"...คนโกงลอยนวล ความล่าช้าในการเอาคนผิดมาลงโทษ เป็นเหตุให้คนโกงย่ามใจและทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนมาตลอด วันนี้ยังมี “เรื่องไม่ปรกติ” ในการทำคดีเพิ่มเข้ามาอีกทั้งในขั้นตอนของ ป.ป.ช. อัยการ ศาลและกรมราชทัณฑ์ หากปล่อยไว้จะเกิดวิกฤตลุกลามในอนาคต..."
คนโกงลอยนวล ความล่าช้าในการเอาคนผิดมาลงโทษ เป็นเหตุให้คนโกงย่ามใจและทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนมาตลอด วันนี้ยังมี “เรื่องไม่ปรกติ” ในการทำคดีเพิ่มเข้ามาอีกทั้งในขั้นตอนของ ป.ป.ช. อัยการ ศาลและกรมราชทัณฑ์ หากปล่อยไว้จะเกิดวิกฤตลุกลามในอนาคต
ขั้นตอนตามกฎหมาย
การดำเนินคดีคอร์รัปชันตามกฎหมาย ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 กำหนดให้ ป.ป.ช. ต้องสรุปสำนวนคดีส่งให้อัยการสูงสุดภายใน 2 ปี หากจำเป็นให้ขอขยายเวลาได้อีก 1 ปี จากนั้นอัยการสูงสุดต้องพิจารณาเพื่อสั่งฟ้องหรือไม่ภายใน 180 วันและอาจขยายได้อีก 90 วัน ในชั้นศาลคอร์รัปชันและศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองกฎหมาย ป.ป.ช. มิได้กล่าวถึงกรอบเวลา แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักไม่เกิน 1 ปี ส่วนกรมราชทัณฑ์มีหน้าที่คุมขังนักโทษตามระยะเวลาที่ศาลมีคำพิพากษา
ความเป็นจริง
1.ปี 2565 ร้อยละ 71.98 ของคดีในมือ ป.ป.ช. ต้องขอขยายเวลาดำเนินการเพราะใช้เวลาเกินกรอบเวลา 2 ปีตามกฎหมาย[1] คดีจำนวนมากยาวนานเป็น 10 ปีก็มีให้เห็น
จากสถิติพบว่า 4 ปีมานี้ ป.ป.ช. เร่งไต่สวนคดีและมีการชี้มูลความผิดเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวจากปีก่อนๆ แต่ยังไม่เร็วพอที่จะสะสางคดีตกค้างจำนวนมากจากก่อนหน้านี้ได้ ประกอบกับมีเรื่องร้องเรียนใหม่สู่ ป.ป.ช. เพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายปีมานี้ โดยมีข้อสังเกตว่า คดีใหญ่ที่ซับซ้อน โกงเป็นเครือข่ายของนักการเมืองมักใช้เวลาไต่สวนยาวนานเป็นพิเศษ
2.อัยการสูงสุดใช้เวลาในการพิจารณาคดีใหญ่คดีคนดัง ก่อนจะสั่งฟ้องหรือไม่ หลายคดีนานเกิน 180 วัน ตามที่กำหนดใน พ.ร.ป. ป.ป.ช. โดยมักอ้างเรื่องอายุความที่อาจยาวนานได้ถึง 20 ปี
3.คดีคอร์รัปชันกว่า 130 คดีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง ทำให้ ป.ป.ช. ต้องยื่นฟ้องด้วยนักกฎหมายของตนเอง ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 80 ป.ป.ช. เป็นฝ่ายชนะคดี (ป.ป.ช., ตุลาคม 2565) ทำให้ความเป็นธรรมถูกทวงคืน สมบัติของชาติได้รับการปกป้อง จำเลยนับร้อยคนต้องติดคุก
เรื่องนี้มีข้อสังเกตว่า ทั้งข้อ 2 และข้อ 3 อาจเกิดจากหลายปัจจัยเช่น เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เจ้าของเรื่องเขียนสำนวนไม่ดีพอ หลักฐานยังไม่แน่น หรืออัยการสูงสุดขาดบุคลากร และในการไต่สวนคดีของศาลคอร์รัปชันได้แรงช่วยเหลือจากผู้พิพากษาที่มากประสบการณ์ก็เป็นได้ เพราะคดีเหล่านี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติ หรือบางคดีจำเลยอาจมีอิทธิพลเส้นสายมากจึงทำให้เรื่องยุ่งยาก ล่าช้าตามที่เป็นข่าวได้
4.คดีที่อัยการสั่งฟ้อง เมื่อศาลมีคำพิพากษาอย่างไรก็ตาม หากอัยการไม่อุทธรณ์หรือฎีกา คดีก็ตกไป ป.ป.ช. เจ้าของเรื่องแม้ไม่เห็นด้วยก็ทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว
5.ศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิดจริงตามฟ้อง แต่ให้ “รอลงอาญา” ไปแล้วราว 470 คดี
6.ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา “คำสั่งศาลปกครองล้างผลชี้มูลความผิดทางวินัยเจ้าหน้าที่รัฐ ของ ป.ป.ช. ได้” เปิดโอกาสให้นักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นนับร้อยรายยังคงมีบทบาทต่อไป
7.กรมราชทัณฑ์มีการลดหย่อนโทษอภัยโทษอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักโทษคดีคอร์รัปชันติดคุกจริงเพียงไม่กี่ปีก็ออกจากคุกแล้ว ไม่สาสมกับความเลวร้ายที่พวกเขาก่อขึ้น ไม่คุ้มกับความพยายาม เวลาที่เสียไปและทรัพยากรของรัฐที่หมดไปกว่าจะตามจับมาได้
การกลั่นแกล้งคุกคามเจ้าหน้าที่
ในปี 2562 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติ ให้คู่กรณีของ ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง “คณะกรรมการ ป.ป.ช.” ต่อศาลชั้นต้นได้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญจากเดิมถือ ป.ป.ช. เป็นองค์กรพิเศษที่ได้รับความคุ้มครอง บุคคลทั่วไปไม่สามารถฟ้องร้องได้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญมีเจตนาให้การตรวจสอบถ่วงดุล ป.ป.ช. ต้องเป็นไปตามหลักสากลเพื่อป้องกันมิให้แทรกแซงคุกคามการพิจารณาคดีได้ง่าย กรณีของไทยตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ป.ป.ช. จึงกำหนดให้ทำผ่านรัฐสภาไปสู่ศาลฯ เท่านั้น
เรื่องนี้มีสองประเด็นที่ควรศึกษาต่อไป หนึ่งคือ ความเป็นอิสระและเข้มแข็งของ ป.ป.ช. ควรเป็นอย่างไร สองคือ อะไรเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติอย่างนี้ เช่น ทุกหน่วยงานที่ใช้อำนาจต้องถูกฟ้องร้องได้ ความรับผิดชอบในการใช้อำนาจ การรักษาความสมดุลของกระบวนการยุติธรรม หรือมีปมอะไรที่สร้างความไม่ไว้วางใจจนต้องเพิ่มมาตรการกำกับ ฯลฯ
ในอดีตกรรมการ ป.ป.ช. เคยโดนคุกคามถึงขั้นยิงปืน ปาระเบิด มาวันนี้คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. (รวมถึง สตง. และ ป.ป.ท.) ก็ยังถูกคุกคามและฟ้องร้องจากผู้เสียประโยชน์ ส่งผลให้ ป.ป.ช. ทำงานยากขึ้น เพราะคู่กรณีใช้ศาลอาญาและศาลปกครองเป็นช่องทางล้วงข้อมูลคดี ฟ้องแก้เกี้ยวหรือฟ้องข่มขู่ ทำให้บุคลากร ป.ป.ช. และประชาชนผู้ให้เบาะแสหรือเป็นพยาน ถูกคุกคามได้ง่าย เจ้าหน้าที่หลายคนเสียโอกาสเติบโตในหน้าที่
กฎหมายที่พอจะช่วยปกป้องข้าราชการและประชาชนผู้ต่อสู้คุ้มครองผลประโยชน์บ้านเมืองอย่าง “กฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก” (Anti-SLAPP Law) ตามแผนปฏิรูปประเทศฯก็ยังไปไม่ถึงไหน
ผลประโยชน์ชาติคือเป้าหมายเดียวกัน
“คอร์รัปชันเป็นอาชญากรรมร้ายแรงต่อแผ่นดิน คนโกงต้องถูกลงโทษหนักและรวดเร็ว” ในสถานการณ์ที่เลวร้ายเยี่ยงนี้ ป.ป.ช. องค์กรหลักตามกฎหมายในการต่อต้านคอร์รัปชัน จำเป็นต้อง “เข้มแข็งและเป็นอิสระมากขึ้น” ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องพิสูจน์ตนเองว่าเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์นอกใน ไม่ละเลยที่จะทำงานใกล้ชิดประชาชนอย่างเปิดเผย สม่ำเสมอ สนับสนุนให้มีการใช้มาตรการลงโทษทางสังคม (Social Sanction) คู่ขนานไปกับกลไกทางกฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ
[1] รายงานสรุปผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 2565 น.863