“... ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่า ภารกิจของรัฐบาลทุกพรรคที่จะผลักดันร่วมกันนั้น ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่สักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ …”
บันทึกข้อตกลงร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล หรือ MOU ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาลแถลงเมื่อเย็นวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 เริ่มต้นด้วยข้อความที่ระบุว่าเป็นจุดยืนดังนี้
"ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่า ภารกิจของรัฐบาลทุกพรรคที่จะผลักดันร่วมกันนั้น ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่สักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์"
เป็นการตั้งนะโมที่ถูกต้องและคลายข้อสงสัยข้อกังวลทั้งปวงในประเด็นมาตรา 112
เพราะนะโมนี้คัดมาจากข้อความในบททั่วไปของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 1, 2 และ 6 อันเป็นหลักการเดียวกับที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับในอดีตตั้งแต่ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 เป็นต้นมา เพียงแต่อยู่ต่างมาตรากันไปบ้างเท่านั้น
ในตอนท้ายของบันทึกข้อตกลงร่วมยังมีแนวทางปฏิบัติของทุกพรรคกำกับไว้ 5 ข้อ โดยข้อ 5 ระบุไว้ว่า
"ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้โดยอาศัยอํานาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง"
เช่นนี้แล้ว วิญญูชนที่ติดตามการเมืองมาอย่างต่อเนื่องก็ย่อมเข้าใจได้ว่าจะไม่มีการเสนอแก้ไขมาตรา 112 หรือถ้าจะเสนอแก้ไขก็ตัองไม่เป็นการแก้ไขที่กระทบกับหลักการของรัฐธรรมนูญทั้ง 3 มาตราดังกล่าวอันเป็นจุดยืนของทุกพรรคที่ปรากฎอยู่ในตอนต้นของบันทึกข้อตกลงร่วม ไม่ว่าจะโดยรัฐบาล หรือโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาล
เพราะมาตรา 112 คืออะไรหรือ ?
เพราะมาตรา 112 คือกฎหมายลำดับรองที่จะทำให้หลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 6 การคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ มีผลบังคับใช้ได้จริง
แต่เวลาคล้อยไปไม่ถึง 10 นาที หมึกที่ผู้แทน 8 พรรคเซ็นบันทึกข้อตกลงร่วมยังไม่ทันแห้งดี
ช่วงขั้นตอนตอบคำถามสื่อมวลชน แค่คำตอบแรกแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีก็สร้างความยัอนแย้งขึ้นมาทันที
เป็นความย้อนแย้งที่ทำให้บันทึกข้อตกลงร่วมคลายความน่าเชื่อถือลงไปอักโข
ด้วยการยืนยันว่าพรรคก้าวไกลที่ท่านเป็นหัวหน้าพรรคยังจะเสนอก้ไขมาตรา 112 โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค โดยบอกว่าพรรคก้าวไกลเคยเสนอมาแล้วเมื่อปี 2564 แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระ ครั้งนี้คิดว่าจะสำเร็จลุล่วงด้วยดี
อะไรกันเนี่ย !
แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีท่านนี้ไม่รู้หรอกหรือว่านี่คือการกระทำของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะขัดกับขัอตกลงร่วมที่เพิ่งอ่านและลงนามไป
แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีท่านนี้ไม่รู้หรอกหรือว่าการที่ร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลไม่ได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระ ก็เพราะประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นคือท่านชวน หลีกภัยวินิจฉัยว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 6 การคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์
จริงอยู่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะชี้ขาดชนิดเป็นที่สุดและมีผลผูกพันทุกองค์กรได้ว่าร่างกฎหมายใดขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
แต่ท่านก็เป็นนักกฎหมายเป็นสุภาพบุรุษนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยอาวุโส
และเป็นการวินิจฉัยที่สอดคล้องกับความเห็นทางกฎหมายของสำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เจ้าหน้าที่ฝ่ายประจำที่ไม่เป็นฝักฝ่ายทางการเมือง
แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีท่านนี้ควรจะรู้ได้ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกลเคยอภิปรายทวงถามในสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 โดยกล่าวในทำนองว่าประธานสภาผู้แทนราษฏรกลัว จึงไม่บรรจุระเบียบวาระ และนี่คือคำตอบของท่าน
"ผมเคยเรียนให้ทราบว่าเราไม่ได้ทำอะไรตามอำเภอใจ และไม่ได้กลัวเลยครับ แต่ยึดความถูกต้องเป็นสำคัญ โดยถือว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ที่เตือนไว้ตลอดเวลาด้วยความหวังดี ไม่ได้ตัดสินใจด้วยความกลัว แต่ใช้เหตุผลเป็นหลัก ไม่ใช่เราพูดอะไรไม่ได้"
นี่คือลักษณะย้อนแย้งที่ปรากฎขึ้นในช่วงวินาทีประวัติศาสตร์เมื่อเย็นวันที่ 22 พฤษภาคม 2566
นี่คือลักษณะย้อนแย้งที่ทำให้บันทึกข้อตกลงร่วมของ 8 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลคลายความน่าเขื่อถือลงอย่างมีนัยสำคัญ
และนี่คือการตอกย้ำให้เห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 26 มีความสำคัญอย่างยิ่งเพียงใด
เครดิตภาพ : จาก TNN online และคมชัดลึกออนไลน์ ขอขอบพระคุณครับ