"...ดังนั้นการดึงเชียงใหม่มาไม่ใช่เล่ห์เพทุบาย แต่เป็นพระมหากรุณาธิคุณ ถ้าหนูไม่ได้ทำเปเปอร์เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในพม่าก่อนหน้านี้ หนูก็คงจะเป็นคนหนึ่งที่ตบมือชอบใจกับคำหยาบคายของอาจารย์..."
“การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าเห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้...........” (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)
ในยุคที่รัฐสยามรุ่งเรือง ภายใต้ราชวงศ์จักรีสืบมาแต่รัชกาลที่ 1 อำนาจทางการเมืองและทางทหารขยายไปทั้งทางเหนือ อิสาน แผ่ไปถึงแหลมมลายู
แผ่นดินสยามที่อุดมด้วยทรัพยากร รุ่งเรืองทางการค้า การศาสนา จึงกลายเป็นพื้นที่ขยายแสนยานุภาพของชาติตะวันตกเข้ามายังอุษาคเนย์ ในคริสตวรรษที่ 19 ในขณะที่ฝรั่งเศสเข้าครอบครอง เวียดนาม กัมพูชา ลาว อังกฤษครอบครองอินเดีย พม่า มลายู และหมายจะครอบครองรัฐสยาม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงภัยร้ายคุกคามของนักล่าอาณานิคมตะวันตก ที่ทำสงครามรูปแบบใหม่ในยุคนั้น โดยใช้สนธิสัญญาพร้อมเรือปืน แปลว่าถ้าเจรจาทำสนธิสัญญาไม่สำเร็จก็จะเอาเรือปืนเข้ายึดครองประเทศ จึงทรงมีพระราชดำรัสขณะทรงพระประชวรหนัก ให้ตระหนักภัยของ “พวกฝรั่ง” หลังสิ้นกระแสรับสั่ง เมื่อ 2 เม.ย. 2394 ณ พระบรมมหาราชวัง พระองค์เสด็จสวรรคต เมื่อพระชนมายุ 64 พรรษา โดยทรงสะสมเงินกำไรที่แต่งสำเภาไปค้าขายกับจีน ไว้ในถุงแดงถึง 4 หมื่นชั่ง ทรงกำหนดให้ 1 หมื่นชั่ง ใช้ทำนุบำรุงพระศาสนา และ 3 หมื่นชั่ง ให้เก็บรักษาไว้ให้ดีเพื่อ “เอาไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง”
ซึ่งในเวลาต่อมา เงินถุงแดงนั้นก็สามารถนำมาใช้ไถ่รัฐสยามได้จริง จากกรณีวิกฤต รศ. 112 ที่สยามจำต้องจ่ายค่าปรับให้ฝรั่งเศสภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อแลกกับเอกราชของสยามไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส
เพื่อแย่งยึดแผ่นดินและปล้นชิงทรัพยากรอันอุดมของแผ่นดินสยาม ชาติตะวันตกยังคงใช้ความพยายามคุกคามอย่างต่อเนื่อง
เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ในขณะที่หัวเมืองฝ่ายเหนือคือ อาณาจักรล้านนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นอยู่ใต้การปกครองของพม่ามายาวนานถึง 200 ปี
ประวัติศาสตร์ชี้ว่าล้านนาเป็นเมืองขึ้นของพม่าตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนอง พ.ศ. 2101-2317 ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าตากสิน ล้านนาจึงมาสวามิภักดิ์ต่อรัฐสยาม พม่าถูกขับไล่ออกไป ทำให้พม่าเรียกล้านนาว่า “ยวน” เรียกไทยใหญ่ว่า “ชาน” เรียกมอญว่า “ตะเลง”
เดิมดินแดนล้านนามีอิสระในการปกครองตนเองสูง สามารถจัดเก็บภาษีด้วยตนเอง แต่ต้องส่งบรรณาการให้สยามทุก 3 ปี ดร. เนื้ออ่อน ขรัวทอง บันทึกไว้ว่า เมืองท่ามะละแหม่งของพม่าที่อยู่ใต้การปกครองของอังกฤษในปี พ.ศ. 2347 นั้นมีไม้สักถึง 95 % ที่ส่งไปจากเชียงใหม่ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ตรัสถึงการปกครองล้านนาว่า
“....เมื่อมีอยู่ก็ต้องปกครองรักษาให้สิทธิขาดจริงๆ ถ้าปกครองไม่ได้สิทธิขาดแล้ว ไม่มีเสียดีกว่า...”
สมัยรัชกาลที่ 5 “รัฐสยามจึงขยายอำนาจไปสู่ล้านนาอย่างจริงจัง มีการส่งข้าหลวงไปกำกับราชการ จัดเก็บภาษีเข้าส่วนกลาง ไม่ให้เจ้านายล้านนาเก็บภาษีอีกต่อไป มีการทำแผนที่กำหนดเขตแดนชัดเจน มีสำรวจสำมะโนครัวว่าใครอยู่ในบังคับสยาม ใครอยู่ในบังคับอังกฤษ มีการวางรากฐานการศึกษาและคณะสงฆ์แบบกรุงเทพฯ พัฒนาการขนส่งและคมนาคม รัฐสยามเข้าไปทำสัมปทานป่าไม้อย่างเป็นทางการเก็บภาษีได้มาก และปันเงินให้เจ้านายล้านนามากตามไปด้วย รัฐสยามกับชาวล้านนาโยงใยกลายเป็นกลุ่มชนเดียวกันด้วยวิเทโศบายสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่นั้นมา” (อ้างถึงนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2565)
ท่ามกลางการคุกคามรุกล้ำของอังกฤษ ผ่านพม่าคืบมาสู่สยาม นอกจากรัชกาลที่ 5 จะเสด็จไปสร้างไมตรีกับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซีย เพื่อถ่วงดุลกับชาติมหาอำนาจทั้งฝรั่งเศส และอังกฤษแล้ว ในเวลาเดียวกันก็ทรงผนวกอาณาจักรล้านนาเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐสยามอย่างแยบยล หาไม่แล้วล้านนาและเชียงใหม่จะกลายเป็นแดนดินชนกลุ่มน้อยของพม่า ซึ่งในวันนี้มีสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด หาความสงบสุขไม่ได้เลย
เรื่อง “ร. 5 ทำอะไรกับเชียงใหม่หรือ” นี้เป็นบันทึกที่ต้องอ่าน
(Cr. กรุ๊ปไลน์ : รวมใจเพื่อนสามารถ Source : เรารักสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง)
ร. ๕ ทำอะไรกับเชียงใหม่หรือ ?
ถ้านางไม่รู้เรื่องมาก่อน นางก็คงเป็นหนึ่งในคนที่นั่งตบมือสนุกกับการบรรยายอันหยาบคายนั้น.. "แหวน" เป็นสาวเจียงใหม่ แต่มาเป็นนิสิตน้อย เรียนที่กรุงเทพฯ นางก็จะเรียบร้อยหงิมๆ ใครพูดอะไรแรงๆใส่ก็จะน้ำตาคลอ บุคลิกประมาณนั้น
เทอมหนึ่ง..แหวนทำรายงานเรื่องชนกลุ่มน้อยในพม่า นางก็พรีเชนต์หน้าห้อง เนื้อหาและรูปภาพบางส่วนทำเอาทุกคนสะเทือนใจ เพราะชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ต้องสู้รบกับพม่าอยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าเป็นดินแดนที่รันทดที่สุดแห่งหนึ่งในโลกก็ว่าได้
รายงานเสร็จแหวนบอกว่า "ทำเปเปอร์เรื่องชนกลุ่มน้อยในพม่าคราวนี้ ทำให้คิดได้ว่า ร. ๕ ท่านมีบุญคุณล้นหัว" ทุกคนก็งงว่า ร.๕ มาเกี่ยวไรกับชนกลุ่มน้อยของพม่าวะ
นางก็เงียบๆ อึนๆ ของนาง จริงๆ คือมีเพื่อนในกลุ่มที่เกลียดเจ้าแบบรุนแรงมาก พวกเราเลยมักหลีกเลี่ยงที่จะคุยประเด็นอะไรแบบนี้
หลังจากนั้นไม่นาน ภาควิชาก็มีการจัดงานสัมมนา หัวข้อเกี่ยวกับ สมัย ร.๕ วิทยากรก็จะมีทั้งอาจารย์ในภาค และมีอาจารย์จากภายนอกด้วย แต่ละท่านก็จะรับผิดชอบหัวข้อต่างๆกันไป
ทีนี้ก็มีอาจารย์จากภายนอกท่านหนึ่งรับผิดชอบบรรยายหัวข้อเกี่ยวกับ “การผนวกรวมเชียงใหม่กับสยาม”
ความแปลกของอาจารย์ท่านนี้คือ เค้าดูเหมือนโกรธ ร.๕ ที่ดึงเชียงใหม่มาอยู่กับสยาม ไปลดทอนทำลายอำนาจของเจ้านายฝ่ายเหนือ เหมือนในความคิดของเค้าคือ ร.๕ ท่านใช้เล่ห์เพทุบายอะไรทำนองนั้น แล้วยิ่งบรรยายอารมณ์ก็ยิ่งคุกรุ่น จนในที่สุดถึงกับหลุดคำหยาบออกมา
พวกที่เกลียดเจ้าก็ตบมือชอบใจกันใหญ่ พวกที่มีใจเป็นธรรมก็นั่งงงๆ กันอยู่ว่าโกรธท่านทำไมวะ เป็นใครก็ต้องทำแบบนั้นป่ะ
สิ้นเสียงตบมือ ไอ้แหวนคนหงิมๆ ก็ลุกขึ้นถาม อาจารย์ท่านนั้นว่า “ถ้า ร. ๕ ไม่พยายามอย่างจริงจังที่จะดึงเชียงใหม่มาอยู่กับสยาม เชียงใหม่ก็ต้องตกเป็นของอังกฤษ พออังกฤษปล่อยพม่า ชาวเชียงใหม่ก็คือชนกลุ่มน้อยในพม่า ใช่ไหมคะ”
อาจารย์เงียบ แหวนถามอีกว่า “เชียงใหม่เข้มแข็งพอจะตั้งอยู่เป็นรัฐอิสระระหว่างสยามกับอังกฤษหรือคะ”
อาจารย์เงียบไปพักหนึ่ง แล้วตอบเสียงเย็นชาหน้าบึ้งประมาณว่า "คุณต้องดูด้วยว่าผมกำลังพูดประเด็นอะไร คุณถามนอกประเด็น และยังไม่ใช่เวลาที่อนุญาตให้ถาม"
ถ้าเป็นแหวนเวอร์ชั่นปกติ มันคงน้ำตาคลอไปแล้ว แต่ตอนนั้นเหมือนอะไรก็หยุดมันไม่ได้ แหวนพูดต่อว่า “ที่ต้องแทรก เพราะหนูทนฟังอาจารย์หยาบคายใส่ ร.๕ ไม่ได้ หนูเป็นคนเชียงใหม่ ถ้า ร. ๕ ท่านไม่ดึงเชียงใหม่มาไว้กับสยาม ป่านนี้เชียงใหม่ก็คือชนกลุ่มน้อยของพม่า แล้วคุณภาพชีวิตหนูจะเป็นยังไง อาจารย์ทราบใช่ไหมว่าชนกลุ่มน้อยของพม่าเค้าลำบากมาก เด็กๆ อายุยังไม่ทันเข้าวัยรุ่นดีก็ต้องจับปืนขึ้นสู้กับทหารพม่า วันดีคืนดีทหารพม่าบุกเข้าหมู่บ้าน ฆ่าผู้ชาย ข่มขืนผู้หญิง เผาหมู่บ้านวอดหมด
ดังนั้นการดึงเชียงใหม่มาไม่ใช่เล่ห์เพทุบาย แต่เป็นพระมหากรุณาธิคุณ ถ้าหนูไม่ได้ทำเปเปอร์เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในพม่าก่อนหน้านี้ หนูก็คงจะเป็นคนหนึ่งที่ตบมือชอบใจกับคำหยาบคายของอาจารย์” แหวนมันพูดประมาณนี้ละค่ะ
ทุกคนในห้องตกตะลึงมาก อาจารย์ท่านนั้นก็บรรยายต่อไปอีกแป๊บก็จบเอาดื้อๆ ขอตัวกลับ ไปพร้อมกับหงอกที่เกือบหมดหัว
เหตุการณ์นี้ทำให้เราคิดว่า จริงๆ เราถูกชักจูงได้ง่ายกว่าที่คิดนะ
อย่างที่แหวนว่า "ถ้านางไม่รู้เรื่องราวชีวิตของชนกลุ่มน้อยพม่ามาก่อน นางก็คงเป็นหนึ่งในคนที่นั่งตบมือสนุกกับการบรรยายอันหยาบคายนั้น"
ขอปิดท้ายด้วยร้อยกรองบทนี้
อสัตย์กับสัจจะท้าวิวาท
ดุจปีศาจหวาดแจ้งแห่งแสงสูริย์
เมื่ออธรรมเผชิญธรรมแจ่มจำรูญ
ก็อาดูรผวาว้างกลัววางวาย
(แปลงจากกลอนนิรนาม)
ขอบคุณ Cr. ภาพ
- นิตยสารศิลปวัฒนธรรม
- นิตยสารสารคดี
ประสาร มฤคพิทักษ์