"...ส่วนเรื่องเจตนาไม่สุจริตของผู้อุทธรณ์ในข้อที่ 2 อาจเกิดจากแรงจูงใจได้หลายอย่าง เช่น ขี้แพ้แล้วชวนตี กลั่นแกล้งเพราะพวกตนพยายามล็อกสเปกหรือจัดฮั้วประมูลแต่ฮั้วแตก หรือผู้ชนะการประมูลไม่ใช่พวกของตน เพื่อลดปัญหานี้ทางกรมบัญชีกลางเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. จัดซื้อฯ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกัน เช่น ให้ผู้อุทธรณ์ต้องวางเงินประกันจำนวนหนึ่ง เป็นต้น..."
เพียงปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผู้ยื่นอุทธรณ์การจัดซื้อฯ มากถึง 2,046 เรื่องและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี สิ่งที่น่ากังวลคือ มีเพียง 415 เรื่องหรือ 1 ใน 5 เท่านั้นที่อุทธรณ์แล้วชนะหรือมีเหตุผลฟังขึ้น นอกนั้นเป็นการเข้าใจผิดหรือมีเจตนาไม่สุจริต สร้างความเสียหายต่อรัฐ เกิดความล่าช้าในการดำเนินงานของหน่วยงาน จัดซื้อฯ ไม่ทันต่อความจำเป็นเพื่อบริการประชาชน ใช้เงินไม่ทันปีงบประมาณ ผู้ชนะการจัดซื้อฯ ไม่สามารถเริ่มงานได้ ฯลฯ ทำให้กรมบัญชีกลางต้องเร่งแก้ไข
ทำไมต้องเปิดกว้างให้มีการอุทธรณ์
พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ ได้วางหลักเกณฑ์ให้ผู้ยื่นเสนอทุกรายในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการนั้นๆ มีสิทธิ์อุทธรณ์ โดยกำหนดให้มี 'คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน' ที่มีตัวแทนของภาคประชาชนร่วมเป็นกรรมการด้วย เพื่อสร้างหลักประกันว่า การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี เป็นธรรม ผู้ประกอบการทุกรายจะได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่อย่างเปิดเผยและเท่าเทียม
ปัจจัยที่ทำให้มีการยื่นอุทธรณ์
- ผู้อุทธรณ์เห็นว่า หน่วยงานไม่ปฏิบัติตามทีโออาร์ หรือมีการตีความไม่เป็นธรรม
- ผู้อุทธรณ์มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ต้องการกลั่นแกล้งผู้ชนะการประมูลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ
- มีการทุจริต การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องในการประมูล
- ผู้อุทธรณ์ข้องใจว่า การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน กฎ/ระเบียบ ในช่วงใดช่วงหนึ่งของการประมูล
การแก้ไข
ปัจจัยข้อที่ 1 กรมบัญชีกลางระบุว่า “เกิดจากหน่วยงานของรัฐที่ทำการจัดซื้อจัดจ้างแจ้งเหตุผลในการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาผลไม่ชัดเจน ซึ่งหากเป็นกรณีที่ผู้ยื่นข้อเสนอผ่านการพิจารณา แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกหน่วยงานของรัฐก็จะไม่มีการแจ้งเหตุผลเพิ่มเติมแต่อย่างใด ทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอเกิดข้อสงสัยว่าหน่วยงานของรัฐพิจารณาโดยไม่โปร่งใส ไม่สุจริต หรือเอื้อประโยชน์ต่อผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น เป็นเหตุให้ตนไม่ได้รับการประกาศผลเป็นผู้ชนะหรือไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ” เพื่อลดปัญหานี้ 'คณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้าง' 'คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อฯ' และกรมบัญชีกลาง จึงได้จัดทำ 'การกำหนดแนวทางการร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR)' ให้ทุกหน่วยงานใช้เป็นแนวทางเพื่อความชัดเจน
ส่วนเรื่องเจตนาไม่สุจริตของผู้อุทธรณ์ในข้อที่ 2 อาจเกิดจากแรงจูงใจได้หลายอย่าง เช่น ขี้แพ้แล้วชวนตี กลั่นแกล้งเพราะพวกตนพยายามล็อกสเปกหรือจัดฮั้วประมูลแต่ฮั้วแตก หรือผู้ชนะการประมูลไม่ใช่พวกของตน เพื่อลดปัญหานี้ทางกรมบัญชีกลางเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. จัดซื้อฯ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกัน เช่น ให้ผู้อุทธรณ์ต้องวางเงินประกันจำนวนหนึ่ง เป็นต้น
บทส่งท้าย
ในระยะยาว ภาครัฐต้องสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ ใช้อำนาจตรงไปตรงมา มีกลไกเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสให้ทุกคนเข้าถึงและตรวจสอบย้อนหลังได้โดยง่าย เชื่อว่าปัญหาและภาระจะลดลง
ผลงานตลอด 6 ปีของการใช้ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ ขอแสดงความชื่นชมต่อ 'ผู้บริหารและข้าราชการกรมบัญชีกลาง' ที่ทุ่มเทอำนวยความสะดวก สร้างความเข้าใจอย่างถูกต้องกับทุกฝ่าย พร้อมรับฟังและเปิดกว้างเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สามารถพัฒนาระบบให้ทันการณ์ ดูแลกติกาในภาพรวมเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินเป็นอย่างดี
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
4 มีนาคม 2566