"...โรงเรียนไม่ใช่เพียงสถานศึกษาของเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่โรงเรียนได้เชื่อมโยงให้เด็กและครู เข้ากับชุมชนรายรอบโรงเรียน เพื่อทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต และโรงเรียนเข้าไปมีบทบาทสำคัญต่อชุมชนรอบโรงเรียน ในการแก้ปัญหาความยากจน การสร้างอาชีพ การสร้างความมั่นคงทางรายได้ และการยกระดับชีวิตชุมชน นับเป็นภารกิจที่ท้าทายที่สหประชาชาติได้ประกาศไว้ว่า การศึกษาต้องมุ่งไปสู่การสร้างพลเมือง (Education for All)..."
ปี 2547 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองสำหรับทุกคน (Civic Education for All) เป็นภารกิจของโครงการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Declaration and UNDP’s Mandate) โดยเน้นย้ำการให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยงและคนยากจน ซึ่งจำเป็นในการเพิ่มโอกาสคนเหล่านี้ได้มีส่วนร่วมและและรับประโยชน์ของสังคมอย่างเท่าเทียม ซึ่งการศึกษา เพื่อสร้างพลเมืองจะมีบทบาทและเป็นเสาหลักสำคัญในการลดความยากจน (Fundamental Pillar to Reduce Poverty)
ถ้าเช่นนั้น การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง คืออะไร
“การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมการใช้เสรีภาพและทักษะการคิด การแสดงออก การใช้เหตุผลมากกว่าการรับฟัง การท่องจำ และการทำตามๆกันโดยขาดวิจารณญาณ และจะต้องยึดโยงห้องเรียนเข้ากับสังคม คือห้องเรียนใหญ่อยู่ในสังคม ทำให้ผู้เรียนเชื่อมโยงกับสังคมโดยรอบ (Civic Engagement) และมีสำนึกทางสังคมอยู่ตลอดเวลา การศึกษาเช่นนี้จะทำหน้าที่เติมเต็มให้ผู้เรียนบรรลุถึงความสามารถและศักยภาพที่มีอยู่ในตัวให้มากที่สุด.... การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองจึงต้องเริ่มตั้งแต่เด็กและดำเนินการต่อไปไม่สิ้นสุดในระบบการศึกษา ทั้งที่เป็นทางการและ ไม่เป็นทางการ การศึกษานี้มีความเชื่อในเรื่องศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์...... คนเป็น “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” เป็น“ผู้กระทำ” ไม่ใช่ผู้ “ถูกกระทำ” เป็น”ผู้นำ” ไม่ใช่ผู้ตาม” (การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง / บทความ ทิพย์พาพร ตันติสุนทร)
ถ้าเช่นนั้นในแผ่นดินไทยแห่งนี้ มีบ้างไหมที่เป็นโรงเรียนการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง ในบรรดาโรงเรียนของภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนกว่า 30,000 แห่ง ต้องนับว่าโรงเรียนมีชัยพัฒนา หรือโรงเรียนไม้ไผ่ เป็นโรงเรียนหนึ่งที่น่าสนใจเรียนรู้อย่างยิ่ง ทั้งในรูปแบบ และเนื้อหาการเรียนการสอน โรงเรียนแห่งนี้นับเนื่องได้ว่าเป็นโรงเรียนแบบการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองแห่งหนึ่งของประเทศไทย นับเป็นโรงเรียนที่เป็นต้นธารแห่งเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา โรงเรียนนี้ ไม่ได้สร้าง “เด็กเก่ง” แต่มุ่งสร้าง “เด็กดี” และมีความเชื่อพื้นฐานว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพเชิงสร้างสรรค์ในตัวเอง ไม่เว้นแม้แต่เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย
โรงเรียนนี้ ไม่ใช่ให้เด็กมาเรียนเพื่อ “ไต่บันไดดารา” ไม่ได้มุ่งให้เด็กเรียนเพื่อเดินไปสู่ความมั่งคั่งเป็นเจ้าคนนายคน แต่มุ่งให้เด็กรู้จัก “มีน้ำใจแบ่งปัน”
โรงเรียนนี้ ไม่ใช่โรงเรียนที่ครู เอาตำรามายัดเยียดใส่สมองเด็ก ให้เด็กท่องจำ แต่มุ่งให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ โดยเด็กสามารถจะเลือกประเด็นเนื้อหาที่เด็กสามารถเรียนด้วยการปฏิบัติจริงและเรียนรู้อย่างบูรณาการ เพื่อให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น มีทั้งทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตติดตัว
โรงเรียนไม่ใช่เพียงสถานศึกษาของเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่โรงเรียนได้เชื่อมโยงให้เด็กและครู เข้ากับชุมชนรายรอบโรงเรียน เพื่อทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต และโรงเรียนเข้าไปมีบทบาทสำคัญต่อชุมชนรอบโรงเรียน ในการแก้ปัญหาความยากจน การสร้างอาชีพ การสร้างความมั่นคงทางรายได้ และการยกระดับชีวิตชุมชน นับเป็นภารกิจที่ท้าทายที่สหประชาชาติได้ประกาศไว้ว่า การศึกษาต้องมุ่งไปสู่การสร้างพลเมือง (Education for All)
ผู้เขียนไม่ได้นั่งเทียนเขียนแบบนึกเอาเอง แต่ได้เดินทางไปดู ไปรู้ ไปเห็น สถานที่จริงทั้งที่โรงเรียนมีชัยพัฒนา ลำปลายมาศ บุรีรัมย์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 เชียงราย โรงเรียนบ้านสันดาบ สมุทรสาคร และโรงเรียนอื่นๆที่เป็นเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเด็กนักเรียน กับครู กับผู้บริหาร และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่นศิษย์เก่าของโรงเรียน คุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและประธานโรงเรียนมีชัยพัฒนา (โรงเรียนไม้ไผ่) ทั้งผู้แทนจาก สมศ. และบุคคล ที่เกี่ยวข้อง
15 ปีที่เปิดดำเนินการมาแล้ว ขณะนี้มีนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 ถึง 6 จำนวน 146 คน โดย นักเรียนไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน แต่ให้นักเรียนจ่ายเป็นการปลูกต้นไม้และทำความดีแทน
เพื่อให้เด็กมีทักษะอาชีพและผูกพันกับธรรมชาติ เด็กนักเรียนทุกคนจะต้องปลูกพืชผักและทำแปลงเกษตรของตนเอง
เพื่อฝึกนิสัยความสะอาด เด็กทุกคนเป็นภารโรง ช่วยกันทำความสะอาดพื้นที่รวมในโรงเรียนทั้งอาคาร ห้องประชุม ห้องดนตรี สนามหญ้า คลอง และพื้นที่สาธารณะทั้งหมด
ความอดหิวไม่อาจประจักษ์ได้ด้วยการอ่านหนังสือ เพื่อให้เด็กรู้ซึ้งถึงคนอดอยากยากแค้น เด็กทุกคนจะถูกฝึกให้อดอาหารมื้อเย็นวันเสาร์สัปดาห์ละหนึ่งมื้อ
เช่นเดียวกัน จะรู้ถึงความลำบากของคนที่บกพร่องทางร่างกาย เด็กทุกคนจะต้องสวมบทบาทนั่งรถเข็นให้เพื่อนเข็นไปรดน้ำต้นไม้ ไปทำแปลงเกษตรสัปดาห์ละครั้ง
เด็กทุกคนมีกติกาว่า จะต้องเขียนจดหมายสัปดาห์ละ 3 ฉบับ ถึงพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนและบุคคลที่เคารพนับถือเช่นครู อาจารย์เก่า เพื่อระลึกคุณของบิดามารดา ผู้มีพระคุณ และฝึกเรียบเรียง ความคิดให้เป็นระบบ
เด็กทุกคนเข้าไปร่วมคิด ร่วมทำแปลงเกษตร สร้างอาชีพให้กับผู้สูงอายุหมู่บ้าน ไปปลูกต้นไม้ในวัด และในพื้นที่สาธารณะ
เด็กทุกคนจะต้องเล่นกีฬา และเล่นดนตรีเป็นอย่างน้อย 1 ชิ้น มีวงดนตรีของโรงเรียนที่เด็ก ทุกคนประกอบวงกันเล่นและเปิดการแสดงได้
เด็กทุกคนจะต้องยืนสงบนิ่งต่อหน้า “ศาลแผ่เมตตา” ที่ตั้งอยู่หน้าห้องเรียน เพื่อทำจิตอันเป็นกุศลเผื่อแผ่ไปยังญาติพี่น้อง และคนเจ็บไข้ได้ป่วย คนประสบเหตุเภทภัยทางธรรมชาติ หรือประสบภัยอื่นๆ แทนที่จะอ้อนวอนขออะไรให้กับตนเอง
เด็กทั้งหมดจะมีการเลือกคณะมนตรีนักเรียนเพื่อทำหน้าที่บริหารกิจการต่างๆ เช่น การสัมภาษณ์ครูที่จะมาสอนในโรงเรียน สัมภาษณ์นักเรียนเข้าใหม่ ทำหน้าที่จัดซื้อและตรวจสอบอุปกรณ์ประกอบอาหารทุกมื้อในโรงเรียน ทำหน้าที่งานวินัยจริยธรรม สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ โดยคณะมนตรีจะแบ่งงานกันทำ และรับผิดชอบกันเอง เป็นการให้อำนาจนักเรียน (Empowerment) ที่เป็นจริง และฝึกจิตใจประชาธิปไตยไปพร้อมกัน
เด็กทุกคนจะตระหนักว่า การลงมือทำ หรือการปฏิบัติ เป็นฐานที่แท้จริงแห่งการเรียนรู้ และเด็กแต่ละคนมีสิทธิ์เลือกที่จะเรียนรู้เรื่องอะไรโดยผ่านการปฏิบัติเป็นรายบุคคล หรือเป็นกลุ่มตามที่พวกเขาจะตัดสินใจ วิธีนี้ทำให้เด็กเป็นเจ้าของ เป็นคนลงมือทำ เป็นคนได้รับความรู้และประสบการณ์ตรงที่มีผลต่ออนาคตของเด็กเอง
ทั้งหมดนี้ เป็นวินัยภาคปฏิบัติที่วางไว้ เพื่อให้เกิดความเคยชินที่ดี ให้นิสัยเชิงบวกเข้าชิงพื้นที่ในวิถีชีวิตประจำวัน ด้วยการคิดดีปฏิบัติดี เป็นการจัดตำราให้เกิดนิสัยในการพัฒนาต่อเนื่อง
14 ปี แห่งการจัดการเรียนรู้ ที่มุ่งสู่การคิดเป็น ทำเป็น มีหัวใจแบ่งปัน และเอื้ออาทรต่อชุมชน ทำให้โรงเรียนไม้ไผ่แห่งนี้ได้รับความไว้สนใจอย่างกว้างขวาง
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะเดินทางไปเยือน รร. วัดเกาะ ต.หนองตะพาน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เมื่อ 4 กค. 2561 ซึ่งเป็นหนึ่งโรงเรียนในเครือข่ายได้เข้าไปเห็นโรงเรือนเมล่อน เด็กประถม 5 เป็นคนอธิบายให้นายกฯ ฟังถึงวิธีผสมเกสร การบำรุงเลี้ยง จนได้ผลผลิต ขายได้ราคาผลละ 200-300 บาท ครูของโรงเรียนบูรณาการการปลูกเมล่อน เห็ดนางฟ้า มะเขือเทศ และพืชอื่นๆ เข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนด้วยการลงมือทำ ทำให้นักเรียนประถมทั้งโรงเรียน 179 คนเป็นเกษตรกรน้อยกันไปทั้งหมด สร้างรายได้ให้โรงเรียน ให้ตนเอง และครอบครัว นายกฯ พลเอกประยุทธ์ ถึงกับรับรองแนวทางของโรงเรียนมีชัยพัฒนา และกำหนดให้เป็นแบบฉบับสำคัญทางการปฏิรูปการศึกษา โดยรัฐบาลตั้งชื่อว่า โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาเพื่อขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่นๆ โดยต้อนรับความร่วมมือจากภาคธุรกิจ เอกชน และภาคส่วนอื่นๆ
โรงเรียนบ้านหนองบึง ต. บัวแดง อ.ปราสาท จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นโรงเรียนเป้าหมาย จะต้องถูกยุบไปควบรวมกับโรงเรียนอื่น เพราะมีเด็กนักเรียนเพียง 33 คน ในปี 2557 แต่ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาชนบทผสมผสานของสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ทำให้พลิกฐานะ โดยได้รับความสนับสนุนเงิน 50,000 บาท เป็นกองทุนหมุนเวียน มีทั้งการออม การกู้ เพื่อให้นักเรียนและผู้ปกครอง ไปปลูกผัก ปลูกเห็ด เลี้ยงเป็ดไก่ มาขายให้โรงเรียนเป็นอาหารกลางวันเด็ก ขณะนี้กลายเป็นกองทุนที่มีจำนวนเงินกู้สะสม 6.5 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ชุมชนได้ทั้งหมู่บ้าน
โรงเรียนโสตศึกษา ต.เชื้อเพลิง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ หนึ่งในโรงเรียนเครือข่าย ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ขณะนี้เด็กนักเรียนที่นั่นสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน กลายเป็นศูนย์ฝึกทักษะการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วย เชอรรี่ ยูคาลิปตัส ที่คนไปดูงานกันมากมาย ไปดูความงดงามในความเงียบงัน
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 15 เชียงราย (ร.ป.ค. 15) มี ดร.กัมพล ไชยนันท์ เป็นผู้อำนวยการ เป็นโรงเรียนรัฐขนาดใหญ่ มีนักเรียนกว่า 1,200 คน สร้างผลงานยิ่งใหญ่ในการเดินทะลุกรอบการศึกษาแบบเดิม ไปสู่การเรียนรู้ทักษะอาชีพมากกว่า 63 ทักษะ และยังเปิดกว้างให้เด็กสามารถเรียนรู้อาชีพอื่นๆ ที่สามารถเรียนรู้เองจากสื่อออนไลน์ได้ โดยบูรณาการเข้ากับวิชาเรียน ใช้ระบบไอทีเกือบเต็มรูปแบบ ทำให้ ส.พ.ฐ. ยอมรับและมีคำสั่งถึงโรงเรียนในจังหวัดเชียงราย 583 แห่ง ให้เดินตามแนว ทางนั้น
โรงเรียนมีชัยพัฒนา ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ให้นักเรียนไปจับคู่กับคนชราใน 16 หมู่บ้าน ในตำบล เพื่อร่วมกันทำธนาคารหมู่บ้าน ทำแปลงเกษตร เลี้ยงไก่ เลี้ยงจิ้งหรีด สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ให้ชุมชน โดยเฉพาะถั่วงอก เห็ด และต้นอ่อนทานตะวัน เป็นพืชใช้น้ำน้อย ที่ดินน้อย และแรงน้อย แต่สร้างรายได้ดี
คณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ซึ่งมี ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน และ นพ. พลเดช ปิ่นประทีป เป็นรองประธาน ได้ศึกษาโดยลงไปดูพื้นที่จริงของโรงเรียนในเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา และได้ข้อสรุปว่า โรงเรียนมีชัยพัฒนา และเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา ทั้งประเทศ กว่า 200 แห่งใน 69 จังหวัด เป็นรูปแบบการศึกษาที่เป็นนวัตกรรมแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงได้คัดเลือก 108 โรงเรียนจากทั่วประเทศ เพื่อเสนอเข้าร่วมเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา ในที่นี้มี 20 โรงเรียนที่ได้รับความสนับสนุนจากมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ให้ดำเนินการ ขณะนี้ 20 โรงเรียนในทุกภาคสร้างผลงานได้อย่างน่าพึงพอใจยิ่ง ที่สำคัญคือ คณะกรรมาธิการได้เรียบเรียงรายงานการศึกษา เรื่องรูปแบบการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ : กรณีศึกษาโรงเรียนร่วมพัฒนา
รายงานดังกล่าว ถูกนำเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีนายศุภชัย สมเจริญ เป็นประธาน กมธ.และคณะ เป็นผู้นำเสนอ รายงานเสนอ ที่ยกตัวอย่างให้เห็นถึงการปฏิบัติจริงในโรงเรียน และพื้นที่ต่างๆ ทำให้วุฒิสภารับรองรายงานการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาความยากจนดังกล่าว
ขณะนี้มีมากกว่า 220 โรงเรียนทั่วประเทศ ที่เข้าร่วมเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา เป็นโรงเรียนในรูปแบบการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง ที่เป็นจริง มีชุมชนรอบโรงเรียนที่ได้รับผลจากการสร้างอาชีพ สร้างรายได้จริง สร้างความมั่นคงทางอาหารได้จริงในระยะยาว น่าคิดหรือไม่ว่า
โรงเรียนทั่วประเทศกว่า 3,000 แห่ง มีครู มีนักเรียน มีพื้นที่ มีอุปกรณ์ มีผู้ปกครอง มีชุมชนรอบโรงเรียน หากโรงเรียนจะให้เด็กมีภาคปฏิบัติด้านเกษตรกรรม บูรณาการเข้ากับการเรียนการสอน โดยให้เด็กและครูเข้าไปช่วยยกระดับชีวิต และอาชีพให้ชุมชนรายรอบโรงเรียน ปลูกผัก เลี้ยงไก่ แล้วส่งขายให้โรงเรียนเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารกลางวัน เพียงหนึ่งในสามของงบประมาณอาหารกลางวันปีละ 25,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบรายจ่ายประจำอยู่แล้ว ก็จะช่วยให้คนชราในหมู่บ้าน มีทั้งอาชีพ มีรายได้ และมีความภาคภูมิใจในการใช้ชีวิตวัยชราอย่างมีคุณค่า
ประสาร มฤคพิทักษ์