"...จากการศึกษาพัฒนาการของฟินแลนด์จะพบว่า ฟินแลนด์เพิ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เอง หลังจากที่เป็นประเทศพึ่งพาการส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้และการเกษตร แปรผันเป็นประเทศอุตสาหกรรมภายหลังที่ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้กับสหภาพโซเวียต ในรูปของสินค้า วัตถุดิบ เรือ และรถไฟ ทำให้ชาวฟินแลนด์จำเป็นต้องพัฒนาทักษะในด้านเทคโนโลยีมากขึ้น..."
ในสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เขียนถึงปรัชญาการใช้ชีวิตของชาวฟินแลนด์ที่ตอบโจทย์การเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ในสัปดาห์นี้จะขอเพิ่มเติมในอีกมิติหนึ่งที่ทำให้ฟินแลนด์เติบโตอย่างยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือ นวัตกรรมทางสังคม (social innovation)
จากการศึกษาพัฒนาการของฟินแลนด์จะพบว่า ฟินแลนด์เพิ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เอง หลังจากที่เป็นประเทศพึ่งพาการส่งออกผลิตภัณฑ์จากไม้และการเกษตร แปรผันเป็นประเทศอุตสาหกรรมภายหลังที่ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้กับสหภาพโซเวียต ในรูปของสินค้า วัตถุดิบ เรือ และรถไฟ ทำให้ชาวฟินแลนด์จำเป็นต้องพัฒนาทักษะในด้านเทคโนโลยีมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น มือถือ Nokia ที่เริ่มต้นจากการเป็นโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ และผลิตสินค้าสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นยาง เคมีภัณฑ์ อาวุธ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ เพื่อพยุงให้บริษัทอยู่รอดผ่านพ้นช่วงสงครามมาได้ จนทำให้ฟินแลนด์สามารถก้าวเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมจนถึงทุกวันนี้ โดยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านั้นล้วนแล้วแต่มี “นวัตกรรมด้านสังคม” อยู่เบื้องหลังความสำเร็จไม่มากก็น้อย
นวัตกรรมทางสังคม (social innovation) คือ ความคิดที่ต้องการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน เพื่อยกระดับความสามารถของประชากร ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น นโยบายรัฐสวัสดิการต่าง ๆ ของฟินแลนด์ไม่ใช่สูตรสำเร็จสำหรับทุกคน แต่เป็นการสร้างพลังให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยดูแลสังคมของพวกเขา ให้ทุกคนในสังคมรู้สึกปลอดภัยและมีความมั่นคงในชีวิตมากพอที่จะคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาสังคมต่อไป พลเมืองของฟินแลนด์จึงเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดในการช่วยกันขับเคลื่อนสังคมให้เดินไปข้างหน้า เพราะทุกคนเชื่อว่าการพัฒนาประเทศไม่ใช่หน้าที่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นวัตกรรมทางสังคมต่าง ๆ ที่ ดร.อิลกา ไดปาเล (Dr.Ilkka Taipale) ได้รวบรวมไว้ในหนังสือ “100 นวัตกรรมสร้างฟินแลนด์” (100 Social Innovationsfrom Finland) นั้น ก็เพื่อฟินแลนด์ที่พวกเขาอยากเห็นและอยากให้เป็น อาทิเช่น การสร้างหลักการว่าด้วยความโปร่งใสตั้งแต่ปี 1766 โดยมีกฎหมายบัญญัติว่า “ทุกคนมีสิทธิเข้าถึงเอกสารของรัฐบาล” การให้สิทธิสตรีในการลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรและลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นประเทศแรกของโลกในปี 1906 ระบบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ รวมทั้งมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพอาชีพครู จนเป็นอาชีพที่มีเกียรติที่สุดอาชีพหนึ่งในฟินแลนด์ โดยครูจะต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโท อาชีพครูจะได้รับการเคารพนับถือในสังคม จึงดึงดูดเด็กรุ่นใหม่ให้เลือกที่จะเป็นครูเช่นกัน นอกจากนั้น ฟินแลนด์ยังจัดตั้งศูนย์สุขภาพแบบเบ็ดเสร็จ ให้บริการรักษาตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงคนชรา ไม่ต้องย้ายไปตามโรงพยาบาลที่มีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพราะฟินแลนด์มีแพทย์และพยาบาลที่สามารถรักษาทุกโรคในศูนย์สุขภาพแห่งเดียว
นอกจากนี้ ก็ยังมีนวัตกรรมทางสังคมอีกมากมาย แต่ที่ผมประทับใจที่สุดคือ “ห้องสมุดฟินแลนด์” เนื่องจากผมนึกว่า “ห้องสมุด” เป็นสถานที่ที่ล้าสมัยไปแล้ว แต่ฟินแลนด์กลับมีทั้งห้องสมุดชุมชนและห้องสมุดมหาวิทยาลัยประมาณ 800 แห่งทั่วประเทศ และหนึ่งในภารกิจที่มีความสำคัญมาโดยตลอดคือ การส่งเสริมการอ่านและสร้างวัฒนธรรมการอ่าน ฟินแลนด์จึงได้ชื่อว่าเป็นประเทศนักอ่าน ประชากรกว่า 3 ล้านคน มีบัตรห้องสมุด เข้าห้องสมุดโดยเฉลี่ยคนละ 11 ครั้งต่อปี โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการห้องสมุดเป็นเปอร์เซ็นต์สูงที่สุดในโลก มีการยืมหนังสือหรือสื่อบันทึกเสียงกว่า 17 ชิ้นต่อปี ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฟินแลนด์ใช้งบประมาณลงทุนเรื่องระบบห้องสมุดถึง 320 ล้านยูโร คิดเป็นเงินประมาณ 58 ยูโรต่อคนต่อปี ซึ่งนับเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง เพราะเชื่อว่าการศึกษาและห้องสมุดเป็นทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาสังคม ปัจจุบันห้องสมุดได้ปรับจากโลกของหนังสือกระดาษ มาเป็นสื่อสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ ห้องสมุดของฟินแลนด์ยังเป็นมากกว่าแหล่งรวมความรู้ต่าง ๆ แต่ยังให้บริการพื้นที่พบปะพูดคุย เป็นสถานที่สำหรับการช่วยเหลือแบ่งปัน เป็นที่สอนการบ้าน สอนภาษา ช่วยให้ผู้สูงอายุได้มาใช้บริการออนไลน์ ไปจนถึงสามารถมาขอยืมเครื่องมืออุปกรณ์ซึ่งกันและกัน ตั้งแต่เครื่องคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เครื่องวัดความดัน หรือไม้เท้า เป็นต้น
ชาวฟินแลนด์ไม่เคยหยุดคิด และกำลังจะก้าวต่อไปสู่เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน เน้นต้นทุนสินค้าต่ำ สร้างมลภาวะน้อยลง ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง เพื่อช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีพันธสัญญาที่จะเป็นประเทศ “carbon neutrality" ในปี 2035 (ไทยตั้งเป้าไว้ที่ปี 2065) เพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกรวน (climate change) และแน่นอนสูตรแห่งความสำเร็จของฟินแลนด์เกิดจากหลอมรวมนวัตกรรมทางสังคมด้านต่าง ๆ รวมทั้ง การพัฒนาและยกระดับคุณภาพประชากรอย่างไม่หยุดยั้งและยั่งยืน
รณดล นุ่มนนท์
หมายเหตุ:
1/ ดร.อิลกา ไดปาเล 100 นวัตกรรมสร้างฟินแลนด์ : 100 Social Innovations from Finland กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ แปล สำนักพิมพ์: เอสไอเดีย, สนพ.