"...เกาหลีใต้เคยอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารมายาวต่อเนื่อง จากการทำรัฐประหารใหญ่ 2 ครั้งเมื่อปี 2504 (1961) และ 2522 (1979) ในช่วงนี้ แม้ผู้นำเผด็จการสามารถปกครองประเทศอย่างเด็ดขาด แต่สุดท้ายบ้านเมืองกลับเต็มไปด้วยความวุ่นวายถึงขั้นกลียุค อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้สามารถสลัดคราบผู้นำเผด็จการออก และหันมาสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา..."
ช่วงทศวรรษที่ 1960 พัฒนาการของประเทศไทยและประเทศเกาหลีใต้มีความใกล้เคียงกันมาก แต่ทว่าหลังปี 1980 เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ค่อยๆทิ้งห่างไทยอย่างเห็นได้ชัด ทั้งๆที่ทรัพยากรธรรมชาติของไทยอุดมสมบูรณ์กว่า จึงเป็นเรื่องที่เราควรมาหันมาสนใจอย่างยิ่ง
(1) ไทยแลนด์: จาก 'ประชาธิปไตยต้นกล้า' สู่ 'วงจรอุบาทว์'
ตั้งแต่ประเทศเปลี่ยนระบอบการปกครองตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ประวัติศาสตร์การเมืองของไทยเต็มไปด้วยการทำรัฐประหาร ไม่ต่างจากภาพยนตร์ Serial Killer รัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่า ถูกรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 2500 2514 2519 2520 2534 2549 และ 2557 ด้วยเหตุผลและข้ออ้างคล้ายๆกัน วงจรอุบาทว์นี้มีผลกระทบต่อพัฒนาการของประเทศอย่างมาก
มาส่องดูการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ในปี 2513 (1970) GDP ต่อหัวของไทยอยู่ที่ 269 ดอลลาร์ โดยได้ไต่ขึ้นอย่างช้าๆ จนถึงปัจจุบัน ค่า GDP ต่อหัวล่าสุดตามรายงานของธนาคารโลกเมื่อปี 2564 (2021) อยู่ที่ 7,066.2 ดอลลาร์
(2) เกาหลีใต้: จาก 'เผด็จการทหาร' สู่ 'ประชาธิปไตย'
เกาหลีใต้เคยอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารมายาวต่อเนื่อง จากการทำรัฐประหารใหญ่ 2 ครั้งเมื่อปี 2504 (1961) และ 2522 (1979) ในช่วงนี้ แม้ผู้นำเผด็จการสามารถปกครองประเทศอย่างเด็ดขาด แต่สุดท้ายบ้านเมืองกลับเต็มไปด้วยความวุ่นวายถึงขั้นกลียุค อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้สามารถสลัดคราบผู้นำเผด็จการออก และหันมาสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา
เสถียรภาพทางการเมืองนี้ มีส่วนสนับสนุนความสำเร็จทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้อย่างไม่ต้องสงสัย ในปี พ.ศ. 2513 (1970) GDP ต่อหัวของเกาหลีใต้อยู่ที่ 260 ดอลลาร์ (น้อยกว่าไทยที่อยู่ที่ 269 ดอลลาร์) อย่างไรก็ตาม หลังปี 1980 เป็นต้นมา GDP ของเกาหลีใต้ ก้าวกระโดดอย่างน่าประทับใจอย่างยิ่ง จนปัจจุบัน เกาหลีใต้มีค่า GDP ต่อหัวสูงกว่าไทยเกือบ 5 เท่าแล้ว (ตาราง 1)
(3) เส้นขนาน 2 เส้นที่ถ่างออกจากกัน (ภาพที่ 1)
เมื่อนำเรื่องราวของสองประเทศนี้มาเปรียบเทียบกัน จะเห็นได้ชัดว่าเสถียรภาพทางการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
เกาหลีใต้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยติดกับดักของการปกครองโดยเผด็จการทหาร แต่สุดท้ายในปี 1981 ประชาชนได้แสดงเจตนาอันแน่วแน่ในการจำกัดผู้สืบทอดอำนาจ โดยมีการลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และปี 1987 จึงมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่จนได้ประธานาบดีที่มาจากเสียงประชาชน จากนั้นมา เกาหลีไต้จึงได้สลัดพ้นจากเผด็จการทหารอย่างสมบูรณ์ และสามารถพัฒนาประเทศให้อยู่ในระดับแนวหน้าของโลกได้
ในทางตรงข้าม ทางเดินตามวิถีประชาธิปไตยของประเทศไทยต้องสะดุดหยุดชะงักซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้บางช่วงจะดูเหมือนประชาธิปไตยจะมีความมั่นคง แต่จนแล้วจนเล่า วงจรอุบาทว์ก็กลับหวนมาอีกด้วยเหตุผลต่างๆนานา
(4) บทสรุป
ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง จึงหวังว่า หลังการเลือกตั้งของประเทศไทยที่ผ่านไปนี้ ประชาชนทุกเหล่าชั้นจะใช้ความแน่วแน่และความอดทนมากขึ้น เปิดให้โอกาสประชาธิปไตยได้พัฒนาเบ่งบาน รัฐบาลที่มาจากประชาชนจะดีจะเลวอย่างไร ประชาชนตรวจสอบและมีโอกาสเลือกใหม่ได้ จนสุดท้าย ประชาธิปไตยก็จะพัฒนาจนมีความมั่นคง เมื่อนั้น เราถึงจะเดินตามเส้นทางของประเทศเกาหลีได้
ด้วยการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี AI ในหลายเดือนที่ผ่านมา เชื่อว่า ถ้าประเทศใดยังพันละวันอยู่กับวงจรอุบาทว์แบบเดิมๆ เชื่อว่า เที่ยวนี้ ประเทศคงจะตกรถไฟความเร็วสูงขบวนสุดท้าย และน่าสงสารว่า ลูกหลานคงจะกลายเป็น Useless Class ในโลกยุคใหม่อย่างแน่นอน
ศ. ดร. วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต
ผู้อำนวยการ สถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
20 พฤษภาคม 2566
ผู้อ่านสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นได้ที่
https://www.facebook.com/100005249319513/posts/2259399634244992/?mibextid=afzh1R