"...ความสำคัญควรจะอยู่ที่เกมที่สองคือ เกมภายใน (inner game) เกมที่เกิดขึ้นในใจของผู้เล่น ซึ่งไม่เหมือนกับเกมด้านนอก ตรงที่คู่ต่อสู้ของเราเป็นคนที่อยู่อีกด้านหนึ่งของตาข่าย เพราะเกมภายในคือเกมที่ต้องชนะใจตนเอง ตั้งแต่การขาดสมาธิ ความกังวลใจ ความสงสัยในตนเอง และการกล่าวโทษตนเอง..."
โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ (Roger Federer) ได้ประกาศอำลาจากการเป็นนักเทนนิสอาชีพเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วด้วยวัย 41 ปี ภายหลังที่ลงเล่นมายาวนานกว่า 24 ปี ถือเป็นนักเทนนิสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในตำนานวงการลูกสักหลาด โดยที่เฟเดอเรอร์เริ่มเล่นเทนนิสอาชีพในปี 1998 เมื่ออายุเพียง 17 ปี แต่เริ่มต้นไม่สวยนักเพราะยังเป็นวัยรุ่นไร้ประสบการณ์ และยังไม่รู้จักการควบคุมอารมณ์ในยามที่ตัวเองเล่นผิดพลาด แต่จุดพลิกผันเกิดขึ้นเมื่อเขาได้เรียนรู้ที่จะควบคุมความประหม่าและทำให้ตัวเองมีอารมณ์ที่นิ่งขึ้น และในการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดันในปี 2001 เฟเดอเรอร์สามารถพลิกล็อคคว่ำพีท แซมพราส (Pete Sampras) อดีตมือวางอันดับหนึ่งของโลกและแชมป์วิมเบิลดัน 7 สมัย ชาวอเมริกันและขวัญใจของเขาในวัยเด็กในรอบที่ 4 ลงได้สำเร็จ
แฟนกีฬาเทนนิสทราบดีว่าเฟเดอเรอร์ไม่เคยแสดงอารมณ์ที่เกรี้ยวกราด เสียใจ หรือดีใจเมื่อเขากำลังทำคะแนนตามหลังคู่แข่ง เขาไม่เคยกังวลหรือกดดันตัวเองจนเกินไป ไม่เคยตะโกนด้วยความโมโห หรือกล่าวคำสบถ และเมื่อได้แต้ม เฟเดอเรอร์จะไม่เสียพลังงานไปมากในการแสดงความยินดีกับตัวเอง และนี่คือกุญแจสำคัญที่ทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักเทนนิสที่เก่งที่สุดในโลก คว้าแชมป์แกรนด์สแลมในประเภทชายเดี่ยว 20 สมัย และแชมป์การแข่งขันในประเภทชายเดี่ยวถึง 103 รายการ
อย่างไรก็ดี เคล็ดลับสู่ความสำเร็จของเฟเดอเรอร์ไม่ได้เป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้กับทิโมธี กัลเวย์ (Timothy Gallwey) อดีตกัปตันทีมเทนนิสของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในช่วงปี 1960 เพราะกัลเวย์ได้เขียนหนังสือเรื่อง “The Inner Game of Tennis” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1974 กล่าวถึงเคล็ดลับในการนำไปสู่ความสำเร็จที่คล้ายคลึงกับที่เฟเดอเรอร์ได้นำมาใช้ในอีก 25 ปีต่อมา
เนื้อหาในหนังสือดังกล่าว กัลเวย์แนะนำแนวคิดที่ว่าเทนนิสประกอบด้วยเกมสองเกมที่แตกต่างกัน เกมแรกเป็นเกมด้านนอก (outer game) ที่ต้องการชนะคู่ต่อสู้ ด้วยการฝึกฝนอย่างหนักหน่วงในท่าตีต่าง ๆ ให้สมบูรณ์แบบ ตั้งแต่การเสิร์ฟ การตีโฟร์แฮนด์ การตีแบ็คแฮนด์ จนถึงเทคนิคพิเศษต่าง ๆ เพื่อให้เหนือคู่ต่อสู้ ซึ่งเป็นเกมที่โค้ชและผู้เล่นส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญ แต่กัลเวย์กลับเห็นว่า ความสำคัญควรจะอยู่ที่เกมที่สองคือ เกมภายใน (inner game) เกมที่เกิดขึ้นในใจของผู้เล่น ซึ่งไม่เหมือนกับเกมด้านนอก ตรงที่คู่ต่อสู้ของเราเป็นคนที่อยู่อีกด้านหนึ่งของตาข่าย เพราะเกมภายในคือเกมที่ต้องชนะใจตนเอง ตั้งแต่การขาดสมาธิ ความกังวลใจ ความสงสัยในตนเอง และการกล่าวโทษตนเอง
กัลเวย์ได้ทดลองวิธีการ “เอาชนะใจตนเอง” มาสอนนักเรียนเทนนิสของเขา กัลเวย์เริ่มต้นสอนโดโรธี (Dorothy) นักเรียนคนแรกด้วยการบอกวิธีการตีลูกจากหน้ามือ (โฟร์แฮนด์) ให้ถูกต้อง ซึ่งเธอพยายามอย่างสุดฤทธิ์ด้วยการจับไม้เทนนิสให้หน้าไม้อยู่ตรงหน้า และโยกเอวตามที่กัลเวย์ได้สอนไว้ แต่หลังจากตีลูกโฟร์แฮนด์ไปกว่า 10 ลูก ปรากฏว่ายังไม่มีลูกเทนนิสข้ามตาข่ายไปอีกฝั่งหนึ่งเลย จนกัลเวย์ต้องให้กำลังใจโดโรธีในการตีแต่ละลูก พร้อมบอกเธอว่า “ลูกที่แล้ว คุณกำลังจะตีข้ามแล้ว ใจเย็น ๆ ไม่ต้องเกร็ง” แต่ดูเหมือนผลลัพธ์ยิ่งดิ่งลงเหว เพราะโดโรธียังไม่สามารถตีลูกข้ามไปแม้แต่ลูกเดียว ในขณะที่ท่าทางการตียิ่งเกร็งกว่าเดิม พร้อมสีหน้าที่ผิดหวังอย่างชัดเจน
กัลเวย์ได้ปรับวิธีการสอนกับพอล (Paul) นักเรียนคนที่สอง แทนที่เขาจะบอกพอลว่าจะต้องตีอย่างไร กัลเวย์กลับตีโฟร์แฮนด์ให้พอลคอยสังเกต พร้อมกับให้พอลหลับตาและจินตนาการด้วยตนเองว่าจะต้องตีอย่างไร ภายหลังที่กัลเวย์ได้สาธิตการตีไป 10 ลูก จึงได้ยื่นไม้เทนนิสให้พอลได้ตีบ้าง ปรากฏว่าลูกแรกตีออกไปตกห่างจากที่เขายืนเพียงไม่ถึง 1 เมตร ทั้ง ๆ ที่การจับไม้ ท่าการตี และการเคลื่อนไหวของพอลเหมือนกับที่กัลเวย์ได้ตีก่อนหน้านี้ แตกต่างกันที่เท้าทั้งสองข้างไม่ได้ขยับจากจุดที่ยืนอยู่เลย ซึ่งเมื่อกัลเวย์ได้ชี้ไปที่เท้าโดยไม่ได้พูดอะไร เขาทราบทันทีว่าจะต้องทำอย่างไร จากนั้นในการตีลูกต่อ ๆ ไป พอลสามารถตีโฟร์แฮนด์ข้ามตาข่ายได้อย่างน่าอัศจรรย์
ความแตกต่างระหว่างโดโรธีและพอลคือ โดโรธีไม่สามารถปล่อยวางคำสอนของกัลเวย์ที่คอยรุมเร้ารบกวนจิตใจเธอตลอดเวลา ทำให้เกิดความเกร็ง กังวลใจ และไม่มีสมาธิต่อการตี ในขณะที่พอลสามารถใช้จินตนาการของตนเอง พร้อมเรียนรู้ด้วยตนเองว่าจะต้องตีอย่างไร ซึ่งกัลเวย์เปรียบเทียบพอลเหมือนกับเด็กที่เริ่มหัดเดิน เรียนรู้การเดินด้วยการลองผิดลองถูกโดยไม่มีใครสอน
แม้ว่า The Inner Game of Tennis เป็นหนังสือที่มีอายุกว่า 49 ปีแล้ว แต่กลับเป็นหนังสือที่มีการพิมพ์หลายครั้งกว่า 1 ล้านเล่มจนถึงปัจจุบัน และเป็นหนังสือที่บิล เกตส์ แนะนำให้อ่าน โดยบิล เกตส์ กล่าวได้ว่า “กัลเวย์นำเสนอวิธีการปล่อยวางความรู้สึกด้านลบเหล่านั้น ด้วยการเรียนรู้ผิดพลาดของตัวเอง โดยไม่หมกมุ่นกับมัน และหลีกหนีจากวิถีทางเดิม ๆ ของตัวเอง เพื่อที่จะได้ก้าวไปสู่จุดต่อไปให้ได้” ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงไม่ได้มุ่งหวังเพียงให้นักกีฬาเทนนิสอ่านเท่านั้น แต่ Inner Game ถือเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ต่อการทำงานและเรื่องส่วนตัว
ในสัปดาห์หน้า ผมจะได้ขยายความต่อว่าจะทำอย่างไรถึงจะชนะ Inner Game ได้ ด้วยการเอาชนะใจตนเอง ให้มีสมาธิต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า มีความเชื่อมั่นในตัวเอง และใช้ความสามารถตามธรรมชาติของเราเป็นตัวบ่งบอกที่ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
หมายเหตุ:
โรเจอร์ส เฟเดเรอร์ การอำลาของสุภาพบุรุษนักเทนนิส ไทยรัฐออนไลน์ 25 ก.ย. 2565 08:27 น. https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2509167
ขนิษฐา หล่อลักษณ์ The Inner Game of Tennis โฟกัสเกมภายในจิตใจ เพื่อชัยชนะเกมภายนอก
ตุลาคม 20, 2558 http://bemanagementcoach.blogspot.com/2015/10/the-inner-game-of-tennis.html
Timothy Gallwey, The Inner Game of Tennis, Random House Trade Paperback, 2008 pp. 1-3/’’’
Atthasit Mueanmart, ทำไม “บิล เกตส์” ถึงแนะนำให้ใครก็ตามที่อยากเป็นผู้นำที่ดีขึ้น อ่านหนังสือเทนนิสซึ่งตีพิมพ์ตั้งแต่ครึ่งศตวรรษที่แล้ว, Salika Knowledge Sharing Space, November 27, 2022
https://www.salika.co/2022/11/27/bill-gates-tennis-book-recommendation/