"...พูดอีกนัยหนึ่ง การแจกเงินโดยผู้รับไม่ต้องออกเหงื่อออกแรงให้เกิดโภชน์ผลการผลิตใดๆ คือการบ่มเพาะนิสัย 'หวังพึ่ง' ให้กับชาวบ้าน ดังที่คุณโภคิน พลกุล คนเคยรักพรรคเพื่อไทย เตือนไว้อย่างมีน้ำหนักว่า “การขับเคลื่อนนโยบายทั้งระบบ ไม่ใช่ประชานิยมแบบที่ทำให้ประชาชนเป็นขอทาน ต้องไม่ทำให้ประชาชนเป็นขอทาน” วิธีการแจกเงินแบบให้เปล่า จึงเท่ากับดูถูกประชาชนว่าไม่มีน้ำยาที่จะพึ่งพาตนเอง ในความเป็นจริง ประชาชนทั่วทั้งประเทศมีศักยภาพที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัวและชุมชนอย่างเป็นจริงอยู่แล้วมากมาย..."
ความจริงหลายพรรคการเมืองล้วนมีนโยบายประชานิยม ที่ใช้เงินมหาศาล แต่มีเงื่อนไข ที่แตกต่างกันไป เช่นคำนึงถึง เพศ วัย สถานะรายได้ เงื่อนเวลา และ อื่น ๆ แต่พรรคเพื่อไทย ออกตัวแรงด้วยการแจกเงินดิจิทัลให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท 54 ล้านคน เป็นเงิน 5.4 แสนล้านบาท นับเป็นเม็ดเงินก้อนใหญ่แบบม้วนเดียวจบ จึงสั่นสะเทือนเร็ว แรง กว้างขวาง และท้าทาย
มีคำถามตามมามากมาย ผู้คนงุนงงว่า ตกลงมันเป็นเงินอะไรกันแน่
เศรษฐา ทวีสิน บอกว่าเป็นเหรียญดิจิทัลเพื่อไทย โดยโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet)
นพ. พรหมินทร์ เลิศสุริยเดช บอกว่าเป็นเทคโนโลยี Blockchain ที่ทันสมัย จะเป็น Token คือเป็นเงินสกุลใหม่ที่สามารถกำหนดเงื่อนไขได้ว่า จะให้ใคร ใช้อย่างไร และเก็บภาษีได้
ดร. กิตติ ลิ่มสกุล ทีมงานเศรษฐกิจ พท. บอกว่าเป็น “สิทธิในการใช้เงิน เหมือนเป็นคูปองซื้ออาหารในห้างสรรพสินค้า”
ตกลงเป็นอะไรกันแน่ ตอนแรกบอกว่าเป็น 'ดิจิทัล' ต่อมาบอกว่าเป็น 'โทเคน' ล่าสุดบอกว่าเป็น 'คูปอง' เพราะถ้าถือเป็นเงินบาทดิจิทัล ประเทศไทยยังไม่มี จีนน่ะมีหยวนดิจิทัลแล้ว แต่ไทยกำลังศึกษาอยู่
ถ้าถือเป็นคูปอง เท่ากับจ่ายครั้งเดียวจบ เหมือนเอากระดาษคูปองไปแลกก๋วยเตี๋ยวราดหน้าในห้าง กระดาษแผ่นนั้นไม่ใช่เงินสดที่จะไปหมุนเวียนสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในรอบต่อไปได้
ถ้าถือเป็นโทเคน หรือเงินสกุลใหม่ ก็เป็นไปไม่ได้ ปี 2523 – 2541 ชาวบ้าน ต.นาโส่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร ทดลองสร้าง เบี้ยกุดชุม ขึ้นมาใช้ในนามของกลุ่ม 'เฮ็ดอยู่ เฮ็ดกิน' เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน ลดการพึ่งพาภายนอก แต่แล้วธนาคารชาติ ชี้ว่า การสร้างเงินตราขึ้นมาใช้นั้น ผิด พ.ร.บ. เงินตรา มาตรา 9 ที่ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกใช้ ซึ่งวัสดุ หรือเครื่องหมายใดๆ แทนเงินตรา” จึงสั่งให้ชาวบ้านเลิกใช้เบี้ยกุดชุม ตั้งแต่ 29 เม.ย. 2543
ข้อเท็จจริงยืนยันตรงกันว่า ทั้ง กระทรวงการคลัง ธนาคารชาติ และ ก.ล.ต. วางกฎร่วมกันไว้ว่า “รัฐบาลไม่รับรองเงินดิจิทัลเป็นสินทรัพย์ในการใช้แลกเปลี่ยน ซื้อสินค้า การบริการ และการชำระหนี้สินใดๆ ทั้งสิ้น” นั่นเท่ากับว่า เงินดิจิทัลเพื่อไทย เป็นเงินเถื่อน ที่ทำไม่ได้
ยังไม่นับถึงปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่ตามมา เช่น จะไปเอาเงินบาทมาจากไหนถึง 5.4 แสน-ล้านบาท รายได้จากภาษีที่เกินเป้าของรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีเพียง 2 แสนกว่าล้านบาท เงินแผ่นดินทั้งหมด ถูกวางเป็นค่าใช้จ่าย ที่กำหนดแน่นอนไว้แล้ว หากเป็นงบผูกพัน ก็ต้องออกกฎหมายรองรับเหมือน พรบ. การกู้เงิน
คุณธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า “ช่วงโควิด รัฐบาลใช้เงินในการพยุงเศรษฐกิจมามากพอแล้ว ปีหน้าไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นต่อเนื่อง และการที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตโดยการใช้จ่าย เป็นวิธีที่ไม่รับผิดชอบ เพราะใช้แล้วหมดไป ไม่มีการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในระยะยาว เห็นนโยบายไร้ความรับผิดชอบแบบนี้แล้ว เศร้าใจค่ะ”
คุณนวพร เรืองสกุล อดีตนักบริหารการเงินมืออาชีพ บอกว่า “เอาแต่เสกเงินออกมาโดยไม่พัฒนาฝีมือคนทำงาน ไม่ลงทุนในการเพิ่มผลผลิตและปัจจัยพื้นฐานให้เดินหน้าไปในทิศทางที่มุ่งหวังพังไปแล้วหลายประเทศ เช่น เวเนซูเอล่า กับ อาร์เจนติน่า”
แล้วที่นายทักษิณ ชินวัตร พูดวิจารณ์รัฐบาลปัจจุบันในรายการ CARE TALK เมื่อ 15 มีค. 65 ว่า “เติมเศรษฐกิจให้แข็งแรง ทำอะไร กระตุ้นเศรษฐกิจ จะเอาเงินไปแจก ผมว่าปัญญาอ่อน ถ้ามีปัญญา เขาไม่แจก เขาใช้เงินไปสร้างเศรษฐกิจ ให้เศรษฐกิจแข็งแรง”
เจ้าของพรรคตัวจริงเสียงจริง ส่งเสียงข้ามประเทศมาอย่างนี้ ว่าที่นายกเพื่อไทยไม่สะดุ้งผวาหรืออย่างไร
พูดอีกนัยหนึ่ง การแจกเงินโดยผู้รับไม่ต้องออกเหงื่อออกแรงให้เกิดโภชน์ผลการผลิตใดๆ คือการบ่มเพาะนิสัย 'หวังพึ่ง' ให้กับชาวบ้าน ดังที่คุณโภคิน พลกุล คนเคยรักพรรคเพื่อไทย เตือนไว้อย่างมีน้ำหนักว่า “การขับเคลื่อนนโยบายทั้งระบบ ไม่ใช่ประชานิยมแบบที่ทำให้ประชาชนเป็นขอทาน ต้องไม่ทำให้ประชาชนเป็นขอทาน” วิธีการแจกเงินแบบให้เปล่า จึงเท่ากับดูถูกประชาชนว่าไม่มีน้ำยาที่จะพึ่งพาตนเอง ในความเป็นจริง ประชาชนทั่วทั้งประเทศมีศักยภาพที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัวและชุมชนอย่างเป็นจริงอยู่แล้วมากมาย
“หลาดชุมทางทุ่งสง” ทุกวันอาทิตย์ บ่ายถึงค่ำ ประชาคมวัฒนธรรมทุ่งสง นครศรีธรรมราช แปรเปลี่ยนพื้นถนนบริเวณหอนาฬิกา เป็นทั้งเวทีวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้าน และเป็นตลาดชุมชนขายอาหารและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เปลี่ยนคุณค่าเป็นมูลค่าได้คราวละไม่ต่ำกว่า 600,000 บาท ดำเนินมา กว่า 220 ครั้งแล้ว รวมเป็นมูลค่านับร้อยล้านบาทที่ชาวบ้านทุกคนภาคภูมิใจในเหงื่อแรงของตน
ที่อำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านต่อสู้กับสภาพฝนแล้ง น้ำท่วม และรับมือกับเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยวด้วยการร่วมแรงสร้างฝายชะลอน้ำ ตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเป็นเหงื่อแรงอาสาของชาวบ้านทั้งหมด 104 หมู่บ้าน สร้างฝายหมู่บ้านละ 900 ฝาย รวมสร้างฝายไปแล้วทั้งหมด 93,600 ฝาย มีชมรมนิสิตเก่าจุฬาฯ บริจาคเงินสนับสนุนเป็นบางส่วน โดยมีนายประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัด ก. มหาดไทย เป็นผู้ประสานงาน โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินเลย เป็นการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูกต้นไม้ เนื่องจากฝายที่กั้นร่องน้ำเป็นระยะๆ จะเก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้ น้ำซึมซาบแผ่ความชุ่มชื่นไปยังผืนดินทั้งสองข้าง ไม้ป่าจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ระดับน้ำใต้ดินจะยกสูงขึ้น เพื่อบำรุงเลี้ยงพืชพันธุ์ กลายเป็นป่าเปียกที่อุดมสมบูรณ์ตามหลักการฟื้นฟูสภาพป่าด้วยวัฏธรรมชาติ (Natural Forestation) ของในหลวงรัชกาลที่ 9
ชาวบ้านที่นั่นหาอยู่หากินกับการทำไร่ทำนา และมีป่าเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต ประจำหมู่บ้าน
จะมีพรรคการเมืองไหนรับรู้บ้างว่าขณะนี้ มีเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ซึ่งมีโรงเรียนมีชัยพัฒนา อ.ลำปลายมาศ บุรีรัมย์ เป็นต้นแบบรวมแล้วกว่า 230 โรงเรียนทั่วประเทศ ได้เปิดพื้นที่ให้เด็กนักเรียนทั้งประถมและมัธยม มีทักษะอาชีพ มีทักษะชีวิต และเข้าไป มีบทบาทสำคัญในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนรายรอบโรงเรียน ให้คนชราในชุมชนปลูกถั่วงอก เพราะเห็ด ปลูกต้นอ่อนทานตะวัน ซึ่งเป็นพืชโตเร็ว ใช้พื้นที่น้อย ใช้น้ำน้อย แต่ได้ราคาดี สร้างรายได้เพิ่มให้คนชราในหมู่บ้านเดือนละ 1,500 - 3,000 บาท ถ้าเพียงแต่โรงเรียนของรัฐ 32,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งมีงบประมาณอาหารกลางวันของเด็กอยู่แล้วปีละ 23,000 ล้านบาท จะหันมาซื้อไข่ไก่ ซื้อพืชผักจากชาวบ้าน คนชราทั่วแผ่นดินก็จะมีงานทำ มีรายได้เพิ่ม และภาคภูมิใจในคุณค่าของตนเอง ไม่เป็นภาระของหลวงหรือของลูกหลาน
ที่ ต.ชะอม อ.แก่งคอย จ.สระบุรี นั้น ชาวบ้านกว่า 400 หลังคาเรือน นำโดยลุงสายบัว พาศักดิ์ ชวนกันปลูกพืชไม้ล้อม เช่น เสลา อินทนิล ตะแบก กันเกรา กลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ที่สร้างรายได้ให้ตำบลนี้ปีละกว่า 2,000 ล้านบาท 35 ปีมานี้ ชาวบ้านทั่วทั้งตำบล เปลี่ยนจากความขาดแคลน เป็นกินอิ่ม นอนอุ่น มีอยู่มีกินแบบพลิกฝ่ามือ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสไว้ เมื่อ 4 ธันวาคม 2541 ว่า “เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลา และสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า”
โครงการพระราชดำริทั้งหมดกว่า 4,000 โครงการล้วนแล้วน้อมนำไปสู่การสร้างสรรค์เงื่อนไข ปัจจัย โอกาส และอาชีพ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน เช่นโครงการแก้มลิง ฝายชะลอน้ำ ปลูกหญ้าแฝก โคกหนองนา ฝนหลวง กังหันน้ำ เปลี่ยนอาชีพจากการปลูกฝิ่นเป็นปลูกกาแฟของชาวกะเหรี่ยงที่ดอยอินทนนท์ การเกษตรบนพื้นที่สูง โรงงานหลวงเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และการสร้างตลาดผ่านโครงการดอยคำ ฯลฯ
นึกถึงภาพคนกะเหรี่ยงแบกภาชนะ กำลังเก็บกาแฟในไร่ ตามโครงการหลวงที่ดอยอินทนนท์ นึกถึงภาพพระองค์ทรงปล่อยปลานิลให้ชาวบ้านเลี้ยง นึกถึงพระองค์ทรงแผนที่ในพระหัตถ์ พระพักตร์อาบเหงื่อ มีพระเสโทปลายพระนาสิกขณะทรงเยือนชาวบ้านในโครงการ นึกถึงภาพสายฝนพร่างพรมลงบนผืนดิน ด้วยพระอัจฉริยภาพแห่งฝนหลวง
ทุกโครงการล้วนเอื้ออาทรให้แก่การจัดการน้ำ บำรุงดิน ให้ชาวบ้านได้ออกเหงื่อออกแรงพึ่งตนเอง ให้มีทักษะอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน ไม่มีโครงการใดเลยที่ไปส่งเสริมให้เกิดมนุษย์สายพันธุ์ 'หวังพึ่ง' หรือ 'แบมือขอ' ที่ทำให้คนไร้ศักดิ์ สิ้นศรี แห่งความเป็นมนุษย์
ประสาร มฤคพิทักษ์