"...โรงเรียนเปิดเทอมแล้วปีนี้ยังน่าเป็นห่วงอยู่เช่นเดิมว่าโรงเรียนของเด็กๆ จะดีขึ้นแค่ไหน? การฉ้อโกง อาหารกลางวัน นมเด็ก ตำราเรียน ลดลงบ้างหรือไม่ ทำอย่างไรงบประมาณนับแสนล้านบาทจะถูกใช้อย่างคุ้มค่า พัฒนาทักษะเด็กไทยให้มีผลการเรียนก้าวทันประเทศเพื่อนบ้าน..."
โรงเรียนเปิดเทอมแล้วปีนี้ยังน่าเป็นห่วงอยู่เช่นเดิมว่าโรงเรียนของเด็กๆ จะดีขึ้นแค่ไหน? การฉ้อโกง อาหารกลางวัน นมเด็ก ตำราเรียน ลดลงบ้างหรือไม่ ทำอย่างไรงบประมาณนับแสนล้านบาทจะถูกใช้อย่างคุ้มค่า พัฒนาทักษะเด็กไทยให้มีผลการเรียนก้าวทันประเทศเพื่อนบ้าน
ข้อมูลเกี่ยวกับช่องทางคอร์รัปชันและงบประมาณที่เกี่ยวข้องต่อไปนี้ ต้องการนำเสนอเพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบว่า ควรพัฒนาอะไร แก้ตรงไหน ป้องกันอย่างไร โดยไม่มีเจตนากล่าวหาว่าโรงเรียนทั้ง 5.1 หมื่นแห่งทั่วประเทศมีคอร์รัปชันเหล่านี้เกิดขึ้น
1. ช่องทางคอร์รัปชันในโรงเรียน
1.1 การจัดซื้อ เช่น นมโรงเรียน อาหารกลางวัน หนังสือตำรา อุปกรณ์การเรียนและกีฬา วัสดุและครุภัณฑ์ทางการศึกษา
1.2 การเรียกรับแปะเจี๊ยะเมื่อแรกรับนักเรียนเข้าสถานศึกษา
1.3 เอาของหลวงไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว
1.4 การจัดซื้อจัดจ้างและการก่อสร้าง เช่น การก่อสร้างอาคาร สนามกีฬา ฯลฯ
1.5 การบริหารราชการ เช่น ออกใบเสร็จเกินจริง อนุมัติเดินทางเท็จ เบิกเท็จค่าจ้าง-เบี้ยเลี้ยง
1.6 การบริหารงานบุคคล เช่น ซื้อขายตำแหน่ง เรียกรับเงินในการแต่งตั้งโยกย้าย
1.7 รับของที่จัดซื้อแล้วส่งมาให้โดยหน่วยงานอื่น เช่น สนามฟุตซอล เครื่องออกกำลังกาย โซล่าเซลล์
1.8 อื่นๆ เช่น สัมปทานโรงอาหาร ให้เอกชนเช่าที่ดิน/เปิดร้านค้า ขโมยนมโรงเรียนไปขาย โกงเงินสหกรณ์โรงเรียน โกงสหกรณ์ครู โกงเงินกองทุนเสมาเพื่อพัฒนาชีวิต (คดีเกิดปี 2561)
2. ใช้งบประมาณมากแค่ไหน?
ท่านผู้อ่านโปรดทำใจว่า เงินภาษีของประชาชน “ทุกรายการ” ต่อไปนี้ มีคดีคอร์รัปชันเกิดขึ้นแล้ว
กระทรวงศึกษาธิการได้งบประมาณราว 3.25 แสนล้านบาทต่อปี ในจำนวนนี้เป็นงบก่อสร้าง 1.15 หมื่นล้านบาท เงินอุดหนุนการศึกษารายหัว เช่น ค่าตำราเรียน อุปกรณ์การเรียน ฯลฯ ราว 3.7 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเงินค่าอาหารกลางวันและนมโรงเรียนอีกราว 4.25 หมื่นล้านบาทจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เพียง 3 รายการนี้รวมเป็นเงินกว่า 9.1 หมื่นล้านบาท
โรงเรียนยังได้รับการสนับสนุนเฉพาะกิจจากหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐอีกจำนวนมาก แม้บางครั้งไม่ได้ร้องขอแต่เจ้าของโครงการก็ส่งมาให้ เช่น สนามฟุตซอลจาก สน.เขตการศึกษา อุปกรณ์ออกกำลังกายจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ด้วยเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ฯลฯ
2.1 งบอุดหนุนการศึกษารายหัวจากรัฐ ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมากฎหมายกำหนดให้เด็กไทยได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรีไม่น้อยกว่า 15 ปี คืออนุบาลจนจบ ม.6 โดยรัฐออกค่าใช้จ่ายรวม 5 รายการ ในปีการศึกษา 2566 นี้ มีนักเรียน 6,627,264 คน เป็นงบประมาณทั้งสิ้น 37,054,791,800 บาท แยกเป็น
ก. ค่าจัดการเรียนการสอน 21,906,927,400 บาท
ข. ค่าหนังสือเรียน 5,136,298,600 บาท
ค. ค่าอุปกรณ์การเรียน 2,925,266,500 บาท
ง. ค่าเครื่องแบบนักเรียน 2,803,059,100 บาท
จ. ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 4,283,240,200 บาท
2.2 เงินอุดหนุนจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9 ประเภท โดยสี่รายการที่เป็นปัญหามาก คือ
ก. นมโรงเรียน มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี (ปี 2565) ราคา 6.89 – 8.13 บาทต่อกล่อง/ถุง จำนวน 260 - 280 กล่อง/ถุง ต่อคนต่อปี รายการนี้ อปท. เป็นผู้จัดซื้อส่งมอบให้โรงเรียน
ข. อาหารกลางวัน มูลค่า 2.83 หมื่นล้านบาท สำหรับเด็ก 5,792,119 คน ใน 51,058 โรงเรียน อัตราค่าอาหารต่อหัว 22 - 36 บาท x 200 - 280 วัน รายการนี้ อปท. โอนเงินให้โรงเรียนดำเนินการ
ค. การจัดซื้อจัดซื้ออุปกรณ์การเรียน หัวละ 290 – 520 บาทต่อปี เช่น การซื้อสมุด ปากกา ดินสอ สีเทียน กระเป๋า อุปกรณ์กีฬา ที่เป็นสินค้าปลอมหรือของต่างชาติคุณภาพต่ำกว่าสินค้ามาตรฐานอุตสาหกรรมไทยแต่ซื้อราคาใกล้เคียงกัน เงินอุดหนุนส่งเสริมศักยภาพ เช่น ไวไฟ
ง. งบประมาณค่าเครื่องแบบนักเรียน หัวละ 325 – 920 บาทต่อปี วิธีทุจริตที่ทำกันมากคือ เรียกเงินทอนจากเอกชน เอื้อพวกพ้อง จัดซื้อวัตถุดิบทำอาหารไม่ครบตามที่เบิกเงิน จัดซื้อตามราคากลางแต่ได้ของด้อยคุณภาพจากจีน สร้างบัญชีผีทำให้จำนวนเด็กในบัญชีเบิกจ่ายสูงเกินจริง ขโมยนมเด็กไปขาย
3 เงินใต้โต๊ะในการซื้อหนังสือ
หนังสือและตำราที่ซื้อเพื่อแจกนักเรียนในอัตราคนละ 200 – 2,000 บาทต่อคนต่อปี ในที่นี้จำแนกเป็น
ก. หนังสือห้องสมุด ยุคนี้คนใช้บริการน้อยลงห้องสมุดแต่ละแห่งจึงซื้อหนังสือไม่มาก แต่ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาที่มีอำนาจควบคุมโรงเรียนนับร้อยแห่งดังนั้นการจัดซื้อแต่ละครั้งของเขตพื้นที่การศึกษาจึงมีจำนวนมาก
ข. หนังสือแบบเรียน ต้องซื้อหนังสือตามบัญชีของกระทรวงฯ ซึ่งปั๊มตรานูนเป็นสัญลักษณ์ไว้ สำนักพิมพ์จึงต้องวิ่งเต้นให้ได้เข้าบัญชีนี้ จากนั้นเป็นเรื่องของร้านค้าต้องวิ่งเต้นขายให้แต่ละโรงเรียน น่าสนใจว่า การได้สิทธิ์ให้ขายในบัญชีนี้มีกำหนดอายุ ดังนั้นหนังสือเล่มใดที่ใกล้หมดกำหนดจะต้องเร่งระบายขายออก ส่งผลให้มีการเสนอส่วนลดมากเป็นพิเศษแก่ร้านค้า ซึ่งจะกลายเป็นเงินใต้โต๊ะจำนวนมากขึ้นแก่ผู้มีอำนาจสั่งซื้อ
ค. หนังสืออ่านเพิ่มเติม/อ่านประกอบ/อ่านนอกเวลา กระทรวงฯ มีบัญชีรายชื่อแนะนำ เช่นกัน แต่เป็นหนังสือต่างประเทศสามารถพิจารณาการรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือได้
ง. หนังสือแนะนำ ซื้อรายการใดก็ได้โดยอิสระ
อัตราจ่ายและการวิ่งเต้น
เงินใต้โต๊ะจากการซื้อหนังสืออยู่ที่ร้อยละ 5 ถึง 30 หรือกว่านั้น ขึ้นอยู่กับซื้อหนังสืออะไร จำนวนสั่งซื้อ และการต่อรอง ที่เป็นเช่นนี้เพราะปรกติร้านค้าจะได้ส่วนลดเริ่มต้นจากสำนักพิมพ์ร้อยละ 25 จากราคาปกหนังสือ เมื่อซื้อจำนวนมากส่วนลดจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนเรียกว่า บวก 5 บวก 10 ไปจนถึงบวก 20 หรือมากกว่านั้นหากเป็นหนังสือที่เขาต้องการโละสต๊อก ส่วนลดนี้คือกำไรของร้านค้าที่แบ่งไปจ่ายใต้โต๊ะได้บางครั้งจึงพบว่า โรงเรียนซื้อหนังสือ 10 เล่มในราคาเท่ากับซื้อ 200 เล่ม ทั้งที่ซื้อมากควรราคาถูกกว่า
ถ้าเป็นหนังสือของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ ร้านค้าได้ส่วนลดน้อยกำไรน้อย ถ้าต้องจ่ายใต้โต๊ะก็ใช้วิธีถัวเฉลี่ยกำไรจากการซื้อขายล็อตนั้นๆ
อำนาจในการสั่งซื้อเป็นของ ผอ. โรงเรียน แต่บางกรณีผู้ขายต้องวิ่งเต้นถึง ผอ. เขตการศึกษา
โดยทั่วไปต้นทุนหนังสือของสำนักพิมพ์ประกอบด้วย ค่าพิมพ์ราวร้อยละ 20 ค่าลิขสิทธิ์เนื้อหาส่วนใหญ่จะคิดร้อยละ 10 จากราคาปก (ราคาขาย) จะจ่ายให้นักเขียนทุกครั้งที่มีการตีพิมพ์หรือตามแต่จะตกลง ค่าดำเนินการ ต้นทุนเหล่านี้จะผันแปรไปตามจำนวนเล่มที่พิมพ์ พิมพ์ครั้งที่เท่าไหร่ ค่าลิขสิทธิ์หมดแล้วหรือยัง หากหนังสือใกล้หมดระยะเวลารับรองของกระทรวงฯ ให้ใช้เป็นตำราเรียนได้ ก็จะต้องเร่งเทขาย เป็นต้น
ในกรณีวางจำหน่ายที่ร้านหนังสือ สำนักพิมพ์ต้องเสียค่าจัดจำหน่ายร้อยละ 40 - 45 ให้ทางร้าน จึงจำเป็นต้องตั้งราคาปกหนังสือให้สูง เพื่อมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการให้เกิดกำไรคุ้มค่าได้
4. บทสรุป
คอร์รัปชันในโรงเรียนทำร้ายเด็ก ทำลายความสามารถด้านภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมถึงชั้นมัธยมมีแนวโน้มว่าจะลดลงต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเราพยายามปลูกฝังเด็กให้มีวินัยความรับผิดชอบ แต่เด็กที่ต้องเติบโตในสภาพแวดล้อมที่คดโกง ไม่ซื่อสัตย์ ย่อมซึมซับพฤติกรรมแก่งแย่งเอารัดเอาเปรียบ อย่างนี้จะหวังอนาคตที่ดีของชาติได้อย่างไร
คอร์รัปชันได้เบียดเบียนครูทั้งวงการ ทำลายภาพความเมตตาของครูผู้ให้ วันนี้ครูต้องรับหน้าที่เป็นกรรมการจัดซื้อฯ ต้องทำเรื่องตามขั้นตอน สุดท้ายหากไม่เซ็นต์เอกสารที่ผู้ใหญ่สั่งมาเขาก็ไม่ก้าวหน้า หากทำไปอาจติดคุก แล้วอย่างนี้ครูดีๆ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่จะใส่ใจทำหน้าที่อย่างมีความสุขได้อย่างไร
ทางที่ดีอย่าปล่อยให้คนคดโกงมาทำอาชีพครู กำจัดออกไปอย่าปล่อยไว้เป็นแบบอย่างเลวๆ ให้เด็กดู เพื่อให้ลูกหลานของเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่คุณภาพของสังคมไทยได้สืบไป
อ้างอิง
- https://www.the101.world/problems-of-education-budget/
-https://www.ptt2.go.th/web/audit/images/2016/03/daungphet/800____%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%99.pdf
- แนวทางการดำเนินงานตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ 2566, สพฐ. ศธ. น. 3 - 4, 6
- http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2022/7/27701_1_1658199948973.PDF
- รายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2565 น. 604, สภาพัฒน์ 1 มีนาคม 2566.