"...แม้ว่าพ่อได้ปลูกต้นทุเรียนไว้ให้แล้วแต่ก็มีอายุเพียง 2 ปี เป็นช่วงที่ยังไม่ออกผล เรียกว่าต้องทำงานหนักมาก คอยประคบประหงมเหมือนกับลูกเล็กที่ต้องทะนุถนอมในทุกอณู (แตกต่างที่ต้นทุเรียนร้องบอกไม่ได้ว่าต้องการอะไร) ไม่ให้น้ำมากจนเกินไปจนทำให้น้ำขัง เพราะโคนต้นจะเน่าเสีย และไม่ให้น้ำน้อยจนต้นไม่แตกกิ่งออกดอกออกผล..."
ฤดูร้อนปีนี้ถือว่าร้อนที่สุดในรอบหลายปีก็ว่าได้ อุณหภูมิสูงสุดวัดได้เกือบ 40 องศา และเมื่อออกไปข้างนอก มีความรู้สึกว่าเหมือนอยู่ในเตาอบที่เรียกเหงื่อได้เต็มตัว ตั้งแต่ย่างก้าวแรกที่ออกจากบ้าน ในขณะที่ฝนฤดูร้อนซึ่งมักจะมาในช่วงร้อนจัด ๆ ก็ตกมาไม่กี่ครั้ง แถมตกไม่ถึง 3 น้ำหยด แดดก็กลับมาส่องแสงแรงจ้าขึ้นมาอีก เรียกว่าคนผิวสีคล้ำอย่างผม ไม่ต้องไปเสียเวลาพอกหน้าในช่วงนี้ เพราะครีมยี่ห้อไหนก็คงช่วยไม่ได้
อย่างไรก็ดี ฤดูร้อนถือเป็นช่วงที่หลายคนเฝ้ารอ เพราะเป็นช่วงที่ 'สารพันผลไม้เมืองร้อน' ทยอยออกมา ไม่ว่าจะเป็นมะม่วง ลิ้นจี่ มังคุด เงาะ ไปจนถึง “ทุเรียน” สุดยอดแห่งผลไม้ไทย ราชาแห่งผลไม้ ที่คนชอบก็ชอบเป็นชีวิตจิตใจ คนไม่ชอบก็แทบจะปิดจมูก เมินหน้า เดินหนีไปไกล ๆ
สำหรับผม 'ทุเรียน' เป็นผลไม้ที่อยู่คู่กันมาตั้งแต่สมัยเด็ก พ่อแม่จะซื้อมาให้ทานลูกหนึ่งทุกฤดูร้อน แม้ว่าราคาตอนนั้นเรียกว่าสูงเมื่อเทียบกับเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัย คุณพ่อต้องหาวิธีที่ปอกเองเพราะซื้อจากตลาด ไม่ได้มีบริการปอกให้เหมือนทุกวันนี้ ลองผิด ลองถูก บางครั้งผ่าไม่ถูกตรงแกน ต้องใช้พลังของทุกคนในการดึงเปลือกออก แกะผลทุเรียนออกมาอย่างทุลักทุเล เป็นเรื่องราวความผูกพัน
ของครอบครัวที่จำได้จนถึงทุกวันนี้ มาวันนี้ ผมยังคงได้ทานทุเรียนทุกช่วงฤดูร้อน อานิสงส์เป็นเขยคนจันทบุรี เพราะทุกปี ญาติฝั่งภรรยาจะส่งทุเรียนมาให้ลิ้มลอง
อย่างไรก็ดี ในปีนี้ ผมได้รับทุเรียนหมอนทองปราจีนบุรีจากเพื่อน ซึ่งได้ยินกิตติศัพท์มานานแล้วว่า ทุเรียนปราจีนเป็นหนึ่งไม่เป็นรองใคร พอผมได้ทานแล้วก็สัมผัสได้ว่ามีความแตกต่างจากทุเรียนที่เคยทานมาก มีเนื้อเยอะ ไม่มีเส้น รสชาติมันเข้มข้น และมีความหวานที่ไม่เกินพอดี พอได้ทานจึงคิดอยากไปเยี่ยมสวนทุเรียนนี้ถึงถิ่น แต่ด้วยเวลาที่จำกัด และไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า เลยเลือกโทรศัพท์ไปพูดคุยด้วยกับเจ้าของสวนทุเรียนแห่งนี้ เพื่อได้รู้จักทุเรียนมากขึ้น พร้อมได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวทุเรียนไปพร้อมกัน
คุณระพีพรรณ พลีน้อย (ป้าแป๊ด) เจ้าของสวนทุเรียน 'สวนวันใหม่' รับสายโทรศัพท์ตามที่นัดไว้ โดยเข้าใจว่าผมจะไปเยี่ยมที่สวนด้วยตนเอง เลยแต่งหน้าแต่งตารอเก้อ (ไม่รวมถึงว่าต้องแนะนำตัว เพราะคิดว่าผมเป็นคอลัมนิสต์) ป้าแป๊ดเล่าว่า สวนทุเรียนนี้พ่อเป็นคนซื้อและมอบเป็นมรดกให้กับลูก ๆ โดยที่พ่อเคยทำกิจการเลี้ยงปลาที่สมุทรปราการ ซึ่งแม้ว่ากิจการจะไปด้วยดี แต่พอมีอายุมากขึ้น คิดขึ้นมาได้ว่าการเลี้ยงปลาเป็นการสร้างบาป จึงตัดสินใจมาซื้อที่ในจังหวัดปราจีนบุรีเมื่อปี 2524 เพื่อมาปลูกทุเรียนตามคำแนะนำของเพื่อน พร้อมพาภรรยาและลูก 3 คนมาตั้งรกรากที่นี่ (ตอนนั้นป้าแป๊ดอายุ 12 ปี) ซึ่งเมื่อ 40 ปีที่แล้วต้องเรียกว่ากล้าหาญมาก เพราะที่บริเวณนี้ยังคงเป็นป่าทึบ มีคนปลูกทุเรียนในบริเวณพื้นที่นี้ไม่มากนัก และเป็นพันธ์ทุเรียนที่ถูกปลูกผิดถิ่น ในขณะที่พื้นที่ปลูกไม่ได้มีขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นแบบชาวสวนรายย่อย อย่างไรก็ดี พ่อต้องลองผิดลองถูกอยู่นานกว่าจะลงตัว เงินที่ลงทุนไปเกือบหมดตัก และเมื่อพอตั้งเนื้อตั้งตัวได้แล้ว จึงตัดสินใจไปซื้อที่มาปลูกเพิ่มเติม เพื่อแบ่งไปให้ลูก ๆ ซึ่งป้าแป๊ดได้รับการจัดสรรมา 10 ไร่ พร้อมย้ายมาอยู่กับครอบครัว
แม้ว่าพ่อได้ปลูกต้นทุเรียนไว้ให้แล้วแต่ก็มีอายุเพียง 2 ปี เป็นช่วงที่ยังไม่ออกผล เรียกว่าต้องทำงานหนักมาก คอยประคบประหงมเหมือนกับลูกเล็กที่ต้องทะนุถนอมในทุกอณู (แตกต่างที่ต้นทุเรียนร้องบอกไม่ได้ว่าต้องการอะไร) ไม่ให้น้ำมากจนเกินไปจนทำให้น้ำขัง เพราะโคนต้นจะเน่าเสีย และไม่ให้น้ำน้อยจนต้นไม่แตกกิ่งออกดอกออกผล รวมทั้งการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นไม่สูงจนเกินไปเป็นอุปสรรคในการเก็บเกี่ยวลูกทุเรียนไม่นับรวมถึงการใส่ปุ๋ยที่พอดี พร้อมกับการฉีดฮอร์โมนและปุ๋ยทางใบเพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโต และการสอดส่องในเรื่องของแมลง ตัวเพลี้ย ตัวมอด มากินใบอ่อน เพราะจะไม่ใช้สารเคมีเมื่อมีลูกออกมาแล้ว
ช่วงเริ่มต้น ป้าแป๊ดจำได้ว่าลำบากมาก เพราะผลผลิตยังไม่ออก ต้องทานไข่ต้ม คลุกข้าวน้ำมันหมู ประทังชีวิต และเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ลูกชาย คุณจีราพัชร รังศิริ (ใหม่) มีความรักและผูกพันกับชีวิตชาวสวนทุเรียนจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าใหม่จะจบการศึกษา ปวส. ด้านไฟฟ้า มีบริษัทเอกชนจะว่าจ้างไปทำงาน แต่เลือกที่จะสานต่อทำสวนทุเรียนต่อจากแม่ ซึ่งปัจจุบันใหม่เป็นคนดูแลสวนทั้งหมด ศึกษาเรียนรู้วิทยาการใหม่ ๆ
ในการดูแลต้นทุเรียน เช่น การฝังเข็มต้นทุเรียนรักษาโรค การนำพันธุ์ใหม่ ๆ มาปลูกในสวน (ปัจจุบันมีถึงกว่า 30 พันธุ์ นอกเหนือจากหมอนทอง และชะนี ที่เป็นพันธุ์หลัก) หาวิธีการตัดแต่งกิ่งที่ทำให้ต้นออกลูกอย่างมีคุณภาพ “ฉันไม่ได้สอนอะไรลูกชาย เขาศึกษาเองหมด แต่ตอนเด็ก เขาคงเห็นพ่อแม่ยากลำบาก โดยเฉพาะช่วงแรกที่สวนทุเรียนยังไม่ออกผล จึงทำให้เขาหมั่นศึกษา ขยัน มีวินัย จนถึงทุกวันนี้” น้ำเสียงของป้าแป๊ดที่บ่งบอกความภูมิใจในตัวลูกชาย เป็นที่มาของการตั้งชื่อสวนว่า “สวนวันใหม่” ตามชื่อลูกชาย พร้อมกับสิ่งดี ๆ และใหม่ ๆ ที่จะเข้าสวนตลอดทั้งปี
ป้าแป๊ดกล่าวเสริมว่า การปลูกทุเรียนเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ขั้นตอนบางขั้นตอนไม่สามารถเรียนรู้ได้จากตำรา เช่น การจะสังเกตว่าลูกทุเรียนไหนแก่พร้อมที่จะตัดจากต้น ซึ่งป้าแป๊ดจะใช้สายตาดูที่ผลและเปลือก หากเปลือกดูเงางาม เวลาโดนแดดมีแสงสะท้อน ถือว่าเป็นลูกที่พร้อมตัด (เทียบกับลูกที่ยังมีสีผิวคล้ายกับใบตอง) ซึ่งใหม่ก็ยอมรับว่ายังสู้แม่ไม่ได้ หน้าที่ตัดผลทุเรียนจึงตกอยู่กับแม่ที่วัย 57 ปีแล้ว ยังต้องปีนขึ้นไปบนต้นทุเรียนทีละต้นที่มีกว่า 400 ต้นในสวน เพื่อให้ใหม่ที่อยู่ด้านล่างคอยรับ จากนั้นจึงมาบ่มด้วยวิธีธรรมชาติ และตัดขั้วทุกวันเพื่อให้คายน้ำออกมาและสุกแบบธรรมชาติ ทั้งนี้ ป้าแป๊ดกล่าวว่า ต้นทุเรียนเป็นต้นไม้ยืนต้น มีอายุได้เท่ากับอายุขัยของเรา และยิ่งอายุมากก็ยิ่งจะผลิตผลทุเรียนที่มีคุณภาพ บางต้นอยู่มาตั้งแต่พ่อปลูกไว้ให้ โคนต้นใหญ่มาก และยังออกลูกทุเรียนดกมาก
ป้าแป๊ดกล่าวว่า ชีวิตชาวสวนทุเรียนเป็นชีวิตที่สงบ (ยกเว้นในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนที่ผลผลิตออก) เพราะสวนอยู่ห่างไกลถนนใหญ่ ตนเองและครอบครัวไม่ค่อยจะออกไปข้างนอก หรืออยากไปท่องเที่ยวตามต่างจังหวัด เพราะสวนวันใหม่มีบริเวณที่ร่มรื่น สงบเงียบ สร้างความสงบให้กับจิตใจได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อมาดูแลสวน แต่เมื่อถึงพลบค่ำ กิจกรรมทุกอย่างก็จะหยุดลง เป็นเวลาของครอบครัวโดยแท้ ป้าแป็ดกล่าวว่า มีลูกค้ามาขอซื้อทุเรียน 200 กิโลตอน 2 ทุ่ม แต่ป้าแป๊ดก็ปฏิเสธไป และบอกให้มาวันรุ่งขึ้น พร้อมกับเสริมว่า ทุเรียนสวนวันใหม่จะยังเน้นขายกับลูกค้าคนไทย โดยไม่คิดว่าจะส่งออก เพราะยังอยากให้เป็นคนไทยได้ลิ้มรสทุเรียนที่มีคุณภาพ
ป้าแป๊ดยอมรับว่า การปลูกทุเรียนในสมัยนี้ลำบากกว่าช่วงก่อนมาก “ชาวสวนทุเรียน แค่รู้วิธีปลูก เลี้ยงดูไม่ได้แล้ว ต้องรู้ไปถึงการตลาดไปจนถึงการบริหารเงิน โชคดีที่ลูกชายทำเองหมด” เพราะนอกจากสภาพแวดล้อมที่ต่างไป ไม่ว่าจะอากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้ต้นทุเรียนตายจากการขาดน้ำ ไม่นับรวมถึงแมลงสารพัดชนิดที่เข้ามารังควาน ที่สมัยก่อนแทบจะไม่มี ยังต้องศึกษาพัฒนาให้ผลผลิตมีคุณภาพคงเส้นคงวา ในขณะที่การตลาดก็ต้องค่อยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการโฆษณาผ่านโซเซียลมีเดีย และการทำแพ็กเกจสวย ๆ ไม่นับรวมการขนส่งที่ต้องพึ่งพาได้ โดยเฉพาะความเที่ยงตรง พร้อมทานในวันที่ลูกค้านัดหมายซึ่งทั้งหมดใหม่เป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น
ป้าแป๊ดทิ้งทายไว้ว่า “ชีวิตชาวสวนทุเรียนไม่ได้สบายเหมือนที่คิด กว่าจะมาถึงวันนี้ ต้องใช้ความอดทนมีวินัย ในการเรียนรู้ต้นทุเรียนในทุกอณู และที่สำคัญต้องหมั่นศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งจากต้นทุเรียนเอง และปัจจัยภายนอก ถ้าหากไม่รีบสร้างชีวิตในวัยที่ทำงานหนักได้ สุดท้ายแล้วอนาคตก็จะบังคับให้เรา ต้องทำงานหนักในวันที่แทบจะเดินไม่ไหวอยู่ดี"
แหล่งที่มา
-สวนวันใหม่ ปราจีนบุรี https://www.facebook.com/jeerapach888/