"...สถาบัน RILA เพื่อจัดการศึกษาให้คนทุกช่วงวัยได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง เท่าทัน สมดุล เพื่อสร้างระยองให้เป็นเมืองน่าอยู่มีความปลอดภัย มีสุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี สาธารณูปโภคดี มีอัตลักษณ์และวัฒนธรรม มีความสมดุลด้านการเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ธุรกิจ เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นสังคมเทคโนโลยี..."
“การศึกษาเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุด ที่เราจะนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงโลก”
“Education is the most powerful weapon which you can use to change the world.”
เนลสัน แมนเดลา
วาทะของ เนลสัน แมนเดลา นี้ ตรงใจผู้คนที่ตกผลึกให้เห็นว่า ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงนั้น รวบยอดพื้นฐานอยู่ที่ปัญหาการศึกษา
ระยอง เป็นจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (Gross Provincial Product - GPP) สูงสุดในประเทศไทย ต่อเนื่องกันมา 15 ปี (2547-2563) คนระยองมีรายได้ต่อหัว ปีละ 1.1 ล้านบาท เท่ากับมีรายได้ต่อหัว เดือนละ 9.1 หมื่นบาท สูงกว่ารายได้ต่อหัวของคน กทม. ที่มีรายได้ปีละ 604,000 บาท ซึ่งเป็นอันดับสอง อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้เป็นการเอา GDP มาหารจำนวนประชากร ซึ่งมีรายได้จากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก มีโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า 3,000 แห่ง มีนิคมอุตสาหกรรม 13 แห่ง
อย่างไรก็ตามจากเดิมที่เป็นเมืองแห่งเกษตรกรรมและการประมง เมื่อมีโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก เมื่อต้นปี 2524 การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมในยุคนั้นแปรเปลี่ยนผืนน้ำในทะเลและธรรมชาติรวมถึงเรือกสวนไร่นาอันบริสุทธิ์กลายเป็นพื้นที่แห่งมลพิษ คุณภาพชีวิตของผู้คนตกต่ำ จนต้องย้ายโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ออกไปจากพื้นที่เดิมเมื่อปี 2540 คุณภาพน้ำทะเล บริเวณมาบตาพุด เกิดการสะสมของโลหะหนักในกุ้ง หอย ปูปลา ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอันเนื่องมาจากการถมทะเล ทำให้สภาพชายหาดเกือบสูญสิ้นไป ชาวระยองในพื้นที่เป็นมะเร็งและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจจำนวนมาก จนต้องประกาศให้ระยองเป็นเขตควบคุมมลพิษ ชาวระยองต้องทนทุกข์กับ น้ำเป็นพิษ อากาศเป็นพิษ ดินเป็นพิษ มายาวนาน
ความเดือดร้อนทุกด้านแรงร้ายจนถึงขั้นที่ศาลปกครองกลางสั่งโรงงานอุตสาหกรรม 76 แห่งที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดให้หยุดดำเนินการจนกว่าจะแก้ไขปัญหามลพิษได้ เมื่อปี 2544
ในขณะที่ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวต่อเนื่อง สนามบินเชื่อมต่อสัตหีบ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ กำลังจะเกิด ดิน น้ำ อากาศ มีความสุ่มเสี่ยงต่อมลพิษมากขึ้นเป็นเงาตามอุตสาหกรรม ปัญหาสุขภาพของผู้คนมีแต่เพิ่มมากขึ้น
ทำให้เกิดความพยายามของภาคประชาสังคมเป็นแกนนำ ประสานพลังร่วมกับภาคราชการ ภาคเอกชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ สร้างพลังแห่งการเรียนรู้ ระดับทั่วทั้งพื้นที่ขึ้นมาเป็นนวัตกรรมใหม่ภาคพลเมืองที่น่าติดตาม
เมื่อ 19 มีค. 66 ผู้เขียนพร้อมกับเพื่อนอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จำนวน 9 คน เดินทางไปเรียนรู้ สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกวัย จ. ระยอง (Rayong Inclusive Learning Academy - RILA) ที่ห้องประชุมอ่างเก็บน้ำดอกกราย อ.ปลวกแดง จ.ระยอง
การนำเสนอผลงานขององค์กรร่วมภาคส่วนต่างๆ ได้เห็นภาพว่า
ภาคีเครือข่าย 65 กลุ่ม ทั้งหอการค้า ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ กลุ่มบริษัท เล็กใหญ่ กลุ่มอนุรักษ์หนังใหญ่วัดบ้านดอน สถาบันอาศรมศิลป์ กลุ่มรักษ์เขาชะเมา โรงเรียนรุ่งอรุณ สภาอุตสาหกรรม
การท่องเที่ยวจังหวัด สนง.ประมง สนง.ศึกษาธิการจังหวัด โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และอื่นๆ สมัครใจกันประกอบส่วนเป็นสถาบัน RILA เพื่อจัดการศึกษาให้คนทุกช่วงวัยได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง เท่าทัน สมดุล เพื่อสร้างระยองให้เป็นเมืองน่าอยู่มีความปลอดภัย มีสุขภาพดี สิ่งแวดล้อมดี สาธารณูปโภคดี มีอัตลักษณ์และวัฒนธรรม มีความสมดุลด้านการเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ธุรกิจ เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นสังคมเทคโนโลยี
การนำเสนอของครู นักเรียน บุคลากร ในแต่ละโรงเรียน แต่ละหน่วยงาน ทุกแห่งใช้ความเป็นจริงของพื้นที่เป็นประเด็นนำทางการศึกษา
ครูและนักเรียน รร.วัดช้างชนศิริราษฎร์บำรุง ต. ตะพง สร้างการเรียนรู้ให้นักเรียนเป็นนักจัดการชายหาด เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและความสะอาดของชายหาดให้เจริญตาเจริญใจ
ครูและนักเรียน รร. วัดตะเคียนงาม ชุมชนปากน้ำประแสร์ อ. แกลง จ. ระยอง สร้างการเรียนรู้ให้นักเรียนเป็นยุวฑูตสร้างสรรค์ สร้างชุมชนให้เป็นเมืองท่องเที่ยว โดยอาศัยหลักรวมพลังบ้าน วัด โรงเรียน (บวร)
RILA ร่วมกับกรมอนามัย มูลนิธิสถาปนิกสยาม องค์การยูนิเซฟ และ ม. เกษตรศาสตร์ สร้างสถานศึกษาในการจัดการเรียนรู้ พัฒนาครู ผู้ดูแลเด็กปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กระยอง
RILA ร่วมกับเทศบาลนครระยอง ฝึกเด็กและเยาวชนด้านดนตรี จัดเวทีดนตรีริมหาด ขึ้นเวทีแสดงในเย็นวันเสาร์ ที่ชายหาดแหลมเจริญ สร้างความรื่นรมย์ให้นักท่องเที่ยว
RILA ร่วมกับ พมจ. และ กสศ. ช่วยเด็กเปราะบางให้เข้าถึงการศึกษา การมีงานทำ และอยู่ร่วมกับสังคมได้ โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย RILA Family
RILA ร่วมกับมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย บริษัทกรีนสปอต และสถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมกันผลิตคนระยองให้เป็นครูระยองที่มีคุณภาพและก้าวทันยุคสมัย
RILA ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จ.ระยอง ร่วมพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้และเมืองสุขภาวะ
RILA ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ เรียนรู้ศิลปะอย่างสร้างสรรค์ จากศิลปะพื้นถิ่น คือหนังใหญ่วัดบ้านดอน ซึ่งรวมเอาคุณค่าทางหัตถศิลป์ นาฏศิลป์ วรรณศิลป์ และคีตศิลป์ ไว้ด้วยกันในหนังใหญ่
นี่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ
เป็นเนื้องาน เป็นกิจกรรม เป็นปัญหาบนพื้นฐานของศักยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษาในพื้นที่ สร้างการเรียนรู้จากตรงนั้น สร้างคุณค่าจากที่นั่น หลายตัวอย่างสามารถแปรให้เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น การจับสัตว์น้ำ และการแปรรูป
การดำเนินการทุกอย่างจะแวดล้อมการจัดการด้านการศึกษาที่ต้องพัฒนาคนและครู แล้วจัดการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์ในบริบทพื้นที่ระยองอย่างเป็นรูปธรรม จะต้องพัฒนาหลักสูตรสร้างพลังเครือข่าย การจัดการศึกษาอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และสมดุล โดยมียุทธศาสตร์ที่แน่นอน
เรียกได้ว่า RILA เป็นกลไกบริหารจัดการและขับเคลื่อนระบบนิเวศการเรียนรู้ระดับเมือง (Learning City Mechanism) ตามยุทธศาสตร์การศึกษา จ.ระยอง และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
โดยมีโครงสร้างองค์กร และมีคณะกรรมการสถาบัน RILA จากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกัน และให้คนในพื้นที่เป็นผู้นำในการขับเคลื่อน
รศ. ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ที่เป็นกำลังแรงสำคัญในการสร้างสาน RILA ชี้ให้เห็นว่า “RILA เป็นการกระจายอำนาจโดยใช้การศึกษาเป็นธงนำ ให้คนในพื้นที่เป็นกำลังหลักในการบริหารจัดการ สร้างให้เกิดกลไกพื้นที่ระดับจังหวัดขึ้นมา เกิดการเรียนรู้ระดับเมือง ในเรื่องอัตลักษณ์ระยอง เป็นการเรียนรู้ใหม่ ที่ใช้กลไกความร่วมมือของทุกภาคส่วน”
เมื่อตัวแทนของแต่ละองค์กร แต่ละหน่วยงานนำเอาเรื่องดีๆ คนดีๆ และการกระทำดีๆ จากพื้นที่ของตนมาเล่าสู่กันฟัง คนฟังก็อิ่มใจ คนเล่าก็ปิติ
มันไม่ใช่โครงการที่สั่งมาจากข้างบนแบบ “ทางการเขาสั่งมาว่า” แต่ RILA เป็นกระบวน
การจากคนระดับกลาง ลงมือทำโดย ประสานลงล่าง ขึ้นบน และแนวนอน แบบธรรมชาติ ไม่ต้องมีอำนาจรัฐมาบงการ กระทรวงศึกษาธิการมีหน้าที่เฝ้าดูและเกื้อหนุนเท่านั้น
นับเป็นจังหวัดแรกของประเทศก็ว่าได้ ที่ชาวระยองได้ออกเหงื่อออกแรงร่วมกันทำสิ่งดีๆ สร้างบ้านแปลงเมือง โดยใช้ต้นทุนและคุณความดีในพื้นที่ นำมาร้อยรักถักทอให้เป็นแพรพรรณแห่งความจริง ความดี ความงามดังบทกวี ชื่อ “เป่าเถ้า” ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่เขียนว่า
“เป่าเถ้าที่จวนมอด วะวับวอดมิวายแสง
จุดเพลิงอันเริงแรง เป็นเปลวลุกขึ้นโลมลาม
ผูกไผ่ทีละไผ่ ไปเป็นแพสะพานข้าม
ผูกข้อต่อตาตาม ไปเป็นต้นตระหง่านตรง
เรียงจุดทีละจุด เป็นเส้นสุดเป็นทรวดทรง
จดเจตนาจง จำเรียงรจนากวี
จับใจมาใส่ใจ จึงฝากใจเป็นไมตรี
ความดีต่อความดี ประดับโลกให้งดงาม”