"...ตามหลักวิชาการออกแบบถนน หากบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด เกินมาตรฐาน ทางหลวงจะไม่ถึงกับพังเสียหายในทันที แต่จะบอบช้ำและทำให้อายุการใช้งานสั้นลง เพราะอำนาจการทำลายทางหลวงจะมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org): เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2566 นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ต่อตระกูล ยมนาคว่า
ถนนหลวง ของประเทศไทยพัง วิศวกรขออธิบาย
วิศวกรโยธา มีสาขาวิชาการแยกออกไปอีกไม่น้อยกว่า 8 สาขา หนึ่งในสาขาที่สำคัญมากแต่คนไม่ค่อยทราบคือ วิศวกรรมขนส่ง (Transportation Engineering) ซึ่งศึกษา เรียนรู้วิชาการ การออกแบบถนน ตามมาตรฐานสากล สำหรับประเทศไทย ใช้มาตรฐานถนนของสหรัฐอเมริกา เป็นหลักในระดับความมั่นคงแข็งแรงของตัวถนน และการออกแบบแนวถนนให้มีความปลอดภัย และจัดวางระบบและอุปกรณ์ให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ถนน
ตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา มีปัญหา รถบรรทุก 10 ล้อ บรรทุกเกิน 21 ตัน ที่กฏหมายกำหนด เจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมได้ นักการเมืองประเภทเจ้าพ่อ ที่มีตำแหน่งระดับ รมต. มหาดไทย ก็ร่วมกับฝ่ายรถบรรทุก ให้ทางวิศวกรผู้รับผิดชอบดูแลซ่อมบำรุงถนน ให้เพิ่มน้ำหนัก ขึ้น
แต่เมื่อเพิ่มขึ้นเป็น 30 ตันแล้ว ก็ยังแข่งกันบรรทุกน้ำหนักเกินขึ้นต่อไปอีกหลายสิบตัน โดยไม่เกรงกลัวกฏหมาย และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย
ตามหลักวิชาการออกแบบถนน หากบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด เกินมาตรฐาน ทางหลวงจะไม่ถึงกับพังเสียหายในทันที แต่จะบอบช้ำและทำให้อายุการใช้งานสั้นลง เพราะอำนาจการทำลายทางหลวงจะมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน "
อำนาจการทำลายนี้จะเพิ่มเป็นยกกำลัง 2 ของจำนวนเท่าของน้ำหนักบรรทุกที่เพิ่มขึ้นจากมาตรฐาน ถ้าบรรทุกเกิน 2 เท่า อำนาจการทำลายจะเป็น 4 เท่า อายุใช้งานลดลงเหลือเพียง 1 / 4 ของมาตรฐาน
ผลออกมาเป็นเช่นนี้มาตลอด เมื่อถนนพัง ประชาชนก็โทษว่า วิศวกรออกแบบถนนไม่ดี ต้องปิดถนนซ่อมกันเป็นประจำ
บัดนี้ ความจริงก็ได้ปรากฏแล้วว่า ถนนนี้ถึงจะเพิ่มให้บรรทุกมากขึ้นแล้ว ก็จะละเมิดกฏหมายเพิ่มขึ้นไปอีก ตราบใดที่เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งหลาย ไม่ควบคุมการบรรทุกน้ำหนักอย่างจริงจัง
ขอเสนอว่าให้เลิกใช้คนไปคอยเฝ้าตรวจรถเกินน้ำหนัก อีกต่อไปแล้ว ให้ใช้หุ่นยนต์มาเฝ้าแทน ที่เรียกว่า WIM (Weight in Motion system) เป็นระบบล่าสุดที่รถบรรทุกวิ่งผ่านแล้วรู้น้ำหนักทันที รู้แล้วแจ้งได้ทันที ! ดูได้ในรูปที่ 3