วนรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
การแสดงออกซึ่งการเรียกร้องใดๆที่ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ของประเทศหนึ่งจึงมักส่งผลให้เกิดความไม่ลงรอยทางความคิดของคนในสังคมนั้นเสมอ ในประเทศที่ผู้คนมีความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูงจึงมักเป็นประเทศที่มีการยอมรับต่อวัฒนธรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนได้อย่างไม่ฝืนความรู้สึกมากนัก ในขณะที่ประเทศที่มีวัฒนธรรมในการให้ความสำคัญต่อกลุ่มคนมากกว่าความเป็นปัจเจกบุคคลยังไม่เปิดกว้างต่อวัฒนธรรมดังกล่าวมากเท่าที่ควร การเคลื่อนไหวใดๆภายใต้บริบททางสังคมที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมหรือความเชื่อของตัวเองจึงต้องกระทำอย่างระมัดระวังและใครก็ตามที่มีส่วนได้เสียต้องหันกลับมาดูความจริงและต้องหยุดให้ท้ายต่อพฤติกรรมการเรียกร้องนั้นเสีย
มนุษย์ เจนเนอเรชัน แซด หรือ ซี (Generation Z)
เยาวชนที่ตกเป็นข่าวเป็นเด็กที่จัดอยู่ในกลุ่มคน เจนเนอเรชัน ซี ตอนปลาย คนเจนเนอเรชันนี้เกิดระหว่างพ.ศ. 2538-2555 พวกเขาถือว่าเป็นมนุษย์ที่เกิดมาในยุคที่อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียมีบทบาทอย่างยิ่งในการสื่อสารและการแสดงออกของพวกเขา คนกลุ่มนี้จึงมีความสามารถในการใช้โซเชียลมีเดียราวกับว่าเป็นอวัยวะที่เกิดมาพร้อมกับตัวเอง พวกเขามักย้อมผมเป็นสีรุ้งบ้างหรือสีสะดุดตาที่ต่างจากคนทั่วๆไปและพวกเขามักใช้ภาษาที่พ่อแม่หรือคนรุ่นก่อนฟังแล้วไม่เข้าใจเลย
สิ่งที่น่าสนใจและควรเป็นที่รับรู้ในสังคมคือ คนจำนวนไม่น้อยในเจนเนอเรชันนี้มักมองโลกในแง่ที่ไม่ดีนัก พวกเขาเห็นว่า โลกนี้เป็นสถานที่ที่ไม่น่าอยู่และมองทุกอย่างในโลกเต็มไปด้วยความเลวร้าย มุมมองของพวกเขาต่อโลกในเชิงลบจึงมักทำให้เกิดคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบเสมอว่า เหตุใดพวกเขาจึงมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อโลก (อ้างอิง 1: ผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกา)
พวกเขามักไม่เชื่อว่า สิ่งใดในโลกนี้มีคุณค่า(Nihilism) พวกเขาจึง ปฏิเสธคุณค่าและการมีอยู่ของทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ วัฒนธรรม ความรู้ หรือแม้กระทั่งความเชื่อ โดยมองว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดและประกอบสร้างไว้เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์หนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ผลสำรวจผู้คน เจนเนอเรชัน ซี ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2021 พบว่า พวกเขาไม่มีความภูมิใจในประเทศของตัวเองเอาเสียเลย เพราะเพียง 36 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีอายุ 18 ถึง 24 ปีเท่านั้นที่มีความ ภูมิใจ และ ภูมิใจมาก ที่เกิดเป็นคนอเมริกัน ในขณะที่ คนยุค Baby boomer และ Silent ที่มีอายุ 65 ปีและมากกว่า จำนวนถึง 86 เปอร์เซ็นต์มีความภูมิใจที่เกิดเป็นคนอเมริกัน
ดังนั้นทัศนคติของคนอเมริกัน เจนเนอเรชัน ซี ต่อประเทศของตัวเองที่เคยเชื่อว่า มีความเสรี หลากหลายและเป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่ง จึงไม่มีอยู่อีกต่อไป แต่ได้ถูกทดแทนด้วยคำว่า ความยุ่งเหยิง(Bloody mess) พังทลาย (Broken) และเป็นโลกที่ไม่พึงปรารถนา(Dystopia) ไปเสียแล้ว
มุมมองทางการเมืองและสังคมของพวกเขาก็ไม่ได้ต่างจากมุมมองด้านอื่นเพราะพวกเขาเห็นว่าสังคมอเมริกันไร้ความยุติธรรม(Unfair) และคนจำนวนหนึ่งเห็นว่าควรต้องรื้อระบบและสร้างระบบใหม่ขึ้นมาทดแทน ไม่เฉพาะมุมมองเชิงลบของคน เจนเนอเรชัน ซี ต่อสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันเท่านั้น พวกเขายังมองย้อนกลับไปยังอเมริกาเมื่อ 250 ปีก่อนโดยมีความเชื่อว่าผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาคือคนเลวมากกว่าที่จะเป็นฮีโร่ที่น่าชื่นชม
คนในเจนเนอเรชัน ซี มักเปรียบเทียบตัวเองกับคนรุ่นพ่อแม่ และมีความรู้สึกว่าพวกเขาเกิดมาอย่างไร้ความหวัง ต่างจากคนรุ่นพ่อแม่ที่มีความหวังเปี่ยมล้นเมื่อเป็นคนอเมริกัน ความไม่พอใจต่อสิ่งรอบตัวของพวกเขายังลามไปถึงระบบเศรษฐกิจ เพราะพวกเขาเห็นว่าระบบทุนนิยมที่ผู้คนนิยมชมชอบในอดีตกลับกลายเป็นยาขม เมื่อพวกเขา เริ่มโตขึ้น
ทัศนคติเชิงลบต่อประเทศของคนอเมริกัน เจนเนอเรชัน ซี บางส่วนข้างต้นซึ่งเป็น เจนเนอเรชัน เดียวกับน้องเยาวชนไทยที่ตกเป็นข่าว ได้สะท้อนภาพปรากฏการณ์หลายๆอย่างเหมือนกับที่เกิดขึ้นในบ้านเราในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะมีปัจจัยใดสนับสนุนก็ตามทัศนคติแบบเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆกับคนบางกลุ่มและกำลังส่งผลกระทบต่อสังคมไทยไม่มากก็น้อย
มนุษย์แต่ละเชื้อชาติ แต่ละศาสนาและแต่ละวัฒนธรรม ย่อมมีการกำหนดทางเลือกของตนเองให้เหมาะสมกับความเป็นอยู่ในสังคมนั้นๆ แต่ละทางเลือกย่อมมีทั้งข้อดีและจุดอ่อนซึ่งหากเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่แล้ว แม้จะมีปัญหาอยู่บ้างก็สามารถแก้ไขให้สำเร็จลงได้ไม่ยากนัก ความเป็นตัวของตัวเองที่เข้มข้นอาจเหมาะกับสังคมในประเทศที่ถือความมีอิสรเสรี ยอมรับความหลากหลายและมีความเชื่อว่าใครก็ตามสามารถจะเป็นอย่างที่ตนเองต้องการได้ แต่อาจไม่เหมาะกับประเทศที่ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีที่มิได้เชิดชูความเสรีจนเกินขอบเขต
ดังนั้นการนำวัฒนธรรมของประเทศหนึ่งที่ยังไม่เป็นที่ยอมรับมาใช้ในอีกประเทศหนึ่งย่อมเกิดความเปราะบางต่อความเชื่อถือซึ่งกันและกัน เกิดการทำลายรากฐานทางสังคมที่เกิดมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมซึ่งแม้ว่าวัฒนธรรมใหม่จะได้มาซึ่งความมีเสรีภาพ แต่เสรีภาพเหล่านั้นต้องแลกกับความวุ่นวายสับสนของสังคมที่ไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมนั้นเสมอ
พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร
อ้างอิง
1.Generations โดย Jean M .Twenge
2.https://www.dek-d.com/studyabroad/59202/
3.https://mgronline.com/specialscoop/detail/9660000055191
4. https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000055379
ภาพประกอบ